การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3006 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นายเอกใช้อาวุธปืนไม่มีทะเบียนยิงนายโทถึงแก่ความตาย ระหว่างที่พนักงานสอบสวนคดีนี้ นางทิพย์ภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายโทยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ลงโทษนายเอกฐานฆ่านายโท คดีอยู่ระหว่างศาลไต่สวนมูลฟ้อง
เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้น พนักงานอัยการยื่นฟ้องนายเอกฐานฆ่านายโทและฐานมีอาวุธปืนไม่มีทะเบียนไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ส่วนนางทิพย์เมื่อทราบว่าพนักงานอัยการยื่นฟ้องนายเอกแล้ว จึงยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ศาลอนุญาต
นายเทพบิดาตามความเป็นจริงและชอบด้วยกฎหมายของนายโททราบเรื่อง จึงยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาลจะสั่งคำร้องของนายเทพว่าอย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 2 ในประมวลกฎหมายนี้
(4) ผู้เสียหาย หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่งรวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6
มาตรา 5 บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้
(2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาเฉพาะแต่ในความผิดอาญา ซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้
มาตรา 30 คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้
มาตรา 36 วรรคแรก คดีอาญาซึ่งได้ถอนฟ้องไปจากศาลแล้วจะนำมาอีกหาได้ไม่ …
วินิจฉัย
ผู้ที่จะขอเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้นั้น จะต้องเป็นผู้เสียหาย ตามนัยมาตรา 2(4) ซึ่งอาจเป็นผู้เสียหายที่แท้จริง หรืออาจเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายก็ได้ และในกรณีที่ผู้เสียหายคนเดียวมีผู้จัดการแทน ตามมาตรา 5 หลายคน ผู้จัดการแทนผู้เสียหายบางคนได้ฟ้องแล้วถอนฟ้องไป ผู้จัดการแทนผู้เสียหายคนอื่นจะมาฟ้องจำเลยอีกไม่ได้
ศาลจะสั่งคำร้องของนายเทพอย่างไร เห็นว่า ในกรณีมีความผิดฐานมีอาวุธปืนไม่มีทะเบียนไว้ในครอบครอง ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนนั้น ในฐานความผิดดังกล่าว ถือเป็นความผิดอาญาต่อรัฐ รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายเอกชนไม่สามารถเป็นผู้เสียหายได้ ดังนั้น ทั้งนายโทและนายเทพ ต่างไม่ใช่ผู้เสียหายในฐานความผิดดังกล่าว จึงขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการไม่ได้ตามมาตรา 30 (ฎ. 1231/2533)
ส่วนความผิดฐานฆ่านายโทนั้น เห็นว่า แม้ว่านายเทพจะเป็นบุพการีที่มีอำนาจจัดการแทนนายโทตามมาตรา 5(2) ก็ตาม แต่เมื่อได้ความว่า นางทิพย์ภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายโท ได้ใช้สิทธิจัดการแทนนายโทไปแล้ว ด้วยการฟ้องคดีและถอนฟ้องไป ซึ่งผลของการถอนฟ้องดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถนำคดีมาฟ้องใหม่ได้อีกตามมาตรา 36 วรรคแรก ผลในทางกฎหมายที่เกิดขึ้นมีผลถึงนายเทพด้วย เมื่อได้ความว่านายเทพไม่สามารถยื่นฟ้องได้ ก็ทำให้นายเทพขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการไม่ได้เช่นเดียวกัน (ฎ. 1790/2492)
สรุป ศาลต้องสั่งยกคำร้องนายเทพ
ข้อ 2 นายช้างบุกรุกเข้าไปลักทรัพย์ของนายเอกและนายโทที่เช่าบ้านอาศัยอยู่ด้วยกัน ทรัพย์ที่ลักไปในคราวเดียวกันนี้ประกอบด้วยปากกาของนายเอก ราคา 100 บาท และนาฬิกาของนายโทราคา 10,000 บาท
ให้พิจารณาตอบคำถามแต่ละกรณีดังต่อไปนี้
(ก) นายเอกยื่นฟ้องนายช้างข้อหาลักทรัพย์ ระหว่างศาลพิจารณาคดี นายโทจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับนายเอกได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
(ข) นายเอกยื่นฟ้องนายช้างข้อหาลักทรัพย์ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเนื่องจากนายเอกยื่นฟ้องผิดศาล กรณีนี้นายโทจะยื่นฟ้องนายช้างข้อหาลักทรัพย์ต่อศาลที่มีอำนาจอีกได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 30 คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้
มาตรา 31 คดีอาญาที่มิใช่ความผิดต่อส่วนตัว ซึ่งผู้เสียหายยื่นฟ้องแล้ว พนักงานอัยการจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดก่อนคดีเสร็จเด็ดขาดก็ได้
มาตรา 39 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดังต่อไปนี้
(4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง
วินิจฉัย
(ก) ตามกฎหมายได้บัญญัติให้ผู้เสียหายและพนักงานอัยการเข้าร่วมเป็นโจทก์กับคดีที่อีกฝ่ายหนึ่งได้ฟ้องเท่านั้น ผู้เสียหายจะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีที่ผู้เสียหายด้วยกันเป็นโจทก์ฟ้องไม่ได้ (ฎ. 3320/2528)
นายโทจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับนายเอกได้หรือไม่ เห็นว่า การที่นายช้างบุกรุกเข้าไปลักปากกาของนายเอก และนาฬิกาของนายโทไปในคราวเดียวกัน ถือเป็นการกระทำกรรมเดียวแต่มีผู้เสียหาย 2 คน เมื่อนายเอกยื่นฟ้องนายช้างข้อหาลักทรัพย์ต่อศาลแล้ว ระหว่างศาลพิจารณาคดีนายโทจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับนายเอกไม่ได้ เพราะเหตุว่า มาตรา 30, 31 ได้บัญญัติเรื่องโจทก์ร่วมไว้เพียง 2 กรณี กล่าวคือ กรณีผู้เสียหายขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ และกรณีพนักงานอัยการขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับผู้เสียหายเท่านั้น ส่วนกรณีผู้เสียหายขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับผู้เสียหายไม่ได้ให้อำนาจไว้
ดังนั้น นายโทจึงยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับนายเอกไม่ได้
(ข) การจะพิจารณาว่าเป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ ได้มีหลักเกณฑ์การฟ้องซ้ำ ตามมาตรา 39(4) ดังนี้
(1) ผู้ถูกฟ้องเป็นคนเดียวกัน
(2) การกระทำที่เป็นเหตุให้ถูกฟ้อง เป็นการกระทำเดียวกัน
(3) มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้ว
การที่นายเอกยื่นฟ้องนายช้างข้อหาลักทรัพย์ และศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเนื่องจากนายเอกยื่นฟ้องผิดศาล การที่นายโทจะยื่นฟ้องนายช้างฐานลักทรัพย์อีกนั้น แม้ผู้ถูกฟ้องจะเป็นนายช้างคนเดิม การกระทำที่เป็นเหตุให้ถูกฟ้องก็เป็นการกระทำเดียวกัน แต่คดีที่นายโทยื่นฟ้องไม่เป็นฟ้องซ้ำเพราะการที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนายเอกเพราะนายเอกยื่นฟ้องผิดศาลนั้น ถือว่าศาลยังไม่ได้วินิจฉัยถึงเนื้อหาของความผิดฟ้อง ซึ่งถือว่ายังไม่มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดตามหลักเกณฑ์ฟ้องซ้ำ ข้อ (3)
สรุป
(ก) นายโทจึงยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับนายเอกไม่ได้
(ข) นายโทจึงยื่นฟ้องนายช้างข้อหาลักทรัพย์อีกได้
ข้อ 3 โดยปกติแล้ว ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว คดีอาญาย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(2)
อยากทราบว่า มีกรณีใดบ้างที่เมื่อถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความกันในคดีความผิดต่อส่วนตัวแล้ว คดีอาญาก็ยังไม่ระงับ จงอธิบาย
ธงคำตอบ
มาตรา 35 วรรคสอง คดีความผิดต่อส่วนตัวนั้น จะถอนฟ้องหรือยอมความในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ แต่ถ้าจำเลยคัดค้าน ให้ศาลยกคำร้องขอถอนฟ้องนั้นเสีย
มาตรา 36 คดีอาญาซึ่งได้ถอนฟ้องไปจากศาลแล้วจะนำมาฟ้องอีกหาได้ไม่ เว้นแต่จะเข้าอยู่ในข้อยกเว้นต่อไปนี้
