การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2553

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1

Advertisement

คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1. นายสมหวัง นายสมชัย นายสมศักดิ์ ได้เดินทางไปทัศนาจรที่ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น นายสมชายและนายสมศักดิ์ได้กู้ยืมเงินจากนายสมหวัง โดยทำสัญญายืมฉบับเดียวกันถูกต้องตามกฎหมาย ระบุว่านายสมชายกู้ 350,000 บาท นายสมศักดิ์กู้ 400,000 บาท เมื่อครบกำหนดตามสัญญากู้ นายสมหวังได้ทวงถามแล้วแต่ทั้งสองไม่ชำระ ดังนี้ นายสมหวังจะฟ้องนายสมชายและนายสมศักดิ์เป็นจำเลยร่วมกันได้หรือไม่ และถ้าปรากฏข้อเท็จจริงต่อไปว่านายสมหวังมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ นายสมชายมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี และนายสมศักดิ์มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดอำนาจเจริญ ดังนี้ นายสมหวังจะฟ้องนายสมชายและนายสมศักดิ์ต่อศาลใด และจะฟ้องทั้งสองยังเขตศาลเดียวกันได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 4 “เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น

(1)       คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีมูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่

            มาตรา 5 “คำฟ้องหรือคำร้องขอซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะภูมิลำเนาของบุคคลก็ดี เพราะที่ตั้งของทรัพย์สินก็ดี เพราะสถานที่เกิดมูลคดีก็ดี หรือเพราะมีข้อหาหลายข้อก็ดี ถ้ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์หรือผู้ร้องจะเสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลใดศาลหนึ่งเช่นว่านั้นก็ได้

            มาตรา 59 “ บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป อาจเป็นคู่ความในคดีเดียวกันได้ โดยเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วม ถ้าหากปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี แต่ห้ามมิให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกัน เว้นแต่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ หรือได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ดังนั้นโดยชัดแจ้ง ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกันเพียงเท่าที่จะกล่าวต่อไปนี้…

วินิจฉัย

            กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสมชายและนายสมศักดิ์ได้กู้ยืมเงินจากนายสมหวัง โดยทำสัญญายืมฉบับเดียวกันนั้น ถือว่านายสมชายและนายสมศักดิ์มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี ดังนั้นนายสมหวังจึงเป็นโจทก์ฟ้องนายสมชายและนายสมศักดิ์เป็นจำเลยร่วมกันได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 59

            ซึ่งการฟ้องคดีนั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4(1) กำหนดไว้ว่า โจทก์จะต้องฟ้องจำเลยต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลนั้น และตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 5 ได้ กำหนดไว้ว่าคำฟ้องซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะภูมิลำเนาของบุคคล หรือเพราะสถานที่ที่เกิดมูลคดี ถ้ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกันโจทก์จะเสนอคำฟ้องต่อศาลใดศาลหนึ่งก็ได้

            ดังนั้น ตามอุทาหรณ์ เมื่อนายสมชายมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี และนายสมศักดิ์มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดอำนาจเจริญ นายสมหวังจึงต้องฟ้องนายสมชายต่อศาลจังหวัดอุบลราชธานี และฟ้องนายสมศักดิ์ต่อศาลจังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4(1) และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายสมชายและนายสมศักดิ์มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี คือ มีมูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน ดังนั้น นายสมหวังจึงสามารถฟ้องทั้งนายสมชายและนายสมศักดิ์ยังเขตศาลเดียวกันได้โดยฟ้องได้ที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานีหรือต่อศาลจังหวัดอุบลราชธานีหรือต่อศาลจังหวัดอำนาจเจริญศาลใดศาลหนึ่งตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 5

สรุป นายสมหวังต้องฟ้องนายสมชายและนายสมศักดิ์ต่อศาลจังหวัดอุบลราชธานี และศาลจังหวัดอำนาจเจริญ หรือจะฟ้องทั้งสองคนยังเขตศาลเดียวกัน คือ ศาลจังหวัดอุบลราชธานี หรือศาลจังหวัดอำนาจเจริญศาลใดศาลหนึ่งก็ได้

 

ข้อ 2. ใหญ่ซื้อที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งจากเล็กโดยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หลังจากเล็กส่งมอบที่ดินให้ใหญ่เข้าครอบครองแล้ว ต่อมาเล็กถึงแก่ความตาย ใหญ่จึงมาปรึกษาท่านซึ่งเป็นทนายความว่าใหญ่จะฟ้องทายาทของเล็กให้จดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่ใหญ่ หรือขอให้ศาลสั่งแสดงสิทธิ ดังนี้ ท่านจะแนะนำใหญ่อย่างไร

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

                        มาตรา 55 “เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่งหรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้

                        วินิจฉัย

                        ในการนำคดีเสนอต่อศาลนั้นมิใช่บุคคลใดๆ จะทำได้เสมอไป ผู้ที่จะนำคดีเสนอต่อศาลจะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น ซึ่งตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 ได้กำหนดให้บุคคลมีสิทธิเสนอคดีต่อศาลได้ 2 กรณี กล่าวคือ

1.         กรณีที่มีการโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่งก็ให้เสนอเป็นคดีมีข้อพิพาทโดยทำเป็นคำฟ้องยื่นต่อศาลตามมาตรา 55 และมาตรา 172

2.         กรณีที่ต้องใช้สิทธิทางศาล ในกรณีเป็นเรื่องที่ต้องใช้สิทธิทางศาลเพราะเหตุว่ามีความจำเป็นเกิดขึ้นจากกฎหมายบัญญัติไว้ตามกฎหมายสารบัญญัติ  ให้เสนอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทโดยทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลตามมาตรา 55 และมาตรา 188(1) เช่น การขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่ากรรมสิทธิ์ในที่ดินตกเป็นของตนแล้วโดยการครอบครองปรปักษ์ เป็นต้น

กรณีตามอุทาหรณ์ การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างใหญ่กับเล็กนั้น เมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ย่อมตกเป็นโมฆะ (ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคแรก) แต่ขณะที่ซื้อขายกันที่ดินพิพาทยังเป็นที่ดินมือเปล่า ซึ่งเล็กมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น ดังนั้น เมื่อเล็กส่งมอบที่ดินให้ใหญ่เข้าครอบครองแล้ว ใหญ่ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินแปลงดังกล่าว (ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 และ 1378) อันเป็นการได้สิทธิครอบครองมาด้วยการครอบครองตามกฎหมายมิใช่เป็นการได้มาตามสัญญาซื้อขาย เล็กจึงไม่มีหน้าที่ในทางนิติกรรมที่จะต้องไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ใหญ่ และเมื่อเล็กถึงแก่ความตาย ทายาทซึ่งเข้ารับมรดกของเล็กก็ย่อมไม่มีหน้าที่ดังกล่าวด้วย ดังนั้นเมื่อไม่ปรากฏว่าทายาทของเล็กได้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการใดที่ถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของใหญ่ ใหญ่จะฟ้องทายาทของเล็กให้จดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่ใหญ่ไม่ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 และกรณีดังกล่าว ใหญ่ก็จะขอให้ศาลสั่งแสดงสิทธิในที่ดินให้ใหญ่ไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะไม่มีกฎหมายรับรองให้ใหญ่ใช้สิทธิทางศาลได้ แต่อย่างใดตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55

สรุป ข้าพเจ้าจะแนะนำใหญ่ว่า ใหญ่จะฟ้องทายาทของเล็กให้จดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่ใหญ่หรือขอให้ศาลสั่งแสดงสิทธิไมได้

 

ข้อ 3. คดีแพ่งโจทก์ฟ้องจำเลยอ้างว่าจำเลยเป็นลูกหนี้เงินโจทก์ จำเลยผิดนัดชำระหนี้ ขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์ ก่อนจำเลยยื่นคำให้การ นางเรยาเป็นผู้ค้ำประกันหนี้รายนี้ได้ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมพร้อมกับยื่นคำให้การเข้ามาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และหนี้กู้ยืมระงับไปโดยการแปลงหนี้ใหม่ ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้นางเรยาเข้าเป็นจำเลยร่วมได้ และสั่งรับคำให้การของจำเลยร่วม ส่วนจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ยื่นคำแถลงคัดค้านว่าผู้ร้องสมัครใจเข้าเป็นจำเลยร่วมตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57(2)  เมื่อจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การจำเลยร่วมจะยื่นคำให้การไม่ได้ เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 58 วรรคสอง ดังนี้ คำแถลงคัดค้านของโจทก์ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 57 “ บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด

(2) ด้วยการสมัครใจเองเพราะตนมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้น โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลไม่ว่าเวลาใดๆ ก่อนมีคำพิพากษา ขออนุญาตเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมหรือเข้าแทนที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียทีเดียวโดยได้รับความยินยอมของคู่ความฝ่ายนั้น แต่ว่าแม้ศาลจะได้อนุญาตให้เข้าแทนที่กันได้ก็ตาม คู่ความฝ่ายนั้นจำต้องผูกพันตนโดยคำพิพากษาของศาลทุกประการ เสมือนหนึ่งว่ามิได้มีการเข้าแทนที่กันเลย

                        มาตรา 58 วรรคสอง ห้ามมิให้ผู้ร้องสอดที่ได้เป็นคู่ความตามอนุมาตรา (2) แห่งมาตราก่อนใช้สิทธิอย่างอื่น นอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่คู่ความฝ่ายซึ่งตนเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมในชั้นพิจารณาเมื่อตนร้องสอด และห้ามมิให้ใช้สิทธิเช่นว่านั้นในทางที่ขัดกับสิทธิของโจทก์หรือจำเลยเดิม และให้ผู้ร้องสอดเสียค่าฤชาธรรมเนียมอันเกิดแต่การที่ร้องสอด แต่ถ้าศาลได้อนุญาตให้เข้าแทนที่โจทก์หรือจำเลยเดิม ผู้ร้องสอดจึงมีฐานะเสมอด้วยคู่ความที่ตนเข้าแทน

                        วินิจฉัย

                        ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 58 วรรคสอง ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ร้องสอดตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57(2) ใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่ตนขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมและจะใช้สิทธิขัดกับสิทธิของโจทก์หรือจำเลยเดิมไม่ได้

                        กรณีตามอุทาหรณ์ นางเรยาผู้ค้ำประกันร้องสอดเข้ามาเป็นจำเลยร่วมโดยสมัครใจเองตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57(2) สิทธิและหน้าที่ของนางเรยาผู้ร้องสอดจึงต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 58(2) กล่าวคือ ห้ามไม่ให้ผู้ร้องสอดที่เข้ามาเป็นคู่ความร่วมกับคู่ความเดิมใช้สิทธิอย่างอื่นนอกเหนือจากสิทธิของคู่ความฝ่ายที่ตนเข้าร่วมหรือใช้สิทธิขัดกับสิทธิของคู่ความเดิมนั้น ซึ่งจะต้องพิจารณาในขณะที่ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความร่วมว่าคู่ความเดิมมีสิทธิอย่างไร และได้สิทธิไว้ก่อนหรือไม่อย่างไร

                        ตามข้อเท็จจริง นางเรยาผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นจำเลยร่วมพร้อมกับยื่นคำให้การเข้ามาก่อนที่จะครบกำหนดระยะเวลาที่จำเลยจะยื่นคำให้การและจำเลยยังไม่ได้ยื่นคำให้การ เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้นางเรยาผู้ร้องเข้าเป็นจำเลยร่วม จึงต้องถือว่าจำเลยร่วมใช้สิทธิของจำเลยที่มีอยู่ในขณะที่ตนร้องสอดเข้ามาและเมื่อปรากฏต่อศาลว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ จึงไม่มีกรณีที่จะถือว่าข้อต่อสู้ตามคำให้การของจำเลยร่วมเป็นการใช้สิทธิอย่างอื่นนอกเหนือจากสิทธิของจำเลยเดิมหรือเป็นไปในทางขัดกับสิทธิของจำเลยเดิมอันต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 58 วรรคสอง แต่อย่างใด เพราะจำเลยเดิมยังไม่ได้สิทธิดังกล่าว ดังนั้น คำแถลงคัดค้านของโจทก์ดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น

สรุป คำแถลงคัดค้านของโจทก์ฟังไม่ขึ้น        

 

ข้อ 4. โจทก์ฟ้องจำเลยว่า โจทก์ซื้อที่ดินมาจากบุคคลอื่นแต่ใส่ชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินแทนโจทก์ ต่อมาโจทก์แจ้งให้จำเลยไปจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อเป็นชื่อโจทก์แต่จำเลยไม่ยินยอมขอบังคับให้จำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนให้โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การโจทก์จึงยื่นคำขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด ศาลสั่งให้สืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว ถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัด ศาลจึงสั่งจำหน่ายคดีโจทก์เพราะโจทก์ขาดนัด ดังนี้ ท่านเห็นด้วยกับคำสั่งศาลหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

            หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

            มาตรา 198 ทวิวรรคท้าย ถ้าโจทก์ไม่นำพยานหลักฐานมาสืบตามความในมาตรานี้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าคดีของโจทก์ไม่มีมูล และให้ศาลยกฟ้องของโจทก์

            วินิจฉัย

            ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิวรรคท้าย เป็นเรื่องจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ และศาลได้สั่งให้สืบพยานโจทก์ฝ่ายเดียว ซึ่งถ้าโจทก์ไม่นำพยานหลักฐานมาสืบภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด ให้ถือว่าคดีของโจทก์ไม่มีมูลและให้ศาลยกฟ้องของโจทก์

            กรณีตามอุทาหรณ์ การที่ศาลสั่งให้สืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียว และเมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัดนั้น ถือเป็นกรณีที่โจทก์ไม่นำพยานหลักฐานมาสืบภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดจึงให้ถือว่าคดีของโจทก์ก็ไม่มีมูล ศาลจึงชอบที่จะพิพากษายกฟ้องของโจทก์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิวรรคท้าย ซึ่งกรณีนี้มิใช่เรื่องโจทก์และจำเลยขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 201 ที่ศาลจะมีอำนาจสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจากระบบความแต่อย่างใด ดังนั้น คำสั่งจำหน่ายคดีของศาลจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ข้าพเจ้าจึงไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลดังกล่าว

สรุป ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยกับคำสั่งจำหน่ายคดีของศาลดังกล่าว

Advertisement