การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2550

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ ข้อละ 25 คะแนน

ข้อ 1. เด็ดดวงเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่แสวงจำเลยให้ออกไปจากที่ดินและตึกแถวพิพาทพร้อมกับเรียกค่าเสียหาย โดยอ้างว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินพร้อมตึกแถวพิพาท แสวงจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ เด็ดดวงเป็นโจทก์ ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดี โดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้องของโจทก์แล้วมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย จึงมีคำสั่งให้โจทก์นำพยานเข้าสืบ ก่อนสืบพยาน วงษ์ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นบิดาของแสวงจำเลย ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวพิพาท ผู้ร้องได้แสวงจำเลยเข้าอยู่อาศัยในที่ดินและตึกแถวพิพาทจึงขอเข้ามาเป็นจำเลย เพื่อสงวนสิทธิของผู้ร้องโดยจะยื่นคำให้การต่อศาลภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด เด็ดดวงโจทก์ยื่นคำแถลงคัดค้านว่า วงษ์ผู้ร้องจะใช้สิทธิในทางที่ขัดกับสิทธิที่แสวงจำเลยเดิมมีอยู่ไม่ได้ เมื่อจำเลยเดิมขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นชอบที่จะยกคำร้องของผู้ร้อง ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาลชั้นต้น จะสั่งคำร้องของวงษ์อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 57 บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด

(1)          ด้วยความสมัครใจเองเพราะเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา หรือเมื่อตนมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีนั้น

มาตรา 58 วรรคแรก ผู้ร้องสอดที่ได้เข้าเป็นคู่ความตามอนุมาตรา (1) และ (3) แห่งมาตราก่อนนี้ มีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ ซึ่งโดยเฉพาะผู้ร้องสอดอาจนำพยานหลักฐานใหม่มาแสดง คัดค้านเอกสารที่ได้ยื่นไว้ ถามค้านพยานที่ได้สืบมาแล้วก่อนที่ตนได้ร้องสอด อาจอุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และอาจได้รับหรือถูกบังคับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียม

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ศาลชั้นต้นจะสั่งคำร้องวงษ์ว่าอย่างไร เห็นว่า การที่วงษ์ผู้ร้องอ้างว่าที่ดินและตึกแถวพิพาทเป็นของผู้ร้อง เป็นกรณีที่ผู้ร้องเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับการรับรอง คุ้มครอง หรือ บังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ จึงเป็นเรื่องที่วงษ์ร้องสอดตั้งข้อพิพาทเข้ามาเพื่อต่อสู้คดีกับเด็ดดวงโจทก์ อันถือได้ว่าเป็นการร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง ตามมาตรา 57(1) วงษ์ผู้ร้องสอดจึงมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนถูกฟ้องตามมาตรา 58 วรรคแรก ข้อห้ามตามมาตรา 58 วรรคสองจึงนำมาใช้บังคับกับวงษ์ผู้ร้องไม่ได้ ดังนั้นแม้แสวงจะขาดนัดยื่นคำให้การวงษ์ผู้ร้องสอดก็มีสิทธิร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความและมีสิทธิยื่นคำให้การต่อสู้คดีได้ (ฎ. 797/2515) เพราะกฎหมายให้สิทธิผู้ร้องสอดสามารถใช้สิทธินอกเหนือจากสิทธิของจำเลยได้ ในกรณีนี้ หากข้าพเจ้าเป็นศาลชั้นต้นจะสั่งรับคำร้องของวงษ์ผู้ร้อง คำแถลงคัดค้านของเด็ดดวงฟังไม่ขึ้น

สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลชั้นต้นจะสั่งรับคำร้องของวงษ์ผู้ร้อง คำแถลงคัดค้านของเด็ดดวงฟังไม่ขึ้น

 

ข้อ 2. ขาวมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดลพบุรี ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับบริษัทรถไทย จำกัด ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในเขตศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ขาวได้ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อที่จังหวัดลพบุรี โดยมีแดงซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ลงชื่อเป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของขาว จากนั้น บริษัทรถไทย จำกัด ได้ส่งสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวไปให้ผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทลงนามที่สำนักงานใหญ่ ต่อมาขาวผิดสัญญาเช่าซื้อไม่ชำระค่างวดตามกำหนด บริษัทรถไทย จำกัด จะฟ้องขาวและแดงที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 4 เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น

