การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2549

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1

Advertisement

 คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ ข้อละ 25 คะแนน

ข้อ 1.  สมชายกู้ยืมเงินจากสมบัติ 1,000,000 บาท โดยมอบ น.ส. 3 ก. ให้สมบัติยึดไว้เป็นหลักประกัน หลังจากนั้น สมบัติได้ซื้อรถยนต์จากสมชาย โดยตกลงหักกลบลบหนี้กันถูกต้องตามกฎหมายแล้ว แต่สมบัติยังไม่ยอมคืน น.ส. 3 ก. ให้สมชาย และยังถูกสมบัติมีหนังสือทวงหนี้อีกหลายครั้ง ดังนี้ สมชายจะยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่า สมชายและสมบัติมิได้มีหนี้สินใดๆ ต่อกันและขอให้บังคับให้สมบัติส่งคืนเอกสาร น.ส. 3 ก. ที่สมบัติยึดไว้ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

          หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

            มาตรา 55 เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้

            วินิจฉัย

            ในการนำคดีเสนอต่อศาลนั้นมิใช่บุคคลใดๆ จะทำได้เสมอไป ผู้ที่จะนำคดีเสนอต่อศาลได้จะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติ มาตรา 55 แล้วได้กำหนดให้บุคคลมีสิทธิเสนอคดีต่อศาลได้ 2 กรณี กล่าวคือ

1.         กรณีที่มีการโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง ก็ให้เสนอเป็นคดีมีข้อพิพาทโดยทำเป็นคำฟ้องยื่นต่อศาล ตามมาตรา 55 และมาตรา 172

2.         กรณีที่ต้องใช้สิทธิทางศาล เพราะเหตุว่ามีความจำเป็นเกิดขึ้นจาก ซึ่งกฎหมายบัญญัติรับรองให้ใช้สิทธิทางศาลได้ ให้เสนอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทโดยทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาล ตามมาตรา 55 และมาตรา 188(1)

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า สมชายจะยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่าสมชายและสมบัติมิได้มีหนี้สินใดๆต่อกันได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า หนี้สินระหว่างสมชายและสมบัติได้ระงับไปแล้ว กรณีเช่นนี้ก็เป็นเรื่องที่สมชายชอบที่จะหยิบยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เมื่อสมบัติฟ้องสมชายเป็นคดีขึ้นในอนาคต มิใช่เป็นเรื่องที่สมชายจะยื่นฟ้องสมบัติต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงว่าสมชายมิได้มีหนี้สินต่อกันมาก่อนแต่อย่างใด กรณีนี้จึงไม่ต้องด้วย มาตรา 55 อันจะถือว่าเป็นเรื่องถูกโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ หรือจำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาลแต่ประการใด (ฎ. 3061/2522)

            ส่วนประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า สมชายจะยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ศาลบังคับสมบัติให้ส่งคืน น.ส. 3 ก. ที่สมบัติยึดถือไว้ได้หรือไม่ เห็นว่า การที่นายสมบัติยึดถือ น.ส. 3 ก. ของนายสมชายไว้เป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินต่อมาได้ความว่า สมบัติซื้อรถยนต์จากสมชายโดยตกลงหักกลบลบหนี้กันถูกต้องตามกฎหมายแล้ว แต่สมบัติยังไม่คืน น.ส. 3 ก. ให้แก่สมชาย ดังนี้ถือเป็นกรณีที่สมชายจะใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์ (น.ส. 3 ก.) จากผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 และเมื่อสมบัติไม่ยอมคืนให้ก็ถือได้ว่ามีการโต้แย้งสิทธิของสมชาย ตามมาตรา 55 แล้ว กรณีเช่นนี้ สมชายจึงสามารถยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ศาลบังคับสมบัติให้ส่งคืน น.ส. 3 ก. ได้

            สรุป สมชายจะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาสมชายและสมบัติไม่มีหนี้สินใดๆ ต่อกันไม่ได้ แต่ฟ้องขอให้บังคับสมบัติคืน น.ส. 3 ก. ที่ยึดถือไว้ได้

 

ข้อ 2. โจทก์ฟ้องจำเลยขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งโดยอ้างว่า โจทก์มีส่วนเป็นเจ้าของกึ่งหนึ่ง ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายสมปองมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวร่วมกับจำเลยดังนี้ ในระหว่างพิจารณาคดีโจทก์กับจำเลย นายสมปองประสงค์จะรักษาสิทธิ์ของตน นายสมปองจะร้องสอดเข้ามาในคดีได้หรือไม่ อย่างไร

ธงคำตอบ

          หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

            มาตรา 57 บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด

(1)       ด้วยความสมัครใจเองเพราะเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา หรือเมื่อตนมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีนั้น

วินิจฉัย

            กรณีตามอุทาหรณ์ นายสมปองจะร้องสอดเข้ามาในคดีได้หรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ฟ้องจำเลยขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินมีโฉนด โดยอ้างว่าโจทก์ก็มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกึ่งหนึ่ง แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงได้ความว่า นายสมปองก็ได้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวร่วมกับจำเลยด้วย จึงเป็นกรณีที่นายสมปองเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับการรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ กรณีเช่นนี้ นายสมปองจึงมีสิทธิร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความในภายหลังได้โดยการยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง ตามมาตรา 57(1)

            สรุป นายสมปองมีสิทธิร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง

 

ข้อ 3. นายธนพลมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดอุบลราชธานี ได้กู้ยืมเงินจากนายณัฐพลที่จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีนายเกียรติ์ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดลำปาง นำที่ดินมีโฉนดของตนแปลงหนึ่ง ตั้งอยู่ที่จังหวัดศรีสะเกษมาจดทะเบียนจำนองประกันหนี้รายนี้ ต่อมานายธนพลผิดนัดชำระหนี้ ดังนี้ นายณัฐพลจะฟ้องนายธนพลให้ชำระหนี้ ฟ้องบังคับจำนองจากนายเกียรติ์ จะฟ้องได้ที่ศาลใด และจะฟ้องทั้งสองยังศาลเดียวกันได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

          หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวีพิจารณาความแพ่ง

            มาตรา 4 เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น

(1)       คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่

มาตรา 4 ทวิ คำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ให้เสนอต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ หรือต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล

            มาตรา 5 คำฟ้องหรือคำร้องขอซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะภูมิลำเนาของบุคคลก็ดี เพราะที่ตั้งของทรัพย์สินก็ดี เพราะสถานที่ที่เกิดมูลคดีก็ดี หรือเพราะมีข้อหาหลายข้อหาก็ดี ถ้ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์หรือผู้ร้องจะเสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลใดศาลหนึ่งเช่นว่านั้นก็ได้

วินิจฉัย

            กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า นายณัฐพลจะฟ้องนายธนพลให้ชำระหนี้ได้ที่ศาลใด เห็นว่า ถ้านายณัฐพลประสงค์จะเรียกเงินกู้ยืมคืน โดยการฟ้องนายธนพล นายณัฐพลสามารถเสนอคำฟ้องต่อศาลจังหวัดอุบลราชธานี อันเป็นศาลที่นายธนพลมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลจังหวัดกาญจนบุรีอันเป็นศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นประการในเขตศาล ตามมาตรา 4(1)

            ส่วนประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า นายณัฐพลจะฟ้องบังคับจำนองจากนายเกียรติ์ได้ที่ศาลใด เห็นว่า การฟ้องบังคับจำนองของนายณัฐพล ถือเป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ เพราะต้องมีการบังคับแก่ตัวทรัพย์นั้น (ฎ. 3530/2542) กรณีเช่นนี้ โจทก์จึงต้องเสนอคำฟ้องต่อศาลที่ทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล คือ ศาลจังหวัดศรีสะเกษ หรือศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล คือ ศาลจังหวัดลำปาง ตามมาตรา 4 ทวิ

            และหากนายณัฐพลประสงค์จะฟ้องนายธนพลและนายเกียรติ์ยังศาลเดียวกันศาลใดศาลหนึ่งเช่นว่านั้น ก็สามารถฟ้องได้ ตามมาตรา 5 เพราะถือว่าคำฟ้องมีหลายข้อหาอันมูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน (ฎ. 792/2541)

            สรุป ถ้านายณัฐพลจะฟ้องนายธนพลให้ชำระหนี้ ต้องเสนอคำฟ้องต่อศาลจังหวัดอุบลราชธานีหรือศาลจังหวัดกาญจนบุรี

            ถ้าฟ้องบังคับจำนองจากนายเกียรติ์ ต้องเสนอคำฟ้องต่อศาลจังหวัดศรีสะเกษหรือศาลจังหวัดลำปาง

            และถ้านายณัฐพลจะฟ้องทั้งนายธนพลและนายเกียรติ์ยังศาลเดียวกัน ก็สามารถฟ้องได้ยังศาลใดศาลหนึ่งเช่นว่านั้น

 

ข้อ 4. จำเลยเช่าบ้านจากโจทก์ สัญญาเช่ามีกำหนดเวลา 3 ปี ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยว่าผิดสัญญาเช่า ขอให้ศาลพิพากษาขับไล่จำเลยออกจากทรัพย์สินที่เช่า จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ขอให้ศาลมีคำพิพากษาชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดี โดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ขอให้ศาลมีคำพิพากษาชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดี โดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลตรวจคำฟ้องโจทก์แล้วคดีมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายจึงพิพากษาขับไล่จำเลยออกจากทรัพย์สินที่เช่าโดยไม่มีการสืบพยาน ดังนี้ คำพิพากษาของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

            หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

            มาตรา 198 ทวิ วรรคแรกและวรรคสอง ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี โดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การมิได้ เว้นแต่ศาลเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายในการนี้ศาลจะยกขึ้นอ้างโดยลำพังซึ่งข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาขนก็ได้

            เพื่อประโยชน์ในการพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีตามวรรคหนึ่ง ศาลอาจสืบพยานเกี่ยวกับข้ออ้างของโจทก์หรือพยานหลักฐานอื่นไปฝ่ายเดียวตามที่เห็นว่าจำเป็นก็ได้ แต่ในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลสิทธิในครอบครัวหรือคดีพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียว และศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

            วินิจฉัย

            กรณีตามอุทาหรณ์ คำพิพากษาของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นการฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากอสังหาริมทรัพย์ อันเป็นเรื่องที่ศาลมีอำนาจวินิจฉัยให้โจทก์ชนะคดีได้โดยไม่ต้องสืบพยานเพราะมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ศาลต้องอยู่ในบังคับให้ต้องสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียว ตามมาตรา 198 ทวิ วรรคสอง แต่อย่างใด กรณีเช่นนี้ เมื่อศาลเห็นว่าคดีมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายจึงมีอำนาจพิพากษาหรือมีคำสั่งให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานโจทก์ ตามมาตรา 198 ทวิ วรรคแรก ดังนั้น คำพิพากษาของศาลจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

            สรุป คำพิพากษาของศาลจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

            หมายเหตุ คดีฟ้องขับไล่ตามสัญญาเช่าไม่ถือว่าเป็นคดีที่พิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ ในอสังหาริมทรัพย์ เพราะการให้เช่าผู้ให้เช่าไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่เช่า เมื่อจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การจำเลยไม่ได้ต่อสู้ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจให้เช่า และไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ จึงไม่มีข้อพิพาทกันในเรื่องกรรมสิทธิ์

Advertisement