การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3006 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นางชนิกามีบุตร 1 คน ชื่อนายประกอบ อายุ 22 ปี นางชนิกายังได้จดทะเบียนรับนางสาวสุพรอายุ 16 ปี เป็นบุตรบุญธรรมอีกคนหนึ่ง นางสาวสุพรถูกนายวิชัยขับรถยนต์โดยประมาทชนถึงแก่ความตาย นางชนิกายื่นฟ้องต่อศาลขอให้ลงโทษนายวิชัยฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นางสาวสุพรถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่าคดีมีมูล ประทับฟ้องคดีอยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์ปรากฏว่านางชนิกาป่วยถึงแก่ความตายไปเสียก่อน
นายประกอบเป็นทายาทที่มีเพียงคนเดียวและได้รับมรดกทั้งหมดของนางชนิกาได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอรับมรดกความอาญาเข้ามาดำเนินคดีนายวิชัยแทนนางชนิกาต่อไป ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาลจะสั่งคำร้องของนายประกอบว่าอย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 2 ในประมวลกฎหมายนี้
(4) ผู้เสียหาย หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่งรวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6
มาตรา 5 บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้
(1) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิดซึ่งได้กระทำต่อผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล
มาตรา 28 บุคคลเหล่านี้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล
(2) ผู้เสียหาย
มาตรา 29 เมื่อผู้เสียหายยื่นฟ้องแล้วตายลง ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาจะดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปก็ได้
ถ้าผู้เสียหายที่ตายนั้นเป็นผู้เยาว์ ผู้วิกลจริต หรือผู้ไร้ความสามารถซึ่งผู้แทนโดยชอบธรรมผู้อนุบาลหรือผู้แทนเฉพาะคดีได้ยื่นฟ้องแทนไว้แล้วผู้ฟ้องแทนนั้นจะว่าคดีต่อไปก็ได้
วินิจฉัย
การที่นางสาวสุพรอายุ 16 ปี ถูกนายวิชัยขับรถยนต์โดยประมาทถึงแก่ความตายกรณีนี้ถือว่านางสาวสุพรเป็นผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย อันถือว่านางสาวสุพรเป็นผู้ได้รับความเสียหายโดยตรงและเป็นผู้เสียหายที่แท้จริง ตามมาตรา 2(4)
เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า นางสาวสุพรผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมของนางชนิกา กรณีย่อมถือว่านางชนิกาเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมมีอำนาจจัดการแทนนางสาวสุพรผู้เยาว์ซึ่งเป็นผู้เสียหายในความผิดที่กระทำต่อนางสาวสุพรได้ด้วยการฟ้องคดีโดยอาศัยมาตรา 2(4) ประกอบมาตรา 5(1) และมาตรา 28 มิใช่การฟ้องคดีตามมาตรา 5(2) เพราะนางชนิกาและนางสาวสุพรไม่ได้เป็นผู้บุพกรรีและผู้สืบสันดานซึ่งกันและกัน เนื่องจากผู้บุพการีและผู้สืบสันดานนั้นต้องถือตามความเป็นจริง (ฎ. 1384/2516 (ประชุมใหญ่))
อนึ่งเมื่อนางชนิกาซึ่งเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนตามมาตรา 5(1) ได้ฟ้องคดีแล้วตายลง ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในกรณีนี้จึงมีว่า นายประกอบอายุ 22 ปี ซึ่งเป็นทายาทเพียงคนเดียวและได้รับมรดกทั้งหมดของนางชนิกาจะยื่นคำร้องขอเข้ารับมรดกความทางอาญาเพื่อดำเนินคดีกับนายวิชัยแทนนางชนิกาต่อไปได้หรือไม่ เห็นว่าการรับมรดกตามมาตรา 29 วรรคแรกนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ผู้เสียหายที่แท้จริงยื่นฟ้องคดีต่อศาลแล้วตายลงเท่านั้นที่ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาของผู้นั้นจึงจะเข้ามารับมรดกความทางอาญาได้ (ฎ. 1187/2543, ฎ. 2231/2521) เมื่อนางชนิกาผู้ตายยื่นฟ้องต่อศาลในฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม เป็นเพียงผู้มีอำนาจจัดการแทนนางสาวสุพรผู้เยาว์ ตามมาตรา 5(1) เท่านั้น มิใช่ผู้เสียหายที่แท้จริงแต่ประการใด ดังนั้นนายประกอบแม้จะเป็นผู้สืบสันดานตามความเป็นจริงของนางชนิกาและบรรลุนิติภาวะแล้วก็ตาม ก็ไม่อาจเข้ารับมรดกความทางอาญาต่อจากนางชนิกาได้ กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 29 ศาลต้องมีคำสั่งยกคำร้องของนายประกอบ
สรุป ศาลต้องมีคำสั่งยกคำร้องของนายประกอบ
ข้อ 2 นายนิมิตขับรถยนต์มาด้วยความประมาทชนรถยนต์ของนายสรพงษ์เป็นเหตุให้นายสรพงษ์ถึงแก่ความตาย นางธิดารัตน์ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสรพงษ์จึงเป็นโจทก์ฟ้องนายนิมิตในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นายสรพงษ์ถึงแก่ความตาย ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งประทับฟ้องไว้พิจารณา
ต่อมานางธิดารัตน์ประสบเหตุขาหัก นายชุมพลซึ่งเป็นบิดาของนายสรพงษ์เกรงว่านางธิดารัตน์จะไม่สามารถดำเนินคดีต่อไปได้ จึงยื่นฟ้องนายนิมิตในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นายสรพงษ์ถึงแก่ความตายเช่นกัน
ดังนี้ นายชุมพลจะดำเนินคดีแก่นายนิมิตต่อไปได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 2 ในประมวลกฎหมายนี้
(4) ผู้เสียหาย หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่งรวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6
มาตรา 5 บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้
(2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาเฉพาะแต่ในความผิดอาญา ซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้
มาตรา 15 วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้
มาตรา 28 บุคคลเหล่านี้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล
(2) ผู้เสียหาย
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา และผลแห่งการนี้
(1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกัน หรือต่อศาลอื่น…
วินิจฉัย
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า นายชุมพลจะดำเนินคดีแก่นายนิมิตต่อไปได้หรือไม่ เห็นว่านายสรพงษ์ถูกนายนิมิตขับรถยนต์มาด้วยความประมาทชนรถยนต์ของนายสรพงษ์เป็นเหตุให้นายสรพงษ์ถึงแก่ความตาย กรณีถือว่านายสรพงษ์เป็นผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย อันถือว่านายสรพงษ์เป็นผู้ได้รับความเสียหายโดยตรงและเป็นผู้เสียหายที่แท้จริง ตามมาตรา 2(4)
เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า นางธิดารัตน์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสรพงษ์ กรณีย่อมถือว่านางธิดารัตน์เป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายซึ่งถูกทำร้ายถึงแก่ความตายด้วยการฟ้องคดี ตามมาตรา 2(4) ประกอบมาตรา 5(2) และมาตรา 28 เมื่อนางธิดารัตน์ยื่นฟ้องนายนิมิตต่อศาลในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย ศาลไต่สวนมูลฟ้องและประทับฟ้องไว้แล้ว กรณีเช่นนี้ย่อมถือว่าคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาและมีผลทำให้ผู้มีอำนาจจัดการแทนนายสรพงษ์คนอื่นจะมาฟ้องนายนิมิตจำเลยในความผิดเดียวกันนี้อีกไม่ได้
ดังนั้นการที่นายชุมพลซึ่งเป็นบิดาของนายสรพงษ์เกรงว่านางธิดารัตน์จะไม่สามารถดำเนินคดีต่อไปได้ เนื่องจากนางธิดารัตน์ประสบอุบัติเหตุ นายชุมพลจึงได้ยื่นฟ้องนายนิมิตในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นความผิดฐานเดียวกันกับที่นางธิดารัตน์ได้ยื่นฟ้องไปแล้ว จึงเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยในคดีเดิมซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณา และคดีเดิมกับคดีหลังเป็นเรื่องเดียวกัน (ประมาทเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย) อันเป็นการฟ้องซ้อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบมาตรา 15 ดังนี้ นายชุมพลจึงไม่อาจดำเนินคดีแก่นายนิมิตต่อไปได้
สรุป นายชุมพลจึงดำเนินคดีแก่นายนิมิตต่อไปไม่ได้
ข้อ 3 ระหว่างศาลชั้นต้นพิจารณาคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ นายพรเทพผู้เสียหายยื่นคำร้องขอต่อศาลขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ศาลอนุญาต