(1)          คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่

มาตรา 5 คำฟ้องหรือคำร้องขอซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะภูมิลำเนาของบุคคลก็ดี เพราะที่ตั้งของทรัพย์สินก็ดี เพราะสถานที่ที่เกิดมูลคดีก็ดี หรือเพราะมีข้อหาหลายข้อก็ดีถ้ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกันโจทก์หรือผู้ร้องจะเสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลใดศาลหนึ่งเช่นว่านั้นก็ได้

วินิจฉัย

ในกรณีสัญญาเช่าซื้อซึ่งต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย มิฉะนั้นตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 วรรคสอง ถ้าผู้เช่าซื้อและผู้ให้เช่าซื้อลงชื่อในสัญญาไม่พร้อมกันและต่างสถานที่กัน กรณีเช่นนี้ ถือว่าสัญญาเช่าซื้อได้ทำขึ้นสองแห่ง มูลคดีสัญญาเช่าซื้อเกิดขึ้นทั้งสถานที่ที่ผู้เช่าซื้อและผู้ให้เช่าซื้อลงชื่อในสัญญา

กรณีตามอุทาหรณ์ บริษัทรถไทย จำกัด จะฟ้องขาวและแดงที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้หรือไม่ เห็นว่าตามข้อเท็จจริงดังกล่าว แม้ขาวจะลงลายมือชื่อในฐานผู้เช่าซื้อที่จังหวัดลพบุรีแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีลายมือชื่อของผู้ให้เช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่ครบถ้วนบริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 วรรคสอง เมื่อได้ความว่า มีการส่งสัญญาเช่าซื้อไปให้ผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทรถไทย จำกัด ลงลายมือชื่อในสัญญาในนามผู้ให้เช่าซื้อที่สำนักงานใหญ่ เพื่อให้สัญญาเช่าซื้อสมบูรณ์ กรณีเช่นนี้ย่อมถือได้ว่า สำนักงานใหญ่ของบริษัทรถไทย จำกัดเป็นสถานที่มูลคดีเกิดขึ้นอีกแห่งหนึ่งด้วย ดังนั้น เมื่อสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ในเขตศาลของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ บริษัทรถไทย จำกัด จึงสามารถฟ้องขาวที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้ ตามมาตรา 4(1)

สำหรับนายแดงผู้ค้ำประกันซึ่งต้องรับผิดเมื่อขาวลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ อันถือว่าเป็นกรณีที่มีมูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน บริษัทรถไทย จำกัด จึงฟ้องแดงที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้เช่นเดียวกัน ตามมาตรา 5 (ฎ. 2586/2540)

สรุป บริษัทรถไทย จำกัด จึงฟ้องขาวและแดงที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้

หมายเหตุ ในกรณีนี้ถ้าแดงลงลายมือชื่อเป็นผู้ค้ำประกันในสัญญาค้ำประกันที่จังหวัดเชียงใหม่แล้วบริษัทรถไทย จำกัด ประสงค์จะฟ้องแดงผู้ค้ำประกันให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันเท่านั้น ไม่ได้ฟ้องบังคับตามสัญญาเช่าซื้อ บริษัทฯ ต้องฟ้องต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ เพราะมูลคดีตามสัญญาค้ำประกันเกิดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จะฟ้องคดีต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ไม่ได้ (ฎ. 6936/2539)

 

ข้อ 3. ในคดีแพ่งสามัญคดีหนึ่ง โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้เงินกู้ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นคำให้การต่อสู้คดี ส่วนจำเลยที่ 4 ไม่ได้ยื่นคำให้การ ในวันนัดสืบพยานโจทก์ คู่ความทั้งหมดมาศาล จำเลยที่ 4 แถลงรับว่าเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง ศาลจึงได้จดไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาและจำเลยที่ 4 ลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าว ศาลได้สืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสาม โดยเห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าของจำเลยทั้งสาม และถือว่ารายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวเป็นคำให้การของจำเลยที่ 4 จึงได้พิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ชำระเงินแก่โจทก์ตามฟ้อง ท่านเห็นว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนของจำเลยที่ 4 ชอบด้วยหลักกฎหมายในเรื่องขาดนัดหรือไม่ จงอธิบาย

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 48 วรรคแรก ในคดีทุกเรื่อง ให้เป็นหน้าที่ของศาลต้องจดแจ้งรายงานการนั่งพิจารณาหรือกระบวนพิจารณาอื่นๆของศาลไว้ทุกครั้ง…

มาตรา 67 วรรคแรก เมื่อประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นบัญญัติว่า เอกสารใดจะต้องส่งให้แก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง (เช่น คำคู่ความที่ทำโดยคำฟ้องคำให้การหรือคำร้องหรือคำขอโดยทำเป็นคำร้อง หมายเรียกหรือหมายอื่นๆ สำเนาคำแถลงการณ์ หรือสำเนาพยานเอกสาร ฯลฯ) เอกสารนั้นต้องทำขึ้นให้ปรากฏข้อความแน่ชัดถึงตัวบุคคล…

มาตรา 198 วรรคแรก และวรรคสอง ถ้าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ให้โจทก์มีคำขอต่อศาลภายในสิบห้าวันนับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด

ถ้าโจทก์ไม่ยื่นคำขอต่อศาลภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความ

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ รายงานกระบวนพิจารณาเป็นเอกสารที่ศาลจดบันทึกข้อความเกี่ยวด้วยเรื่องที่ได้กระทำในการนั่งพิจารณาหรือในการดำเนินกระบวนพิจารณาอื่นของศาล ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 48 ส่วนคำให้การเป็นคู่ความซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งใน มาตรา 67 ว่าให้คู่ความทำเป็นหนังสือโดยใช้แบบพิมพ์ของศาลและมีรายการต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในบทบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะได้บันทึกคำแถลงของจำเลยที่ 4 ที่ยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ก็ถือไม่ได้ว่ารายงานกระบวนพิจารณาฉบับดังกล่าวเป็นคำให้การของจำเลยที่ 4

เมื่อจำเลยที่ 4 มิได้ยื่นคำให้การภายในกำหนด กรณีจึงถือว่าจำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ต้องมีคำขอต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยที่ 4 ยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลงเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด ตามมาตรา 198 วรรคแรก แม้จำเลยทั้งสี่จะแถลงยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง และศาลชั้นต้นสามารถพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องทำการสืบพยานอีกต่อไป ไม่ทำให้โจทก์หมดหน้าที่ที่จะต้องมีคำขอตามบทกฎหมายดังกล่าว เมื่อโจทก์มิได้มีคำขอศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ออกจากสารบบความได้ ตามมาตรา 198 วรรคสอง

ดังนั้นการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลในส่วนของจำเลยที่ 4 จึงไม่ชอบด้วยหลักกฎหมายว่าด้วยการขาดนัดยื่นคำให้การ (ฎ. 911/2548)

สรุป การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลในส่วนของจำเลยที่ 4 ไม่ชอบด้วยหลักกฎหมายว่าด้วยการขาดนัดยื่นคำให้การ

 

ข้อ 4. นายเงินซื้อสินค้าจากนายทองราคา 500,000 บาท ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 ตกลงแบ่งชำระราคาเป็น 10 งวด ๆ ละ 50,000 บาท ทุกวันที่ 1 ของเดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551 จนกว่าจะครบ ต่อมานายเงินผิดนัด ไม่ชำระราคางวดที่ 4 และ 5 นายทองจึงยื่นฟ้องแล้วนายเงินได้ชำระราคาสินค้างวดที่ 6 และ 7 ต่อจากนั้น นายเงินก็ไม่ชำระราคาที่เหลือ ระหว่างพิจารณาคดีแรกนายทองได้ยื่นฟ้องนายเงินเป็นคดีที่สอง เพื่อเรียกราคาสินค้าสำหรับงวดที่ 8 ถึง 10 ก่อนวันชี้สองสถาน 10 วัน โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องเปลี่ยนชื่อนายเงิน จำเลย เป็นบริษัทเงิน จำกัด โดยอ้างว่า บริษัทเงิน จำกัด เป็นชื่อในทางการค้าหรือนามแฝงหรือฉายาของนายเงิน นายเงินให้การต่อสู้ว่า ฟ้องคดีหลังเป็นฟ้องซ้อนกับคดีแรก และคัดค้านการขอแก้คำฟ้องของนายทองท่านเห็นว่าคำให้การของนายเงินฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 173 วรรคสอง นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา และผลแห่งการนี้

