การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2557

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3006 กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 1

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายหน่อไม้กับนายหินทะเลาะวิวาทกัน นายหน่อไม้ขกที่ใบหน้านายหิน 1 ครั้ง นายหินโกรธจึงใช้อาวุธปืนยิงนายหน่อไม้ 1 นัด กระสุนปืนไม่ถูกนายหน่อไม้แต่พลาดไปถูกนางละมุดภริยาที่ไม่ได้ จดทะเบียนสมรสของนายกระทิงถึงแก่ความตาย นายหน่อไม้และนายหินต่างไปร้องทุกข์ต่อ พนักงานสอบสวนให้ดําเนินคดีซึ่งกันและกัน นายหน่อไม้ให้การรับสารภาพว่าได้ทําร้ายนายหินจริง พนักงานอัยการจึงแยกฟ้องนายหน่อไม้ในข้อหาทําร้ายร่างกายผู้อื่นไม่เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย หรือจิตใจ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับนายหน่อไม้ 1,000 บาท คดีถึงที่สุด ต่อมาพนักงานอัยการ ได้ฟ้องนายหินในข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นและฆ่าผู้อื่น นายหินให้การปฏิเสธ ระหว่างการพิจารณา ของศาลชั้นต้น นายหน่อไม้และนายกระทิงยื่นคําร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ

ศาลชั้นต้นอนุญาต ดังนี้ คําสั่งศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 2 “ในประมวลกฎหมายนี้

(4) “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทําผิดฐานใด ฐานหนึ่งรวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอํานาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6”

มาตรา 3 “บุคคลดังระบุในมาตรา 4, 5 และ 6 มีอํานาจจัดการต่อไปนี้แทนผู้เสียหายตาม เงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ

(2) เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา หรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ” มาตรา 5 “บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้

(2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทําร้าย ถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้”

มาตรา 30 “คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคําร้องขอ เข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย ผู้ที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในคดีอาญาได้นั้น จะต้องเป็น ผู้เสียหายตามความใน ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (4) ซึ่งอาจเป็นผู้เสียหายที่แท้จริง หรืออาจเป็นผู้มีอํานาจจัดการแทน ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 4, 5 และ 6 ก็ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ คําสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้นายหน่อไม้และนายกระทิงเข้าร่วมเป็น โจทก์กับพนักงานอัยการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ วินิจฉัยได้ดังนี้

กรณีนายหน่อไม้

การที่นายหน่อไม้ทะเลาะวิวาทกับนายหิน ถือเป็นกรณีที่นายหน่อไม้สมัครใจทะเลาะวิวาท และมีส่วนร่วมในการกระทําความผิดฐานทําร้ายร่างกายนายหิน นายหน่อไม้จึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ความหมายใน ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (4) และไม่มีอํานาจที่จะยื่นคําร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 30 (เทียบคําพิพากษาฎีกาที่ 3100/2547)

กรณีนายกระทิง

การที่นายกระทิงมิได้จดทะเบียนสมรสกับนางละมุด จึงไม่ถือเป็นสามีของนางละมุดตามกฎหมาย นายกระทิงจึงไม่มีอํานาจจัดการแทนนางละมุดผู้ตายตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 5 (2) และไม่มีอํานาจที่จะยื่นคําร้องขอ เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 3 (2) และมาตรา 30

ดังนั้น คําสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้นายหน่อไม้และนายกระทิงเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงาน อัยการจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป คําสั่งศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2. นายดําใช้อาวุธปืนไม่มีทะเบียนยิ่งนายเขียวถึงแก่ความตาย ระหว่างที่พนักงานสอบสวนสอบสวนคดีนี้ นางส้มภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเขียวยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ลงโทษนายดําฐานฆ่านายเขียว คดีอยู่ระหว่างศาลไต่สวนมูลฟ้อง เมื่อการสอบสวนเสร็จสิ้น พนักงานอัยการยื่นฟ้องนายดําฐาน ฆ่านายเขียวและฐานมีอาวุธปืนไม่มีทะเบียนไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ส่วน นางส้มเมื่อทราบว่าพนักงานอัยการยื่นฟ้องนายดําแล้วจึงยื่นคําร้องขอถอนฟ้อง ศาลอนุญาต นายครามบิดาตามความเป็นจริงและชอบด้วยกฎหมายของนายเขียวทราบเรื่องจึงยื่นคําร้องขอเข้าร่วม เป็นโจทก์กับพนักงานอัยการก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาลจะสั่งคําร้องของนายครามว่าอย่างไร เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 2 “ในประมวลกฎหมายนี้

(4) “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทําผิดฐานใด ฐานหนึ่งรวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอํานาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6”

มาตรา 5 “บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้

(2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาเฉพาะแต่ในความผิดอาญา ซึ่งผู้เสียหายถูกทําร้าย ถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้”

มาตรา 30 “คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคําร้องขอ เข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้”

มาตรา 36 วรรคแรก “คดีอาญาซึ่งได้ถอนฟ้องไปจากศาลแล้ว จะนํามาฟ้องอีกหาได้ไม่”

วินิจฉัย

โดยหลัก ผู้ที่จะขอเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้นั้น จะต้องเป็นผู้เสียหายตามนัย ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (4) ซึ่งอาจเป็นผู้เสียหายที่แท้จริง หรืออาจเป็นผู้มีอํานาจจัดการแทนผู้เสียหายก็ได้ และในกรณีที่ผู้เสียหาย คนเดียวมีผู้จัดการแทนตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 5 หลายคน ผู้จัดการแทนผู้เสียหายบางคนได้ฟ้องแล้วถอนฟ้องไป ผู้จัดการแทนผู้เสียหายคนอื่นจะมาฟ้องจําเลยอีกไม่ได้

กรณีตามอุทาหรณ์ ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลจะสั่งคําร้องของนายครามว่าอย่างไรนั้น เห็นว่า ในกรณี ความผิดฐานมีอาวุธปืนไม่มีทะเบียนไว้ในครอบครอง ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนนั้น ในฐานความผิดดังกล่าวถือเป็น ความผิดอาญาต่อรัฐ รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย เอกชนไม่สามารถเป็นผู้เสียหายได้ ดังนั้น ทั้งนายเขียวและนายคราม ต่างไม่ใช่ผู้เสียหายในฐานความผิดดังกล่าว จึงขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการไม่ได้ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 30 (คําพิพากษาฎีกาที่ 1231/2533)

ส่วนความผิดฐานฆ่านายเขียวนั้น เห็นว่า แม้ว่านายครามจะเป็นบุพการีที่มีอํานาจจัดการแทน นายเขียวตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 5 (2) ก็ตาม แต่เมื่อได้ความว่า นางส้มภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเขียว ได้ ใช้สิทธิจัดการแทนนายเขียวไปแล้ว ด้วยการฟ้องคดีและถอนฟ้องไป ซึ่งผลของการถอนฟ้องดังกล่าว ทําให้ไม่สามารถ นําคดีมาฟ้องใหม่ได้อีกตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 36 วรรคแรก ผลในทางกฎหมายที่เกิดขึ้นมีผลถึงนายครามด้วย เมื่อได้ความว่านายครามไม่สามารถยื่นฟ้องได้ ก็ทําให้นายครามขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการไม่ได้ด้วย เช่นเดียวกัน (คําพิพากษาฎีกาที่ 1790/2492)

สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลจะสั่งยกคําร้องของนายคราม

 

ข้อ 3. นายเบิ้มใช้อาวุธปืนยิงนายกรวดเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส เมื่อพนักงานสอบสวนสอบสวนเสร็จแล้วพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ลงโทษนายเบิ้มฐานพยายามฆ่านายกรวด ศาลชั้นต้น พิพากษาว่านายเบิ้มมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจําคุก 10 ปี นายเบิ้มยื่นอุทธรณ์ ในระหว่าง ศาลอุทธรณ์พิจารณาคดี ปรากฏว่านายกรวดถึงแก่ความตายเพราะบาดแผลที่ถูกอาวุธปืนยิง ดังกล่าว ทั้งนี้ นางสับปะรดภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายกรวดจะยื่นฟ้องต่อศาลในวันรุ่งขึ้นขอให้ลงโทษนายเบิ้มฐานฆ่านายกรวดได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 2 “ในประมวลกฎหมายนี้

(4) “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทําผิดฐานใด ฐานหนึ่งรวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอํานาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6”

มาตรา 5 “บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้

(2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาเฉพาะแต่ในความผิดอาญา ซึ่งผู้เสียหายถูกทําร้าย ถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้”

มาตรา 39 “สิทธินําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ดังต่อไปนี้

(4) เมื่อมีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง”

วินิจฉัย

ในกรณีที่สิทธิการนําคดีอาญามาฟ้องระงับ เมื่อมีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39 (4) นั้น ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

1 จําเลยในคดีแรกและคดีที่นํามาฟ้องใหม่เป็นคนเดียวกัน

2 การกระทําของจําเลยเป็นการกระทําเดียวกัน

3 ศาลชั้นต้นได้มีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว

กรณีตามอุทาหรณ์ นางสับปะรดภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายกรวดจะยื่นฟ้องต่อศาล ในวันรุ่งขึ้นขอให้ลงโทษนายเบิ้มฐานฆ่านายกรวดได้หรือไม่ เห็นว่า การที่นายกรวดถึงแก่ความตายจากบาดแผล ที่ถูกนายเบิ้มใช้อาวุธปืนยิงและถือว่านายเบิ้มฆ่านายกรวดนั้น แม้นางสับปะรดภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ นายกรวดจะมีอํานาจจัดการแทนตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 2 (4) และมาตรา 5 (2) แต่เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นได้มี คําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในคดีที่พนักงานอัยการฟ้องนายเบิ้มฐานพยายามฆ่าไปแล้ว สิทธิการนําคดีอาญามาฟ้อง ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39 (4) ดังนั้น การที่นางสับปะรดยื่นฟ้องนายเบิ้มอีกแม้จะฟ้องคนละฐานความผิด กับพนักงานอัยการ แต่ก็ยังถือว่าเป็นการกระทําเดียวกัน ฟ้องของนางสับปะรดจึงเป็นฟ้องซ้ําต้องห้ามตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39 (4)

สรุป นางสับปะรดภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายกรวดจะยื่นฟ้องต่อศาลในวันรุ่งขึ้น ขอให้ลงโทษนายเบิ้มฐานฆ่านายกรวดไม่ได้

 

ข้อ 4. ร.ต.อ.ธามได้ยินเสียงคนร้องด้วยความเจ็บปวด จึงรีบวิ่งไปบริเวณที่ได้ยินเสียงนั้น เมื่อไปถึงบริเวณที่ได้ยินเสียง ร.ต.อ.ธามเห็นนายมะขวิดนอนจมกองเลือดและพบนายตะไคร้ยืนถือมีดซึ่งมีเลือดติดอยู่ ยืนอยู่ข้างตัวนายมะขวิด ร.ต.อ.ธามจึงทําการจับนายตะไคร้ทันทีโดยไม่มีหมายจับ ดังนี้ การจับของ ร.ต.อ.ธามชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา 78 “พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคําสั่งของศาลนั้น ไม่ได้ เว้นแต่

(1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทําความผิดซึ่งหน้าดังได้บัญญัติไว้ในมาตรา 80”

มาตรา 80 วรรคแรก “ที่เรียกว่าความผิดซึ่งหน้านั้น ได้แก่ ความผิดซึ่งเห็นกําลังกระทําหรือ พบในอาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าเขาได้กระทําผิดมาแล้วสด ๆ”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคําสั่งของศาลนั้น ไม่ได้ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย และถ้าเป็นการจับตามสําเนาหมายจับ สําเนาหมายจับนั้นก็จะต้อง มีการรับรองว่าถูกต้องแล้ว

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ ร.ต.อ.ธามได้ยินเสียงคนร้องด้วยความเจ็บปวด จึงรีบวิ่งไปยัง บริเวณที่ได้ยินเสียง เมื่อไปถึงบริเวณที่ได้ยินเสียง ร.ต.อ.ธามเห็นนายมะขวิดนอนจมกองเลือดและพบนายตะไคร้ ยืนถือมีดซึ่งมีเลือดติดอยู่ยืนอยู่ข้างตัวนายมะขวิดนั้น แม้ ร.ต.อ.ธามจะไม่เห็นนายตะไคร้ใช้มีดแทงนายมะขวิด แต่ถือเป็นกรณีที่ ร.ต.อ.ธาม พบในอาการใดซึ่งแทบไม่มีความสงสัยเลยว่า นายตะไคร้ได้กระทําความผิดมาแล้ว สด ๆ ดังนั้น ร.ต.อ.ธาม จึงมีอํานาจในการจับนายตะไคร้ได้โดยไม่ต้องมีหมายจับเพราะเป็นความผิดซึ่งหน้าตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 78 (1) ประกอบมาตรา 80 วรรคแรก การจับของ ร.ต.อ.ธามจึงชอบด้วยกฎหมาย

สรุป การจับของ ร.ต.อ.ธามชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement