การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3006 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นางสายเดี่ยวอยู่กินกับนายสายลมโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรชื่อนางสาวเอวลอย อายุ 17 ปี นางสาวเอวลอยถูกนายเบี้ยวข่มขืนกระทำชำเรา แต่นางสาวเอวลอยก็ยังไปเรียนหนังสือได้ตามปกติในวันรุ่งขึ้น
ในแต่ละกรณีดังต่อไปนี้ ถ้าท่านเป็นพนักงานสอบสวน ท่านจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
(ก) นางสายเดี่ยวร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีนายเบี้ยวข้อหาข่มขืนกระทำชำเรานางสาวเอวลอยในขณะที่นางสาวเอวลอยคัดค้านและไม่ยินยอมให้นางสายเดี่ยวร้องทุกข์ เพราะเกรงว่าตนเองและครอบครัวจะได้รับความอับอาย
(ข) นางสาวเอวลอยร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีนายเบี้ยวข้อหาข่มขืนกระทำชำเรา ต่อมานางสายเดี่ยวขอถอนคำร้องทุกข์เพราะเกรงว่าตนเองและครอบครัวจะได้รับความอับอาย ในขณะที่นางสาวเอวลอย คัดค้านและไม่ยินยอมให้นางสายเดี่ยวถอนคำร้องทุกข์
ธงคำตอบ
มาตรา 2 ในประมวลกฎหมายนี้
(4) ผู้เสียหาย หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่งรวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6
(7) คำร้องทุกข์ หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้นจะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ
มาตรา 5 บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้
(1) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิดซึ่งได้กระทำต่อผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล
วินิจฉัย
(ก) นางสาวเอวลอย อายุ 17 ปี บุตรนอกสมรสของนางสายเดี่ยวถูกนายเบี้ยวข่มขืนกระทำชำเรา นางสาวเอวลอยซึ่งเป็นผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา จึงถือได้ว่า นางสาวเอวลอยเป็นผู้เสียหายโดยตรง ตามมาตรา 2(4)
การที่นางสายเดี่ยวร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับนายเบี้ยวข้อหาข่มขืนกระทำชำเรานางสาวเอวลอยนั้น เห็นว่า นางสายเดี่ยวมีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแทนนางสาวเอวลอยได้ เพราะเหตุว่า เด็กที่เกิดจากหญิงที่ไม่ได้สมรสกับชายให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1546 บุตรผู้เยาว์จึงอยู่ในอำนาจปกครองของมารดา นางสาวสายเดี่ยวจึงเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมมีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับนายเบี้ยวในข้อหาข่มขืนกระทำชำเรานางสาวเอวลอย บุตรของตนที่เป็นผู้เยาว์ได้ ตามมาตรา 5(1) แม้นางสาวเอวลอยจะคัดค้านและไม่ยินยอมก็ตาม
(ข) โดยหลัก ผู้เยาว์ไม่สามารถฟ้องคดีอาญาด้วยตัวเองได้ (ฎ. 563/2517) แม้จะได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก็ตาม แต่ผู้เยาว์ชอบที่จะร้องทุกข์เองได้ (ฎ. 1892/2498)
การที่นางสาวเอวลอยร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับนายเบี้ยวในข้อหาข่มขืนกระทำชำเรานั้น เห็นว่า นางสาวเอวลอยมีอำนาจที่จะกระทำได้ เพราะเหตุว่า การที่ผู้เยาว์ซึ่งอยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหายย่อมมีอำนาจร้องทุกข์ด้วยตัวเองได้ ตามมาตรา 2(7)
และนางสายเดี่ยว ไม่มีอำนาจขอถอนคำร้องทุกข์ดังกล่าว เพราะเหตุว่า เมื่อผู้เยาว์ได้ร้องทุกข์ตามความประสงค์แล้ว นางสายเดี่ยวเป็นมารดาของนางสาวเอวลอยก็ไม่สามารถถอนคำร้องทุกข์ซึ่งเป็นการขัดขืนฝืนความประสงค์ของผู้เยาว์ได้ (ฎ. 214/2549) ดังนั้น นางสายเดี่ยวจึงไม่มีอำนาจถอนคำร้องทุกข์ดังกล่าว
สรุป
(ก) นางสายเดี่ยวมีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนได้
(ข) นาวสาวเอวลอยมีอำนาจในการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน และนางสายเดี่ยวไม่มีอำนาจถอนคำร้องทุกข์
ข้อ 2 นายหนึ่งออกเช็คชำระหนี้ให้นางสอง 100,000 บาท นายสองนำเช็คไปขึ้นเงินที่ธนาคารเมื่อเช็คถึงกำหนด ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะเงินในบัญชีนายหนึ่งไม่พอจ่าย นายสองนำเช็คไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนว่า “ผู้แจ้งเกรงว่าคดีจะขาดอายุความ จึงขอแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน”
เมื่อพนักงานสอบสวนสอบสวนเสร็จแล้ว พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลให้ลงโทษนายหนึ่งทางอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ ระหว่างศาลชั้นต้นพิจารณาคดี นายสองยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ
ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาลจะวินิจฉัยคดีของพนักงานอัยการและคำร้องของนายสองว่าอย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 2 ในประมวลกฎหมายนี้
(4) ผู้เสียหาย หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่งรวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6
(7) คำร้องทุกข์ หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้นจะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ
มาตรา 30 คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้
มาตรา 120 ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน
มาตรา 121 วรรคสอง แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ
วินิจฉัย
นายสองเป็นผู้ทรงเช็คในขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน นายสองจึงเป็นผู้เสียหายทางอาญาในความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ ตามมาตรา 2(4) แต่การที่นายสองนำเช็คไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนว่า “ผู้แจ้งเกรงว่าคดีจะขาดอายุความ จึงขอแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน” ถือว่านายสองยังไม่มีเจตนาให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ (ฎ. 62/2521) ถ้อยคำที่แจ้งจึงไม่เป็นคำร้องทุกข์ ตามมาตรา 2(7)
ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คเป็นความผิดต่อส่วนตัว เมื่อไม่มีคำร้องทุกข์พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวนตามมาตรา 121 วรรคสอง ทำให้การสอบสวนของพนักงานสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นผลให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 120 ศาลจึงต้องพิพากษายกฟ้องคดีของพนักงานอัยการ
เมื่อศาลพิพากษายกฟ้องคดีของพนักงานอัยการแล้ว จึงไม่มีคำฟ้องอยู่ในศาล นายสองแม้จะเป็นผู้เสียหายก็ไม่สามารถเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตามมาตรา 30 ศาลจึงต้องสั่งยกคำร้องของนายสองเช่นเดียวกัน
(ฎ. 228/2544)
สรุป ศาลต้องพิพากษายกฟ้องคดีของพนักงานอัยการและต้องสั่งยกคำร้องของนายสองเช่นเดียวกัน
ข้อ 3 อัยการประจำศาลแขวงใต้ฟ้องนายแดงฐานขับรถยนต์โดยประมาทชนนายดำบาดเจ็บสาหัสต่อศาลแขวง ระหว่างพิจารณา นายดำได้ถึงแก่ความตายเนื่องจากการขับรถโดยประมาทตามที่ได้ฟ้องทำให้คดีไม่อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ อัยการประจำศาลแขวงจึงได้ขอถอนฟ้องเพื่อส่งสำนวนไปให้อัยการประจำศาลจังหวัด ด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาทเป็นเหตุให้คนตายอยู่ในอำนาจศาลจังหวัดที่จะพิจารณาพิพากษาได้ และต่อมาอัยการประจำศาลจังหวัดได้ยื่นฟ้องนายแดงฐานขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้นายดำถึงแก่ความตายต่อศาลจังหวัด
เช่นนี้ ถ้าท่านเป็นศาลจังหวัดจะรับฟ้องของอัยการดังกล่าวไว้พิจารณาหรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 36 วรรคแรก คดีอาญาซึ่งได้ถอนฟ้องไปจากศาลแล้วจะนำมาอีกหาได้ไม่ เว้นแต่จะเข้าอยู่ในข้อยกเว้นต่อไปนี้
(1) ถ้าพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีอาญาซึ่งไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัวไว้แล้วได้ถอนฟ้องคดีนั้นไป การถอนนี้ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่
(2) ถ้าพนักงานอัยการถอนคดีซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวไป โดยมิได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้เสียหาย การถอนนั้นไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่
วินิจฉัย
ศาลจังหวัดจะรับฟ้องของพนักงานอัยการไว้พิจารณาหรือไม่นั้น เห็นว่า ในความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้นายดำได้รับบาดเจ็บสาหัสและความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้นายดำถึงแก่ความตายนั้น ถือได้ว่าเป็นคดีเดียวกันเพราะในสองฐานความผิดดังกล่าวได้เกิดจากรถยนต์นั้นชนเช่นเดียวกัน เมื่อได้ความว่าคดีดังกล่าวพนักงานอัยการได้ฟ้องต่อศาลแขวงแล้ว และต่อมาได้ขอถอนฟ้องไป ซึ่งผลของการถอนฟ้องดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถนำคดีอาญามาฟ้องใหม่ได้อีก ตามมาตรา 36 วรรคแรก แม้ได้ความว่าจะฟ้องต่อศาลจังหวัดก็ตาม และในกรณีนี้ก็ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้น ตามมาตรา 36(1)(2) ที่จะสามารถฟ้องใหม่ได้แต่อย่างใด
สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลจังหวัดก็จะไม่รับฟ้องของอัยการไว้พิจารณา
ข้อ 4 พ.ต.ต. สิทธิชัยขับรถออกตรวจท้องที่เวลาห้าทุ่ม เห็นนายสุเมธยกปืนขึ้นเล็งไปที่นายปริญญาซึ่งทั้งนายสุเมธและนายปริญญาอยู่ภายในบ้านของนางปุ้ย พ.ต.ต.สิทธิชัยจึงเข้าไปทำการจับกุมนายสุเมธในบ้านของนางปุ้ยทันทีโดยที่ไม่มีหมายจับและหมายค้น
ดังนี้การที่ พ.ต.ต.สิทธิชัยเข้าไปจับนายสุเมธในบ้านของนางปุ้ยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 78 พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใด โดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่
(1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้าดังได้บัญญัติไว้ในมาตรา 80
มาตรา 80 วรรคแรก ที่เรียกว่าความผิดซึ่งหน้านั้น ได้แก่ ความผิดซึ่งเห็นกำลังกระทำหรือพบในอาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยได้เลยว่าเขาได้กระทำผิดมาแล้วสดๆ
มาตรา 81 ไม่ว่าจะมีหมายจับหรือไม่ก็ตาม ห้ามมิให้จับในที่รโหฐาน เว้นแต่จะได้ทำตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน
มาตรา 92 ห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นหรือคำสั่งของศาล เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้นและในกรณีดังต่อไปนี้
(2) เมื่อปรากฏความผิดซึ่งหน้ากำลังกระทำลงในที่รโหฐาน
มาตรา 96 การค้นในที่รโหฐานต้องกระทำระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและตก มีข้อยกเว้นดังนี้
(2) ในกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่งหรือซึ่งมีกฎหมายอื่นบัญญัติให้ค้นได้เป็นพิเศษ จะทำการค้นในเวลากลางคืนก็ได้
วินิจฉัย
การจับของ พ.ต.ต. สิทธิชัยเป็นการจับในที่รโหฐานในเวลากลางคืน (เนื่องจากตามข้อเท็จจริงการกระทำความผิดเกิดเวลาห้ามทุ่ม) ซึ่งการที่จะเข้าไปจับได้ต้องมีอำนาจในการจับโดยมีหมายจับ หรืออำนาจที่กฎหมายให้ทำการจับได้โดยไม่ต้องมีหมายและต้องทำตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน คือ มีอำนาจในการค้นโดยมีหมายค้นหรือมีอำนาจที่กฎหมายให้ทำการค้นได้โดยไม่ต้องมีหมาย รวมถึงจะต้องมีอำนาจที่จะเข้าไปทำการค้นในที่รโหฐานในเวลากลางคืน
การที่ พ.ต.ต. สิทธิชัย เห็นนายสุเมธยกปืนขึ้นเล็งไปที่นายปริญญา การกระทำของนายสุเมธเป็นความผิดฐานพยายามฆ่านายปริญญา ตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 เมื่อ พ.ต.ต. สิทธิชัย เห็นการกระทำดังกล่าวจึงมีอำนาจในการจับเนื่องจากเป็นความผิดซึ่งหน้า ประเภทความผิดซึ่งหน้าอย่างแท้จริงกรณีเห็นบุคคลกำลังกระทำความผิดตามมาตรา 78 ประกอบมาตรา 80 วรรคแรก และตามปัญหาเป็นกรณีนายสุเมธกระทำความผิดซึ่งหน้า (พ.ต.ต. สิทธิชัย) ในบ้านของนางปุ้ยซึ่งเป็นที่รโหฐาน จึงถือว่า พ.ต.ต. สิทธิชัย ได้ทำตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐานคือมีอำนาจในการค้นแล้วตามมาตรา 92(2) ประกอบมาตรา 81 ถือเป็นกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่งซึ่งจะทำการค้นในที่รโหฐานเวลากลางคืนก็ได้ตามมาตรา 96(2) เนื่องจากหาก พ.ต.ต. สิทธิชัยไม่เข้าไปขณะนั้น (เวลาห้าทุ่ม) นายปริญญาอาจได้รับอันตรายถึงชีวิตได้ พ.ต.ต. สิทธิชัยจึงสามารถเข้าไปทำการจับนายสุเมธในบ้านของนางปุ้ยได้
สรุป การที่ พ.ต.ต. สิทธิชัยเข้าไปจับนายสุเมธในบ้านของนางปุ้ยชอบด้วยกฎหมาย