(1)          ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกัน หรือต่อศาลอื่น

มาตรา 179 วรรคแรก โจทก์หรือจำเลยจะแก้ไขข้อหา ข้อต่อสู้ ข้ออ้าง หรือข้อเถียงกันกล่าวไว้ในคำฟ้องหรือคำให้การที่เสนอต่อศาลแต่แรกก็ได้

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า ฟ้องคดีหลังเป็นฟ้องซ้อนกับคดีแรกหรือไม่ เห็นว่า แม้ฟ้องคดีก่อนและฟ้องคดีนี้ ต่างอ้างว่านายเงินผิดสัญญาซื้อขายฉบับเดียวกันก็ตามแต่จำนวนหนี้ที่นายทองฟ้องขอให้บังคับนายเงินชำระตามคำฟ้องทั้งสองคดีเป็นคนละจำนวนกัน กล่าวคือ ฟ้องคดีก่อนนายทองขอบังคับให้จำเลยชำระค่าสินค้ารวม 100,000 บาท ที่นายเงินต้องผ่อนในงวดที่ 4 และงวดที่ 5 ส่วนฟ้องคดีนี้นายทองขอให้บังคับนายเงินชำระสินค้าที่ต้องผ่อน งวดที่ 8 ถึง 10 อีกทั้ง ราคาสินค้างวดที่ 8 ถึงงวดที่ 10 ก็ยังไม่ถึงกำหนดชำระในขณะที่นายทองฟ้องคดีแรก ฟ้องคดีหลังของนายทองจึงไม่ใช่ฟ้องเรื่องเดียวกันกับคดีแรก จึงไม่ใช่ฟ้องซ้อน ตามมาตรา 173(1) คำให้การของนายเงินในกรณีจึงฟังไม่ขึ้น (ฎ. 5867/2544)

ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า โจทก์จะยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องได้หรือไม่ เห็นว่าโดยหลักแล้ว การแก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง ตามาตรา 179 ต้องเป็นการแก้ไขข้อหาหรือข้ออ้างที่มีต่อจำเลย โดยการเพิ่มหรือการลดทุนทรัพย์หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทในฟ้องเดิมหรือสละข้อหาในฟ้องเดิมเสียบางข้อ หรือเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์ ไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนตัวจำเลยหรือเพิ่มตัวจำเลย ซึ่งเป็นตัวบุคคลที่จะต้องระบุไว้แน่ชัดตามมาตรา 67 ตามข้อเท็จจริงได้ความว่า นายทองฟ้องนายเงินเป็นจำเลย ในคดีนี้มาตั้งแต่แรกโดยบรรยายฟ้องว่า นายเงินเป็นบุคคลธรรมดา แสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่า นายทองไม่ได้ฟ้องนิติบุคคลเป็นจำเลย การที่นายทองโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้อง โดยขอแก้ชื่อนายเงินจากบุคคลธรรมดาเป็นบริษัทเงิน จำกัดนั้น ซึ่งเป็นนิติบุคคลอันเป็นบุคคลอีกคนหนึ่งต่างหากจากกัน จึงมิใช่เป็นเรื่องที่จะขอแก้ไขคำฟ้องได้ตามมาตรา 179 กรณีเช่นนี้ ศาลต้องสั่งยกคำร้องของนายทอง คำคัดค้านของนายเงินฟังขึ้น (ฎ. 3844/2535)

สรุป คำให้การของนายเงินฟังไม่ขึ้น ส่วนคำคัดค้านของนายเงินฟังขึ้น

Advertisement