(2) ตัวพนักงานอัยการถอนคดีซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวไป โดยมิได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้เสียหาย การถอนนั้นไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่
มาตรา 39 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดังต่อไปนี้
(2) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ถอนฟ้องหรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย
อธิบาย
โดยปกติแล้ว ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย คดีย่อมระงับไปตามมาตรา 39(2)
แต่ก็มีกรณีที่กฎหมายบัญญัติ หรือคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้บางกรณี ที่เมื่อถอนคำร้องทุกข์ถอนฟ้อง หรือยอมความกันในคดีความผิดต่อส่วนตัวแล้ว คดีอาญาก็ยังไม่ระงับ เช่น
(1) กรณีพนักงานอัยการถอนฟ้องคดีซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวไปโดยมิได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้เสียหาย การถอนฟ้องนั้นไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่ (มาตรา 36(2))
(2) กรณีผู้เสียหายถอนฟ้องคดีความผิดต่อส่วนตัว เพื่อขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการถือว่าเป็นการถอนฟ้องที่มีเงื่อนไข ไม่ใช่การถอนฟ้องที่เด็ดขาด คดีอาญาไม่ระงับ พนักงานอัยการยังดำเนินคดีต่อไปได้ และผู้เสียหายก็ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ (ฎ. 1245/2515)
(3) กรณีผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ในคดีความผิดต่อส่วนตัว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำคดีไปฟ้องเอง ไม่เป็นการถอนคำร้องทุกข์ในลักษณะที่ไม่เอาผิดต่อผู้กระทำความผิด หากแต่เป็นการถอนคำร้องทุกข์เพื่อใช้สิทธิในการฟ้องคดีเองคดีอาญาไม่ระงับ (ฎ. 1792/2522)
(4) การยอมความในคดีความผิดต่อส่วนตัว ที่กระทำกันไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะเกิดการกระทำความผิด ไม่ถือว่าเป็นการยอมความตามมาตรา 35 วรรคสอง และมาตรา 39(2) คดีอาญาไม่ระงับ (ฎ. 1403/2508)
สรุป เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความกันในคดีความผิดต่อส่วนตัวมีอยู่ 4 กรณี ที่อาญายังไม่ระงับตามที่ได้อธิบาย
ข้อ 4 (ก) ตามหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ราษฎรจะจับผู้อื่นได้ ในกรณีใดบ้าง
(ข) ให้ท่านแสดงความคิดเห็นว่า หลักกฎหมายที่ท่านตอบตามข้อ 4 (ก) มีความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทยในปัจจุบันหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 79 ราษฎรจับผู้อื่นไม่ได้ เว้นแต่จะเข้าอยู่ในเกณฑ์แห่งมาตรา 82 หรือเมื่อผู้นั้นกระทำความผิดซึ่งหน้าและความผิดนั้นได้ระบุไว้ในบัญชีท้ายประมวลกฎหมายนี้ด้วย
มาตรา 82 เจ้าพนักงานผู้จัดการตามหมายจับจะขอความช่วยเหลือจากบุคคลใกล้เคียงเพื่อจัดการตามหมายนั้นก็ได้ แต่จะบังคับให้ผู้ใดช่วยโดยอาจเกิดอันตรายแก่เขานั้นไม่ได้
มาตรา 117 เมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยหนีหรือจะหลบหนีให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่พบการกระทำดังกล่าวมีอำนาจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นได้ แต่ในกรณีที่บุคคลซึ่งทำสัญญาประกันหรือเป็นหลักประกันเป็นผู้พบเห็นการกระทำดังกล่าว อาจขอให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ใกล้ที่สุดจับผู้ต้องหาหรือจำเลยได้ ถ้าไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากเจ้าพนักงานได้ทันท่วงที ก็ให้มีอำนาจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยได้เอง แล้วส่งไปยังพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ใกล้ที่สุด และให้เจ้าพนักงานนั้นรีบจัดส่งผู้ต้องหาหรือจำเลยไปยังเจ้าพนักงานหรือศาล โดยคิดค่าพาหนะจากบุคคลซึ่งทำสัญญาประกันหรือเป็นหลักประกันนั้น
อธิบาย
(ก)ตามหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ราษฎรจะจับผู้อื่นได้มีอยู่ด้วยกัน 3 กรณีดังต่อไปนี้
1 เมื่อผู้นั้นกระทำความผิดซึ่งหน้า และความผิดนั้นได้ระบุไว้ในบัญชีท้ายประมวลนี้ด้วย ตามมาตรา 79
2 เป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานซึ่งจัดการตามหมายจับและได้ขอความช่วยเหลือจากราษฎรตามมาตรา 79 ประกอบมาตรา 82
3 เมื่อราษฎรได้ทำสัญญาประกันหรือเป็นหลักประกัน เมื่อพบผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งตนทำสัญญาประกันหรือเป็นหลักประกันให้ หนีหรือจะหลบหนี โดยในขณะนั้นไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากเจ้าพนักงานได้ทันท่วงทีก็ให้มีอำนาจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยได้เอง ตามมาตรา 117
ทั้งสามกรณีดังกล่าวนี้ ตามหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้บัญญัติให้อำนาจราษฎรทำการจับได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
(ข) ตามหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ได้บัญญัติให้อำนาจราษฎรทำการจับได้โดยชอบด้วยกฎหมายนั้นมีความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน หรือไม่ เห็นว่า
ในสังคมไทยปัจจุบันได้มีผู้รักษาความสงบเรียบร้อยเป็นหน้าที่ มีอำนาจทำการจับ ทำการสอบสวนผู้ต้องหาหรือจำเลยได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งก็คือ เจ้าพนักงานตำรวจ ส่วนราษฎรโดยหลักไม่มีอำนาจเหนือบุคคลในการลิดรอนสิทธิบุคคลอื่นตามหลักแห่งความเสมอภาค ดังนั้น ในการที่จะให้อำนาจราษฎรจับบุคคลใดหรือมีสิทธิเหนือบุคคลใดจะต้องจำกัดขอบเขตอำนาจ ซึ่งตามหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ได้บัญญัติให้อำนาจราษฎรไว้ 3 มาตรา ดังนี้ มาตรา 79 มาตรา 82 มาตรา 117
ทั้งสามมาตราดังกล่าว เห็นว่า มีความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน เนื่องจากตามหลักกฎหมายดังกล่าว ได้กำหนดให้อำนาจราษฎรโดยเคร่งครัด และมีความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทยดังนี้
ประการแรก ตามมาตรา 79 เมื่อผู้นั้นกระทำความผิดซึ่งหน้า และความผิดนั้นได้ระบุไว้ในบัญชีท้ายประมวลนี้ด้วยในลักษณะนี้ เห็นว่า สภาพสังคมไทยมีความเป็นอยู่ในลักษณะเอื้อเฟื้อกับการช่วยเหลือบุคคลที่ตกอยู่ในอันตรายประกอบกับในความผิดตามบัญชีท้ายประมวลนั้น ความผิดดังกล่าวถือเป็นความผิดที่มีความรุนแรง จึงได้ให้อำนาจราษฎรในการรักษาความสงบของประเทศร่วมกัน
ประการที่สอง ตามมาตรา 79 ประกอบ 82 กล่าวคือ เป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานซึ่งจัดการตามหมายจับและได้ขอความช่วยเหลือจากราษฎรในกรณีนี้เจ้าพนักงานต้องมีหมายเท่านั้นและได้ขอความช่วยเหลือจากราษฎร อันแสดงให้เห็นว่า เจ้าพนักงานไม่สามารถจัดการตามหมายได้โดยลำพังหรือกำลังไม่เพียงพอ
ประการที่สาม ตามมาตรา 117 ในกรณีราษฎรได้ทำสัญญาประกันหรือหลักประกัน สามารถจับผู้ต้องหาหรือจำเลยในกรณีนี้ เห็นว่า เป็นการรักษาผลประโยชน์ของนายประกันโดยแท้ และในขณะนั้นนายประกันก็ไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากเจ้าพนักงานได้อย่างทันท่วงทีจึงถือว่ามีความเหมาะสมในการให้อำนาจราษฎรในการจับได้เอง
ดังนั้น ตามหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาราษฎรจะจับผู้อื่นได้ในกรณีตามมาตรา 79 , 82 , 117 เห็นว่ามีความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทยทั้งในการช่วยเหลือบุคคลอื่น รักษาความสงบของประเทศร่วมกันและรักษาผลประโยชน์ของตนเอง
หมายเหตุ น้องๆสามารถแสดงความคิดเห็นได้โดยอิสระในข้อ (ข) นี้ครับ