การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3006 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นางพลอยอยู่กินกับสามีโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรสาวชื่อนางสาวไพลิน อายุ 19 ปี นางสาวไพลินกำลังศึกษาอยู่ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ชั้นปีที่ 4 นายเสือบุกรุกเข้าไปลักทรัพย์นาฬิกาของนางสาวไพลิน ที่นางสาวไพลินซื้อมาด้วยเงินรายได้จากการทำงานในวันหยุด ดังนี้
(ก) นางสาวไพลินร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนท้องที่เกิดเหตุ ให้ดำเนินคดีนายเสือฐานบุกรุกและลักทรัพย์ โดยนางพลอยไม่อนุญาต ถ้าท่านเป็นพนักงานสอบสวน ท่านจะดำเนินการอย่างไร
(ข) นางสาวไพลินยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ดำเนินคดีนายเสือฐานบุกรุกและลักทรัพย์ โดยนางพลอยอนุญาตและยินยอม ถ้าท่านเป็นศาล ท่านจะวินิจฉัยคดีนี้อย่างไร
ธงคำตอบ
มาตรา 2 ในประมวลกฎหมายนี้
(4) ผู้เสียหาย หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่งรวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6
(7) คำร้องทุกข์ หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้นจะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ
มาตรา 5 บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้
(1) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิดซึ่งได้กระทำต่อผู้เยาว์หรือผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล
มาตรา 28 บุคคลเหล่านี้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล
(2) ผู้เสียหาย
วินิจฉัย
(ก) นางสาวไพลินมีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน หรือไม่ เห็นว่านางสาวไพลิน อายุ 19 ปี จึงมีสถานภาพเป็นผู้เยาว์ ในกรณีที่ผู้เยาว์เป็นผู้เสียหายที่แท้จริงนั้น ตามกฎหมายได้กำหนดให้ผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้จัดการแทนผู้เยาว์ตามมาตรา 2(4) ประกอบมาตรา 5(1) แต่ในเรื่องการร้องทุกข์ ผู้เยาว์ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่แท้จริงสามารถร้องทุกข์เองได้แม้จะไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก็ตาม (ฎ. 1982/2494)
ดังนั้น เมื่อได้ความว่า นางสาวไพลิน ซึ่งอยู่ในฐานะเป็นผู้เสียหาย ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ให้ดำเนินคดีกับนายเสือฐานบุกรุกและลักทรัพย์ พนักงานสอบสวนต้องรับคำร้องทุกข์ของนางสาวไพลินและทำการสอบสวนคดีนี้ต่อไป
(ข) นางสาวไพลินจะยื่นฟ้องต่อศาลได้หรือไม่ เห็นว่า นางสาวไพลินอายุ 19 ปี จึงมีสถานภาพเป็นผู้เยาว์ ในกรณีที่ผู้เยาว์เป็นผู้เสียหายที่แท้จริงนั้น ตามกฎหมายได้กำหนดให้ผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นผู้จัดการแทนผู้เยาว์ ตามมาตรา 2(4) ประกอบมาตรา 5(1)
ดังนั้น ในกรณีที่ผู้เยาว์จะฟ้องคดีอาญาต้องให้ผู้แทนโดยชอบธรรมฟ้องคดีแทน ตามมาตรา 2(4) , 5(1) และมาตรา 28(2) เนื่องจากผู้เยาว์ไม่สามารถฟ้องคดีอาญาด้วยตนเอง แม้จะได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก็ตาม นางสาวไพลินจึงไม่สามารถยื่นฟ้องต่อศาลได้ (ฎ. 563/2517, ฎ. 631/2538)
สรุป
(ก) พนักงานสอบสวนต้องรับคำร้องทุกข์ของนางสาวไพลิน และทำการสอบสวนคดีนี้ต่อไป
(ข) ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง
ข้อ 2 พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องเจี๊ยบเป็นจำเลยในคดีอาญาข้อหาขับรถประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหายตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก จากกรณีที่เจี๊ยบขับรถประมาทชนท้ายรถของเจ๋งได้รับความเสียหาย ศาลพิพากษาลงโทษเจี๊ยบตามฟ้อง คดีถึงที่สุด ต่อมาเจ๋งเป็นโจทก์ฟ้องเจี๊ยบเป็นจำเลยที่ 1 บริษัท จิ๋วประกันภัย จำกัด ซึ่งรับประกันภัยรถยนต์ของเจี๊ยบเป็นจำเลยที่ 2 ในคดีแพ่งโดยเจ๋งได้อ้างคำพิพากษาในคดีอาญาข้างต้นเพื่อให้เจี๊ยบและบริษัท จิ๋วประกันภัย จำกัด ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ๋ง
ดังนี้ หากท่านเป็นศาลในคดีแพ่ง จะต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญา เนื่องจากข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติถึงที่สุดแล้วว่าเจี๊ยบขับรถประมาทชนกับรถของเจ๋งเสียหาย หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 46 ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริง ตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา
วินิจฉัย
การที่จะถือเอาข้อเท็จจริงในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา มาพิพากษาในคดีส่วนแพ่งได้นั้น จะต้องเป็นคดีที่มีมูลกรณีเดียวกัน และเป็นคู่ความเดียวกัน ซึ่งในคดีอาญาที่พนักงานเป็นโจทก์ คู่ความในคดีส่วนแพ่งก็จะต้องเป็นผู้เสียหายในคดีนั้นด้วย
พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องเจี๊ยบในความผิดตาม พ.ร.บ. จราจรทางบกซึ่งเป็นความผิดที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย เจ๋งไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดดังกล่าว จึงไม่อาจถือได้ว่าพนักงานอัยการฟ้องคดีอาญาแทนเจ๋ง ผลในคำพิพากษาคดีอาญาจึงไม่ผูกพันเจ๋ง ส่วนบริษัท จิ๋วประกันภัย จำกัด ก็ไม่ใช่คู่ความในคดีอาญา จึงนำผลในคำพิพากษาคดีอาญามาผูกพันบริษัท จิ๋วประกันภัย จำกัด ไม่ได้ ดังนั้นศาลในคดีแพ่งจึงไม่ต้องถือข้อเท็จจริง ตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ในกรณีนี้ ไม่ต้องด้วย มาตรา 46 แต่อย่างใด (ฎ. 1927 –1928/2533)
สรุป ศาลในคดีแพ่งต้องฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งใหม่ ไม่จำต้องถือข้อเท็จตามที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญา
ข้อ 3 นายแดงกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี ขณะที่นายแดงกระทำความผิดนั้นมีอายุ 17 ปีพอดี มีนายดำอายุ 14 ปีพอดีเหมือนกันเห็นเหตุการณ์ ต่อมาอีก 11 เดือน ตำรวจจับนายแดงได้ นำส่งพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนจึงดำเนินการดังนี้
(ก) ทำการสอบสวนนายแดงในวันที่รับตัวนายแดงนั้น โดยจัดหาทนายความให้ และได้สอบต่อหน้าทนายความ โดยไม่มีบุคคลอื่นใดเข้าร่วมในการสอบปากคำนั้นเลย นายแดงให้การรับสารภาพซึ่งพนักงานสอบสวนได้บันทึกถ้อยคำนั้นไว้
(ข) ต่อมาหลังจากที่จับกุมนายแดงได้อีก 3 เดือน พนักงานสอบสวนจึงเรียกนายดำพยานมาให้ถ้อยคำและให้ชี้ตัวนายแดง นายดำได้ให้การยืนยันว่าเห็นนายแดงทำผิดและชี้ตัวได้ถูกต้อง และพนักงานสอบสวนได้บันทึกปากคำไว้ ทั้งนี้เพียงแต่มีบุคคลที่เด็กร้องขอเข้าร่วมในการถามปากคำและร่วมในการชี้ตัวด้วยเท่านั้น
การดำเนินการสอบสวนของพนักงานสอบสวนทั้งสองกรณีนั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 133 ทวิ ในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายอันมิใช่ความผิดที่เกิดจากการชุลมุนต่อสู้ ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ ความผิดฐานกรรโชก ชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการหรือคดีความผิดอื่นที่มีอัตราโทษจำคุกซึ่งผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีให้พนักงานสอบสวนแยกกระทำเป็นสัดส่วนในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วยในการถามปากคำเด็กนั้น และในกรณีที่นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เห็นว่าการถามปากคำเด็กคนใดหรือคำถามใด อาจจะมีผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจเด็กอย่างรุนแรง ให้พนักงานสอบสวนถามผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เป็นการเฉพาะตามประเด็นคำถามของพนักงานสอบสวนโดยมิให้เด็กได้ยินคำถามของพนักงานสอบสวนและห้ามมิให้ถามเด็กซ้ำซ้อนหลายครั้งโดยไม่มีหตุอันสมควร
มาตรา 133 ตรี ในกรณีที่พนักงานสอบสวนมีความจำเป็นต้องจัดให้ผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีชี้ตัวบุคคลใดให้พนักงานสอบสวนจัดให้มีการชี้ตัวบุคคลในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็กและสามารถป้องกันมิให้บุคคลซึ่งจะถูกชี้ตัวนั้น เห็นตัวเด็ก โดยให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วย ในการชี้ตัวบุคคลนั้น เว้นแต่มีเหตุจำเป็นไม่อาจหาหรือรอบุคคลหนึ่งได้และเด็กไม่ประสงค์จะให้มีหรือรอบุคคลดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้ ให้พนักงานสอบสวนบันทึกเหตุดังกล่าวไว้ในสำนวนการสอบสวนด้วย
มาตรา 134/2 ให้นำบทบัญญัติในมาตรา 133 ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การสอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี
วินิจฉัย
(ก) ขณะเกิดเหตุนายแดงมีอายุ 17 ปีพอดี ต่อมาอีก 11 เดือน จึงจับได้และทำการสอบปากคำในวันจับได้นั้น แสดงว่านายแดงเป็นผู้ต้องหาในขณะนั้นมีอายุยังไม่เกิน 18 ปี และในคดีลักทรัพย์มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 3 ปี ฝนการสอบสวนปากคำผู้ต้องหาจึงต้องมีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำนั้นด้วยตาม มาตรา 133 ทวิประกอบมาตรา 134/2
(ข) นายดำเป็นพยานขณะเกิดเหตุมีอายุ 17 ปี ต่อมาอีก 11 เดือน จับนายแดงได้และอีก 3 เดือนต่อมา พนักงานสอบสวนจึงเรียกมาให้ถ้อยคำและได้ชี้ตัวนายแดง แสดงว่าขณะที่พนักงานสอบสวนถามปากคำและให้ชี้ตัวนั้น นายดำมีอายุเกินกว่า 18 ปีแล้ว
เช่นนี้จึงไม่ต้องมีบุคคลอื่นใดตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 133 ทวิ และมาตรา 133 ตรี เข้าร่วมในการสอบปากคำและชี้ตัวด้วย ทั้งนี้การถามปากคำหรือชี้ตัวของพยานเด็กอายุไม่เกิน 18 ปีนั้น ต้องถืออายุในขณะถามปากคำและชี้ตัวเป็นสำคัญ เมื่อขณะถามปากคำและชี้ตัวนั้น นายดำมีอายุเกิน 18 ปีแล้ว จึงไม่ต้องปฏิบัติตามมาตรา 133 ทวิและมาตรา 133 ตรี แม้จะมีบุคคลที่เด็กร้องขอฟังอยู่ด้วยก็ไม่มีกฎหมายห้าม การสอบปากคำและชี้ตัวของนายดำ จึงชอบด้วยกฎหมาย
สรุป
(ก) การสอบสวนของพนักงานสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย
(ข) การสอบสวนของพนักงานสอบสวนชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 4 พ.ต.ต. สิทธิชัยขับรถออกตรวจท้องที่เวลาห้าทุ่ม เห็นนายสุเมธยกปืนขึ้นเล็งไปที่นายปริญญาซึ่งทั้งนายสุเมธและนายปริญญาอยู่ภายในบ้านของนางปุ้ย พ.ต.ต.สิทธิชัยจึงเข้าไปทำการจับกุมนายสุเมธในบ้านของนางปุ้ยทันทีโดยที่ไม่มีหมายจับและหมายค้น
ดังนี้การที่ พ.ต.ต.สิทธิชัยเข้าไปจับนายสุเมธในบ้านของนางปุ้ยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 78 พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใด โดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่
(1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้าดังได้บัญญัติไว้ในมาตรา 80
มาตรา 80 วรรคแรก ที่เรียกว่าความผิดซึ่งหน้านั้น ได้แก่ ความผิดซึ่งเห็นกำลังกระทำหรือพบในอาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยได้เลยว่าเขาได้กระทำผิดมาแล้วสดๆ
มาตรา 81 ไม่ว่าจะมีหมายจับหรือไม่ก็ตาม ห้ามมิให้จับในที่รโหฐาน เว้นแต่จะได้ทำตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน
มาตรา 92 ห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นหรือคำสั่งของศาล เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้นและในกรณีดังต่อไปนี้
(2) เมื่อปรากฏความผิดซึ่งหน้ากำลังกระทำลงในที่รโหฐาน
มาตรา 96 การค้นในที่รโหฐานต้องกระทำระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและตก มีข้อยกเว้นดังนี้
(2) ในกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่งหรือซึ่งมีกฎหมายอื่นบัญญัติให้ค้นได้เป็นพิเศษ จะทำการค้นในเวลากลางคืนก็ได้
วินิจฉัย
การจับของ พ.ต.ต. สิทธิชัยเป็นการจับในที่รโหฐานในเวลากลางคืน (เนื่องจากตามข้อเท็จจริงการกระทำความผิดเกิดเวลาห้ามทุ่ม) ซึ่งการที่จะเข้าไปจับได้ต้องมีอำนาจในการจับโดยมีหมายจับ หรืออำนาจที่กฎหมายให้ทำการจับได้โดยไม่ต้องมีหมายและต้องทำตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน คือ มีอำนาจในการค้นโดยมีหมายค้นหรือมีอำนาจที่กฎหมายให้ทำการค้นได้โดยไม่ต้องมีหมาย รวมถึงจะต้องมีอำนาจที่จะเข้าไปทำการค้นในที่รโหฐานในเวลากลางคืน
การที่ พ.ต.ต. สิทธิชัย เห็นนายสุเมธยกปืนขึ้นเล็งไปที่นายปริญญา การกระทำของนายสุเมธเป็นความผิดฐานพยายามฆ่านายปริญญา ตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 เมื่อ พ.ต.ต. สิทธิชัย เห็นการกระทำดังกล่าวจึงมีอำนาจในการจับเนื่องจากเป็นความผิดซึ่งหน้า ประเภทความผิดซึ่งหน้าอย่างแท้จริงกรณีเห็นบุคคลกำลังกระทำความผิดตามมาตรา 78 ประกอบมาตรา 80 วรรคแรก และตามปัญหาเป็นกรณีนายสุเมธกระทำความผิดซึ่งหน้า (พ.ต.ต. สิทธิชัย) ในบ้านของนางปุ้ยซึ่งเป็นที่รโหฐาน จึงถือว่า พ.ต.ต. สิทธิชัย ได้ทำตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐานคือมีอำนาจในการค้นแล้วตามมาตรา 92(2) ประกอบมาตรา 81 ถือเป็นกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่งซึ่งจะทำการค้นในที่รโหฐานเวลากลางคืนก็ได้ตามมาตรา 96(2) เนื่องจากหาก พ.ต.ต. สิทธิชัยไม่เข้าไปขณะนั้น (เวลาห้าทุ่ม) นายปริญญาอาจได้รับอันตรายถึงชีวิตได้ พ.ต.ต. สิทธิชัยจึงสามารถเข้าไปทำการจับนายสุเมธในบ้านของนางปุ้ยได้
สรุป การที่ พ.ต.ต. สิทธิชัยเข้าไปจับนายสุเมธในบ้านของนางปุ้ยชอบด้วยกฎหมาย