การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3006 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ
ข้อ 1. นายหนึ่งขับรถยนต์โดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ ทั้งยังขับรถยนต์ด้วยความประมาทเป็นเหตุให้ชนนายสองถึงแก่ความตาย ระหว่างพนักงานสอบสวนสอบสวนคดีนี้ นางสายภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสองยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ลงโทษนายหนึ่งข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นายสองถึงแก่ความตาย คดีอยู่ระหว่างศาลไต่สวนมูลฟ้อง
ต่อมาเมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้น พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ลงโทษนายหนึ่งข้อหาขับรถยนต์โดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ และข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นายสองถึงแก่ความตาย ส่วนนางสายเมื่อทราบว่าพนักงานอัยการยื่นฟ้องนายหนึ่งแล้ว จึงยื่นคำร้องขอถอนฟ้องต่อศาล ศาลอนุญาต
นายสักบิดาตามความเป็นจริงและชอบด้วยกฎหมายของนายสองทราบเรื่อง จึงยื่นคำร้องต่อศาลขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาลจะสั่งคำร้องของนายสักว่าอย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (4), 5 (2), 30, 36
วินิจฉัย
ข้อหาขับรถยนต์โดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์
ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 30 ผู้ที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการจะต้องเป็นผู้เสียหาย ซึ่งความผิดข้อหาขับขี่รถยนต์โดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์เป็นความผิดอาญาต่อรัฐ รัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหาย ทั้งนายสองและนายสัก ต่างไม่ใช่ผู้เสียหาย นายสักจึงขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในความผิดข้อหานี้ไม่ได้
ข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นายสองถึงแก่ความตาย
แม้ว่านายสักถือได้ว่าเป็นผู้บุพการี มีอำนาจจัดการแทนนายสอง ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 5 (2) แต่เมื่อนางสายภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายของนายสอง ได้จัดการฟ้องคดีแทนนายสองและได้ถอนฟ้องแล้ว ซึ่งผลของการถอนฟ้องทำให้ไม่สามารถนำคดีมาฟ้องใหม่ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 36 ผลทางกฎหมายที่เกิดขึ้นนี้มีผลกระทบถึงนายสักด้วยเมื่อนายสักฟ้องคดีนี้ไม่ได้ ก็ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการไม่ได้เช่นเดียวกัน
ดังนั้น ศาลต้องมีคำสั่งให้ยกคำร้องของนายสัก
ข้อ 2. นายแดงกับพวกอีก 5 คน ได้กระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ในทะเลหลวงที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร ซึ่งต้องรับโทษในราชอาณาจักร ต่อมานายแดงได้หลบหนีเข้ามาในประเทศไทย โดยเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ที่อยู่ในเขตอำนาจจับได้ และนำส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรดังกล่าว ทำการสอบสวน ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนพยานไปได้ 3 ปาก ได้รวมสำนวนไว้ และได้แจ้งไปยังอัยการสูงสุดเพื่อสั่งการ ต่อมาอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งมอบหมายให้อัยการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นผู้รับผิดชอบทำการสอบสวนคดีนี้แทน ทางอัยการจังหวัดดังกล่าว จึงรับสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวนดังกล่าวมาทำการสอบสวนต่อไป และสอบพยานได้อีก 6 ปาก โดยไม่มีพนักงานสอบสวนดังกล่าวเข้าร่วมสอบสวนด้วย แล้วได้รวบรวมสำนวนการสอบสวนพร้อมทำความเห็นส่งไปยังอัยการสูงสุด เช่นนี้ การสอบสวนของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายเพียงใด หรือไม่
ธงคำตอบ
อ้าง วิ.อาญา มาตรา 20
กรณีที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ทำการสอบสวนพยาน 3 ปาก ถือว่าเป็นกรณีจำเป็นระหว่างรอคำสั่งของอัยการสูงสุด เพราะเป็นพนักงานสอบสวนซึ่งนายแดงผู้ต้องหาถูกจับอยู่ในเขตอำนาจ ตามมาตรา 20 วรรคห้า จึงเป็นการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมาย
สำหรับกรณีที่อัยการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ทำการสอบสวนพยานอีก 6 ปาก ก็เนื่องจากอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งมอบหมายหน้าที่ให้เป็นผู้รับผิดชอบทำการสอบสวนแทนอัยการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงเป็นพนักงานอัยการที่สามารถรับผิดชอบทำการสอบสวนได้ตามลำพังโดยไม่ต้องมีพนักงานสอบสวนดังกล่าวร่วมสอบสวนด้วย การสอบสวนของอัยการจังหวัดดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย และเมื่ออัยการจังหวัดดังกล่าวเป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนย่อมสามารถรวบรวมการสอบสวนและทำความเห็นส่งไปยังอัยการสูงสุดได้ตามมาตรา 20 วรรคแรก, วรรคสาม และวรรคท้าย
ดังนั้น การสอบสวนของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ข้อ 3. นางกุ๊กนำขนมใส่กล่องไปให้นางไก่เป็นสินน้ำใจเพื่อให้อำนวยความสะดวกในศาล นางไก่ปฏิเสธไม่ยอมรับและส่งมอบกล่องขนมคืนพร้อมกับบอกว่าเป็นการให้สินบนเจ้าพนักงาน นางกุ๊กโมโหหาว่านางไก่ดูถูกและกล่าวหากัน จึงเอากล่องขนมฟาดไปที่ศีรษะนางไก่จนแตกเย็บ 5 เข็ม นางกุ๊กจึงถูกศาลพิพากษาลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลที่ก่อความวุ่นวายและทำร้ายร่างกายผู้อื่นในบริเวณศาล ต่อมานางไก่ได้ฟ้องนางกุ๊กต่อศาลเป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายและอ้างคำพิพากษาของศาลที่ลงโทษนางกุ๊กดังกล่าว นางกุ๊กปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้ทำร้ายร่างกายและทำให้ศีรษะนางไก่แตกตามที่ถูกฟ้อง
ดังนี้ ศาลในคดีแพ่งต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาของศาลที่นางไก่อ้าง หรือต้องให้มีการสืบพยานเพื่อฟังข้อเท็จจริงใหม่ตามที่นางกุ๊กปฏิเสธ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46
แม้นางกุ๊กได้ถูกศาลพิพากษาลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาล แต่คำพิพากษาของศาลดังกล่าวก็วินิจฉัยกรณีที่นางกุ๊กกระทำละเมิดอำนาจศาลเท่านั้น มิใช่เป็นคำพิพากษาคดีอาญาที่ศาลในคดีแพ่งจำต้องถือข้อเท็จจริงตาม เมื่อนางกุ๊กปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นผู้ทำร้ายร่างกาย และทำให้ศีรษะของนางไก่แตก ศาลในคดีแพ่งจึงต้องให้มีการสืบพยานเพื่อฟังข้อเท็จจริงคดีแพ่งใหม่ ไม่อาจฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาของศาลที่นางไก่อ้างได้
ข้อ 4. พ.ต.อ.สถบดีและนายพร้อมมิตร ได้รับเชิญจากนายวุฒิศักดิ์เจ้าของบ้านให้ไปร่วมงานเลี้ยงในเวลากลางวันที่บ้านของนายวุฒิศักดิ์ ขณะอยู่ในบ้านของนายวุฒิศักดิ์ พ.ต.อ.สถบดีจำได้ว่านายพร้อมมิตรเป็นคนร้ายที่ศาลได้ออกหมายจับไว้และ พ.ต.อ.สถบดีได้พกหมายจับนายพร้อมมิตรมาด้วย พ.ต.อ.สถบดีจึงเข้าจับกุมนายพร้อมมิตรโดยได้ปฏิบัติตามขั้นตอนการจับกุม แล้วนำตัวนายพร้อมมิตรไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับ
ดังนี้ การที่ พ.ต.อ.สถบดีจับนายพร้อมมิตรในบ้านของนายวุฒิศักดิ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 57 ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติในมาตรา 78 มาตรา 80 มาตรา 92 และมาตรา 94 แห่งประมวลกฎหมายนี้จะจับ ขัง จำคุก หรือค้น ในที่รโหฐานหาตัวคนหรือสิ่งของต้องมีคำสั่งหรือหมายของศาลสำหรับการนั้น
มาตรา 81 ไม่ว่าจะมีหมายจับหรือไม่ก็ตาม ห้ามมิให้จับในที่รโหฐาน เว้นแต่จะได้ทำตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้ อันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน
วินิจฉัย การที่ พ.ต.อ.สถบดีจับนายพร้อมมิตรนั้น เป็นการจับตามหมายจับ แม้เป็นการจับในที่รโหฐานก็ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 81 ที่บัญญัติว่าไม่ว่าจะมีหมายจับหรือไม่ก็ตาม ห้ามมิให้จับในที่รโหฐาน เว้นแต่จะได้ทำตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้ อันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน เพราะการเข้าไปอันถือเสมือนเป็นการค้นในที่รโหฐานนั้นเป็นการเข้าไปโดยชอบ เนื่องจากนายวุฒิศักดิ์เจ้าของผู้ครอบครองที่รโหฐานเชื้อเชิญให้เข้าไป พ.ต.อ.สถบดีไม่ต้องขอหมายค้นของศาลเพื่อเข้าไปค้นบ้านที่ตนอยู่ในบ้านโดยชอบแล้ว การจับนายพร้อมมิตรเป็นการชอบ
ดังนั้น การที่ พ.ต.อ.สถบดี จับนายพร้อมมิตรในบ้านของนายวุฒิศักดิ์ จึงชอบด้วยกฎหมาย