การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2558
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1. นายเอก (มีภูมิลําเนาที่จังหวัดอ่างทอง) สั่งซื้อสินค้าจากนายโท (มีภูมิลําเนาอยู่จังหวัดชลบุรี) โดยทําคําสั่งซื้อเป็นจดหมายส่งไปยังนายโทที่จังหวัดชลบุรี เมื่อนายโทได้รับคําสั่งซื้อทางจดหมายแล้ว ก็ได้ส่งสินค้าไปให้นายเอกที่จังหวัดอ่างทอง ปรากฏว่านายเอกได้รับสินค้าไปแล้วแต่ไม่ยอมชําระค่าสินค้า นายโทจึงยื่นฟ้องนายเอกต่อศาลจังหวัดชลบุรี จะสามารถทําได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 4 “เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น
(1) คําฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้น ในเขตศาลไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่”
วินิจฉัย
การฟ้องเรียกหนี้เหนือบุคคล ต้องฟ้องต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่ มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลตามมาตรา 4 (1) ซึ่งคําว่า “มูลคดีเกิด” หมายถึง ต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิ อันจะทําให้เกิดอํานาจฟ้อง ซึ่งในกรณีของสัญญานั้น สถานที่ที่มูลคดีเกิดคือสถานที่ที่สัญญาเกิดขึ้นนั่นเอง
กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างนายเอกกับนายโทเป็นสัญญาระหว่างบุคคล ซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทาง สัญญาจะเกิดก็ต่อเมื่อคําสนองกลับมาถึงผู้เสนอ ซึ่งจากข้อเท็จจริง นายเอกทําคําเสนอ ไปยังนายโท แม้นายโทจะไม่ได้ทําคําสนองตอบกลับมา แต่นายโทก็ได้ส่งสินค้าไปให้นายเอกที่จังหวัดอ่างทอง ซึ่งถือเป็นคําสนองโดยปริยาย ดังนั้น เมื่อสินค้าถูกส่งมายังจังหวัดอ่างทองถือว่าสัญญาเกิดที่จังหวัดอ่างทอง มูลคดีจึงเกิดขึ้นที่จังหวัดอ่างทอง ประกอบกับจําเลยคือนายเอกก็มีภูมิลําเนาอยู่ที่จังหวัดอ่างทอง นายโทจึงสามารถ ยื่นฟ้องนายเอกได้ที่ศาลจังหวัดอ่างทองเท่านั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 (1) จะไปยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดชลบุรีไม่ได้
สรุป
นายโทจะยื่นฟ้องนายเอกต่อศาลจังหวัดชลบุรีไม่ได้
ข้อ 2. โจทก์ยื่นคําฟ้องว่า จําเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจําเลยที่ 2 ขับรถด้วยความประมาทในทางการที่จ้างของจําเลยที่ 2 ชนโจทก์ได้รับความเสียหายขอให้จําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย แก่โจทก์ จําเลยที่ 1 ยื่นคําให้การยอมรับ แต่จําเลยที่ 2 ยื่นคําให้การว่าคดีนี้ขาดอายุความแล้ว ให้ท่านวินิจฉัยว่า คําให้การของจําเลยที่ 2 จะมีผลถึงจําเลยที่ 1 หรือไม่ และหากศาลเห็นว่าคดีนี้ ขาดอายุความแล้ว สามารถยกฟ้องจําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ทั้งสองคนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 59 “บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป อาจเป็นคู่ความในคดีเดียวกันได้โดยเป็นโจทก์ร่วม หรือจําเลยร่วม ถ้าหากปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี แต่ห้ามมิให้ถือว่าบุคคล เหล่านั้นแทนซึ่งกันและกัน เว้นแต่มูลความแห่งคดีเป็นการชําระหนี้ ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ หรือได้มีกฎหมาย บัญญัติไว้ดังนั้นโดยชัดแจ้ง ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกันเพียงเท่าที่จะกล่าวต่อไปนี้
(1) บรรดากระบวนพิจารณาซึ่งได้ทําโดย หรือทําต่อคู่ความร่วมคนหนึ่งนั้นให้ถือว่าได้ทําโดย หรือทําต่อคู่ความร่วมคนอื่น ๆ ด้วย เว้นแต่กระบวนพิจารณาที่คู่ความร่วมคนหนึ่งกระทําไปเป็นที่เสื่อมเสียแก่ คู่ความร่วมคนอื่น ๆ
(2) การเลื่อนคดีหรือการงดพิจารณาคดีซึ่งเกี่ยวกับคู่ความร่วมคนหนึ่งนั้น ให้ใช้ถึงคู่ความ ร่วมคนอื่นด้วย”
วินิจฉัย
ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 59 (1) การที่บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป เป็นคู่ความในคดีเดียวกัน โดยเป็นโจทก์ร่วมหรือจําเลยร่วมนั้น หากปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี และมูลความแห่งคดีเป็นการชําระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้แล้ว บรรดากระบวนพิจารณาซึ่งได้ทําโดยหรือ ทําต่อคู่ความร่วมคนหนึ่งนั้น ให้ถือว่าได้ทําโดยหรือทําต่อคู่ความร่วมคนอื่น ๆ ด้วย เว้นแต่กระบวนพิจารณาที่ คู่ความร่วมคนหนึ่งกระทําไปเป็นที่เสื่อมเสียแก่คู่ความร่วมคนอื่น ๆ
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่จําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 เป็นลูกหนี้ร่วมกันโดยเป็นหนี้ที่ไม่อาจ แบ่งแยกจากกันได้นั้น แม้จําเลยที่ 1 จะยื่นคําให้การยอมรับ แต่จําเลยที่ 2 ยื่นคําให้การว่าคดีนี้ขาดอายุความแล้ว คําให้การของจําเลยที่ 2 ย่อมมีผลถึงจําเลยที่ 1 ด้วย เพราะถือเป็นกระบวนการพิจารณาซึ่งได้ทําโดย คู่ความร่วมคนอื่น ๆ ด้วย อีกทั้งเป็นกระบวนพิจารณาที่คู่ความร่วมคนหนึ่งได้กระทําไปโดยไม่เป็นที่เสื่อมเสียแก่ คู่ความร่วมคนอื่น ๆ แต่อย่างใด
ดังนั้น หากศาลเห็นว่าคดีนี้ขาดอายุความแล้ว แม้จําเลยที่ 1 จะมิได้ยกข้อต่อสู้เรื่องอายุความ ก็ตาม ศาลก็สามารถยกฟ้องจําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ได้
สรุป
คําให้การของจําเลยที่ 2 จะมีผลถึงจําเลยที่ 1 ด้วย และถ้าศาลเห็นว่าคดีนี้ขาดอายุความ แล้ว ศาลสามารถยกฟ้องจําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ได้
ข้อ 3. โจทก์ยื่นคําฟ้องขอให้จําเลยรับผิดในกรณีละเมิด ศาลชั้นต้นสั่งคําฟ้องว่า “รับคําฟ้องหมายส่งสําเนาให้จําเลย ถ้าส่งไม่ได้ให้โจทก์แถลงภายใน 7 วันนับแต่วันส่งไม่ได้ หากไม่แถลงให้ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง” ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเจ้าพนักงานส่งหมายไม่ได้จึงแจ้งต่อศาลถึงการส่งหมายไม่ได้ในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2559 ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งผลของการส่งหมายให้โจทก์ทราบ แต่มีคําสั่งว่า “รอโจทก์แถลงภายใน 7 วัน” เมื่อโจทก์ไม่มาแถลงภายใน 7 วัน ศาลชั้นต้นจึงมีคําสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องให้จําหน่ายคดีออกจาก สารบบความ ให้ท่านวินิจฉัยว่า คําสั่งทิ้งฟ้องดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 70 “บรรดาคําฟ้อง หมายเรียกและหมายอื่น ๆ คําสั่ง คําบังคับของศาลนั้น ให้ เจ้าพนักงานศาลเป็นผู้ส่งให้แก่คู่ความหรือบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้อง
คําฟ้องนั้น ให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมในการส่ง ส่วนการนําส่งนั้นโจทก์จะนําส่งหรือไม่ก็ได้ เว้นแต่ศาลจะสั่งให้โจทก์มีหน้าที่จัดการนําส่ง…”
มาตรา 174 “ในกรณีต่อไปนี้ให้ถือว่าโจทก์ได้ทิ้งฟ้อง คือ
(2) โจทก์เพิกเฉยไม่ดําเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกําหนดไว้เพื่อการนั้น โดยได้ส่งคําสั่งให้แก่โจทก์โดยชอบแล้ว”
วินิจฉัย
กรณีที่จะถือว่าโจทก์ได้ทิ้งฟ้องตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 174 (2) จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้
1 ศาลกําหนดเวลาให้ดําเนินคดี
2 ศาลได้ส่งคําสั่งให้แก่โจทก์โดยชอบแล้ว
3 โจทก์เพิกเฉยไม่ดําเนินคดีภายในเวลาที่ศาลกําหนด
ตามอุทาหรณ์ การที่ศาลชั้นต้นสั่งคําฟ้องว่า “รับคําฟ้องหมายส่งสําเนาให้จําเลย ถ้าส่งไม่ได้ ให้โจทก์แถลงภายใน 7 วันนับแต่วันส่งไม่ได้ หากไม่แถลงให้ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง” และข้อเท็จจริงปรากฏว่าเจ้าพนักงาน ส่งหมายไม่ได้จึงแจ้งต่อศาลถึงการส่งหมายไม่ได้ และศาลชั้นต้นมิได้แจ้งผลของการส่งหมายให้โจทก์ทราบ แต่มี คําสั่งว่า “รอโจทก์แถลงภายใน 7 วัน” นั้น เป็นกรณีที่ศาลมิได้สั่งให้โจทก์มีหน้าที่นําส่งหมายตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 70 โจทก์จึงไม่ทราบผลของการส่งหมาย ซึ่งหากเจ้าพนักงานศาลส่งหมายไม่ได้ ต้องมีการแจ้งผลของการ ส่งหมายไม่ได้ให้โจทก์ทราบก่อน ประกอบกับ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 174 (2) ได้กําหนดว่า การที่ศาลจะสั่งว่าโจทก์ ได้ทิ้งฟ้องนั้น ศาลต้องส่งคําสั่งให้โจทก์ทราบโดยชอบเสียก่อน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งผล ของการส่งหมายให้โจทก์ทราบโดยชอบเสียก่อนแต่อย่างใด แต่มีเพียงคําสั่งว่า “รอโจทก์แถลงภายใน 7 วัน” เท่านั้น ดังนั้นเมื่อโจทก์ไม่มาแถลงภายใน 7 วัน ศาลชั้นต้นจะมีคําสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องและให้จําหน่ายคดีออกจาก สารบบความไม่ได้ เมื่อคดีนี้ ศาลชั้นต้นได้มีคําสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องให้จําหน่ายคดีออกจากสารบบความ คําสั่งทิ้งฟ้อง ดังกล่าวของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 174 (2)
สรุป
คําสั่งทิ้งฟ้องดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 4. โจทก์ยื่นฟ้องว่าจําเลยละเมิดโจทก์ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย จําเลยยื่นคําให้การและฟ้องแย้งว่าจําเลยไม่ได้ละเมิด แต่โจทก์ต่างหากที่ละเมิดจําเลย ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย ปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่มา ยื่นคําให้การแก้ฟ้องแย้งภายใน 15 วัน จึงขาดนัดยื่นคําให้การแก้ฟ้องแย้งและจําเลยก็มิได้มายื่นคําขอ ต่อศาลให้ศาลพิพากษาให้ตนชนะคดีโดยขาดนัดภายใน 15 วันนับแต่วันขาดนัด ศาลจึงมีคําสั่งจําหน่ายคดีทั้งหมด (ทั้งที่โจทก์ยื่นฟ้องจําเลยฟ้องแย้ง) ออกไปจากสารบบความ
ให้ท่านวินิจฉัยว่า คําสั่งจําหน่ายคดีดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 198 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ถ้าจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ ให้โจทก์มีคําขอต่อศาล ภายในสิบห้าวันนับแต่ระยะเวลาที่กําหนดให้จําเลยยื่นคําให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาด ให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด
ถ้าโจทก์ไม่ยื่นคําขอต่อศาลภายในกําหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ให้ศาลมีคําสั่งจําหน่ายคดีนั้น เสียจากสารบบความ”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
ในคดีฟ้องแย้ง การที่โจทก์ฟ้องว่าจําเลยละเมิดโจทก์ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย จําเลยยื่นคําให้การ และฟ้องแย้งว่าจําเลยไม่ได้ละเมิดแต่โจทก์ต่างหากที่ละเมิดจําเลยนั้น ในคดีฟ้องแย้งย่อมถือว่าโจทก์ในฟ้องเดิม เป็นจําเลยในคดีฟ้องแย้ง ดังนั้นโจทก์จึงต้องยื่นคําให้การภายใน 15 วัน ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 178 เมื่อโจทก์ ไม่มายื่นคําให้การแก้ฟ้องแย้งภายใน 15 วัน จึงถือว่าโจทก์ขาดนัดยื่นคําให้การในคดีฟ้องแย้ง
ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ (จําเลยในคดีฟ้องแย้ง) ขาดนัดยื่นคําให้การ จําเลยซึ่งมีสถานะเป็นโจทก์ในคดีฟ้องแย้งต้องยื่นคําขอภายใน 15 วัน เพื่อให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาด ให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจําเลย (โจทก์ในคดีฟ้องแย้ง) มิได้มายื่นคําขอต่อศาล ให้ศาลพิพากษาให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดภายใน 15 วันนับแต่วันขาดนัด การที่ศาลได้มีคําสั่งจําหน่ายคดี ฟ้องแย้ง คําสั่งจําหน่ายคดีดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 วรรคสอง
ในคดีฟ้องเดิม เมื่อโจทก์ได้ยื่นฟ้องจําเลย และจําเลยได้ยื่นคําให้การโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงไม่ถือว่าจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ ดังนั้น ศาลจึงไม่มีอํานาจสั่งจําหน่ายคดี การที่ศาลมีคําสั่งจําหน่ายคดี ฟ้องเดิม คําสั่งจําหน่ายคดีดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สรุป
คําสั่งจําหน่ายคดีฟ้องแย้งชอบด้วยกฎหมาย แต่คําสั่งจําหน่ายคดีฟ้องเดิมไม่ชอบด้วยกฎหมาย