การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3006 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายดนัยอยู่กินกับนางลดาฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส มีบุตรด้วยกันชื่อนายสกล นายกฤตย์เป็นศัตรูกับนายสกล นายกฤตย์ทําร้ายร่างกายนายสกลจนเป็นเหตุให้นายสกลถึงแก่ความตาย แต่นายกฤตย์กลัวความผิด จึงนําศพของนายสกลไปฝังไว้ที่สวนหลังบ้านเพื่อซ่อนศพ ไม่ให้เป็นหลักฐานทางคดี ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ทําการสอบสวนคดีนี้ตามกระบวนการ สอบสวนจนเสร็จสิ้น ต่อมาพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายกฤตย์ฐานทําร้ายร่างกายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 290 เละฐานซ่อนเร้นศพ เพื่อปิดบังการตายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 199 ในระหว่างที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคดี นายดนัยได้ยื่นคําร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ศาลชั้นต้นมีคําสั่งอนุญาตให้นายดนัย เข้าร่วมเป็นโจทก์ทุกข้อหา คําสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้นายดนัยเข้าร่วมเป็นโจทก์ดังกล่าว ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 2 “ในประมวลกฎหมายนี้

(4) “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทําผิดฐานใด ฐานหนึ่งรวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอํานาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6”

มาตรา 3 “บุคคลดังระบุในมาตรา 4, 5 และ 6 มีอํานาจจัดการต่อไปนี้แทนผู้เสียหายตาม เงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ

(2) เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา หรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ”

มาตรา 5 “บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้

(2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทําร้าย ถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้”

มาตรา 30 “คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคําร้องขอ เข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย ผู้ที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในคดีอาญาได้นั้น จะต้องเป็น ผู้เสียหายตามความใน ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (4) ซึ่งอาจเป็นผู้เสียหายที่แท้จริง หรืออาจเป็นผู้มีอํานาจจัดการแทน ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 4, 5 และ 6 ก็ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ศาลชั้นต้นมีคําสั่งอนุญาตให้นายดนัยเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงาน อัยการทุกข้อหานั้น คําสั่งของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1 การที่นายดนัยขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในข้อหาทําร้ายร่างกายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 290 นั้น เมื่อนายดนัยเป็นบิดาของนายสกล และแม้จะเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะนายดนัยอยู่กินกับนางลดาฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส แต่ก็ถือว่านายดนัยเป็นบุพการีของนายสกล ดังนั้น เมื่อนายสกลบุตรของตนซึ่งเป็นผู้เสียหายถูกทําร้ายถึงตาย นายดนัยจึงสามารถขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 3 (2), มาตรา 5 (2) และ มาตรา 30 คําสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้นายดนัยเข้าร่วมเป็นโจทก์กรณีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย

2 การที่นายดนัยขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในความผิดฐานซ่อนเร้นศพ เพื่อปิดบังการตายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 199 นั้น ในฐานความผิดดังกล่าวถือเป็นความผิดอาญา ต่อรัฐ รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย เอกชนไม่สามารถเป็นผู้เสียหายได้ ดังนั้น นายดนัยจึงไม่ใช่ผู้เสียหายใน ความผิดฐานดังกล่าว จึงไม่สามารถขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 30 ได้ คําสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้นายดนัยเข้าร่วมเป็นโจทก์ในกรณีนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

คําสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้นายดนัยเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในข้อหา ทําร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายชอบด้วยกฎหมาย แต่คําสั่งของศาลชั้นต้นให้นายดนัยเข้าร่วม เป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในความผิดฐานซ่อนเร้นศพเพื่อปิดบังการตายไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2.นายตะวันขับรถมาด้วยความประมาทชนรถยนต์ของนายจันทราเป็นเหตุให้นายจันทราถึงแก่ความตาย นางดวงดาวภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจันทราจึงเป็นโจทก์ฟ้องนายตะวันในความผิด ฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้นายจันทราถึงแก่ความตาย ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วสังประทับฟ้อง ไว้พิจารณา ต่อมานางดวงดาวประสบอุบัติเหตุ นายภูผาบิดาของนายจันทราเกรงว่านางดวงดาว จะไม่สามารถดําเนินคดีต่อไป จึงยื่นฟ้องนายตะวันฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย นายภูผาจะดําเนินคดีได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 2 “ในประมวลกฎหมายนี้

(4) “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทําผิดฐานใด ฐานหนึ่งรวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอํานาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6”

มาตรา 5 “บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้

(2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทําร้าย ถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้”

มาตรา 15 “วิธีพิจารณาข้อใดซึ่งประมวลกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นําบทบัญญัติ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้”

มาตรา 28 “บุคคลเหล่านี้มีอํานาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล (2) ผู้เสียหาย” และ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 173 วรรคสอง “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคําฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณา และผลแห่งการนี้

(1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคําฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกัน หรือต่อศาลอื่นและ…” วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายตะวันขับรถด้วยความประมาทชนรถยนต์ของนายจันทราเป็นเหตุ ให้นายจันทราถึงแก่ความตายนั้น นางดวงดาวภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจันทราย่อมมีอํานาจจัดการแทน ผู้เสียหาย โดยเป็นโจทก์ฟ้องนายตะวันในความผิดฐานกระทําโดยประมาทเป็นเหตุให้นายจันทราถึงแก่ความตายได้ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (4) มาตรา 5 (2) และมาตรา 28 (2)

เมื่อคดีที่นางดวงดาวเป็นโจทก์ฟ้องนายตะวัน ศาลได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วและสั่งประทับฟ้อง ไว้พิจารณา ถือว่าคดีดังกล่าวนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาแล้ว ดังนั้นแม้ต่อมาจะปรากฏว่านางดวงดาวประสบ อุบัติเหตุ และนายภูผาซึ่งเป็นบิดาของนายจันทราและอยู่ในฐานะเดียวกับนางดวงดาวตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 5 (2) ย่อมไม่สามารถฟ้องนายตะวันในความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้อีก เพราะจะเป็นการฟ้องซ้อน และต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 173 วรรคสอง (1)

สรุป

นายภูผาจะดําเนินคดีไม่ได้

 

ข้อ 3. นางสาวฤดีร้องทุกข์ต่อพันตํารวจโทเอกราชพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าถูกนายวิทยาข่มขืนกระทําชําเรา ข้อเท็จจริงปรากฏว่าพันตํารวจโทเอกราชสงสัยว่านายวิทยาผู้ต้องหาเป็นผู้กระทํา ความผิดเกี่ยวกับเพศฐานข่มขืนกระทําชําเราผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสี่แสนบาท

ให้วินิจฉัยว่า คดีนี้ในชั้นสอบสวนพันตํารวจโทเอกราชมีอํานาจขอให้แพทย์ตรวจพิสูจน์และเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากร่างกายของนายวิทยาได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 131 “ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทําได้ เพื่อ ประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทําผิดและ พิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิของผู้ต้องหา”

มาตรา 131/1 “ในกรณีที่จําเป็นต้องใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง ตามมาตรา 131 ให้พนักงานสอบสวนมีอํานาจให้ทําการตรวจพิสูจน์บุคคล วัตถุ หรือเอกสารใด ๆ โดยวิธีการ ทางวิทยาศาสตร์ได้

ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจําคุกอย่างสูงเกินสามปี หากการตรวจพิสูจน์ตามวรรคหนึ่ง จําเป็นต้องตรวจเก็บตัวอย่างเลือด เนื้อเยื่อ ผิวหนัง เส้นผมหรือขนน้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ สารคัดหลั่ง สารพันธุกรรม หรือส่วนประกอบของร่างกายจากผู้ต้องหา ผู้เสียหายหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมี อํานาจให้แพทย์หรือผู้เชียวชาญดําเนินการตรวจดังกล่าวได้ แต่ต้องกระทําเพียงเท่าที่จําเป็นและสมควร…”

วินิจฉัย

ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจําคุกอย่างสูงเกินสามปี หากพนักงานสอบสวนจะทําการ ตรวจพิสูจน์บุคคลโดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์และจําเป็นต้องตรวจเก็บตัวอย่างเลือด เนื้อเยื่อ ผิวหนัง สารคัดหลั่ง ฯลฯ เพื่อจะได้ทราบข้อเท็จจริงและเพื่อพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา ให้พนักงานสอบสวน ผู้รับผิดชอบมีอํานาจให้แพทย์หรือผู้เชียวชาญดําเนินการตรวจดังกล่าวได้ (ป.วิ.อาญา มาตรา 131 มาตรา 131/1 วรรคหนึ่งและวรรคสอง)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางสาวฤดีร้องทุกข์ต่อพันตํารวจโทเอกราชพนักงานสอบสวน กล่าวหาว่าถูกนายวิทยาข่มขืนกระทําชําเรา ซึ่งความผิดเกี่ยวกับเพศฐานข่มขืนกระทําชําเราผู้อื่นตามประมวล กฎหมายอาญามาตรา 276 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึง สี่แสนบาท ซึ่งมีระวางโทษจําคุกอย่างสูงเกินสามปีนั้น เมื่อพันตํารวจโทเอกราชสงสัยว่านายวิทยาผู้ต้องหาเป็น ผู้กระทําความผิดและต้องการให้แพทย์ตรวจพิสูจน์และเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากร่างกายของนายวิทยา เพราะ ประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับความผิดที่นายวิทยาผู้ต้องหาถูกกล่าวหา พันตํารวจโทเอกราชย่อมมีอํานาจ ที่จะขอให้แพทย์ตรวจพิสูจน์และเก็บตัวอย่างสารคัดหลังจากร่างกายของนายวิทยา ซึ่งเป็นการตรวจพิสูจน์บุคคล โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ และเป็นการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของนายวิทยา ผู้ต้องหาได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 131 และมาตรา 131/1 วรรคหนึ่งและวรรคสอง