ในระหว่างการสืบพยานโจทก์ นายพรเทพยื่นคำร้องต่อศาลขอถอนคำร้องที่ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ โดยระบุเหตุผลว่ามีความคิดเห็นหลายอย่างไม่ตรงกับพนักงานอัยการ หากดำเนินคดีร่วมกันต่อไปเกรงว่าจะเกิดความเสียหายแก่คดี ศาลอนุญาต
ก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีเพียง 1 วัน นายพรเทพยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการอีกครั้งหนึ่ง โดยระบุเหตุผลว่าเพื่อต้องการใช้สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาต่อไปในกรณีที่พนักงานอัยการไม่อุทธรณ์ฎีกา
ดังนี้ ศาลจะอนุญาตให้นายพระเทพเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการอีกได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 30 คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้
มาตรา 36 คดีอาญาซึ่งได้ถอนฟ้องไปจากศาลแล้วจะนำมาฟ้องอีกหาได้ไม่…
มาตรา 39 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดังต่อไปนี้
(2) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย
วินิจฉัย
ศาลจะอนุญาตให้นายพรเทพเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการอีกได้หรือไม่ เห็นว่า นายพรเทพเป็นผู้เสียหาย ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาตามมาตรา 30 แต่เมื่อนายพรเทพได้ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องที่ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการด้วยเหตุผลว่ามีความคิดเห็นไม่ตรงกับพนักงานอัยการ หากดำเนินคดีร่วมกันต่อไป อาจจะเกิดความเสียหายแก่คดี การขอถอนคำร้องที่ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการของนายพรเทพผู้เสียหายเช่นนี้ เมื่อศาลอนุญาต จึงมีผลเท่ากับเป็นการที่นายพรเทพผู้เสียหายถอนฟ้อง (คำสั่งคำร้องศาลฎีกาที่ 892/2514) แต่เนื่องจากคดีนี้เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เป้นความผิดอาญาแผ่นดินคดีอาญายังไม่ระงับ ไม่ต้องด้วยมาตรา 39(2) พนักงานอัยการยังดำเนินคดีต่อไปได้
เมื่อนายพรเทพถอนฟ้องแล้ว ย่อมเกิดผลทางกฎหมาย ตามมาตรา 36 คือ นายพรเทพผู้เสียหายจะนำคดีมาฟ้องใหม่ไม่ได้ เมื่อได้ความว่าฟ้องไม่ได้ การขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการก็ทำไม่ได้เช่นเดียวกัน แม้จะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาก็ตาม
สรุป ศาลจึงอนุญาตให้นายพรเทพผู้เสียหายเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการอีกไม่ได้
ข้อ 4 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2551 นายสังคม อายุ 17 ปี 11 เดือน ต่อยหน้านายทวี อายุ 22 ปี ทำให้นายทวีได้รับอันตรายสาหัส วันรุ่งขึ้นนางป่านภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายทวีเข้าร้องทุกข์ต่อ ร.ต.อ. วินัย พนักงานสอบสวน ต่อมา ร.ต.อ. วินัย ดำเนินการขอหมายจับนายสังคมจากศาล ศาลออกหมายจับให้แก่ ร.ต.อ. วินัย เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2551 ร.ต.อ. วินัย นำหมายจับไปจับนายสังคมเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2551 (ในชั้นจับกุมและชั้นรับมอบตัวผู้ถูกจับ ร.ต.อ. วินัยได้ปฏิบัติตามมาตรา 83 และมาตรา 84 ครบถ้วนทุกประการ) และเริ่มทำการสอบสวนสังคมในวันที่จับนายสังคมได้ตามหมายจับ ก่อนเริ่มถามคำให้การ ร.ต.อ. วินัย ถามนายสังคมในวันที่จับนายสังคมได้ตามหมายจับ ก่อนเริ่มถามคำให้การ ร.ต.อ. วินัย ถามนายสังคมว่ามีทนายความหรือไม่ นายสังคมตอบว่าไม่มีแต่ไม่ต้องการทนายความเพราะสำนึกผิดในการกระทำ ร.ต.อ. วินัย จึงแจ้งข้อหาทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัสและแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตา 134/4 วรรคหนึ่ง ให้ทราบก่อนถามคำให้การหลังจากที่นายสังคมได้ฟังการแจ้งสิทธิดังกล่าว นายสังคมก็ยังยืนยันต่อ ร.ต.อ. วินัยว่าไม่ต้องการทนายความ ร.ต.อ. วินัยจึงถามคำให้การนายสังคมโดยไม่มีทนายความและนายสังคมยอมให้การโดยเต็มใจ ร.ต.อ. วินัยจึงจดคำให้การไว้
ดังนี้ ถ้อยคำที่นายสังคมให้ไว้ต่อ ร.ต.อ. วินัยสามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของนายสังคมได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
หมายเหตุ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี อันตรายสาหัสคือ…
ธงคำตอบ
มาตรา 134/1 วรรคแรกและวรรคสอง ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ก่อนเริ่มถามคำให้การพนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้
ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและผู้ต้องหาต้องการทนายความ ให้รัฐจัดหาทนายความให้
มาตรา 134/2 ให้นำบทบัญญัติในมาตรา 133 ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การสอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี
มาตรา 134/3 ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้
มาตรา 134/4 ในการถามคำให้การผู้ต้องหา ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่า
(1) ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ ถ้าผู้ต้องหาให้การ ถ้อยคำที่ผู้ต้องหาให้การนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้
(2) ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้
เมื่อผู้ต้องหาเต็มใจให้การอย่างใดก็ให้จดคำให้การไว้ ถ้าผู้ต้องหาไม่เต็มใจให้การเลยก็ให้บันทึกไว้
ถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรา 134/1 มาตรา 134/2 และมาตรา 134/3 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกิน 18 ปี ในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา (ไม่คำนึงว่าในขณะกระทำความผิดจะมีอายุเท่าใดก็ตาม) ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้ กรณีนี้เป็นบทบังคับเด็ดขาดหากผู้ต้องหาไม่มีทนายความและแม้จะไม่ต้องการก็ต้องจัดหาทนายความให้เสมอ (มาตา 134/1 วรรคแรก)
ในส่วนคดีที่มีอัตราโทษจำคุก (ไม่ใช่คดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิตหรือคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกิน 18 ปี) ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและผู้ต้องหาต้องการทนายความ ให้รัฐจัดหาทนายความให้ แต่ถ้าหากผู้ต้องหาไม่ต้องการ ก็ไม่จำต้องจัดหาให้แต่ประการใด (มาตรา 134/1 วรรคสอง)
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ถ้อยคำที่นายสังคมให้ไว้ต่อ ร.ต.อ. วินัยสามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของนายสังคมได้หรือไม่ เห็นว่า แม้ในขณะที่นายสังคมทำร้ายร่างกายนายทวีได้รับอันตรายสาหัส นายสังคมจะมีอายุ 17 ปี 11 เดือนก็ตาม แต่เมื่อในวันที่ ร.ต.อ. วินัยพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่นายสังคม นายสังคมมีอายุเกิน 18 ปีแล้ว ดังนี้ ก่อนเริ่มถามคำให้การ ร.ต.อ. วินัยจึงมีหน้าที่ต้องถามนายสังคมว่า มีทนายความหรือไม่ หากไม่มีและนายสังคมต้องการทนายความจึงจะจัดหาทนายความให้ ตามมาตรา 134/1 วรรคสอง (กรณีมิใช่มาตรา 134/1 วรรคแรก เพราะนายสังคมมีอายุเกิน 18 ปีแล้ว ในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาและไม่ใช่กรณีมาตรา 134/2 เนื่องจากนายสังคมมีอายุเกิน 18 ปีในวันทำการสอบสวน) นอกจากนี้ ร.ต.อ. วินัยยังมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 134/3 และมาตรา 134/4 ซึ่งตามข้อเท็จจริงดังกล่าวรับฟังได้ว่า ร.ต.อ. ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวครบถ้วนทุกประการ เมื่อนายสังคมให้การด้วยความเต็มใจและ ร.ต.อ. วินัย ได้จดคำให้การไว้ ถ้อยคำที่นายสังคมให้ไว้ต่อ ร.ต.อ. วินัยจึงสามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของนายสังคมได้
สรุป ถ้อยคำที่นายสังคมให้ไว้ต่อ ร.ต.อ. วินัย จะสามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของนายสังคมได้