ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. โจทก์ฟ้องสุขใจเป็นจำเลยให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีที่โจลูกจ้างของสุขใจกระทำละเมิดต่อโจทก์ในทางการที่จ้างโดยโจทก์มิได้ฟ้องโจเป็นจำเลย ต่อมาโจทก์ทราบว่าโจเป็นลูกจ้างของสดใส จึงยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกสดใสเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมให้เรียกสดใสเข้ามาเป็นจำเลยร่วม แล้วโจทก์ก็ได้ขอถอนฟ้องสุขใจ สดใสให้การต่อสู้ว่า กรณีที่โจกท์ขอให้ศาลเรียกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะจำเลยร่วมกับจำเลยไม่มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีดังนี้ ให้ท่านวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ของสดใสรับฟังได้หรือไม่
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 57 “บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด
(3) ด้วยการถูกหมายเรียกให้เข้ามาในคดี
(ก) ตามคำขอของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำเป็นคำร้องแสดงเหตุว่าตนอาจฟ้องหรือถูกคู่ความเช่นว่านั้นฟ้องตนได้ เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ย หรือเพื่อใช้ค่าทดแทน ถ้าหากศาลพิจารณาให้คู่ความเช่นว่านั้นแพ้คดี หรือ
(ข) โดยคำสั่งของศาล เมื่อศาลนั้นเห็นสมควร หรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอในกรณีที่กฎหมายบังคับให้บุคคลภายนอกเข้ามาในคดี หรือศาลเห็นจำเป็นที่จะเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม…”
มาตรา 59 “บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป อาจเป็นคู่ความในคดีเดียวกันได้ โดยเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วม ถ้าหากปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี แต่ห้ามมิให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกัน เว้นแต่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ หรือได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ดังนั้นโดยชัดแจ้ง ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกันเพียงเท่าที่จะกล่าวต่อไปนี้…”
วินิจฉัย
การร้องสอดตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57(3) กฎหมายให้สิทธิแก่คู่ความที่จะขอต่อศาลให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดีได้ แต่ในกรณีที่โจทก์ฟ้องผิดตัว โจทก์จะขอให้ศาลหมายเรียกผู้ต้องรับผิดที่แท้จริงเข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามมาตรานี้ไม่ได้ ต้องฟ้องเป็นคดีใหม่ เพราะบุคคลดังกล่าวไม่มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีที่จะเป็นจำเลยร่วมกันได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 59
กรณีตามอุทาหรณ์ ข้อต่อสู้ของสดใสรับฟังได้หรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ฟ้องสุขใจเป็นจำเลยให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีที่โจกระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยเข้าใจว่าสุขใจเป็นนายจ้างของโจนั้น ถือเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยผิดตัว เมื่อตามโจทก์ทราบว่าโจเป็นลูกจ้างของสดใสโจทก์ก็ชอบที่จะขอถอนฟ้องสุขใจ และฟ้องสดใสเป็นคดีใหม่ ดังนั้น การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกสดใสเข้ามาเป็นจำเลยร่วมจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะสุขใจกับสดใสไม่มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีที่จะเป็นจำเลยร่วมกันได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 59 กรณีจึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะขอให้ศาลหมายเรียกสดใสเข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57(3) (คำพิพากษาฎีกาที่ 1702/2525) ดังนั้น ข้อต่อสู้ของสดใสดังกล่าวจึงรับฟังได้
สรุป ข้อต่อสู้ของสดใสรับฟังได้
ข้อ 2. โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา โดยอ้างเหตุหย่าตามกฎหมายหลายประการ จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าไม่มีเหตุหย่า โจทก์กับจำเลยมีสินสมรสเป็นที่ดินหนึ่งแปลง ขอให้โจทก์แบ่งที่ดินแปลงดังกล่าวให้จำเลยครึ่งหนึ่ง ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาลชั้นต้นจะสั่งรับฟ้องแย้งของจำเลยหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 117 วรรคสาม “จำเลยจะฟ้องแย้งมาในคำให้การก็ได้ แต่ถ้าฟ้องแย้งนั้นเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมแล้ว ให้ศาลสั่งให้จำเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก”
มาตรา 179 วรรคท้าย “แต่ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายใดเสนอคำฟ้องใดต่อศาล ไม่ว่าโดยวิธีฟ้องเพิ่มเติมหรือฟ้องแย้ง ภายหลังที่ได้ยื่นคำฟ้องเดิมต่อศาลแล้ว เว้นแต่คำฟ้องเดิมและคำฟ้องภายหลังนี้จะเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้”
วินิจฉัย
การที่จำเลยจะฟ้องแย้งตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม และมาตรา 177 วรรคท้าย จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์สำคัญ 3 ประการดังต่อไปนี้ คือ
1. ต้องมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่
2. ต้องมีฟ้องเดิม
3. ฟ้องแย้งนั้นต้องเกี่ยวกับฟ้องเดิม และจะต้องไม่เป็นฟ้องแย้งที่มีเงื่อนไข
ฟ้องแย้งมีเงื่อนไข หมายความว่า การที่ศาลจะต้องพิจารณาฟ้องแย้งหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขว่าศาลจะพิพากษาคดีอย่างไร หากศาลเห็นว่าคำให้การของจำเลยฟังได้ศาลก็พิพากษายกฟ้องโจทก์ไปโดยไม่ต้องพิจารณาฟ้องแย้งของจำเลยอีก แต่หากศาลเห็นว่าคำให้การของจำเลยฟังไม่ได้ศาลจึงจะพิจารณาในส่วนของฟ้องแย้งต่อไป
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยโดยอ้างเหตุหย่าตามกฎหมาย และจำเลยให้การปฏิเสธและฟ้องแย้งว่าไม่มีเหตุหย่า ขอให้โจทก์แบ่งที่ดินที่เป็นสินสมรสให้จำเลยครึ่งหนึ่งนั้น ดังนี้ เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่มีเหตุหย่า ประเด็นพิพาทที่ศาลจะต้องวินิจฉัยจึงมีว่ามีเหตุหย่าตามฟ้องหรือไม่ ถ้าปรากฏว่าไม่มีเหตุหย่าศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาตามฟ้องแย้งของจำเลยอีก ดังนั้น เมื่อศาลยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดคดี ฟ้องแย้งของจำเลยดังกล่าวจึงถือเป็นฟ้องแย้งที่มีเงื่อนไขต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม และมาตรา 179 วรรคท้าย ดังนั้น ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลชั้นต้นจะสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลย
สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลชั้นต้นจะสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลย
ข้อ 3. เด่นเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่ดอนเป็นจำเลยให้รื้อถอนโรงเรียน และให้จำเลยออกไปจากที่ดินของโจทก์ ดอนให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทอยู่นอกเขตที่ดินของโจทก์ ในวันนัดสืบพยาน โจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนไม่มาศาล มาแต่จำเลย จำเลยแถลงขอให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป จำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ซึ่งมีภาระการพิสูจน์ไม่มีพยานมาสืบ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยปลูกโรงเรือนในที่ดินของโจทก์ พิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุด ปรากฏว่า ดอนยังคงอยู่ในโรงเรียน ซึ่งตั้งอยู่ในเขตที่ดินพิพาท เด่นมาฟ้องขับไล่ดอนเป็นคดีหลัง ขอให้ขับไล่ดอนและรื้อโรงเรือนออกไป จากที่ดินของโจทก์อีกได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 148 “คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว ห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน…”
วินิจฉัย
การฟ้องซ้ำมีบัญญัติไว้ในมาตรา 148 ซึ่งประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้
1. คดีนั้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว
2. คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นจะต้องถึงที่สุด
3. ห้ามคู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก
4. ห้ามเฉพาะประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยไปแล้ว
5. ประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยไปแล้วโดยอาศัยเหตุใด ก็ห้ามฟ้องเฉพาะอ้างเหตุนั้นอีก
กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่าฟ้องของเด่นในคดีหลังเป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ เห็นว่าการที่เด่นเป็นโจทก์ในคดีแรกฟ้องขับไล่ดอนเป็นจำเลยให้รื้อถอนโรงเรือน และให้จำเลยออกไปจากที่ดินของโจทก์และศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ซึ่งมีภาระการพิสูจน์ไม่มีพยานมาสืบ กรณีจึงถือว่าศาลได้วินิจฉัยในประเด็นอันเป็นเนื้อหาแห่งคดีแล้วว่าที่ดินพิพาทมิใช่ของโจทก์
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เด่นมาฟ้องขับไล่ดอนเป็นคดีหลัง ขอให้ขับไล่ดอนและให้ดอนรื้อโรงเรือนออกไปจากที่ดินของโจทก์อีก ดังนี้ เมื่อคดีนี้และคดีก่อนเป็นคู่ความเดียวกัน และการที่เด่นฟ้องคดีนี้ศาลจะต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุว่าที่ดินพิพาทเป็นของเด่นหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกับที่ศาลได้วินิจฉัยไปแล้วในคดีก่อน กล่าวคือ หากข้อเท็จจริงในคดีนี้ฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของเด่น ศาลจึงจะพิพากษาให้ขับไล่ดอนและรื้อโรงเรือนออกไปจากที่ดินของเด่นได้ ดังนั้น ฟ้องของเด่นในคดีหลังนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนย่อมต้องห้ามมิให้คู่ความรื้อร้องฟ้องกันอีกตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 148
สรุป เด่นจะมาฟ้องขับไล่ดอนเป็นคดีหลัง ขอให้ขับไล่ดอนและรื้อโรงเรือนออกไปจากที่ดินของโจทก์อีกไม่ได้ เพราะเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 148
ข้อ 4 คดีแพ่งเรื่องหนึ่ง โจทก์ฟ้องจำเลยอ้างว่าจำเลยจุดไฟเผาหญ้าและใบไม้ในที่ดินของจำเลย และไฟได้ลุกลามมาไหม้ต้นยางพาราในที่ดินของโจทก์เสียหาย ขอให้ศาลบังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลพิเคราะห์คำฟ้องโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย จึงพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์ชนะคดีโดยไม่ได้สืบพยานโจทก์ไปฝายเดียวก่อน ดังนี้ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 198 วรรคแรก “ถ้าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ให้โจทก์มีคำขอต่อศาลภายในสิบห้าวัน นับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด”
มาตรา 198 ทวิ วรรคแรกและวรรคสอง “ ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี โดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การมิได้ เว้นแต่ศาลเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ในการนี้ศาลจะยกขึ้นอ้างโดยลำพังซึ่งข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ได้
เพื่อประโยชน์ในการพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีตามวรรคหนึ่ง ศาลอาจสืบพยานเกี่ยวกับข้ออ้างของโจทก์หรือพยานหลักฐานอื่นไปฝ่ายเดียวตามที่เห็นว่าจำเป็นก็ได้ แต่ในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลสิทธิในครอบครัวหรือคดีพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียวและศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องจำเลย แต่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ นั้น เป็นการดำเนินการตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 วรรคแรก และถ้าศาลเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ศาลอาจมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีก็ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคแรก
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์ เป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าจำเลยจุดไฟเผาหญ้าและใบไม้ในที่ดินของจำเลย และไฟได้ลุกลามมาไหม้ต้นยางพาราในที่ดินของโจทก์เสียหาย ขอให้ศาลบังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหาย อันถือว่าเป็นคดีที่พิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้นเมื่อจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ และโจทก์ยื่นคำขอให้ศาลพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจำเลยขาดนัดตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 วรรคแรก กรณีดังกล่าวจึงต้องอยู่ในบังคับของมาตรา 198 ทวิ วรรคสอง คือ ศาลจะต้องสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียว แล้วจึงจะมีคำพิพากษาได้ แต่ตามข้อเท็จจริง ศาลพิเคราะห์แต่เพียงว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย แล้วพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์ชนะคดี โดยไม่มีการสืบพยานโจทก์ไปฝ่ายเดียวก่อน คำพิพากษาของศาลจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สรุป การดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำพิพากษาของศาลไม่ชอบด้วยกฎหมาย