การสอบซ่อมภาค 2 และภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3006 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นายหนึ่งออกเช็คชำระหนี้ให้นางสอง 100,000 บาท นายสองนำเช็คไปขึ้นเงินที่ธนาคารเมื่อเช็คถึงกำหนด ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะเงินในบัญชีนายหนึ่งไม่พอจ่าย นายสองนำเช็คไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนว่า “ผู้แจ้งเกรงว่าคดีจะขาดอายุความ จึงขอแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน”
เมื่อพนักงานสอบสวนสอบสวนเสร็จแล้ว พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลให้ลงโทษนายหนึ่งทางอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ ระหว่างศาลชั้นต้นพิจารณาคดี นายสองยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาลจะวินิจฉัยคดีของพนักงานอัยการและคำร้องของนายสองว่าอย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 2 ในประมวลกฎหมายนี้
(4) ผู้เสียหาย หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่งรวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6
(7) คำร้องทุกข์ หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้นจะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ
มาตรา 30 คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้
มาตรา 120 ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน
มาตรา 121 วรรคสอง แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ
วินิจฉัย
นายสองเป็นผู้ทรงเช็คในขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน นายสองจึงเป็นผู้เสียหายทางอาญาในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ ตามมาตรา 2(4) แต่การที่นายสองนำเช็คไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนว่า “ผู้แจ้งเกรงว่าคดีจะขาดอายุความ จึงขอแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน” ถือว่านายสองยังไม่มีเจตนาให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ (ฎ. 62/2521) ถ้อยคำที่แจ้งจึงไม่เป็นคำร้องทุกข์ ตามมาตรา 2(7)
ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คเป็นความผิดต่อส่วนตัว เมื่อไม่มีคำร้องทุกข์พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวนตามมาตรา 121 วรรคสอง ทำให้การสอบสวนของพนักงานสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นผลให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 120 ศาลจึงต้องพิพากษายกฟ้องคดีของพนักงานอัยการ
เมื่อศาลพิพากษายกฟ้องคดีของพนักงานอัยการแล้ว จึงไม่มีคำฟ้องอยู่ในศาล นายสองแม้จะเป็นผู้เสียหายก็ไม่สามารถเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตามมาตรา 30 ศาลจึงต้องสั่งยกคำร้องของนายสองเช่นเดียวกัน
(ฎ. 228/2544)
สรุป ศาลต้องพิพากษายกฟ้องคดีของพนักงานอัยการและต้องสั่งยกคำร้องของนายสองเช่นเดียวกัน
ข้อ 2 นายเอกร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนว่าถูกนายโทใช้ไม้ตีที่ศีรษะ พนักงานสอบสวนตรวจบาดแผลพบเป็นรอยผื่นแดงเพียงเล็กน้อง จึงแจ้งข้อหานายโทฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ (ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ) นายโทให้การรับสารภาพและได้ชำระค่าปรับ 1,000 บาท ที่พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับ รวมทั้งจ่ายค่ารักษาพยาบาล 2,000 บาท ตามที่นายเอกเรียกร้องและยินยอมไปเรียบร้อยแล้ว
วันรุ่งขึ้นนายเอกมึนศีรษะ อาเจียน แพทย์ตรวจพบว่าสมองกระทบกระเทือนและมีเลือดคั่ง ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล 30 วัน ค่ารักษาพยาบาล 100,000 บาท นายเอกเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลจากนายโท นายโทปฏิเสธโดยอ้างว่าคดีอาญาเลิกกันแล้ว เป็นผลให้คดีอาญาระงับไปด้วย
ดังนี้ นายเอกจะฟ้องคดีอาญานายโททำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ (ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ) ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 37 คดีอาญาเลิกกันได้ ดังต่อไปนี้
(2) ในคดีความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดที่มีอัตราโทษไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษ หรือคดีอื่นที่มีโทษปรับสถานเดียวอย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือความผิดต่อกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรซึ่งมีโทษปรับอย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท เมื่อผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามที่พนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบแล้ว
(3) ในคดีความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดที่มีอัตราโทษไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษ หรือคดีที่มีโทษปรับสถานเดียวอย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งเกิดในกรุงเทพมหานคร เมื่อผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามที่นายตำรวจประจำท้องที่ตั้งแต่ตำแหน่งสารวัตรขึ้นไป หรือนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรผู้ทำการในตำแหน่งนั้นๆได้เปรียบเทียบแล้ว
มาตรา 39 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ดังต่อไปนี้
(3) เมื่อคดีเลิกกัน ตามมาตรา 37
วินิจฉัย
นายเอกจะยื่นฟ้องนายโทในคดีอาญาฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจได้หรือไม่ เห็นว่า การที่นายเอกร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนว่าถูกนายโทใช้ไม้ตีที่ศีรษะ พนักงานสอบสวนเห็นว่าบาดแผลเป็นรอยผื่นแดงเพียงเล็กน้อย และแจ้งข้อหานายโทฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ซึ่งเป็นความผิดลหุโทษ และเปรียบเทียบปรับโดยทั้งสองฝ่ายยินยอม ทั้งนายโทก็ได้ชำระค่าปรับและจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้นายเอกตามที่เรียกร้องและยินยอมไปเรียบร้อยแล้วนั้นโดยปกติคดีอาญาย่อมเลิกกันตาม มาตรา 37 และคดีอาญาระงับไป ตามมาตรา 39(3)
แต่ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้น นายเอกมึนศีรษะ อาเจียน แพทย์ตรวจพบว่าสมองกระทบกระเทือนและมีเลือดคั่ง ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล 30 วัน กรณีที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลโดยตรงที่เกิดจากการกระทำของนายโทเป้นความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ซึ่งไม่ใช่ความผิดลหุโทษเสียแล้ว การเปรียบเทียบปรับจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย คดีอาญายังไม่เลิกกัน และคดีอาญายังไม่ระงับ (ฎ. 354/2541)
สรุป นายเอกจึงยื่นฟ้องคดีอาญานายโทฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจได้
ข้อ 3 นายอาร์ตบุกรุกเข้าไปลักทรัพย์ของนายแมนและนายกัลป์ที่เช่าบ้านพักอาศัยอยู่ด้วยกัน ทรัพย์ที่ลักไปในคราวเดียวกันนี้ประกอบด้วยแจกันของนายแมนราคา 5,000 บาท และนาฬิกาของนายกัลป์ราคา 3,000 บาท ต่อมานายแมนยื่นฟ้องนายอาร์ตข้อหาลักทรัพย์ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเนื่องจากพยานหลักฐานโจทก์ไม่น่าเชื่อถือ
ดังนี้ นายกัลป์จะยื่นฟ้องนายอาร์ตข้อหาบุกรุกต่อศาลที่มีอำนาจอีกได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 39 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ดังต่อไปนี้
(4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง
วินิจฉัย
นายกัลป์จะยื่นฟ้องนายอาร์ตได้หรือไม่ เห็นว่า การที่นายอาร์ตบุกรุกเข้าไปลักทรัพย์ของนายแมนและนายกัลป์ไปในคราวเดียวกัน ถือว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท คือฐานลักทรัพย์และฐานบุกรุก หากมีการฟ้องขอให้ลงโทษนายอาร์ตในกระทำความผิดบทหนึ่งบทใดและศาลชั้นต้นพิพากษาถึงเนื้อหาของความผิดที่ฟ้อง ก็ถือว่าศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว ตามมาตรา 39(4) ซึ่งมีหลักเกณฑ์ว่า
1 จำเลยในคดีแรกและคดีที่มาฟ้องใหม่เป็นคนเดียวกัน
2 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน
3 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว
เมื่อได้ความว่านายแมนฟ้องขอให้ลงโทษนายอาร์ตข้อหาลักทรัพย์และศาลพิพากษายกฟ้องเนื่องจากพยานหลักฐานโจทก์ไม่น่าเชื่อถือ ถือว่าศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องไปแล้วตามมาตรา 39(4) นายกัลป์จึงไม่สามารถฟ้องนายอาร์ต ทั้งข้อหาลักทรัพย์และบุกรุกได้อีกเนื่องจากจะเป็นการฟ้องซ้ำ
(ฎ. 7294/2544 , ฎ. 6678/2531)
สรุป ดังนี้ นายกัลป์จะยื่นฟ้องนายอาร์ตข้อหาบุกรุกต่อศาลที่มีอำนาจอีกไม่ได้
ข้อ 4 พ.ต.ต. สรรชัย มีหลักฐานตามสมควรว่า นายมนัสเป็นผู้ลักรถยนต์ของนายบุญชัย ระหว่างที่ พ.ต.ต. สรรชัย กำลังดำเนินการขอหมายจับนายมนัสจากศาล ร.ต.ต. มนต์ชีพ ได้รายงานให้ พ.ต.ต. สรรชัย ทราบว่า นายมนัสกำลังขับรถยนต์คันที่ลักจากนายบุญชัยออกไปนอกประเทศไทยหากรอหมายจับ นายมนัสน่าจะขับรถออกนอกประเทศไทยไปก่อน พ.ต.ต. สรรชัย จึงตัดสินใจจับกุมนายมนัสทันทีโดยไม่มีหมายจับ
ดังนี้ การจับของ พ.ต.ต. สรรชัย ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 78 พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่
(3) เมื่อมีเหตุที่ออกหมายจับบุคคลนั้นตามมาตรา 66(2) แต่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้
มาตรา 66 เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังต่อไปนี้
(2) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนีหรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น
วินิจฉัย
พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย
การจับของ พ.ต.ต. สรรชัย ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า พ.ต.ต. สรรชัยมีหลักฐานตามสมควรว่านายมนัสเป็นผู้ลักรถยนต์ของนายบุญชัย และมีเหตุอันควรเชื่อว่านายมนัสจะหลบหนีเนื่องจาก ร.ต.ต. มนต์ชีพได้รายงานให้ พ.ต.ต. สรรชัยทราบว่านายมนัสกำลังขับรถยนต์คันที่ลักจากนายบุญชัยออกไปนอกประเทศไทย จึงมีเหตุที่จะขอให้ศาลออกหมายจับนายมนัสได้ ตามมาตรา 66(2) แต่หากรอหมายจับจากศาลนายมนัสน่าจะขับรถออกนอกประเทศไทยไปก่อน จึงถือว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับนายมนัสได้ พ.ต.ต. สรรชัยจึงมีอำนาจจับกุมนายมนัสได้โดยไม่มีหมายจับตามมาตรา 78(3)
สรุป การจับของ พ.ต.ต. สรรชัยจึงชอบด้วยกฎหมาย