การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3006 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นางแดงจดทะเบียนตามกฎหมายรับเด็กหญิงขาวบุตรของนางเหลืองมาเป็นบุตรบุญธรรมเพราะเห็นว่าเด็กหญิงขาวกําพร้าบิดาที่เสียชีวิตไปเนื่องจากอุบัติเหตุ ปรากฏว่าขณะที่นางแดงกําลังพา เด็กหญิงขาวข้ามถนนบริเวณช่องทางข้าม (ทางม้าลาย) นายม่วงขับรถยนต์ด้วยความประมาทเลินเล่อ ชนเด็กหญิงขาวถึงแก่ความตาย ให้วินิจฉัยว่า ระหว่างนางแดงกับนางเหลือง บุคคลใดเป็นผู้มีอํานาจ จัดการแทนเด็กหญิงขาวผู้เสียหาย

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 5 “บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้

(2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทําร้าย ถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 5 (2) “ผู้บุพการี” ซึ่งมีอํานาจจัดการแทนผู้เสียหายในความผิดอาญา ซึ่งผู้เสียหายถูกทําร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้นั้น หมายถึง ผู้บุพการีตามความเป็นจริง คือเป็นผู้สืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไป ได้แก่ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย (คําพิพากษาฎีกาที่ 1384/2516 ประชุมใหญ่)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นางแดงจดทะเบียนตามกฎหมายรับเด็กหญิงขาวบุตรของนางเหลือง มาเป็นบุตรบุญธรรม ต่อมาเด็กหญิงขาวได้ถูกนายม่วงขับรถยนต์ด้วยความประมาทเลินเล่อชนจนเด็กหญิงขาว ถึงแก่ความตายนั้น ระหว่างนางแดงกับนางเหลืองบุคคลใดเป็นผู้มีอํานาจจัดการแทนเด็กหญิงขาวผู้เสียหายนั้น แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของนางแดง

เมื่อนางแดงเป็นเพียงผู้รับบุตรบุญธรรมของเด็กหญิงขาวเท่านั้น นางแดง จึงมิใช่ผู้บุพการีตามความเป็นจริงของเด็กหญิงขาว ตามนัยของ ป.วิ.อาญา มาตรา 5 (2) ดังนั้น นางแดงจึง ไม่มีอํานาจจัดการแทนเด็กหญิงขาวผู้เสียหาย (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 956/2509)

กรณีของนางเหลือง

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านางเหลืองเป็นมารดาของเด็กหญิงขาว นางเหลืองจึงเป็นผู้บุพการีตามความเป็นจริงของเด็กหญิงขาว ตามนัยของ ป.วิ.อาญา มาตรา 5 (2) ดังนั้น นางเหลืองจึงมีอํานาจจัดการแทนเด็กหญิงขาวผู้เสียหายซึ่งถูกทําร้ายถึงตาย

สรุป

นางเหลืองมีอํานาจจัดการแทนเด็กหญิงขาวผู้เสียหาย ส่วนนางแดงไม่มีอํานาจจัดการ แทนเด็กหญิงขาวผู้เสียหาย

 

ข้อ 2. นายเขียวเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายแดงฐานทําร้ายร่างกายนายเขียวเป็นเหตุให้นายเขียวได้รับอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 แต่ไม่มีการลงลายมือชื่อโจทก์ในช่องลายมือชื่อของโจทก์ ศาลชั้นต้นจึงพิพากษายกฟ้อง ต่อมานายเขียวยื่นฟ้องนายแดงใหม่ใน ความผิดฐานเดิมและลงชื่อในช่องโจทก์ถูกต้องภายในกําหนดอายุความ ดังนี้ หากท่านเป็นศาลจะรับฟ้องของนายเขียวที่มายื่นฟ้องใหม่หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 39 “สิทธินําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ดังต่อไปนี้

(4) เมื่อมีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39 (4) กรณีที่สิทธิการนําคดีอาญามาฟ้องระงับ เมื่อมีคําพิพากษา เสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องนั้น ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

1 จําเลยในคดีแรกและคดีที่นํามาฟ้องใหม่เป็นคนเดียวกัน

2 การกระทําของจําเลยเป็นการกระทําเดียวกัน

3 ศาลชั้นต้นได้มีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว

กรณีตามอุทาหรณ์

การที่นายเขียวเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายแดงฐานทําร้ายร่างกายนายเขียว เป็นเหตุให้นายเขียวได้รับอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 แต่ไม่มีการลงลายมือชื่อโจทก์ใน ช่องลายมือชื่อของโจทก์ เป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเนื่องจากโจทก์ ไม่ได้ลงลายมือชื่อ เป็นกรณีที่ศาลยกฟ้องเพราะไม่ปฏิบัติตามแบบของคําฟ้องให้ครบถ้วน โดยศาลชั้นต้นยัง มิได้วินิจฉัยความผิดซึ่งได้ฟ้อง ดังนั้น สิทธิในการนําคดีอาญามาฟ้องจึงยังไม่ระงับตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39 (4) เมื่อนายเขียวนําคดีมายื่นฟ้องนายแดงใหม่และลงลายมือชื่อในช่องโจทก์ถูกต้องภายในกําหนดอายุความจึงไม่เป็น ฟ้องซ้ํา ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลก็จะรับฟ้องของนายเขียวที่มายื่นฟ้องใหม่

สรุป

ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลข้าพเจ้าจะรับฟ้องของนายเขียวที่มายืนฟ้องใหม่

 

ข้อ 3. ร.ต.อ.ยอดชาย เข้าสกัดจับนายเร่งรีบ ซึ่งขับขี่รถจักรยานยนต์ฝ่าด่านตรวจถนนสายสีคิว-ปากช่องของสถานีตํารวจภูธรสีคิ้ว จนทําให้รถจักรยานยนต์ล้ม นายเร่งรีบตกจากรถจักรยานยนต์ศีรษะ ฟาดพื้นถนนหมดสติตรงด่านตรวจ ร.ต.อ.ยอดชาย และเจ้าพนักงานตํารวจสถานีตํารวจภูธรสีคิ้ว ประจําด่านตรวจ ได้ช่วยกันนํานายเร่งรีบส่งโรงพยาบาลปากช่อง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลของรัฐที่ใกล้ ที่สุด แต่อยู่ในเขตท้องที่สถานีตํารวจภูธรปากช่อง นายเร่งรีบถึงแก่ความตายในเวลาต่อมาที่ โรงพยาบาลปากช่อง นายดุเดือดกับนางสงบบิดามารดาของนายเร่งรีบจึงร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สถานีตํารวจภูธรปากช่องให้ดําเนินคดีกับ ร.ต.อ.ยอดชาย ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่สกัด จับนายเร่งรีบจนถึงแก่ความตาย พนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรปากช่องได้ร่วมกับแพทย์ ประจําโรงพยาบาลปากช่องทําการชันสูตรพลิกศพนายเร่งรีบเพื่อจะได้ดําเนินคดีกับ ร.ต.อ.ยอดชาย ตามกฎหมาย

ให้วินิจฉัยว่า การชันสูตรพลิกศพนายเร่งรีบชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และพนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรปากช่อง หรือพนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรสีคิ้วมีอํานาจสอบสวนคดีนี้

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 18 วรรคหนึ่ง “ในจังหวัดอื่นนอกจากจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี พนักงานฝ่าย ปกครองหรือตํารวจชั้นผู้ใหญ่ ปลัดอําเภอ และข้าราชการตํารวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตํารวจตรีหรือเทียบเท่า นายร้อยตํารวจตรีขึ้นไป มีอํานาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิด หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดภายในเขตอํานาจ ของตน หรือผู้ต้องหามีที่อยู่ หรือถูกจับภายในเขตอํานาจของตนได้”

มาตรา 150 วรรคสาม วรรคสี่และวรรคห้า “ในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทํา ของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่า ปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ให้พนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองตําแหน่งตั้งแต่ระดับปลัดอําเภอหรือเทียบเท่า ขึ้นไปแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่เป็นผู้ชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานสอบสวนและแพทย์ตามวรรคหนึ่ง และให้นํา บทบัญญัติในวรรคสองมาใช้บังคับ

เมื่อได้มีการชันสูตรพลิกศพตามวรรคสามแล้ว ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้พนักงานอัยการ เข้าร่วมกับพนักงานสอบสวนทําสํานวนชันสูตรพลิกศพให้เสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งถ้ามีความจําเป็น ให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจําเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสํานวนชันสูตรพลิกศพ

เมื่อได้รับสํานวนชันสูตรพลิกศพแล้ว ให้พนักงานอัยการทําคําร้องขอต่อศาลชั้นต้นแห่งท้องที่ ที่ศพนั้นอยู่ เพื่อให้ศาลทําการไต่สวนและทําคําสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด และถึงเหตุและพฤติการณ์ ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทําร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้กระทําร้ายเท่าที่จะทราบได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับสํานวน ถ้ามีความจําเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและ ความจําเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสํานวนชันสูตรพลิกศพ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

ประเด็นที่ 1 การชันสูตรพลิกศพนายเร่งรีบชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

การที่นายเร่งรีบถึงแก่ความตายนั้น เป็นกรณีที่ความตายเกิดขึ้นโดยการกระทําของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ดังนั้นพนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองที่มีตําแหน่งตั้งแต่ระดับ ปลัดอําเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ เป็นผู้ชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานสอบสวนและแพทย์ เมื่อได้มีการชันสูตรพลิกศพแล้ว ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้พนักงานอัยการเข้าร่วมกับพนักงานสอบสวนทําสํานวน ชันสูตรพลิกศพ จากนั้นพนักงานอัยการต้องทําคําร้องต่อศาลชั้นต้นแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ เพื่อให้ศาลทําการไต่สวน ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 150 วรรคสาม วรรคสี่ และวรรคห้า

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีเพียงพนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรปากช่องและแพทย์ประจํา โรงพยาบาลปากช่องเท่านั้นที่ร่วมกันชันสูตรพลิกศพนายเร่งรีบ หาได้มีพนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครอง ตําแหน่งตั้งแต่ระดับปลัดอําเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปเข้าร่วมชันสูตรพลิกศพด้วยแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น การชันสูตร พลิกศพนายเร่งรีบจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ประเด็นที่ 2 พนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรใดเป็นผู้มีอํานาจสอบสวนคดีนี้

ตามข้อเท็จจริง การที่ ร.ต.อ.ยอดชาย สกัดจับนายเร่งรีบทําให้นายเร่งรีบตกจากรถจักรยานยนต์ ศีรษะฟาดพื้นถนนหมดสติตรงด่านตรวจซึ่งอยู่ในเขตท้องที่สถานีตํารวจภูธรสีคิ้วนั้น แม้นายเร่งรีบจะถึงแก่ความตาย ที่โรงพยาบาลปากช่องซึ่งอยู่ในเขตท้องที่สถานีตํารวจภูธรปากช่อง แต่ก็เป็นเพียงผลที่เกิดจากการกระทําผิดในเขต ท้องที่สถานีตํารวจภูธรสีคิ้ว ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรสีคิ้ว ซึ่งความผิดได้เกิดภายในเขตอํานาจ จึงเป็นพนักงานสอบสวนที่มีอํานาจสอบสวนตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 18 วรรคหนึ่ง

สรุป

การชันสูตรพลิกศพนายเร่งรีบไม่ชอบด้วยกฎหมาย และพนักงานสอบสวนสถานี ตํารวจภูธรสีคิ้วเป็นผู้มีอํานาจสอบสวนคดีนี้

 

ข้อ 4. พ.ต.ต.กล้าหาญพบนางสาวสับปะรดกําลังวิ่งไล่จับนายหินมาตามทางสาธารณะ และได้ยินนางสาวสับปะรดร้องตะโกนว่า “จับที จับทีมันขโมยแหวนเพชร” พ.ต.ต.กล้าหาญได้เข้าทําการ จับนายหิน หลังจากทําการจับ พ.ต.ต.กล้าหาญได้ค้นตัวนายหินแล้วพบว่ามีแหวนเพชรของ นางสาวสับปะรดอยู่ในกระเป๋ากางเกงของนายหิน ดังนี้ การจับของ พ.ต.ต.กล้าหาญชอบด้วย กฎหมายหรือไม่ และการที่ พ.ต.ต.กล้าหาญค้นตัวนายหินหลังจากทําการจับ ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 78 “พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจจะจับผู้ใด โดยไม่มีหมายจับหรือคําสั่งของศาลนั้น ไม่ได้ เว้นแต่

(1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทําความผิดซึ่งหน้าดังได้บัญญัติไว้ในมาตรา 80”

มาตรา 80 “ ที่เรียกว่าความผิดซึ่งหน้านั้น ได้แก่ความผิดซึ่งเห็นกําลังกระทําหรือพบใน อาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าเขาได้กระทําผิดมาแล้วสด ๆ

อย่างไรก็ดี ความผิดอาญาดังระบุไว้ในบัญชีท้ายประมวลกฎหมายนี้ ให้ถือว่าความผิดนั้น เป็นความผิดซึ่งหน้าในกรณีดังนี้

(1) เมื่อบุคคลหนึ่งถูกไล่จับดังผู้กระทําโดยมีเสียงร้องเอะอะ”

มาตรา 85 วรรคหนึ่ง “เจ้าพนักงานผู้จับหรือรับตัวผู้ถูกจับไว้ มีอํานาจค้นตัวผู้ต้องหาและ ยึดสิ่งของต่าง ๆ ที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ พ.ต.ต.กล้าหาญพบนางสาวสับปะรดกําลังวิ่งไล่จับนายหินมาตามทาง สาธารณะ และได้ยินนางสาวสับปะรดร้องตะโกนว่า “จับที จับทีมันขโมยแหวนเพชร” นั้น ถือเป็นความผิดซึ่งหน้า ประเภทที่กฎหมายให้ถือว่าเป็นความผิดซึ่งหน้าตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 78 (1) ประกอบมาตรา 80 วรรคสอง (1) เนื่องจากการที่นางสาวสับปะรดร้องเอะอะว่า “จับที จับทีมันขโมยแหวนเพชร” นั้น การกระทําของนายหิน คือ

ความผิดฐานลักทรัพย์ ซึ่งเป็นความผิดที่ระบุอยู่ในบัญชีท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประกอบกับ นายหินถูกนางสาวสับปะรดวิ่งไล่จับดั่งว่านายหินได้กระทําความผิดมา พ.ต.ต.กล้าหาญจึงมีอํานาจในการจับนายหิน แม้ไม่มีหมายจับ ดังนั้น การจับของ พ.ต.ต.กล้าหาญในกรณีดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนการที่ พ.ต.ต.กล้าหาญได้ค้นตัวนายหินหลังจากทําการจับชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เห็นว่า เมื่อการจับของ พ.ต.ต.กล้าหาญชอบด้วยกฎหมายแล้ว พ.ต.ต.กล้าหาญย่อมมีอํานาจค้นตัวนายหิน ผู้ต้องหาได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 85 วรรคหนึ่ง ดังนั้น การที่ พ.ต.ต.กล้าหาญค้นตัวนายหินหลังจากทําการจับ จึงชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

สรุป

การจับของ พ.ต.ต.กล้าหาญชอบด้วยกฎหมาย และการที่ พ.ต.ต.กล้าหาญค้นตัวนายหิน หลังทําการจับก็ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

Advertisement