การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา  2551
 
ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3006 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1 
 
คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี  4  ข้อ
ข้อ 1. นางพิมมีบุตร 1 คน ชื่อนายเพชร อายุ 25 ปี  นางพิมยังได้จดทะเบียนรับนางสาวพลอย อายุ 16 ปี เป็นบุตรบุญธรรมอีกหนึ่งคน  นางสาวพลอยถูกนายเข้มขับรถยนต์โดยประมาทชนถึงแก่ความตาย
 
นางพิมยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ลงโทษนายเข้มฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นางสาวพลอยถึงแก่ความตาย  ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่าคดีมีมูล  ประทับฟ้อง  คดีอยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์  ปรากฏว่านางพิมป่วยถึงแก่ความตายไปเสียก่อน
 
นายเพชรเป็นทายาทที่มีเพียงคนเดียวและได้รับมรดกทั้งหมดของนางพิม ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอรับมรดกความทางอาญาเข้ามาดำเนินคดีนายเข้มแทนนางพิมต่อไป ดังนี้  ถ้าท่านเป็นศาลจะสั่งคำร้องของนายเพชรว่าอย่างไร  เพราะเหตุใด
 
ธงคำตอบ
 
หลักกฎหมาย          ป.วิ.อาญา มาตรา  2 (4),  5 (1),  28, 29
 
วินิจฉัย   การที่นางสาวพลอยอายุ 16 ปี  ถูกนายเข้มขับรถยนต์โดยประมาทชนถึงแก่ความตาย นางสาวพลอยเป็นบุตรบุญธรรมของนางพิม  นางพิมจึงมีอำนาจจัดการแทนด้วยการฟ้องคดีอาญา  ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (4), 5 (1), 28
เมื่อนางพิมยื่นฟ้องคดีแล้วตายลง  นายเพชรอายุ 25 ปี บุตรของนางพิม แม้จะเป็นผู้สืบสันดานที่บรรลุนิติภาวะแล้ว ก็ไม่สามารถเข้ามารับมรดกความทางอาญาดำเนินคดีนายเข้มแทนนางพิม  เพราะการรับมรดกความทางอาญา ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 29  ต้องเป็นกรณีผู้เสียหายที่แท้จริงยื่นฟ้องแล้วตาย    แต่กรณีนี้ นางพิมที่ยื่นฟ้องแล้วตายนั้นไม่ใช่ผู้เสียหายที่แท้จริง  เป็นเพียงผู้มีอำนาจจัดการแทน ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 5 (1)  เท่านั้น
 
ดังนั้น  ศาลต้องยกคำร้องของนายเพชร
 
ข้อ 2.  พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนกรณีนายศิรพงษ์ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานฆ่านายประสงค์   แต่เมื่อพนักงานอัยการพิจารณาพยานหลักฐานจากการสอบสวนแล้ว เห็นว่าคดีมีหลักฐานไม่พอฟ้อง จึงมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องนายศิรพงษ์ ต่อมานายกมลบิดาของนายประสงค์ได้ดำเนินการฟ้องนายศิรพงษ์ในความผิดฐานฆ่านายประสงค์ ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น นายศิรพงษ์ได้ทำการตกลงกับนายกมลโจทก์ยอมชดใช้เงินจำนวนหนึ่งให้แก่นายกมลจนเป็นที่พอใจ โดยนายกมลตกลงจะช่วยเหลือนายศิรพงษ์ด้วยการดำเนินคดีไปในทางที่ให้ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง พนักงานอัยการได้ทราบถึงเรื่องดังกล่าวจึงยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับนายกมล แต่นายศิรพงษ์คัดค้านว่าพนักงานอัยการไม่มีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์เพราะพนักงานอัยการได้มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องตนมาแล้ว ดังนี้พนักงานอัยการเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้ได้หรือไม่
 
ธงคำตอบ
 
หลักกฎหมายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 31 คดีอาญาที่มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวซึ่งผู้เสียหายยื่นฟ้องแล้ว พนักงานอัยการจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดก่อนคดีเสร็จเด็ดขาดก็ได้
 
                มาตรา 32 เมื่อพนักงานอัยการและผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมกัน ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่าผู้เสียหายจะกระทำให้คดีของอัยการเสียหาย โดยกระทำหรือละเว้นกระทำลงใดๆ ในกระบวนพิจารณา พนักงานอัยการมีอำนาจร้องต่อศาลให้สั่งผู้เสียหายกระทำหรือละเว้นกระทำการนั้นๆได้
 
 มาตรา 34 คำสั่งไม่ฟ้องคดี หาตัดสิทธิผู้เสียหายฟ้องคดีโดยตนเองไม่
 
                มาตรา 39 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดั่งต่อไปนี้…
 
                มาตรา 147 เมื่อมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีแล้ว ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีกเว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้
 
                วินิจฉัย
 
การที่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องเป็นเพียงกรณีที่พนักงานอัยการพิจารณาเห็นว่า ในขณะนั้นยังไม่มีพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหาในศาลเพื่อความยุติธรรม จึงต้องมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหาไปก่อน แต่คำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องของพนักงานอัยการไม่ทำให้สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตามมาตรา 39 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หากในโอกาสต่อไปได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดีที่น่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้ ก็สามารถสอบสวนและฟ้องผู้ต้องหาในเรื่องเดียวกันเพื่อพิสูจน์ความผิดและเพื่อให้ศาลพิจารณาลงโทษได้อีกภายในอายุความ ตามมาตรา 147
 
                คดีนี้แม้พนักงานอัยการได้มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องนายศิรพงษ์แล้ว แต่เมื่อพนักงานอัยการเห็นว่านาย
 
กมลจะดำเนินคดีไปในทางที่ทำให้ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายแก่การดำเนินคดีของรัฐ พนักงานอัยการก็สามารถเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีที่นายกมลเป็นโจทก์ฟ้องนายศิรพงษ์เรื่องเดียวกันตามมาตรา 31 เพื่อดำเนินการมิให้นายกมลกระทำเสียหายแก่คดีตามมาตรา 32 ได้
 
ดังนั้นพนักงานอัยการเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้ได้
 
ข้อ 3.       ร.ต.ต.โกสินทร์ขับรถออกตรวจท้องที่เวลาสามทุ่ม เห็นนายโสภณยกปืนขึ้นเล็งไปที่นายพนมซึ่งทั้ง     นายโสภณและนายพนมอยู่ภายในบ้านของนางมะลิ  ร.ต.ต.โกสินทร์จึงเข้าไปทำการจับนายโสภณในบ้านของนางมะลิทันทีโดยที่ไม่มีหมายจับและหมายค้น
 
ดังนี้การที่ ร.ต.ต.โกสินทร์เข้าไปจับนายโสภณในบ้านของนางมะลิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด
 
ธงคำตอบ
หลักกฎหมายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 78 พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่
(1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้าดังได้บัญญัติไว้ในมาตรา 80
 
มาตรา 80 วรรคแรก ที่เรียกว่าความผิดซึ่งหน้านั้น ได้แก่ความผิดซึ่งเห็นกำลังกระทำหรือพบในอาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยได้เลยว่าเขาได้กระทำผิดมาแล้วสดๆ
 
มาตรา 81 ไม่ว่าจะมีหมายจับหรือไม่ก็ตาม ห้ามมิให้จับในที่รโหฐาน เว้นแต่จะ
 
ได้ทำตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน
 
มาตรา 92 ห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นหรือคำสั่งของศาล เว้นแต่
 
พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้นและในกรณีดังต่อไปนี้
 
                (2) เมื่อปรากฏความผิดซึ่งหน้ากำลังกระทำลงในที่รโหฐาน
 
                มาตรา 96 การค้นในที่รโหฐานต้องกระทำระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและตก มีข้อยกเว้นดังนี้
 
                (2) ในกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่งหรือซึ่งมีกฎหมายอื่นบัญญัติให้ค้นได้เป็นพิเศษ จะทำการค้นในเวลากลางคืนก็ได้
 
วินิจฉัย
 
การจับของ ร.ต.ต.โกสินทร์เป็นการจับในที่รโหฐานในเวลากลางคืน(เนื่องจากตามปัญหาการกระทำความผิดเกิดเวลาสามทุ่ม) ซึ่งการที่จะเข้าไปจับได้ต้องมีอำนาจในการจับโดยมีหมายจับหรืออำนาจที่กฎหมายให้ทำการจับได้โดยไม่ต้องมีหมายและต้องทำตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐานคือมีอำนาจในการค้นโดยมีหมายค้นหรือมีอำนาจที่กฎหมายให้ทำการค้นได้โดยไม่ต้องมีหมาย รวมถึงจะต้องมีอำนาจที่จะเข้าไปทำการค้นในที่รโหฐานในเวลากลางคืน
 
                การที่ ร.ต.ต.โกสินทร์ เห็นนายโสภณยกปืนขึ้นเล็งไปที่นายพนม การกระทำของนายโสภณเป็นความผิดฐานพยายามฆ่านายพนม (ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบมาตรา 80)  เมื่อ ร.ต.ต.โกสินทร์เห็นการทำดังกล่าวจึงมีอำนาจในการจับเนื่องจากเป็นความผิดซึ่งหน้า(ประเภทความผิดซึ่งหน้าอย่างแท้จริงกรณีเห็นบุคคลกำลังกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 78 ประกอบมาตรา 80) และตามปัญหาเป็นกรณีนายโสภณกระทำความผิดซึ่งหน้า(ร.ต.ต.โกสินทร์)ในบ้านของนางมะลิซึ่งเป็นที่รโหฐาน จึง
 
ถือว่า ร.ต.ต.โกสินทร์ได้ทำตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐานคือมีอำนาจในการค้นแล้ว (ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 92 (2)) และตามปัญหาถือเป็นกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่งซึ่ง จะทำการค้นในที่รโหฐานเวลากลางคืนก็ได้ เนื่องจากหาก ร.ต.ต.โกสินทร์ไม่เข้าไปขณะนั้น (เวลาสามทุ่ม) นายพนมอาจได้รับอันตรายถึงชีวิตได้ ร.ต.ต.โกสินทร์จึงสามารถเข้าไปทำการจับ   นายโสภณในบ้านของนางมะลิได้
 
                ดังนั้นการที่ ร.ต.ต.โกสินทร์เข้าไปจับนายโสภณในบ้านของนางมะลิชอบด้วยกฎหมาย
 
ข้อ 4.       นายฤทธิไกรอายุ 35 ปี ยืมรถจักรยานยนต์ของนายศรัณยูไปทำธุระแล้วยักยอกไปขายให้แก่นายสันติ นายศรัณยูทราบเรื่องจึงไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อ
 
พ.ต.ต.สมยศพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลาดพร้าว เพื่อให้ดำเนินคดีแก่นายฤทธิไกรข้อหายักยอก ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายฤทธิไกรได้ตามหมายจับ โดยในการจับเจ้าพนักงานผู้ทำการจับได้ปฏิบัติตามขั้นตอนการจับกุมแล้วนำตัวนายฤทธิไกรไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวน พ.ต.ต.สมยศแจ้งข้อหาแก่นายฤทธิไกรว่ายักยอกรถจักรยานยนต์ของนายศรัณยู แล้วได้ทำการสอบสวน (โดยก่อนเริ่มถามคำให้การพนักงานสอบสวนได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 134/1-134/4 ครบถ้วนทุกประการ) หลังการสอบสวนเสร็จข้อเท็จจริงได้ความตามทางสอบสวนว่า นายฤทธิไกรยักยอกรถจักรยานยนต์ของนายศรัณยูไปนอกจากนี้นายฤทธิไกรยังช่วยเหลือนายโอฬารนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายศรัณยูซึ่งถูกนายโอฬารลักมาไปขายที่ศูนย์การค้าแห่งหนึ่งอีกด้วย  พ.ต.ต.สมยศจึงสรุปสำนวนเสนอความเห็นควรสั่งฟ้องนายฤทธิไกรข้อหายักยอกรถจักรยานยนต์ของนายศรัณยูและข้อหารับของโจรโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายศรัณยูอีกหนึ่งข้อหา
 
ดังนี้ให้วินิจฉัยว่าพนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องนายฤทธิไกรในข้อหารับของโจรโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ    นายศรัณยู หรือไม่ เพราะเหตุใด
 
ธงคำตอบ
 
หลักกฎหมายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 120 ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาลโดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน
 
มาตรา 134 เมื่อผู้ต้องหาถูกเรียกหรือส่งตัวมาหรือเข้าหาพนักงานสอบสวนเองหรือปรากฏว่าผู้ใดซึ่งมาอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวนเป็นผู้ต้องหา… แจ้งข้อหาให้ทราบ
 
วินิจฉัย
 
เมื่อ พ.ต.ต.สมยศแจ้งข้อหาแก่นายฤทธิไกรแต่เพียงว่ายักยอกรถจักรยานยนต์ของนายศรัณยูซึ่งไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการกระทำของนายฤทธิไกรที่ช่วยเหลือนายโอฬารนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายศรัณยูที่ถูกนายโอฬารลักมาไปขายอันเป็นความผิดฐานรับของโจร การที่ พ.ต.ต.สมยศสอบสวนและสรุปสำนวนเสนอความเห็นควรสั่งฟ้องนายฤทธิไกรข้อหารับของโจรโทรศัพท์เคลื่อนที่อีกหนึ่งข้อหาหนึ่งแก่นายฤทธิไกร โดยไม่ได้แจ้งข้อหาดังกล่าวแก่นายฤทธิไกร จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 134 พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องนายฤทธิไกรในข้อหาดังกล่าวตามมาตรา 120 (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1250/2521 ประชุมใหญ่)
 
ดังนั้นพนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องนายฤทธิไกรในข้อหารับของโจรโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายศรัณยู

Advertisement