สรุป

ในชั้นสอบสวน พันตํารวจโทเอกราชมีอํานาจขอให้แพทย์ตรวจพิสูจน์และเก็บตัวอย่าง สารคัดหลังจากร่างกายนายวิทยาได้

 

ข้อ 4. ร.ต.อ.แดง สืบทราบว่าขณะนี้นายดําผู้ต้องหาซึ่งศาลได้ออกหมายจับในข้อหาชิงทรัพย์กําลังยืนอยู่ที่หน้าบ้านซึ่งนายดําเป็นเจ้าบ้าน ร.ต.อ.แดงจึงรีบเดินทางไปที่บ้านของนายดําโดยนําหมายจับนายดําไปด้วย เมื่อ ร.ต.อ.แดงไปถึงบ้านนายดํา เห็นนายดํายืนอยู่ที่หน้าบ้านของนายดํา นายดําเมื่อเห็น ร.ต.อ.แดง นายดําจึงรีบเดินเข้าไปในภายในบ้านของตน ร.ต.อ.แดงจึงนําหมายจับเข้าไปจับนายดํา ในบ้านหลังดังกล่าวทันทีโดยไม่มีหมายค้น ดังนี้ การที่ ร.ต.อ.แดง นําหมายจับเข้าไปจับนายดําในบ้านของนายดําทันทีโดยไม่มีหมายค้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 57 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติในมาตรา 78 มาตรา 79 มาตรา 80 มาตรา 92 และมาตรา 94 แห่งประมวลกฎหมายนี้จะจับ ขัง จําคุก หรือค้นในที่รโหฐานหาตัวคนหรือสิ่งของต้องมีคําสั่ง หรือหมายของศาลสําหรับการนั้น

บุคคลซึ่งต้องขังหรือจําคุกตามหมายศาล จะปล่อยไปได้ก็เมื่อมีหมายปล่อยของศาล”

มาตรา 81 “ไม่ว่าจะมีหมายจับหรือไม่ก็ตาม ห้ามมิให้จับในที่รโหฐาน เว้นแต่จะได้ทําตาม บทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน”

มาตรา 92 “ห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นหรือคําสั่งของศาล เว้นแต่พนักงาน ฝ่ายปกครองหรือตํารวจเป็นผู้ค้นและในกรณีดังต่อไปนี้

(5) เมื่อที่รโหฐานนั้นผู้จะต้องถูกจับเป็นเจ้าบ้าน และการจับนั้นมีหมายจับหรือจับตาม มาตรา 78”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ ร.ต.อ.แดงได้เข้าไปจับกุมนายดําในบ้านนั้นถือเป็นการจับในที่รโหฐาน ซึ่งการที่จะเข้าไปจับได้จะต้องมีอํานาจในการจับ โดยมีหมายจับหรืออํานาจที่กฎหมายให้ทําการจับได้โดยไม่ต้อง มีหมายและต้องทําตามบทบัญญัติใน ป.วิ.อาญา อันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน คือ มีอํานาจในการค้นโดยมีหมายค้น หรือมีอํานาจที่กฎหมายให้ทําการค้นได้โดยไม่ต้องมีหมาย ทั้งนี้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 57

ตามข้อเท็จจริง เมื่อนายดําเป็นผู้ต้องหาซึ่งศาลได้ออกหมายจับแล้ว แม้ ร.ต.อ.แดงจะไม่มี หมายค้น แต่เมื่อนายดําเป็นเจ้าของบ้านหลังดังกล่าว ร.ต.อ.แดงจึงสามารถเข้าไปในบ้านหลังนี้ได้โดยไม่ต้องมี หมายค้น เนื่องจากที่รโหฐานนั้น ผู้จะต้องถูกจับเป็นเจ้าบ้าน และการจับนั้นมีหมายจับ ร.ต.อ.แดงจึงสามารถ ทําการจับนายดําในบ้านได้แม้จะไม่มีหมายค้นตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 81 ประกอบมาตรา 92 (5) ดังนั้น การจับ ของ ร.ต.อ.แดงจึงชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

การที่ ร.ต.อ.แดงนําหมายจับเข้าไปจับนายดําในบ้านของนายดําทันทีโดยไม่มีหมายค้นนั้น ชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement