การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3006 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นายหนึ่งออกเช็คชำระหนี้ให้นายสอง 100,000 บาท นายสองโอนเช็คดังกล่าวชำระหนี้ให้นายสาม นายสามนำเช็คไปขึ้นเงินที่ธนาคาร เมื่อเช็คถึงกำหนด ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะเงินในบัญชีนายหนึ่งไม่พอจ่าย นายสามนำเช็คมาคืนนายสองและได้รับเงินสด 100,000 บาทจากนายสองไปแล้ว วันรุ่งขึ้นนายสองนำเช็คดังกล่าวไปขึ้นเงินที่ธนาคารอีกครั้งหนึ่ง ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินด้วยเหตุผลเดิมนายสองจึงนำเช็คไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนขอให้ดำเนินคดีอาญานายหนึ่ง ตาม พ.ร.บ. เช็คฯ เมื่อพนักงานสอบสวนเสร็จแล้ว พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ลงโทษนายหนึ่งตาม พ.ร.บ. เช็คฯ ระหว่างศาลชั้นต้นพิจารณาคดี นายสองยื่นคำร้องต่อศาลขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาลจะวินิจฉัยของพนักงานอัยการ และคำร้องของนายสองว่าอย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 2 ในประมวลกฎหมายนี้
(4) ผู้เสียหาย หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่งรวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6
(7) คำร้องทุกข์ หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้นจะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ
มาตรา 30 คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้
มาตรา 120 ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน
มาตรา 121 วรรคสอง แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว ผู้เสียหายในความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ คือ ผู้ทรงเช็คฯ ในขณะที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน (ฎ. 1035/2529) ส่วนผู้รับโอนเช็คภายหลังจากการที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินหาใช่ผู้เสียหายไม่
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า ศาลจะวินิจฉัยคดีของพนักงานอัยการว่าอย่างไร เห็นว่า การที่นายสองได้รับเช็คคืนมาจากนายสามซึ่งได้นำเช็คดังกล่าวไปขึ้นเงินที่ธนาคารและธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินแล้ว กรณีเช่นนี้ แม้ได้ความว่าภายหลังจากที่นายสองได้รับเช็คคืนมาแล้วได้นำเช็คไปขึ้นเงินที่ธนาคารอีก ก็หาทำให้นายสองกลายเป็นผู้เสียหายแต่อย่างใด เพราะการออกเช็คแต่ละฉบับนั้น ถ้าเป็นความผิดก็คงเป็นความผิดเพียงครั้งเดียวเท่านั้น นายสองจึงไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ ตามมาตรา 2(4) (ฎ. 2703/2523)
สำหรับการร้องทุกข์นั้น โดยหลักแล้ว บุคคลใดจะร้องทุกข์ได้ต้องเป็นผู้เสียหายในความผิดที่ร้องทุกข์ เมื่อได้ความว่านายสองไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯการแจ้งความของนายสองจึงไม่เป็นคำร้องทุกข์ ตามมาตรา 2(7) และเมื่อความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ เป้นความผิดส่วนตัว เมื่อไม่มีคำร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวนตามมาตรา 121 วรรคสอง การสอบสวนที่ดำเนินไปจึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นผลให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง ตามมาตรา 120 ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า ศาลจะวินิจฉัยคดีของนายสองว่าอย่างไร เห็นว่าเมื่อศาลพิพากษายกฟ้องคดีของพนักงานอัยการแล้ว จึงไม่มีคำฟ้องอยู่ในศาล นายสองจึงเข้าร่วมเป็นโจทก์ไม่ได้ อีกทั้งกรณีนี้นายสองก็ไม่ใช่ผู้เสียหาย จึงไม่มีอำนาจขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ตามมาตรา 30 (ฎ. 1583/2513)
สรุป ศาลต้องพิพากษายกฟ้องคดีของพนักงานอัยการ และยกคำร้องของนายสอง
ข้อ 2 นายแดงขับรถประมาทชนท้ายรถของนายเขียวเสียหาย พนักงานอัยการจึงเป็นโจทก์ฟ้องและขอให้ศาลลงโทษนายแดงในฐานความผิดตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก นายแดงรับสารภาพ ศาลพิพากษาลงโทษนายแดงตามฟ้องคดีถึงที่สุด นายเหลืองซึ่งโดยสารมาในรถของนายเขียวและได้รับบาดเจ็บกระดูกคอเคลื่อน ต้องรักษาเป็นเวลาถึงสามเดือน เห็นว่าพนักงานอัยการยังไม่ได้ฟ้องนายแดงในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นายเหลืองรับอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 300 นายเหลืองจึงเป็นโจทก์ฟ้องและขอให้ศาลลงโทษนายแดงในความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ดังกล่าว นายแดงต่อสู้ว่าได้ถูกฟ้องจนศาลพิพากษาลงโทษ คดีถึงที่สุดไปแล้ว นายเหลืองจึงไม่อาจนำคดีมาฟ้องใหม่ได้ นายเหลืองแถลงว่า เป็นคนละคดีกันและนายแดงยังไม่เคยถูกฟ้องและถูกศาลพิพากษาลงโทษในความผิดซึ่งได้ฟ้องนี้ ดังนี้ ศาลจะวินิจฉัยคดีของนายเหลืองในประเด็นดังกล่าวนี้เช่นไร เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 39 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดังต่อไปนี้
(4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง
วินิจฉัย
ในกรณีที่สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องระงับ เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องนั้น ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
1 จำเลยในคดีแรกและคดีที่นำมาฟ้องใหม่เป็นคนเดียวกัน
2 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำเดียวกัน
3 ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว
ศาลจะวินิจฉัยคดีของนายเหลืองในประเด็นดังกล่าวนี้เช่นไร เห็นว่า ในคดีก่อนพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ศาลลงโทษนายแดงในฐานความผิดตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก ส่วนคดีนี้นายเหลืองได้เป็นโจทก์ฟ้องและขอให้ศาลลงโทษนายแดงเช่นกัน จึงเป็นกรณีที่จำเลยในคดีแรกและคดีที่นำมาฟ้องใหม่เป็นคนเดียวกัน ตามหลักเกณฑ์ข้อที่ 1
การกระทำโดยประมาทของนายแดงที่ปรากฏเหตุให้เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. จราจรทางบกและเป็นเหตุให้นายเหลืองได้รับอันตรายสาหัสได้เกิดจากการกระทำของนายแดงครั้งเดียวกัน ที่นายแดงได้ขับรถโดยประมาทชนท้ายรถยนต์ของนายสองเสียหาย อันถือเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน ตามหลักเกณฑ์ข้อที่ 2
และเมื่อได้ความว่าพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายแดงขอให้ศาลลงโทษนายแดงในฐานความผิดตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก จนมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว ตามหลักเกณฑ์ข้อที่ 3
ดังนั้น นายเหลืองจึงไม่มีสิทธินำคดีอาญามาฟ้องนายแดงในการกระทำกรรมเดียวกันอีก เพราะสิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องระงับไปแล้ว ตามมาตรา 39(4) ศาลจึงต้องสั่งจำหน่ายคดีของนายเหลืองจากสารบบความ
สรุป ศาลจึงต้องสั่งจำหน่ายคดีของนายเหลืองจากสารบบความ
ข้อ 3 นายมีและนายมาเป็นเจ้าของทรัพย์ม้า 1 ตัวร่วมกัน โดยลงทุนออกเงินร่วมกันซื้อม้าตัวนี้มาใช้สำหรับวิ่งแข่งขันในสนามม้า ปรากฏว่านายสอนได้ลักมาตัวนั้นไปขาย เอาเงินมาใช้จนหมดไปแล้ว นายมีจึงฟ้องนายสอนต่อศาลว่าลักทรัพย์ไป แต่บรรยายฟ้องผิดวันเวลาและสถานที่ จึงขอถอนฟ้องแล้วบรรยายฟ้องใหม่ให้ถูกต้อง ยื่นฟ้องต่อศาลอีก ในขณะเดียวกันนายมาเห็นว่านายมียังทำผิดพลาดในการบรรยายฟ้องอีก นายมาจึงได้บรรยายฟ้องนายสอนฐานลักทรัพย์ให้ถูกต้อง แล้วยื่นฟ้องต่อศาลเดียวกันนั้นอีก
เช่นนั้น นายมีและนายมาจะยื่นฟ้องนายสอนอีกได้หรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 36 คดีอาญาซึ่งได้ถอนฟ้องไปจากศาลแล้ว จะนำมาฟ้องอีกหาได้ไม่…
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว ในความผิดที่มีผู้เสียหายหลายคน เมื่อผู้เสียหายคนหนึ่งได้ยื่นฟ้องไว้แล้วขอถอนฟ้องไป ย่อมตัดสิทธิเฉพาะผู้เสียหายคนนั้นไม่ให้ฟ้องใหม่ ส่วนผู้เสียหายคนอื่นยังมีสิทธิฟ้องได้อีกไม่ถูกตัดสิทธิแต่อย่างใด
(ฎ. 5934 – 5935/2533)
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า นายมีจะยื่นฟ้องนายสอนได้อีกหรือไม่ เห็นว่า เมื่อได้ความว่านายมีได้ยื่นฟ้องไว้แล้วได้ถอนฟ้องคดีนั้นไปจากศาล กรณีเช่นนี้ แม้คำฟ้องนั้นจะไม่ถูกต้อง นายมีก็ไม่อาจนำคดีฐานลักทรัพย์มาฟ้องอีกได้ต้องห้ามตามมาตรา 36 ที่ว่า “คดีอาญาซึ่งได้ถอนฟ้องไปจากศาลแล้ว จะนำมาฟ้องอีกหาได้ไม่…” นายมีจึงไม่อาจยื่นฟ้องนายสอนอีกได้
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า นายมาจะยื่นฟ้องนายสอนอีกได้หรือไม่ เห็นว่า นายมาเป็นเจ้าของทรัพย์ คือ ม้า 1 ตัว ร่วมกับนายมี กรณีเช่นนี้ ถือว่านายมาเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานลักทรัพย์ด้วยการที่นายมีเจ้าของร่วมได้ฟ้องแล้วถอนฟ้องไป ย่อมตัดสิทธิเฉพาะนายมีเท่านั้นที่จะฟ้องอีกไม่ได้ แต่หาได้ตัดสิทธิผู้เสียหายอื่นที่จะฟ้องแต่อย่างใด เพราะสิทธิในการดำเนินคดีอาญาที่ตนเป็นผู้เสียหายย่อมเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้เสียหายแต่ละคน อีกทั้งมาตรา 36 ก็มิได้กำหนดให้ตัดสิทธิผู้เสียหายแต่ละคนในกรณีที่มีผู้เสียหายหลายคนไว้โดยชัดแจ้ง นายมาจึงยื่นฟ้องนายสอนได้
สรุป นายมีไม่อาจฟ้องนายสอนอีกได้ แต่นายมาสามารถยื่นฟ้องนายสอนได้
ข้อ 4 ร.ต.ต. อาณัติ นายสุธีและนางสาววิไล ได้รับเชิญจากนายศิริเจ้าของบ้านให้ไปร่วมงานเลี้ยงในเวลากลางวันที่บ้านของนายศิริซึ่งอยู่ติดกับบ้านของนายสุธี ขณะอยู่ในบ้านของนายศิริ นางสาววิไลจำได้ว่านายสุธีเป็นคนร้ายที่ได้ข่มขืนกระทำชำเราตนเมื่อสัปดาห์ก่อน นางสาววิไลจึงชี้ให้ ร.ต.ต.อาณัติจับนายสุธีโดยแจ้งว่าได้ร้องทุกข์ไว้แล้ว ร.ต.ต.อาณัติจึงเข้าจับกุมนายสุธี โดยได้ปฏิบัติตามขั้นตอนการจับกุม แล้วนำตัวนายสุธีไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับ
ดังนี้ การจับของ ร.ต.ต. อาณัติ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 66 เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังต่อไปนี้
(2) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น
ถ้าบุคคลนั้นไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือไม่มาตามหมายเรียกหรือตามนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควร ให้สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นจะหลบหนี
มาตรา 78 พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่
(3) เมื่อมีเหตุที่จะออกหมายจับบุคคลนั้นตามมาตรา 66(2) แต่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้
มาตรา 81 ไม่ว่าจะมีหมายจับหรือไม่ก็ตาม ห้ามมิให้จับในที่รโหฐาน เว้นแต่จะได้ทำตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว การจับในที่รโหฐาน พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใด จะต้องมีอำนาจในการจับกุม กล่าวคือ ต้องมีหมายจับ หรือมีอำนาจในการจับได้โดยไม่ต้องมีหมายและต้องทำตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐานด้วย
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า การจับของ ร.ต.ต. อาณัติชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การจับของ ร.ต.ต. อาณัติเป็นการจับในที่รโหฐาน (บ้านนายศิริ) แม้การจับจะได้ทำตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้ อันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน เนื่องจากนายศิริเจ้าของบ้านผู้ครอบครองที่รโหฐานเชื้อเชิญให้เข้าไปในที่รโหฐานนั้น แต่ ร.ต.ต. อาณัติ ก็ไม่มีอำนาจในการจับเนื่องจาก ตามมาตรา 78(3) ประกอบมาตรา 66(2) เจ้าพนักงานตำรวจจะจับนายสุธีได้โดยไม่มีหมายจับต่อเมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่านายสุธีน่าจะได้กระทำผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่านายสุธีจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือก่อเหตุร้ายประการอื่นและมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับนายสุธีได้ ซึ่งตามข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่านายสุธีมีท่าทีจะหลบหนี ประกอบกับนายสุธีก็มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง กรณีจึงไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 66 วรรคท้าย ดังนั้น ร.ต.ต. อาณัติจะจับนายสุธีโดยไม่มีหมายจับของศาลไม่ได้ การจับของ ร.ต.ต. อาณัติจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สรุป การจับของ ร.ต.ต. อาณัติ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย