การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3006 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายดําหลอกนางสาวมะละกออายุ 16 ปีซึ่งเป็นคนรักว่าจะพาไปทานอาหารที่ร้านอาหาร แต่กลับพานางสาวมะละกอไปข่มขืนกระทําชําเราที่บ้านของนายดํา ต่อมานายเสือซึ่งเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วย กฎหมายของนางสาวมะละกอแต่อุปการะเลี้ยงดูนางสาวมะละกอมาโดยตลอดทราบเรื่องดังกล่าว จึงพานางสาวมะละกอไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดําเนินคดีแก่นายดําข้อหา พรากผู้เยาว์และข่มขืนกระทําชําเรานางสาวมะละกอ พนักงานสอบสวนได้ทําการสอบสวนคดีนี้ ต่อมาพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายดําต่อศาลข้อหาพรากผู้เยาว์และข่มขืนกระทําชําเรานางสาว มะละกอ ระหว่างศาลชั้นต้นพิจารณา นายเสือยื่นคําร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ

ดังนี้ นายเสือมีอํานาจยื่นคําร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 2 “ในประมวลกฎหมายนี้

(4) “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทําผิดฐานใด ฐานหนึ่งรวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอํานาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6”

มาตรา 3 “บุคคลดังระบุในมาตรา 4, 5 และ 6 มีอํานาจจัดการต่อไปนี้แทนผู้เสียหายตาม เงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ

(2) เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา หรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ”

มาตรา 5 “บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้

(1) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิดซึ่งได้กระทําต่อผู้เยาว์หรือ ผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล

มาตรา 30 “คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคําร้องขอ เข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย ผู้ที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในคดีอาญาได้นั้น จะต้องเป็น ผู้เสียหายตามความใน ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (4) ซึ่งอาจเป็นผู้เสียหายที่แท้จริง หรืออาจเป็นผู้มีอํานาจจัดการแทน ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 4, 5 และ 6 ก็ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ นายเสือจะมีอํานาจยื่นคําร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ หรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีนายเสือขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในข้อหาข่มขืนกระทําชําเรา

คุณธรรมทางกฎหมายของความผิดฐานข่มขืนกระทําชําเรา มุ่งประสงค์ที่จะคุ้มครองบุคคล ซึ่งถูกข่มขืนกระทําชําเรา เมื่อปรากฏว่านางสาวมะละกอถูกนายดําหลอกไปข่มขืนกระทําชําเรา นางสาวมะละกอ จึงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานนี้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (4) ส่วนนายเสือถึงแม้จะเป็นบิดาที่แท้จริงและให้การอุปการะเลี้ยงดูมาโดยตลอด แต่ก็เป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของนางสาวมะละกอ จึงไม่เป็นผู้แทนโดยชอบธรรมที่จะมีอํานาจจัดการแทนผู้เสียหาย คือนางสาวมะละกอในความผิดฐานนี้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 5 (1)

ดังนั้น นายเสือจึงไม่มีอํานาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในข้อหาข่มขืนกระทําชําเรานางสาวมะละกอ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (4) มาตรา 3 (2) และมาตรา 30

กรณีนายเสือขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในข้อหาพรากผู้เยาว์

คุณธรรมทางกฎหมายของความผิดฐานพรากผู้เยาว์ มุ่งประสงค์ที่จะคุ้มครองอํานาจปกครอง ของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลผู้เยาว์ เมื่อปรากฏว่านายเสือเป็นบิดาและให้การอุปการะเลี้ยงดูนางสาวมะละกอ ผู้เสียหายมาโดยตลอด จึงถือเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม และสามารถจัดการแทนนางสาวมะละกอผู้เสียหาย ซึ่งเป็นผู้เยาว์ในความผิดฐานนี้ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 5 (1)

ดังนั้น นายเสือจึงสามารถขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับ พนักงานอัยการในข้อหาพรากผู้เยาว์ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (4) มาตรา 3 (2) และมาตรา 30

สรุป นายเสือมีอํานาจขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในข้อหาพรากผู้เยาว์ แต่ไม่มี อํานาจขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในความผิดฐานข่มขืนกระทําชําเรา

 

ข้อ 2. พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายลางสาดและนายเทาเป็นจําเลยในความผิดฐานร่วมกันทําร้ายร่างกายนายหมูป่าผู้เสียหาย ก่อนสืบพยานโจทก์นัดแรก นายหมูป่ายื่นคําร้องต่อศาลชั้นต้นขอเข้าร่วม เป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นายหมูป่าเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ ระหว่างดําเนินคดี นายหมูป่าไม่พอใจแนวทางการดําเนินคดีของพนักงานอัยการโจทก์ จึงได้ยื่นคําร้องต่อศาลชั้นต้น ขอถอนตัวจากการเป็นโจทก์ร่วมโดยระบุว่ามีความเห็นหลายอย่างไม่ตรงกับความเห็นของ พนักงานอัยการโจทก์ หากโจทก์ร่วมดําเนินคดีนี้ต่อไปอาจเกิดความเสียหายแก่คดี ศาลชั้นต้นจึง อนุญาตให้นายหมูป่าถอนตัวจากการเป็นโจทก์ร่วม ต่อมาภายหลังจากสืบพยานจําเลยเสร็จสิ้น ก่อนที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษาคดี นายหมูป่าได้ยื่นคําร้องต่อศาลชั้นต้นขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้ อีกครั้งหนึ่ง โดยระบุว่าเพื่อจะใช้สิทธิขั้นอุทธรณ์ฎีกาต่อไป

ดังนี้ นายหมูป่าจะยื่นคําร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในครั้งหลังได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 30 “คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคําร้องขอเข้าร่วม เป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้”

มาตรา 36 “คดีอาญาซึ่งได้ถอนฟ้องไปจากศาลแล้ว จะนํามาฟ้องอีกหาได้ไม่”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นายหมูป่าเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ ในครั้งแรกตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 30 แสดงว่าศาลชั้นต้นฟังว่านายหมูป่าเป็นผู้เสียหาย สามารถดําเนินคดีแก่จําเลย โดยอาศัยสิทธิตามฟ้องของพนักงานอัยการได้ เสมือนนายหมูป่าเป็นโจทก์ฟ้องคดีเอง ดังนั้น การที่นายหมูป่าขอ ถอนตัวจากการเป็นโจทก์ร่วมโดยไม่ปรากฏว่านายหมูปาจะไปดําเนินการอะไรอีก ย่อมถือได้ว่านายหมูป่าไม่ประสงค์ จะดําเนินคดีแก่จําเลยอีกต่อไป มีผลเท่ากับเป็นการถอนฟ้องในส่วนของโจทก์ร่วมโดยเด็ดขาดแล้ว

และเมื่อนายหมูป่าถอนฟ้องแล้ว ย่อมเกิดผลทางกฎหมายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 36 คือ นายหมูป่าผู้เสียหายจะนําคดีมาฟ้องใหม่ไม่ได้ เมื่อได้ความว่าฟ้องไม่ได้ การขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ก็ทําไม่ได้เช่นเดียวกัน แม้จะยื่นคําร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาก็ตาม ดังนั้น นายหมูป่าจะยื่นคําร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในครั้งหลังอีกไม่ได้ ต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 36 (คําพิพากษาฎีกา ที่ 7241/2544)

สรุป นายหมูป่าจะยื่นคําร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในครั้งหลังไม่ได้

 

ข้อ 3. นางสมหญิงขับรถประมาทชนนายสมชายได้รับบาดเจ็บ ในเขตท้องที่อําเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงได้รีบนําตัวนายสมชายส่งโรงพยาบาลคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ซึ่งอยู่ ใกล้ที่สุด แต่เมื่อถึงโรงพยาบาล นายสมชายได้ถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา และระหว่างที่แพทย์ ประจําโรงพยาบาลคลองหลวงรอพนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรคลองหลวง เพื่อจะได้ร่วมกัน ชันสูตรพลิกศพนายสมชาย พนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรบางปะอิน พร้อมญาตินายสมชาย ได้ติดตามมาที่โรงพยาบาลคลองหลวง และได้นําศพนายสมชายไปยังโรงพยาบาลบางปะอิน แล้วพนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรบางปะอินได้ร่วมกับแพทย์ประจําโรงพยาบาลบางปะอิน ทําการชันสูตรพลิกศพนายสมชาย และมีความเห็นว่าสมองได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง มีโลหิตคั่งในสมองเป็นสาเหตุแห่งการตาย จากนั้นญาตินายสมชายได้รับศพนายสมชายไป ฌาปนกิจตามประเพณี และพนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรบางปะอินได้สอบสวนดําเนินคดี กับนางสมหญิงโดยแจ้งให้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทําผิด และแจ้งข้อหาขับรถประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายให้ทราบ นางสมหญิงให้การปฏิเสธโดยมีทนายความอยู่ด้วย ขณะพนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรบางปะอินสอบถามคําให้การ ต่อมาพนักงานสอบสวน สถานีตํารวจภูธรบางปะอินสรุปสํานวนมีความเห็นควรสั่งฟ้อง แล้วส่งสํานวนพร้อมกับตัว นางสมหญิงผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการพิจารณา ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า การชันสูตรพลิกศพนายสมชายชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และพนักงานอัยการ จะยื่นฟ้องนางสมหญิงผู้ต้องหาต่อศาลได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 18 วรรคแรก “ในจังหวัดอื่นนอกจากจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี พนักงาน ฝ่ายปกครองหรือตํารวจชั้นผู้ใหญ่ ปลัดอําเภอ และข้าราชการตํารวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นนายร้อยตํารวจตรีหรือ เทียบเท่านายร้อยตํารวจตรีขึ้นไป มีอํานาจสอบสวนความผิดอาญาซึ่งได้เกิด หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดภายใน เขตอํานาจของตน หรือผู้ต้องหามีที่อยู่ หรือถูกจับภายในเขตอํานาจของตนได้”

มาตรา 120 “ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนความผิด นั้นก่อน”

มาตรา 129 “ให้ทําการสอบสวนรวมทั้งการชันสูตรพลิกศพ ในกรณีที่ความตายเป็นผลแห่ง การกระทําผิดอาญาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการชันสูตรพลิกศพ ถ้าการชันสูตรพลิกศพยัง ไม่เสร็จ ห้ามมิให้ฟ้องผู้ต้องหายังศาล”

มาตรา 150 วรรคแรก “ในกรณีที่จะต้องมีการชันสูตรพลิกศพ ให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ ที่ศพนั้นอยู่กับแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ซึ่งได้รับวุฒิบัตรหรือได้รับหนังสืออนุมัติจากแพทยสภา ทําการชันสูตรพลิกศพ โดยเร็ว ถ้าแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ดังกล่าวไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้แพทย์ประจําโรงพยาบาลของรัฐ ปฏิบัติหน้าที่ ถ้าแพทย์ประจําโรงพยาบาลของรัฐไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้แพทย์ประจําสํานักงานสาธารณสุข จังหวัดปฏิบัติหน้าที่ ถ้าแพทย์ประจําสํานักงานสาธารณสุขจังหวัดไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้แพทย์ ประจําโรงพยาบาลของเอกชนหรือแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ขึ้นทะเบียนเป็นแพทย์อาสาสมัครตาม ระเบียบของกระทรวงสาธารณสุขปฏิบัติหน้าที่ และในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวให้แพทย์ประจําโรงพยาบาลของ เอกชนหรือแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้นั้นเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ทั้งนี้ให้พนักงาน สอบสวนและแพทย์ดังกล่าวทําบันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพทันที และให้แพทย์ดังกล่าวทํารายงาน แนบท้ายบันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพด้วยภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเรื่อง ถ้ามีความจําเป็นให้ ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจําเป็นในการขยาย ระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสํานวนชันสูตรพลิกศพ รายงานดังกล่าวให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสํานวนชันสูตรพลิกศพ และ ในกรณีที่ความตายมิได้เป็นผลแห่งการกระทําผิดอาญา ให้พนักงานสอบสวนส่งสํานวนชันสูตรพลิกศพไปยัง พนักงานอัยการเมื่อเสร็จสิ้นการชันสูตรพลิกศพโดยเร็ว และให้พนักงานอัยการดําเนินการต่อไปตามมาตรา 156”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นแรกที่ต้องวินิจฉัยมีว่า การชันสูตรพลิกศพนายสมชายชอบด้วย กฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 150 วรรคแรก บัญญัติให้พนักงานสอบสวนท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ กับแพทย์ประจําโรงพยาบาลร่วมกันชันสูตรพลิกศพ เมื่อนายสมชายถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลคลองหลวง พนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรคลองหลวง และแพทย์ประจําโรงพยาบาลคลองหลวงซึ่งเป็นท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ จึงต้องร่วมกันชันสูตรพลิกศพ การที่พนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรบางปะอินนําศพนายสมชายไปยัง โรงพยาบาลบางปะอิน และร่วมกับแพทย์โรงพยาบาลบางปะอินทําการชันสูตรพลิกศพ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ประเด็นต่อมาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า พนักงานอัยการจะยื่นฟ้องนางสมหญิงผู้ต้องหาต่อศาลได้ หรือไม่ เห็นว่า แม้การชันสูตรพลิกศพนายสมชายจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็ไม่ถือว่าการชันสูตรพลิกศพยังไม่เสร็จ อันจะห้ามมิให้ฟ้องผู้ต้องหายังศาลตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 129 แต่อย่างใด อีกทั้งการชันสูตรพลิกศพก็มิใช่เงื่อนไข แห่งการฟ้องคดี ดังนั้น เมื่อพนักงานสอบสวนสถานีตํารวจภูธรบางปะอิน เป็นพนักงานสอบสวนในท้องที่เกิดเหตุ ซึ่งมีอํานาจสอบสวนตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 18 วรรคแรก ได้ทําการสอบสวนแจ้งข้อหาแก่นางสมหญิงผู้ต้องหาแล้ว ย่อมถือได้ว่ามีการสอบสวนแล้วตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 120 พนักงานอัยการจึงมีอํานาจฟ้องนางสมหญิง ผู้ต้องหาต่อศาลได้

สรุป การชันสูตรพลิกศพนายสมชายไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่พนักงานอัยการสามารถฟ้อง นางสมหญิงผู้ต้องหาต่อศาลได้ เพราะได้มีการสอบสวนความผิดนั้นแล้ว

 

ข้อ 4. พ.ต.ต.ทองทาสืบทราบว่านายมะกรูดซึ่งขณะนี้ยืนอยู่ที่ถนนสาธารณะมีเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนอยู่เมื่อ พ.ต.ต.ทองทาเดินเข้าไปหานายมะกรูดได้แสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตํารวจและขอตรวจค้นตัว นายมะกรูด เมื่อ พ.ต.ต.ทองทาค้นตัวนายมะกรูดแล้วได้พบเมทแอมเฟตามีนอยู่ที่ตัวของนายมะกรูด พ.ต.ต.ทองทาจึงทําการจับนายมะกรูดทันทีโดยไม่มีหมายจับ ดังนี้ การตรวจค้นและการจับของพ.ต.ต.ทองทาขอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 78 “พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจจะจับผู้ใด โดยไม่มีหมายจับหรือคําสั่งของศาลนั้น ไม่ได้ เว้นแต่

(1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทําความผิดซึ่งหน้าดังได้บัญญัติไว้ในมาตรา 80”

มาตรา 80 วรรคแรก “ที่เรียกว่าความผิดซึ่งหน้านั้น ได้แก่ ความผิดซึ่งเห็นกําลังกระทําหรือ พบในอาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าเขาได้กระทําผิดมาแล้วสด ๆ”

มาตรา 93 “ห้ามมิให้ทําการค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถาน เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือ ตํารวจเป็นผู้ค้น ในเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทําความผิด หรือซึ่งได้มาโดยการกระทําความผิดหรือซึ่งมีไว้เป็นความผิด”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การตรวจค้นและการจับของ พ.ต.ต.ทองทา ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การที่ พ.ต.ต.ทองทา แสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตํารวจและขอตรวจค้นนายมะกรูดซึ่งยืนอยู่ที่ถนนสาธารณะโดยไม่มี หมายค้นนั้น โดยหลักย่อมไม่สามารถทําได้ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อได้ความว่า พ.ต.ต.ทองทา ได้สืบทราบมาก่อนแล้วว่า นายมะกรูดมีเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนอยู่ จึงถือว่า พ.ต.ต.ทองทา มีเหตุอันควรสงสัยว่านายมะกรูดมีสิ่งของที่มีไว้ เป็นความผิดซุกซ่อนอยู่ กรณีเช่นนี้ พ.ต.ต.ทองทา ย่อมมีอํานาจค้นตัวนายมะกรูดซึ่งยืนอยู่ที่ถนนสาธารณะอัน เป็นที่สาธารณสถานได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 93 และเมื่อค้นแล้วพบเมทแอมเฟตามีนที่ตัวของนายมะกรูด จึงถือว่า เป็นความผิดซึ่งหน้า ดังนั้น พ.ต.ต.ทองทา จึงมีอํานาจจับนายมะกรูดได้โดยไม่ต้องมีหมายจับตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 78 (1) ประกอบมาตรา 80 วรรคแรก การตรวจค้นและการจับกุมจึงชอบด้วยกฎหมาย

สรุป การตรวจค้นและการจับกุมของ พ.ต.ต.ทองทา ชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement