การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2558

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3006 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายเทาหลอกนางสาวถั่วพูอายุ 17 ปี ซึ่งเป็นคนรักว่าจะพาไปทานข้าว แต่กลับพานางสาวถั่วพูไปข่มขืนกระทําชําเราที่โรงแรม เมื่อกลับถึงบ้าน นายมะขวิดซึ่งเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของ นางสาวถั่วพู แต่อุปการะเลี้ยงดูนางสาวถั่วพูมาโดยตลอดทราบเรื่องดังกล่าว จึงพานางสาวถั่วพู ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดําเนินคดีแก่นายเทาข้อหาพรากผู้เยาว์และข่มขืน กระทําชําเรานางสาวถั่วพู ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ทําการสอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเห็นว่าการสอบสวนเสร็จ จึงสรุปสํานวนพร้อมทําความเห็นควรสั่งฟ้องนายเทาในข้อหาพรากผู้เยาว์และข่มขืนกระทําชําเรา นางสาวถั่วพู และพนักงานอัยการยื่นฟ้องนายเทาต่อศาลข้อหาพรากผู้เยาว์และข่มขืนกระทําชําเรา นางสาวถั่วพู ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น นายมะขวิดยื่นคําร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับ พนักงานอัยการ

ดังนี้ นายมะขวิดมีอํานาจยื่นคําร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 2 “ในประมวลกฎหมายนี้

(4) “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทําผิดฐานใด ฐานหนึ่งรวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอํานาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6”

มาตรา 3 “บุคคลดังระบุในมาตรา 4, 5 และ 6 มีอํานาจจัดการต่อไปนี้แทนผู้เสียหายตาม เงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ

(2) เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา หรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ”

มาตรา 5 “บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้

(1) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิดซึ่งได้กระทําต่อผู้เยาว์หรือ ผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล”

มาตรา 30 “คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคําร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย ผู้ที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในคดีอาญาได้นั้น จะต้องเป็น ผู้เสียหายตามความใน ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (4) ซึ่งอาจเป็นผู้เสียหายที่แท้จริง หรืออาจเป็นผู้มีอํานาจจัดการแทน ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 4, 5 และ 6 ก็ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ นายมะขวิดจะมีอํานาจยื่นคําร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีความผิดข้อหาข่มขืนกระทําชําเรา

คุณธรรมทางกฎหมายของความผิดฐานข่มขืนกระทําชําเรา มุ่งประสงค์ที่จะคุ้มครองบุคคล ซึ่งถูกกระทําชําเรา เมื่อปรากฏว่านางสาวถั่วพูถูกนายเทาหลอกไปข่มขืนกระทําชําเรา นางสาวถั่วพูจึงเป็น ผู้เสียหายในความผิดฐานนี้ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (4) ส่วนนายมะขวิดถึงแม้จะเป็นบิดาที่แท้จริงและให้การ อุปการะเลี้ยงดูนางสาวถั่วพูมาโดยตลอด แต่ก็ถือเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เป็นผู้แทนโดยชอบธรรม ที่จะมีอํานาจจัดการแทนผู้เสียหายคือนางสาวถั่วพูในความผิดฐานนี้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 5 (1) ดังนั้น นายมะขวิดจึงไม่มีอํานาจยื่นคําร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในข้อหาข่มขืนกระทําชําเรานางสาวถั่วพู ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (4) มาตรา 3 (2) และมาตรา 30

กรณีความผิดข้อหาพรากผู้เยาว์

คุณธรรมทางกฎหมายของความผิดฐานพรากผู้เยาว์ มุ่งประสงค์ที่จะคุ้มครองอํานาจปกครอง ของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลผู้เยาว์ เมื่อปรากฏว่านายมะขวิดเป็นบิดาที่แท้จริงและให้การอุปการะเลี้ยงดู นางสาวถั่วพูผู้เสียหายมาโดยตลอด จึงถือเป็นผู้ปกครองของนางสาวถั่วพูและเป็นผู้เสียหายโดยตรงจากการ กระทําผิดดังกล่าว ดังนั้นนายมะขวิดจึงมีอํานาจยื่นคําร้องและเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในข้อหา พรากผู้เยาว์ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (4) และมาตรา 30

สรุป นายมะขวิดมีอํานาจยื่นคําร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในข้อหาพรากผู้เยาว์ แต่ไม่มีอํานาจยื่นคําร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในข้อหาข่มขืนกระทําชําเรา

 

ข้อ 2. นายยนต์ขับรถยนต์เฉียวชนกับรถจักรยานยนต์ที่นายจักรขับขี่ ซึ่งมีนายยานนั่งซ้อนท้ายพนักงานสอบสวนทําการสอบสวนดําเนินคดีกับนายยนต์ และพนักงานอัยการมีคําสั่งฟ้องและ ยื่นฟ้องนายยนต์ฐานขับรถประมาทเป็นเหตุให้นายจักรได้รับอันตรายสาหัสและทรัพย์สินเสียหาย ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 นายยนต์รับสารภาพ ศาลพิพากษาลงโทษนายยนต์ตามฟ้อง คดีถึงที่สุด ต่อมานายยานรู้สึกปวดศีรษะ ตั้งแต่รถจักรยานยนต์ถูกเฉียวชนดังกล่าว แพทย์ตรวจรักษาแล้วพบว่ามีเลือดคั่งในสมองต้อง รักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา 1 เดือน นายยานจึงเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษนายยนต์ ฐานกระทํา โดยประมาทเป็นเหตุให้นายยานได้รับอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 นายยนต์ต่อสู้ว่าถูกศาลพิพากษาลงโทษไปแล้วจากเหตุดังกล่าว นายยานไม่อาจฟ้องนายยนต์ได้ ดังนี้ ข้อต่อสู้ของนายยนต์ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 39 “สิทธินําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ดังต่อไปนี้

(4) เมื่อมีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39 (4) กรณีที่สิทธิการนําคดีอาญามาฟ้องระงับ เมื่อมีคําพิพากษา เสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องนั้น ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

1 จําเลยในคดีแรกและคดีที่นํามาฟ้องใหม่เป็นคนเดียวกัน

2 การกระทําของจําเลยเป็นการกระทําเดียวกัน

3 ศาลชั้นต้นได้มีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว

กรณีตามอุทาหรณ์ การกระทําโดยประมาทของนายยนต์ซึ่งเป็นเหตุให้นายยานได้รับอันตราย สาหัสนั้น เกิดจากการกระทําครั้งเดียวกับที่นายยนต์ขับรถประมาทเป็นเหตุให้นายจักรได้รับอันตรายสาหัสจึงเป็น การกระทํากรรมเดียวกัน เมื่อพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษนายยนต์ในการกระทําผิดกรรมเดียวนี้ และศาลได้มีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว สิทธิการนําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39 (4) นายยานจึงไม่มีสิทธินําคดีอาญามาฟ้องนายยนต์ในการกระทํากรรมเดียวกันนี้ได้อีก ดังนั้น ข้อต่อสู้ของนายยนต์ที่ว่า เคยถูกศาลพิพากษาลงโทษไปแล้วจากเหตุดังกล่าว นายยานไม่อาจฟ้องนายยนต์ได้ จึงฟังขึ้น (เทียบเคียงคําพิพากษา ฎีกาที่ 1853/2530)

สรุป ข้อต่อสู้ของนายยนต์ฟังขึ้น

 

ข้อ 3. นายดําอายุ 20 ปี อาศัยอยู่กับนางขาวมารดาในเขตท้องที่รับผิดชอบของสถานีตํารวจภูธรสวรรคโลกจังหวัดสุโขทัย ข้อเท็จจริงปรากฏว่านายดํานอนหลับตายอยู่ภายในห้องนอนของตนโดยไม่ปรากฏ บาดแผลใด ๆ บนเนื้อตัวของนายดําทั้งสิ้น และโดยปกตินายดําก็เป็นคนสุขภาพแข็งแรงไม่เคยมี ประวัติเจ็บป่วย ให้วินิจฉัยว่า

(ก) การตายของนายดําดังกล่าวต้องมีการชันสูตรพลิกศพหรือไม่

(ข) ในกรณีที่มีการชันสูตรพลิกศพของนายดําและผลการชันสูตรพลิกศพปรากฏว่านายดํากินยา ฆ่าตัวตาย

ดังนี้ พนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรสวรรคโลกต้องดําเนินการเกี่ยวกับสํานวนชันสูตรพลิกศพ สาวนมของนายดําอย่างไร

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 148 “เมื่อปรากฎแน่ชัดหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดตายโดยผิดธรรมชาติ หรือ ตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานให้มีการชันสูตรพลิกศพ เว้นแต่ตายโดยการประหารชีวิตตามกฎหมาย

การตายโดยผิดธรรมชาตินั้นคือ

(1) ฆ่าตัวตาย

(2) ถูกผู้อื่นทําให้ตาย

(3) ถูกสัตว์ทําร้ายตาย

(4) ตายโดยอุบัติเหตุ

(5) ตายโดยยังมิปรากฏเหตุ”

มาตรา 150 วรรคแรก “ในกรณีที่จะต้องมีการชันสูตรพลิกศพ ให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ ที่ศพนั้นอยู่กับแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ซึ่งได้รับวุฒิบัตรหรือได้รับหนังสืออนุมัติจากแพทยสภา ทําการชันสูตรพลิกศพ โดยเร็ว ถ้าแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ดังกล่าวไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แพทย์ประจําโรงพยาบาลของรัฐ ปฏิบัติหน้าที่ ถ้าแพทย์ประจําโรงพยาบาลของรัฐไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้แพทย์ประจําสํานักงานสาธารณสุข จังหวัดปฏิบัติหน้าที่ ถ้าแพทย์ประจําสํานักงานสาธารณสุขจังหวัดไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แพทย์ ประจําโรงพยาบาลของเอกชนหรือแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ขึ้นทะเบียนเป็นแพทย์อาสาสมัครตาม ระเบียบของกระทรวงสาธารณสุขปฏิบัติหน้าที่ และในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวให้แพทย์ประจําโรงพยาบาลของ เอกชนหรือแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้นั้น เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ทั้งนี้ให้พนักงาน สอบสวนและแพทย์ดังกล่าวทําบันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพทันที และให้แพทย์ดังกล่าวทํารายงาน แนบท้ายบันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพด้วยภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเรื่อง ถ้ามีความจําเป็นให้ ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจําเป็นในการขยาย ระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสํานวนชันสูตรพลิกศพรายงานดังกล่าวให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสํานวนชันสูตรพลิกศพ และ ในกรณีที่ความตายมิได้เป็นผลแห่งการกระทําผิดอาญา ให้พนักงานสอบสวนส่งสํานวนชันสูตรพลิกศพไปยัง พนักงานอัยการเมื่อเสร็จสิ้นการชันสูตรพลิกศพโดยเร็ว และให้พนักงานอัยการดําเนินการต่อไปตามมาตรา 156”

มาตรา 156 “ให้ส่งสํานวนชันสูตรพลิกศพในกรณีที่ความตายมิได้เป็นผลแห่งการกระทําผิด อาญาไปยังข้าหลวงประจําจังหวัด”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ พนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรสวรรคโลกต้องดําเนินการเกี่ยวกับ สํานวนชันสูตรพลิกศพของนายดําอย่างไร วินิจฉัยได้ดังนี้

(ก) การที่นายดํานอนหลับตายอยู่ในห้องนอนของตนโดยไม่ปรากฎบาดแผลใด ๆ บนเนื้อตัว ของนายดําทั้งสิ้น และโดยปกตินายดําก็เป็นคนสุขภาพแข็งแรง ไม่เคยมีประวัติเจ็บป่วยนั้น ถือว่าเป็นการตาย โดยผิดธรรมชาติ คือ ตายโดยยังมีปรากฏเหตุ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 148 วรรคสอง (5) ดังนั้น การตายของนายดํา ดังกล่าวจึงต้องมีการชันสูตรพลิกศพตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 148 วรรคแรก

(ข) ในกรณีที่มีการชันสูตรพลิกศพของนายดํา และผลการชันสูตรพลิกศพปรากฏว่านายดํา กินยาฆ่าตัวตาย ถือว่าเป็นกรณีที่ความตายมิได้เป็นผลแห่งการกระทําผิดอาญาตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 150 วรรคแรก ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรสวรรคโลกจึงต้องดําเนินการเกี่ยวกับสํานวนชันสูตรพลิกศพ ของนายดํา โดยส่งสํานวนชันสูตรพลิกศพไปยังพนักงานอัยการเมื่อเสร็จสิ้นการชันสูตรพลิกศพโดยเร็ว เพื่อให้ พนักงานอัยการดําเนินการต่อไปตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 156 คือ ให้พนักงานอัยการส่งสํานวนชันสูตรพลิกศพ ดังกล่าวไปยังข้าหลวงประจําจังหวัด (ผู้ว่าราชการจังหวัด)

สรุป

(ก) การตายของนายดําดังกล่าวต้องมีการชันสูตรพลิกศพ

(ข) พนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรสวรรคโลกต้องส่งสํานวนชันสูตรพลิกศพไปยังพนักงานอัยการเมื่อเสร็จสิ้นการชันสูตรพลิกศพโดยเร็ว เพื่อให้พนักงานอัยการ ดําเนินการต่อไปตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 156

 

ข้อ 4. พ.ต.ต.คะน้าสืบทราบอย่างแน่ชัดว่านายมะระซึ่งมีเครื่องมือที่ใช้ในการงัดแงะประตูบ้านกําลังเดินทางไปที่บ้านนายละมุด เพื่อเข้าไปลักทรัพย์ที่อยู่ในบ้านของนายละมุด พ.ต.ต.คะน้าจึงรีบเดินทางไปที่บ้าน ของนายละมุด เมื่อไปถึงบ้านนายละมุด พ.ต.ต.คะน้าพบนายมะระซึ่งมีเครื่องมือที่ใช้ในการงัดแงะ อยู่กับตัวกําลังซุ่มรอที่หน้าประตูรั้วบ้านของนายละมุดเพื่อเตรียมเข้าไปลักทรัพย์ที่อยู่ในบ้านของ นายละมุด พ.ต.ต.คะน้าจึงทําการจับนายมะระทันทีโดยไม่มีหมายจับ ดังนี้ การจับของ พ.ต.ต.คะน้า ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 78 “พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคําสั่งของศาลนั้น ไม่ได้ เว้นแต่

(2) เมื่อพบบุคคลโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นน่าจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่ บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น โดยมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทําความผิด”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ พ.ต.ต.คะน้า พบนายมะระซึ่งมีเครื่องมือที่ใช้ในการงัดแงะอยู่กับตัวและกําลังซุ่มรอที่หน้าประตูรั้วบ้านของนายละมุด โดย พ.ต.ต.คะน้า สืบทราบอย่างแน่ชัดว่านายมะระซึ่งมี เครื่องมือที่ใช้งัดแงะประตูบ้าน กําลังจะเข้าไปลักทรัพย์ที่อยู่ในบ้านของนายละมุดนั้น ถือเป็นกรณีที่ พ.ต.ต.คะน้า พบนายมะระซึ่งมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่านายมะระน่าจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่ทรัพย์สินของผู้อื่น โดยมีเครื่องมืออันสามาระ อาจใช้ในการกระทําความผิดซึ่งถือเป็นเหตุในการจับตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 78 (2) แล้ว

แม้การกระทําของนายมะระเป็นเพียงขั้นตระเตรียม ยังไม่ได้กระทําความผิดฐานพยายาม ลักทรัพย์ในเคหสถาน แต่อย่างไรก็ตามบทบัญญัติตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 78 (2) บัญญัติให้อํานาจพนักงาน ฝ่ายปกครองหรือตํารวจสามารถจับผู้ตระเตรียมที่จะกระทําความผิดได้โดยไม่ต้องมีหมายจับหรือคําสั่งศาล แม้ว่า การตระเตรียมนั้นจะไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิด ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีการกระทําผิดเกิดขึ้น ดังนั้น พ.ต.ต.คะน้าจึงมีอํานาจในการจับนายมะระโดยไม่มีหมายจับ และถือเป็นการจับที่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป การจับของ พ.ต.ต.คะน้าชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement