การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2555
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3006 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. นายหนึ่งขับรถยนต์โดยประมาทชนนายสองถึงแก่ความตาย เมื่อพนักงานสอบสวนสอบสวนเสร็จแล้วพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ลงโทษนายหนึ่งฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ ความตาย ระหว่างศาลชั้นต้นพิจารณาคดี นางสมรภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสองยื่นคําร้อง ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ศาลอนุญาต ระหว่างการสืบพยานโจทก์ นางสมรยื่นคําร้องต่อศาลขอถอนคําร้องที่ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับ พนักงานอัยการ ระบุเหตุผลว่ามีความคิดเห็นหลายเรื่องไม่ตรงกันกับพนักงานอัยการ หากดําเนินการร่วมกันต่อไปเกรงว่าจะเป็นผลเสียแก่คดี ศาลอนุญาต ในวันเดียวกันนั้นนายสักบิดา ตามความเป็นจริงและชอบด้วยกฎหมายของนายสองทราบเรื่อง จึงยื่นคําร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ กับพนักงานอัยการแทนนางสมรทันที ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาลจะสั่งคําร้องของนายสักว่าอย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 2 “ในประมวลกฎหมายนี้
(4) “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทําผิดฐานใด ฐานหนึ่งรวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอํานาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6”
มาตรา 5 “บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้
(2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทําร้าย ถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้”
มาตรา 30 “คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคําร้องขอเข้าร่วม เป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้”
มาตรา 36 วรรคแรก “คดีอาญาซึ่งได้ถอนฟ้องไปจากศาลแล้ว จะนํามาฟ้องอีกหาได้ไม่…”
วินิจฉัย
โดยหลัก ในกรณีที่ผู้เสียหายคนเดียวมีผู้จัดการแทนตามมาตรา 5 หลายคน ผู้จัดการแทน ผู้เสียหายบางคนได้ฟ้องแล้วถอนฟ้องไป ผู้จัดการแทนผู้เสียหายคนอื่นจะมาฟ้องจําเลยอีกไม่ได้
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสองได้ถูกนายหนึ่งขับรถยนต์โดยประมาทชนถึงแก่ความตายนั้น ถือว่านายสองเป็นผู้เสียหายโดยตรง เพราะเป็นผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทําผิดอาญาตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 24) และเมื่อนายสองได้ถึงแก่ความตาย ดังนี้ นางสมรภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสองและนายสัก บิดาตามความเป็นจริงและชอบด้วยกฎหมายของนายสองต่างก็เป็นผู้มีอํานาจจัดการแทนนายสองได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 5(2) แต่เมื่อได้ความว่านางสมรได้ใช้สิทธิจัดการแทนนายสองไปแล้วด้วยการยื่นคําร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ กับพนักงานอัยการ และต่อมาได้ยื่นคําร้องขอถอนคําร้องในการขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ซึ่งผลของการถอนคําร้องนั้นมีผลเท่ากับเป็นการขอถอนฟ้อง (คําสั่งคําร้องศาลฎีกาที่ 89/2514) และเมื่อศาลอนุญาตย่อม เกิดผลในทางกฎหมาย คือ ทําให้ไม่สามารถนําคดีมาฟ้องใหม่ได้อีกตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 36 และผลในทางกฎหมาย ที่เกิดขึ้นนี้ย่อมมีผลถึงนายสักบิดาของนายสองด้วย กล่าวคือ เมื่อนายสักไม่สามารถฟ้องคดีได้ ย่อมทําให้ไม่สามารถ ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานไปด้วยเช่นเดียวกัน (คําพิพากษาฎีกาที่ 1790/2492) ดังนั้นเมื่อนายสักยื่นคําร้อง ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ศาลต้องสั่งยกคําร้องของนายสัก
สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาล ข้าพเจ้าจะสั่งยกคําร้องของนายสัก
ข้อ 2. นายเสือใช้อาวุธปืนยิงนายหมี เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส เมื่อพนักงานสอบสวนสอบสวนเสร็จแล้ว พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ลงโทษนายเสือฐานพยายามฆ่านายหมี ให้นักศึกษาตอบคําถามแต่ละกรณีดังต่อไปนี้
(ก) ในระหว่างศาลชั้นต้นพิจารณาคดีของพนักงานอัยการ ปรากฏว่านายหมีถึงแก่ความตายเพราะบาดแผลที่ถูกอาวุธปืนยิงดังกล่าว กรณีนี้นางแหม่มภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายหมี จะยื่นฟ้องต่อศาลในวันรุ่งขึ้นขอให้ลงโทษนายเสือฐานฆ่านายหมีได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
(ข) ในคดีที่พนักงานอัยการฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่านายเสือมีความผิดตามฟ้องลงโทษจําคุก 5 ปี นายเสือยื่นอุทธรณ์ ในระหว่างศาลอุทธรณ์พิจารณาคดี ปรากฏว่านายหมีถึงแก่ความตายเพราะ บาดแผลที่ถูกอาวุธปืนยิงดังกล่าว กรณีนี้นางแหม่มภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายหมีจะยื่นฟ้องต่อศาลในวันรุ่งขึ้นขอให้ลงโทษนายเสือฐานฆ่านายหมีได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 2 “ในประมวลกฎหมายนี้
(4) “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทําผิดฐานใด ฐานหนึ่งรวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอํานาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6”
มาตรา 5 “บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้
(2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทําร้าย ถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้”
มาตรา 15 “วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นําบทบัญญัติ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้”
มาตรา 28 “บุคคลเหล่านี้มีอํานาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล
(2) ผู้เสียหาย”
มาตรา 39 “สิทธินําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ดังต่อไปนี้
(4) เมื่อมีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง”
และ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 173 วรรคสอง “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคําฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณา และ ผลแห่งการนี้
(1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคําฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกัน หรือต่อศาลอื่นและ…”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้
(ก) การที่นายเสือใช้อาวุธปืนยิงนายหมีเป็นเหตุให้นายหมีได้รับอันตรายสาหัสนั้น แม้พนักงานอัยการ ได้ยื่นฟ้องนายเสือฐานพยายามฆ่าไปแล้ว แต่เมื่อระหว่างศาลชั้นต้นพิจารณาคดีของพนักงานอัยการ นายหมีได้ถึงแก่ ความตายเนื่องจากเหตุดังกล่าว ดังนี้ นางแหม่มภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายหมีย่อมมีอํานาจจัดการแทนได้ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2(4) และมาตรา 5(2) และมีอํานาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลขอให้ลงโทษนายเสือฐานฆ่านายหมี ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 28
และในคดีที่นางแหม่มยื่นฟ้องต่อศาลดังกล่าวนี้ จะไม่เป็นการฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อาญา มาตรา 15 เพราะโจทก์เป็นคนละคนกัน อีกทั้งยังไม่เป็นการฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39(4) เพราะคดีของพนักงานอัยการยังไม่มีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง
ดังนั้น กรณีนี้นางแหม่มจึงมีอํานาจฟ้องขอให้ลงโทษนายเสือฐานฆ่านายหมีได้
(ข) การที่นายหมีได้ถึงแก่ความตายจากบาดแผลที่ถูกนายเสือใช้อาวุธปืนยิง แม้นางแหม่มภริยา โดยชอบด้วยกฎหมายของนายหมีจะมีอํานาจจัดการแทนตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 244) และมาตรา 5(2) แต่เมื่อคดีนี้ ศาลชั้นต้นได้มีคําพิพากษาในคดีที่พนักงานอัยการฟ้องนายเสือฐานพยายามฆ่าไปแล้ว และการที่นางแหม่ม ยื่นฟ้องนายเสือ แม้จะเป็นการฟ้องคนละฐานความผิดแต่ก็ยังถือว่าเป็นการกระทําเดียวกัน และผู้ถูกฟ้องเป็น คนคนเดียวกัน ดังนั้นฟ้องของนางแหม่มจึงเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39(4)
ดังนั้น กรณีนี้นางแหม่ม จึงฟ้องขอให้ลงโทษนายเสือฐานฆ่านายหมีไม่ได้
สรุป
(ก) นางแหม่มสามารถยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ลงโทษนายเสือฐานฆ่านายหมีได้
(ข) นางแหม่มจะยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ลงโทษนายเสือฐานฆ่านายหมีไม่ได้
ข้อ 3. นายเสียงศิลป์ถูกจับและได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างสอบสวน โดยมีนายกิตติใช้ตําแหน่งข้าราชการเป็นหลักประกันให้แก่นายเสียงศิลป์ หลังจากนายเสียงศิลป์ได้รับการปล่อยชั่วคราวได้สามวัน นายกิตติพบว่านายเสียงศิลป์กําลังจะหลบหนีไปต่างจังหวัด และนายกิตติเห็น พ.ต.อ.ษมาอยู่ใน บริเวณนั้นจึงขอให้ พ.ต.อ.ษมาทําการจับนายเสียงศิลป์ พ.ต.อ.ษมาจึงทําการจับนายเสียงศิลป์ทันที โดยไม่มีหมายจับ
ดังนี้ การจับของ พ.ต.อ.ษมาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 78 “พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจจะจับผู้ใด โดยไม่มีหมายจับหรือคําสั่งของศาลนั้น ไม่ได้ เว้นแต่
(4) เป็นการจับผู้ต้องหาหรือจําเลยที่หนีหรือจะหลบหนีในระหว่างถูกปล่อยชั่วคราวตาม มาตรา 117”
มาตรา 117 “เมื่อผู้ต้องหาหรือจําเลยหนีหรือจะหลบหนีให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจ ที่พบการกระทําดังกล่าวมีอํานาจจับผู้ต้องหาหรือจําเลยนั้นได้ แต่ในกรณีที่บุคคลซึ่งทําสัญญาประกันหรือเป็น หลักประกันเป็นผู้พบเห็นการกระทําดังกล่าว อาจขอให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจที่ใกล้ที่สุดจับผู้ต้องหาหรือ จําเลยได้”
โดยหลักตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 78 แล้ว พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจจะจับผู้ใด โดยไม่มี หมายจับหรือคําสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย เช่น กรณีเป็นการจับผู้ต้องหาหรือจําเลย ที่หนีหรือจะหลบหนีในระหว่างถูกปล่อยตัวชั่วคราวตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 117 เป็นต้น
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายกิตติใช้ตําแหน่งข้าราชการเป็นหลักประกันให้แก่นายเสียงศิลป์ ผู้ต้องหาซึ่งได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างสอบสวน ต่อมานายกิตติพบว่านายเสียงศิลป์กําลังจะหลบหนีไป ต่างจังหวัด และนายกิตติเห็น พ.ต.อ.ษมาอยู่ในบริเวณนั้นจึงขอให้ พ.ต.อ.ษมาทําการจับนายเสียงศิลป์และ พ.ต.อ.ษมาจึงได้ทําการจับนายเสียงศิลป์ทันทีโดยไม่มีหมายจับนั้น ดังนี้ ถือว่า พ.ต.อ.ษมามีอํานาจในการจับ นายเสียงศิลป์ได้แม้ว่าจะไม่มีหมายจับก็ตาม เนื่องจากเป็นกรณีที่บุคคลซึ่งเป็นหลักประกันเป็นผู้พบเห็นผู้ต้องหา หรือจําเลยหนีหรือจะหลบหนี บุคคลผู้เป็นหลักประกันสามารถขอให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจที่ใกล้ที่สุด จับผู้ต้องหาหรือจําเลยได้ การจับของ พ.ต.อ.ษมาจึงชอบด้วย ป.วิ.อาญา มาตรา 78(4) ประกอบมาตรา 117
สรุป การจับของ พ.ต.อ.ษมาชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 4. พ.ต.ต.ยศวินพนักงานสอบสวนทําการสอบสวนนายมะพร้าวผู้ต้องหาอายุ 26 ปี ในข้อหากระทําชําเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบสามปี โดยมีอาวุธปืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสี โดย ก่อนเริ่มถามคําให้การ พ.ต.ต.ยศวินถามนายมะพร้าวว่ามีทนายความหรือไม่ นายมะพร้าวตอบว่าไม่มี แต่ไม่ต้องการทนายความเพราะสํานึกผิดในการกระทํา พ.ต.ต.ยศวินจึงแจ้งข้อหาและแจ้งสิทธิ ของผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/4 วรรคหนึ่ง ให้ทราบก่อน ถามคําให้การ หลังจากที่นายมะพร้าวได้ฟังการแจ้งสิทธิดังกล่าว นายมะพร้าวก็ยังยืนยันต่อ พ.ต.ต.ยศวินว่าไม่ต้องการทนายความ พ.ต.ต.ยศวินจึงถามคําให้การนายมะพร้าวโดยที่ไม่มี ทนายความ และนายมะพร้าวยอมให้การโดยเต็มใจ พ.ต.ต.ยศวินจึงจําคําให้การไว้ ดังนี้ถ้อยคําที่นายมะพร้าวให้ไว้ต่อ พ.ต.ต.ยศวินจะสามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ ความผิดของนายมะพร้าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
หมายเหตุ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสี่ “ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่งหรือ วรรคสามได้กระทําโดยร่วมกระทําความผิดด้วยกัน อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงหรือกระทํากับ เด็กชายในลักษณะเดียวกันและเด็กนั้นไม่ยินยอม หรือได้กระทําโดยมีอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิดหรือโดยใช้อาวุธ ต้องระวางโทษจําคุกตลอดชีวิต”
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 134/1 วรรคแรกและวรรคสอง “ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่ผู้ต้องหา มีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ก่อนเริ่มถามคําให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหา ว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้
ในคดีที่มีอัตราโทษจําคุก ก่อนเริ่มถามคําให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามี ทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและผู้ต้องหาต้องการทนายความ ให้รัฐจัดหาทนายความให้”
มาตรา 134/2 “ให้นําบทบัญญัติในมาตรา 133 ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การสอบสวน ผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี”
มาตรา 134/3 “ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคําตนได้”
มาตรา 134/4 “ในการถามคําให้การผู้ต้องหา ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่า
(1) ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ ถ้าผู้ต้องหาให้การ ถ้อยคําที่ผู้ต้องหาให้การนั้น อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้
(2) ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคําตนได้ เมื่อผู้ต้องหาเต็มใจให้การอย่างใดก็ให้จดคําให้การไว้ ถ้าผู้ต้องหาไม่เต็มใจให้การเลยก็ให้บันทึกไว้
ถ้อยคําใด ๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อน จะดําเนินการตามมาตรา 134/1 มาตรา 134/2 และมาตรา 134/3 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ ความผิดของผู้นั้นไม่ได้”
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกิน 18 ปีในวันที่ พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา (ไม่คํานึงว่าในขณะกระทําความผิดจะมีอายุเท่าใดก็ตาม) ก่อนเริ่มถามคําให้การ ให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้ กรณีนี้เป็นบทบังคับเด็ดขาด หากผู้ต้องหาไม่มีทนายความและแม้จะไม่ต้องการก็ต้องจัดหาทนายความให้เสมอ (ป.วิ.อาญา มาตรา 134/1 วรรคแรก)
ในส่วนคดีที่มีอัตราโทษจําคุก (ไม่ใช่คดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกิน 18 ปี) ก่อนเริ่มถามคําให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและผู้ต้องหาต้องการ ทนายความ ให้รัฐจัดหาทนายความให้ แต่ถ้าหากผู้ต้องหาไม่ต้องการ ก็ไม่จําต้องจัดหาให้แต่ประการใด (ป.วิ.อาญา
มาตรา 134/1 วรรคสอง) กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ พ.ต.ต.ยศวินพนักงานสอบสวนทําการสอบสวนนายมะพร้าวผู้ต้องหาอายุ 26 ปี ในข้อหากระทําชําเราเด็กอายุยังไม่เกิน 13 ปี โดยมีอาวุธปืนซึ่งเป็นคดีที่มีอัตราโทษจําคุก ตลอดชีวิตนั้น พ.ต.ต.ยศวินจึงต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 134/1 วรรคสอง กล่าวคือ ก่อนเริ่มถามคําให้การ พ.ต.ต.ยศวินต้องถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและผู้ต้องหาต้องการทนายความให้จัดหาทนายความให้ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าหลังจาก พ.ต.ต.ยศวินได้ถามนายมะพร้าวว่ามีทนายความหรือไม่ นายมะพร้าวตอบว่าไม่มี แต่ไม่ต้องการทนายความ ดังนี้ พ.ต.ต.ยศวินจึงไม่ต้องจัดหาทนายความให้นายมะพร้าว และเมื่อ พ.ต.ต.ยศวิน ได้แจ้งข้อหาและแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 134/4 วรรคหนึ่ง ให้นายมะพร้าวทราบก่อนถาม คําให้การแล้ว นายมะพร้าวก็ยอมให้การโดยเต็มใจ พ.ต.ต.ยศวินจึงได้จดคําให้การไว้ ดังนั้นถ้อยคําที่นายมะพร้าว ให้ไว้ต่อ พ.ต.ต.ยศวินจึงสามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของนายมะพร้าวได้
สรุป
ถ้อยคําที่นายมะพร้าวให้ไว้ต่อ พ.ต.ต.ยศวินสามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการ พิสูจน์ความผิดของนายมะพร้าวได้