การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง1

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)

ข้อ 1.   โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประกอบกิจการอาคารชุด และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการที่มีอำนาจกระทำแทนจำเลยที่ 1 ให้เปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นเพื่อออกสู่สาธารณะ นายเอกเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดและมีกรรมสิทธิ์ร่วมในทางเข้าออกพิพาท ตลอดจนสถานที่ต่าง ๆ ในสิ่งปลูกสร้างและที่ดินของจำเลยที่ 1 อันเป็นทรัพย์ส่วนกลาง ดังนี้ นายเอกจะร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 57 “บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอดด้วยความสมัครใจเองเพราะตนมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้น โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลไม่ว่าเวลาใดๆ ก่อนมีคำพิพากษา ขออนุญาตเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยจำเลยร่วมหรือเข้าแทนที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียทีเดียวโดยได้รับความยินยอมของคู่ความฝ่ายนั้น แต่ว่าแม้ศาลจะได้อนุญาตให้เข้าแทนที่กันได้ก็ตามคู่ความฝ่ายนั้นจำต้องผูกพันโดยคำพิพากษาของศาลทุกประการ เสมือนหนึ่งว่ามิได้มีการเข้าแทนที่กันเลย

วินิจฉัย

การร้องสอดเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57(2) ผู้ร้องสอดจะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลคดีแห่งนั้น ซึ่งหมายถึง จะต้องเป็นผู้ที่ถูกกระทบกระเทือนหรือถูกบังคับโดยคำพิพากษาคดีนั้นโดยตรงหรือผลของคดีตามกฎหมายจะมีผลไปถึงตนด้วยนั่นเอง       

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประกอบกิจการอาคารชุดและจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการที่มีอำนาจกระทำการแทนที่จำเลยที่ 1 ให้เปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นเพื่อออกสู่ทางสาธารณะนั้น เป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 1 กระทำการหรืองเว้นกระทำการในที่ดินของจำเลยที่ 1 เพื่อประโยชน์ ของที่ดินโจทก์ ดังนี้แม้นายเอกจะมีกรรมสิทธิ์ห้องชุดและมีกรรมสิทธิ์ร่วมในทางเข้าออกพิพาท ตลอดจนสถานที่ต่าง ๆ ในสิ่งปลูกสร้างและที่ดินของจำเลยที่ 1 แต่นายเอกหาได้มีหน้าที่ต้องกระทำการหรืองดเว้นกระทำการใด ๆ ตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ เพราะนายเอกไม่มีอำนาจจัดการใด ๆ เกี่ยวกับอาคารชุดดังกล่าวตาม พ.ร.บ. อาคารชุด พ.ศ.2522 และถ้าศาลพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี นายเอกก็ไม่มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลคดีแห่งนั้น ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57 (2) ดังนั้น นายเอกจะร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ไม่ได้

สรุป    นายเอกจะร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ไม่ได้

 

ข้อ 2.   โจทก์ฟ้องลูกหนี้เป็นจำเลยที่ 1 และผู้รับโอนเป็นจำเลยที่ 2 ขอให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 อันเกิดจากฉ้อฉล ต่อมาศาลได้สั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความเพราะโจทก์ทิ้งฟ้อง ดังนี้ศาลจะพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมการโอนดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย            

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 55        เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องให้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้

มาตรา 145      ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่า ด้วยการอุทธรณ์ฎีกาและการพิจารณาใหม่ คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ๆ ให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมี คำสั่งนับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่งจนถึงวันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขกลับหรืองดเสียถ้าหากมี ถึงแม้ศาลจะได้กล่าวไว้โดยทั่วไปว่าให้ใช้คำพิพากษาบังคับแก่ บุคคลภายนอก ซึ่งมิได้เป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาล ด้วยก็ดี คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นย่อมไม่ผูกพันบุคคลภายนอก…”

มาตรา 176      การทิ้งคำฟ้องหรือถอนคำฟ้องย่อมลบล้างแห่งการยื่นคำฟ้องนั้น รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีต่อมาภายหลังยื่นคำฟ้องและทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องเลย แต่ว่าคำฟ้องใด ๆ ที่ได้ทิ้งหรือถอนแล้ว อาจยื่นใหม่ได้ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ๆ ย่อมมีผลผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาล ที่พิพากษาหรือมีคำสั่งเท่านั้น กรณีใดหากปรากฏว่าถ้าศาลพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งใดให้เป็นไปตามคำขอของโจทก์ แล้วจะทำให้กระทบถึงสิทธิของบุคคลภายนอกซึ่งมิได้เป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลย่อมต้องห้าม และศาลชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้

คดีฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 โจทก์ต้องฟ้องลูกหนี้และผู้รับโอนทรัพย์สิน (ผู้ได้ลาภงอก) ศาลจึงจะบังคับตามคำขอของโจทก์ได้ การที่ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยบางคนเพราะเหตุโจทก์ทิ้งฟ้องนั้น ย่อมทำให้ศาลไม่อาจพิพากษาให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามคำขอของโจทก์ได้เพราะจะมีผลกระทบไปถึงจำเลยที่ศาลได้สั่งจำหน่ายคดีซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 7247/2537 และ 2738/2550)

กรณีตามอุทาหรณ์ เมื่อศาลได้สั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความเพราะโจทก์ทิ้งฟ้อง ย่อมถือว่าโจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 เข้ามาในคดีเลยก็ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 176 ดังนั้น ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนได้ เพราะการฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนนั้น โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ต้องฟ้องลูกหนี้เข้ามาในคดีด้วย จะฟ้องเพียงคนใดคนหนึ่งไม่ได้ เพราะผลของคำพิพากษาไม่อาจบังคับแก่บุคคลภายนอกคดีได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 และมาตรา 145 ดังนั้น คดีนี้ศาลต้องพิพากษายกฟ้อง

สรุป ศาลจะพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมการโอนดังกล่าวไม่ได้ ต้องพิพากษายกฟ้อง

 

ข้อ 3.   ก.คดีแพ่งโจทก์นำยึดที่ดินของจำเลยที่ 1 และบ้านของจำเลยที่ 2 นายเก่งและนายหนึ่งยื่นคำร้องขัดทรัพย์รวมมาในคำร้องฉบับเดียวกันโดยผู้ร้องที่ 1 ร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ดินอ้างว่า เป็นเจ้าของ ส่วนผู้ร้องที่ 2 ร้องขอให้ปล่อยทรัพย์บ้านอ้างว่าเป็นเจ้าของ ดังนี้ผู้ร้องที่ 1

ข.นายจอมและนายแจ้งมีที่ดินติดต่อเป็นแนวเดียวกัน โดยมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์คนละฉบับ นายอ๋องบุกรุกที่ดินทั้งสองแปลง ดังนี้ นายจอมและนายแจ้งจะร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่นายอ๋องได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

                        มาตรา 59 “บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปอาจเป็นคู่ความในคดี เดียวกันได้โดยเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วม ถ้าหากปรากฏว่า บุคคลเหล่านั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี แต่ห้ามมิให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกัน เว้นแต่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ หรือได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ดั่งนั้นโดยชัดแจ้ง ในกรณีเช่นนี้ให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้น แทนซึ่งกันและกันเพียงเท่าที่จะกล่าวต่อไปนี้ …

วินิจฉัย

                        ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 59 ได้บัญญัติหลักไว้ว่า บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป อาจเป็นคู่ความ ในคดีเดียวกันได้โดยเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วม ถ้าหากปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี

                        คำว่า ประโยชน์ร่วมกัน” หมายถึง ข้อเท็จจริงหรือมูลเหตุแห่งคดีเป็นอย่างเดียวกัน เช่นการเป็นเจ้าหนี้ร่วมกัน การเป็นลูกหนี้ร่วมกัน บุคคลที่กระทำละเมิดร่วมกัน หรือบุคคลซึ่งถูกละเมิดด้วยการละเมิดอันเดียวกัน เป็นต้น และต้องเป็นประโยชน์ร่วมกันตามกฎหมาย และต้องเป็นการกระทำต่อเนื่องกัน อันเดียวกัน กระทบกระเทือนถึงกันและกัน

                        กรณีตามอุทาหรณ์ วินิจฉัยได้ดังนี้

                        กรณีตาม ก. การที่โจทก์นำยึดที่ดิน 1 แปลงของจำเลยที่ 1 และบ้านของจำเลยที่ 2 นาย เก่ง และนายหนึ่งยื่นคำร้องขัดทรัพย์รวมมาในคำร้องฉบับเดียวกันโดยมีผู้ร้องที่ 1 ร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ดินอ้างว่าเป็นเจ้าของ ส่วนผู้ร้องที่ 2 ร้องขอให้ปล่อยทรัพย์บ้านอ้างว่าเป็นเจ้าของนั้น ผู้ร้องทั้งสองมิได้มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีที่ร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ การที่เหตุแห่งคดีเกิดขึ้นในวันเดียวกันหรือเป็นการสะดวกที่จะดำเนินคดีไปพร้อมกัน ก็หาใช่ข้อที่จะแสดงว่าผู้ร้องทั้งสองมีผลประโยชน์ร่วมกันแต่อย่างใดไม่ เพราะหากศาลสั่งปล่อยทรัพย์ที่ยึดก็เป็นทรัพย์คนละประเภทกัน ดังนั้น ผู้ร้องทั้งสองย่อมไม่อาจเป็นคู่ความในคดีเดียวกันได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 59 (คำพิพากษาฎีกาที่ 4098/2539)

                        กรณีตาม ข. การที่นายจอมและนายแจ้งมีที่ดินติดต่อกันเป็นแนวเดียวกัน โดยมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์คนละฉบับ ได้ถูกนายอ๋องบุกรุกที่ดินทั้งสองแปลงนั้น ย่อมถือได้ว่านายจอมและนายแจ้งมีส่วนได้เสียร่วมกันหรือมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีแล้วแล้ว เพราะเมื่อที่ดินที่ถูกนายอ๋องบุกรุกเป็นทรัพย์ประเภทเดียวกัน แม้จะมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์คนละฉบับและที่ดินต่างแปลงกัน ก็เป็นเรื่องหลักฐานทางทะเบียนเท่านั้น แต่เมื่อทรัพย์ที่ดินนั้นอยู่ติดต่อเป็นแนวเดียวกันและถูกบุกรุกในวันเวลาเดียวกันจึงถือว่านายจอมและนายแจ้งมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี จึงชอบที่จะเป็นโจทย์ร่วมกันฟ้องขับไล่นายอ๋องรวมกันมาในคดีเดียวกันได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 59 (คำพิพากษาฎีกาที่ 1966/2535)

สรุป ก.ผู้ร้องที่ 1 และผู้ร้องที่ 2 เป็นคู่ความในคดีเดียวกันไม่ได้

ข.นายจอมและนายแจ้งจะร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่นายอ๋องมาในคดีเดียวกันได้

 

ข้อ 4.   โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ร่วมกันรับผิดชำระเงินกู้จำนวน  5,000,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดีแล้วส่วนจำเลยที่ 2 ยังอยู่ในระหว่างส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสองโดยอ้างเหตุว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ได้ตกลงชำระหนี้ให้แก่โจทก์แล้ว ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์ว่าให้โจทก์ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องแก่ทนายจำเลยที่ 1 ภายใน 5 วัน ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิดมิฉะนั้นถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง เมื่อถึงวันนัดปรากฏว่าโจทก์ยังมิได้ดำเนินการส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องแก่ทนายจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นจึงสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องให้ยกคำร้องขอถอนฟ้องและให้จำหน่อยคดีออกจากสารบบความ ให้วินิจฉัยว่าคำสั่งจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้นในกรณีของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคำตอบ

หลักกฎหมาย            ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

                        มาตรา 174      ในกรณีต่อไปนี้ให้ถือว่าโจทก์ได้ทิ้งฟ้อง คือ โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดไว้เพื่อการนั้นโดยได้ส่งคำสั่งแก่โจทก์โดยชอบแล้ว

                        มาตรา 175      ก่อนจำเลยยื่นคำให้การ โจทก์อาจถอนคำฟ้องได้โดยยื่นคำบอกกล่าวเป็นหนังสือต่อศาล

                        ภายหลังจำเลยยื่นคำให้การแล้วโจทก์อาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่ออนุญาตให้โจทก์ถอนคำฟ้องได้ ศาลจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตหรืออนุญาตภายในเงื่อนไขตามที่เห็นสมควรก็ได้แต่ห้ามไม่ให้ศาลอนุญาตโดยมิได้ฟังจำเลยหรือผู้ร้องสอด ถ้าหากมีก่อน

                        วินิจฉัย

                        ตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ร่วมกันรับผิดชำระเงินกู้โดยจำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดีแล้ว ส่วนจำเลยที่ 2 ยังอยู่ในระหว่างส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยทั้งสอง ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องขอถอนฟ้องของโจทก์ว่า ให้โจทก์ส่งหมายนัด และสำเนาคำร้องแก่ทนายจำเลยที่ 1 ภายใน 5 วัน และถ้าไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด มิฉะนั้นถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องและเมื่อถึงวันนัดปรากฏว่าโจทก์ก็ยังมิได้ดำเนินการส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องแก่ทนายจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นจึงสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องให้ยกคำร้องขอถอนฟ้องและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ดังนี้คำสั่งจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้นดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น แยกพิจารณาได้ดังนี้

กรณีของจำเลยที่ 1  ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 175 วรรคสอง (1) นั้น การยื่นคำร้องขอถอนฟ้องเป็นสิทธิของโจทก์

เพียงแต่ถ้าจำเลยยื่นคำให้การแล้วห้ามมิให้ศาลให้อนุญาตโดยมิได้ฟังจำเลยก่อน ดังนั้น ศาลก็ชอบที่จะยกคำร้องขอถอนฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 เสียได้เท่านั้น ศาลจะถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 172 (2) และสั่งให้จำหน่ายคดีโดยอ้างเหตุว่าโจทก์ทิ้งฟ้องไม่ได้ ดังนั้นคำสั่งจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้นในกรณีของจำเลยที่ 1 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาฎีกาที่ 3443/2545)         

กรณีของจำเลยที่ 2 เมื่อโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องก่อนที่จำเลยที่ 2 จะยื่นคำให้การโจทก์ย่อมสามารถถอนฟ้องได้โดยยื่นคำบอกกล่าวเป็นหนังสือต่อศาลตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 175 วรรคแรก และศาลชั้นต้นต้องสั่งอนุญาต ศาลจะยกคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ไม่ได้ และจะสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น คำสั่งจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้นในกรณีของจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน (คำพิพากษาฎีกาที่ 3443/2545)

สรุป คำสั่งจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้นในกรณีของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement