การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2549
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3006 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1 นายเอกใช้อาวุธปืนไม่มีทะเบียนยิงนายโทถึงแก่ความตาย ระหว่างที่พนักงานสอบสวนคดีนี้ นางทิพย์ภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายโทยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ลงโทษนายเอกฐานฆ่านายโท คดีอยู่ระหว่างศาลไต่สวนมูลฟ้อง
เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้น พนักงานอัยการยื่นฟ้องนายเอกฐานฆ่านายโทและฐานมีอาวุธปืนไม่มีทะเบียนไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ส่วนนางทิพย์เมื่อทราบว่าพนักงานอัยการยื่นฟ้องนายเอกแล้ว จึงยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ศาลอนุญาต
นายเทพบิดาตามความเป็นจริงและชอบด้วยกฎหมายของนายโททราบเรื่อง จึงยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาลจะสั่งคำร้องของนายเทพว่าอย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 2 ในประมวลกฎหมายนี้
(4) ผู้เสียหาย หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่งรวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6
มาตรา 5 บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้
(2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาเฉพาะแต่ในความผิดอาญา ซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้
มาตรา 30 คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้
มาตรา 36 วรรคแรก คดีอาญาซึ่งได้ถอนฟ้องไปจากศาลแล้วจะนำมาอีกหาได้ไม่ …
วินิจฉัย
ผู้ที่จะขอเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้นั้น จะต้องเป็นผู้เสียหาย ตามนัยมาตรา 2(4) ซึ่งอาจเป็นผู้เสียหายที่แท้จริง หรืออาจเป็นผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายก็ได้ และในกรณีที่ผู้เสียหายคนเดียวมีผู้จัดการแทน ตามมาตรา 5 หลายคน ผู้จัดการแทนผู้เสียหายบางคนได้ฟ้องแล้วถอนฟ้องไป ผู้จัดการแทนผู้เสียหายคนอื่นจะมาฟ้องจำเลยอีกไม่ได้
ศาลจะสั่งคำร้องของนายเทพอย่างไร เห็นว่า ในกรณีมีความผิดฐานมีอาวุธปืนไม่มีทะเบียนไว้ในครอบครอง ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนนั้น ในฐานความผิดดังกล่าว ถือเป็นความผิดอาญาต่อรัฐ รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหายเอกชนไม่สามารถเป็นผู้เสียหายได้ ดังนั้น ทั้งนายโทและนายเทพ ต่างไม่ใช่ผู้เสียหายในฐานความผิดดังกล่าว จึงขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการไม่ได้ตามมาตรา 30 (ฎ. 1231/2533)
ส่วนความผิดฐานฆ่านายโทนั้น เห็นว่า แม้ว่านายเทพจะเป็นบุพการีที่มีอำนาจจัดการแทนนายโทตามมาตรา 5(2) ก็ตาม แต่เมื่อได้ความว่า นางทิพย์ภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายโท ได้ใช้สิทธิจัดการแทนนายโทไปแล้ว ด้วยการฟ้องคดีและถอนฟ้องไป ซึ่งผลของการถอนฟ้องดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถนำคดีมาฟ้องใหม่ได้อีกตามมาตรา 36 วรรคแรก
ผลในทางกฎหมายที่เกิดขึ้นมีผลถึงนายเทพด้วย เมื่อได้ความว่านายเทพไม่สามารถยื่นฟ้องได้ ก็ทำให้นายเทพขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการไม่ได้เช่นเดียวกัน (ฎ. 1790/2492)
สรุป ศาลต้องสั่งยกคำร้องนายเทพ
ข้อ 2 นายหนึ่งขับรถยนต์ประมาทชนท้ายรถยนต์ของนายสอง ทำให้นายดำและนายขาวซึ่งนั่งโดยสารมาในรถยนต์ของนายสองได้รับบาดเจ็บ โดยนายดำขาขวาหัก ส่วนนายขาวแขนซ้ายหัก นายดำจึงเป็นโจทก์ฟ้องนายหนึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นายดำรับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ศาลพิพากษาลงโทษนายหนึ่งตามฟ้องคดีถึงที่สุด จากนั้นต่อมานายขาวจึงเป็นโจทก์ฟ้องนายหนึ่งเป็นจำเลยฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นายขาวรับอันตรายสาหัสตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 เช่นกัน ดังนี้ ศาลจะวินิจฉัยคดีของนายขาวเช่นไร เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 39 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดังต่อไปนี้
(4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง
วินิจฉัย
ศาลจะวินิจฉัยคดีที่นายขาวยื่นฟ้องอย่างไรนั้น เห็นว่า การกระทำโดยประมาทของนายหนึ่งที่เป็นเหตุให้นายดำและนายขาวได้รับอันตรายสาหัส ได้เกิดจากการกระทำในครั้งเดียวกันที่นายหนึ่งได้ขับรถยนต์โดยประมาทชนท้ายรถยนต์ของนายสอง ถือเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน แต่มีผู้เสียหายหลายคน เมื่อได้ความว่า นายดำเป็นโจทก์ฟ้องนายหนึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นายดำได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 300 จนมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้วนั้นส่งผลให้สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับตามมาตรา 39(4) นายขาวจึงไม่มีสิทธินำคดีอาญามาฟ้องนายหนึ่งในการกระทำกรรมเดียวกันนี้ได้อีก เพราะจะเป็นการฟ้องซ้ำ ศาลจึงต้องจำหน่ายคดีของนายขาวออกจากสารบบความ (ฎ. 1853/2530)
สรุป ศาลจึงต้องจำหน่ายคดีของนายขาวออกจากสารบบความ
ข้อ 3 ในคดีอาญาพนักงานอัยการโจทก์ฟ้องจำเลยกับพวก ร่วมกันปล้นทรัพย์ และขอให้ศาลสั่งจำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 40,000 บาท แก่ผู้เสียหาย ตามที่ผู้เสียหายได้แจ้งไว้ในการสอบสวนด้วยผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการและศาลอนุญาต ต่อมาผู้เสียหายเห็นว่าราคาทรัพย์ที่แจ้งไว้นั้นต่ำไป ความจริงเมื่อคำนวณราคาใหม่แล้วเป็นเงิน 140,000 บาท ก่อนเริ่มสืบพยาน ผู้เสียหายจึงได้ดำเนินการในทางศาล 2 วิธี คือ
(1) ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องของพนักงานอัยการ เพื่อให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 140,000 บาท
(2) ยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีนั้น ขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ตนเป็นเงิน 140,000 บาท
ทั้งสองกรณีนี้ ถ้าท่านเป็นศาล ท่านจะรับคำร้องของผู้เสียหายไว้พิจารณาพิพากษาอย่างไร หรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 30 คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้
มาตรา 43 คดีลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ โจรสลัด กรรโชก ฉ้อโกง ยักยอก หรือรับของโจร ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่เขาสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดคืนเมื่อพนักงานยื่นฟ้องคดีอาญาก็ให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายด้วย
มาตรา 44/1 วรรคท้าย คำร้องตามวรรคหนึ่งจะมีคำขอประการอื่นที่มิใช่คำขอบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยในคดีอาญามิได้ และต้องไม่ขัดหรือแย้งกับคำฟ้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์และในกรณีที่พนักงานอัยการได้ดำเนินการตามความในมาตรา 43 แล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่งเพื่อเรียกทรัพย์สินหรือราคาทรัพย์สินอีกไม่ได้
วินิจฉัย
(1) ในกรณีที่ผู้เสียหายขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการตามมาตรา 30 ต้องถือเอาคำฟ้องของพนักงานอัยการเป็นสำคัญ ผู้เสียหายจะขอแก้และเพิ่มเติมฟ้องให้นอกเหนือไปจากฟ้องของพนักงานอัยการไม่ได้ ผู้เสียหายจึงไม่มีสิทธิแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องของพนักงานอัยการเพื่อให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 140,000 บาท (ฎ. 3833/2525)
(2) เมื่อพนักงานอัยการได้ดำเนินการขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 40,000 บาท แก่ผู้เสียหาย อันเป็นการดำเนินการตามมาตรา 43 แล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องเพื่อเรียกทรัพย์สินหรือราคาทรัพย์สินเป็นการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอีกไม่ได้ แม้ว่าราคาทรัพย์สินตามความจริงเป็นเงิน 140,000 บาทก็ตาม ก็จะยื่นคำร้องเรียกอีกไม่ได้ เพราะเป็นการกระทำที่ขัดแย้งกับคำฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์ ตามมาตรา 44/1 วรรคท้าย
สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลจะมีคำสั่งไม่รับ โดยยกคำร้องทั้งสองกรณีของผู้เสียหาย
ข้อ 4 เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2549 ร.ต.อ. ชิษณุ นำหมายจับของศาลอาญาไปจับนายวุฒิไกรผู้ต้องหาฐานฆ่านายไตรจักรโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยในชั้นจับกุม (ณ ที่ซึ่งทำการจับ) ร.ต.อ. ชิษณุ ได้แจ้งแก่นายวุฒิไกรว่าต้องถูกจับและได้แจ้งข้อกล่าวหาพร้อมทั้งแสดงหมายจับต่อนายวุฒิไกรและแจ้งให้นายวุฒิไกรทราบว่านายวุฒิไกรมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้ ถ้อยคำของนายวุฒิไกรนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ และนายวุฒิไกรมีสิทธิพบและปรึกษาทนายความหรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความ แต่มิได้แจ้งให้นายวุฒิไกรทราบถึงสิทธิในการแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งนายวุฒิไกรไว้วางใจทราบถึงการที่นายวุฒิไกรถูกจับกุม เมื่อดำเนินการดังกล่าวแล้ว ร.ต.อ. ชิษณุได้ถามนายวุฒิไกร ในชั้นจับกุม (ณ ที่ซึ่งทำการจับ) ว่าจะให้การอย่างไรหรือไม่ นายวุฒิไกรให้การภาคเสธว่าขณะที่นายไตรจักรถูกฆ่า นายวุฒิไกรอยู่ในที่เกิดเหตุแต่มิได้เป็นคนฆ่านายไตรจักร หลังจากนายวุฒิไกรให้การดังกล่าวแล้ว ร.ต.อ. ชิษณุ จึงสั่งให้นายวุฒิไกรไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับพร้อมกับ ร.ต.อ. ชิษณุ นายวุฒิไกรยอมไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนแต่โดยดีในการนี้ ร.ต.อ. ชิษณุได้บันทึกการจับกุมไว้ด้วย และเมื่อไปถึงยังที่ทำการของพนักงานสอบสวน ร.ต.อ. ชิษณุ และตำรวจของที่ทำการของพนักงานสอบสวนได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 ครบถ้วนทุกประการ
ดังนี้ ถ้อยคำที่นายวุฒิไกรให้ไว้ต่อ ร.ต.อ.ชิษณุ ในชั้นจับกุม (ณ ที่ซึ่งทำการจับ) จะสามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของนายวุฒิไกรได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 83 ในการจับนั้นเจ้าของพนักงานราษฎรซึ่งทำการจับต้องแจ้งแก่ผู้ที่จะถูกจับนั้นว่าเขาต้องถูกจับ แล้วสั่งให้ผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับพร้อมด้วยผู้จับ เว้นแต่สามารถนำไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบได้ในขณะนั้น ให้นำไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบดังกล่าว แต่ถ้าจำเป็นก็ให้จับตัวไป
ในกรณีที่เจ้าพนักงานเป็นผู้จับ ต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกจับทราบ หากมีหมายจับให้แสดงต่อผู้ถูกจับ พร้อมทั้งแจ้งด้วยว่าผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้และถ้อยคำของผู้ถูกจับนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้และผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความหรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความถ้าผู้ถูกจับประสงค์จะแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจทราบถึงการจับกุมที่สามารถดำเนินการได้โดยสะดวกและไม่เป็นการขัดขวางการจับหรือการควบคุมผู้ถูกจับหรือทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ก็ให้เจ้าพนักงานอนุญาตให้ผู้ถูกจับดำเนินการได้ตามสมควรแก่กรณี ในการนี้ให้เจ้าพนักงานผู้จับนั้นบันทึกการจับดังกล่าวไว้ด้วย
ถ้าบุคคลซึ่งจะถูกจับขัดขวางหรือจะขัดขวางการจับหรือหลบหนีหรือพยายามจะหลบหนี ผู้ทำการจับมีอำนาจใช้วิธีหรือการป้องกันทั้งหลายเท่าที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งเรื่องในการจับนั้น
มาตรา 84 เจ้าพนักงานหรือราษฎรผู้ทำการจับต้องเอาตัวผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนตามมาตรา 83 โดยทันทีและเมื่อถึงที่นั้นแล้ว ให้ส่งตัวผู้ถูกจับให้แก่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจของที่ทำการของพนักงานสอบสวนดังกล่าว เพื่อดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่เจ้าพนักงานเป็นผู้จับให้เจ้าพนักงานผู้จับนั้นแจ้งข้อกล่าวหาและรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุแห่งการจับให้ผู้ถูกจับทราบ ถ้ามีหมายจับให้แจ้งให้ผู้ถูกจับทราบและอ่านให้ฟังและมอบสำเนาบันทึกการจับแก่ผู้ถูกจับนั้น…
เมื่อได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้วให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ซึ่งมีผู้นำผู้ถูกจับมาส่งแจ้งให้ผู้ถูกจับทราบถึงสิทธิตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 7/1 รวมทั้งจัดให้ผู้ถูกจับสามารถติดต่อกับญาติหรือผู้ซึ่งผู้ถูกจับไว้วางใจเพื่อแจ้งให้ทราบถึงการจับกุมและสถานที่ที่ถูกควบคุมได้ในโอกาสแรกเมื่อผู้ถูกจับมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนตามวรรคหนึ่ง หรือถ้ากรณีผู้ถูกจับร้องขอให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้แจ้งก็ให้จัดการตามคำร้องขอนั้นโดยเร็ว และให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจบันทึกไว้ในการนี้มิให้เรียกค่าใช้จ่ายใดๆ จากผู้ถูกจับ…
ถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในชั้นจับกุมหรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิดห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่ถ้าเป็นถ้อยคำอื่น จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ต่อเมื่อได้มีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือมาตรา 83 วรรคสองแก่ผู้ถูกจับแล้วแต่กรณี
วินิจฉัย
ร.ต.อ. ชิษณุ นำหมายจับของศาลอาญาไปจับนายวุฒิไกร ผู้ต้องหาฐานฆ่านายไตรจักรโดยไตร่ตรองไว้ก่อน โดยในชั้นจับกุม (ณ ที่ซึ่งทำการจับ) เจ้าพนักงานผู้ทำการจับต้องปฏิบัติตามที่มาตรา 83 บัญญัติไว้คือ
1 ต้องแจ้งแก่ผู้ที่จะถูกจับนั้นว่าเขาต้องถูกจับ
2 สั่งให้ผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับพร้อมผู้จับ เว้นแต่สามารถนำไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในขณะนั้น
3 ต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกจับทราบ
4 หากมีหมายจับให้แสดงต่อผู้ถูกจับ
ตามข้อเท็จจริงนั้น ร.ต.อ. ชิษณุ ได้ปฏิบัติครบถ้วนทั้ง 4 ประการข้างต้นแล้ว
5 แจ้งสิทธิแก่ผู้ถูกจับ 3 ประการ
(1) ผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้
(2) หากมีการให้ถ้อยคำ ถ้อยคำนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้
(3) ผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความหรือผู้ที่จะเป็นทนายความ
โดยการแจ้งสิทธิแก่ผู้ถูกจับ 3 ประการดังกล่าวนี้ หากเจ้าพนักงานผู้ทำการจับไม่แจ้งหรือแจ้งไม่ครบทั้ง 3 ข้อ ถ้อยคำที่ผู้ถูกจับให้แก่เจ้าพนักงานในชั้นจับกุม (ณ ที่ทำการจับ) กรณีที่เป็นถ้อยคำอื่น (ที่ไม่ใช่ถ้อยคำรับสารภาพ) จะไม่สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้
ส่วนสิทธิในการแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งถูกจับไว้วางใจทราบถึงการถูกจับกุม เจ้าพนักงานผู้จับยังไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งในขณะจับกุม หากแต่เป็นหน้าที่ของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ซึ่งรับมอบตัวผู้ถูกจับเป็นผู้แจ้งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7/1 วรรคสองและมาตรา 84 วรรคสอง แต่ผู้ถูกจับร้องในขณะถูกจับกุมว่ามีความประสงค์ที่จะแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งผู้ถูกจับไว้วางใจทราบถึงการจับกุม ซึ่งสามารถดำเนินการได้โดยสะดวกและการแจ้งนั้นไม่เป็นการขัดขวางการจับกุมหรือการควบคุมตัวหรือจะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดเจ้าพนักงานผู้จับจะอนุญาตให้ผู้ถูกจับดำเนินการได้ตามมาตรา 83 วรรคสอง
สำหรับกรณีตามปัญหาในชั้นจับกุม (ณ ที่ซึ่งทำการจับ) ร.ต.อ. ชิษณุ ได้ถามนายวุฒิไกรว่าจะให้การอย่างไรหรือไม่ นายวุฒิไกรให้การภาคเสธว่าขณะที่นายไตรจักรถูกฆ่านายวุฒิไกรอยู่ในที่เกิดเหตุ แต่มิได้เป็นคนฆ่านายไตรจักร ดังนี้ถ้อยคำของนายวุฒิไกรถือเป็นถ้อยคำอื่น (ที่ไม่ใช่ถ้อยคำรับสารภาพ) ที่จะสามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ต่อเมื่อ ร.ต.อ. ชิษณุได้ทำการแจ้งสิทธิแก่นายวุฒิไกรครบถ้วนทั้ง 3 ประการ ตามข้อ 5(1) – (3)
โดยตามปัญหา ร.ต.อ. ชิษณุได้แจ้งสิทธิครบถ้วนทั้ง 3 ประการ ส่วนสิทธิในการแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งผู้ถูกจับไว้วางใจทราบถึงการถูกจับกุม ร.ต.อ. ชิษณุผู้จับยังไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งในขณะจับกุม และนายวุฒิไกรผู้ถูกจับก็มิได้ร้องขอในขณะถูกจับกุม ให้ ร.ต.อ. ชิษณุอนุญาตให้นายวุฒิไกรแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจทราบถึงการจับกุมแต่อย่างใด การกระทำของ ร.ต.อ. ชิษณุจึงชอบด้วยกฎหมายทุกประการตามมาตรา 83 และถ้อยคำที่นายวุฒิไกรให้ไว้ต่อ ร.ต.อ. ชิษณุ ในชั้นจับกุม (ณ ที่ซึ่งทำการจับ) สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของนายวุฒิไกรได้
สรุป ถ้อยคำที่นายวุฒิไกรให้ไว้ต่อ ร.ต.อ. ชิษณุ ในชั้นจับกุม (ณ ที่ซึ่งทำการจับ) จะสามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของนายวุฒิไกรได้