การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2552
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง1
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วนมี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. โชติกู้ยืมเงินจากสิทธิเป็นจำนวน 1 ล้านบาท โชติมีบ้านและที่ดินที่อยู่อาศัยเท่านั้น ทรัพย์สินอื่นไม่มีต่อมาโชติโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านให้เพ็ญศรี โดยเพ็ญศรีทราบดีว่าโชติเป็นหนี้กู้ยืมสิทธิอยู่ สิทธิทราบว่าโชติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านให้เพ็ญศรี สิทธิเป็นโจทก์ฟ้องโชติและเพ็ญศรีเป็นจำเลยขอให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างโชติกับเพ็ญศรี สิทธิทิ้งฟ้องระหว่างสิทธิกับโชติศาลได้สั่งจำหน่ายคดีโชติออกจากสารบบความ ดังนี้ ศาลจะเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 55”เมื่อมีข้อแย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่งหรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้”
มาตรา 176 “การทิ้งคำฟ้องหรือถอนคำฟ้องย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องนั้น รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่นๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคำฟ้อง และกระทำให้คู่ความกลับคืนเข้าสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องเลย แต่คำว่าฟ้องใดๆ ที่ได้ทิ้งหรือถอนแล้ว อาจยื่นใหม่ได้ ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ”
วินิจฉัย
ตามปัญหา การที่สิทธิเป็นโจทก์ฟ้องโชติและเพ็ญศรีเป็นจำเลยขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมระหว่างโชติกับเพ็ญศรี แต่ต่อมาสิทธิได้ทิ้งฟ้องระหว่างสิทธิกับโชติและศาลได้สั่งจำหน่ายคดีโชติออกจากสารบบความนั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 176 ให้ถือว่าการทิ้งฟ้องของสิทธิดังกล่าวย่อมมีผลเป็นการลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องนั้น และมีผลทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องเลย ดังนั้นกรณีนี้จึงถือว่าโจทก์ฟ้องเฉพาะเพ็ญศรีเป็นจำเลยเท่านั้น แต่มิได้ฟ้องโชติเข้ามาในคดีด้วยเลย ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนระหว่างโชติกับเพ็ญศรีได้ เพราะการฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมอันเกิดจากการฉ้อฉลนั้น โจทก์จะต้องฟ้องลูกหนี้และบุคคลผู้ได้ลาภงอกทั้งสองคนเป็นจำเลย โจทก์จะฟ้องเฉพาะผู้รับโอนเพียงผู้เดียวไม่ได้แต่เมื่อตามปัญหาโจทก์ได้ฟ้องเฉพาะผู้รับโอนแต่ไม่ได้ฟ้องลูกหนี้เข้ามาในคดีด้วย จึงถือว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55
สรุป ศาลจะพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวไม่ได้ เพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ข้อ 2. นายเอมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลแขวงธนบุรี ได้ส่งใบคำขอสมัครบัตรเครดิตไปยังธนาคารสยาม จำกัด ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในเขตศาลพระนครเหนือเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป ธนาคารสยาม จำกัดอนุมัติและออกบัตรเครดิตให้แก่นายเอที่สำนักงานใหญ่ แล้วธนาคารสยาม จำกัด ส่งบัตรเครดิตไปทางไปรษณีย์ที่ภูมิลำเนาของนายเอ เมื่อนายเอได้รับบัตรเครดิตแล้วก็นำบัตรเครดิตออกใช้หลังจากนั้นธนาคารสยาม จำกัด ส่งใบเรียกเก็บเงินไปยังภูมิลำเนาของนายเอ นายเอผิดนัดไม่ชำระเงินจำนวน 50,000 บาท ต่อมานายเอได้ไปทำหนังสือรับสภาพหนี้ที่สำนักงานสาขาของธนาคารสยาม จำกัด ซึ่งอยู่ในเขตศาลแขวงพระนครใต้
ให้ท่านวินิจฉัยว่า ธนาคารสยาม จำกัด จะฟ้องนายเอได้ที่ศาลใดได้บ้าง
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 4 “เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น
(1) คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนายู่ในราชอาณาจักรหรือไม่”
วินิจฉัย
ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4(1) ในการฟ้องเรียกหนี้เหนือบุคคลนั้น ต้องฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลนั้น
และคำว่า “มูลคดี” หมายถึง ต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันทำให้เกิดอำนาจฟ้องนั่นเอง
กรณีตามอุทาหรณ์ แม้การอนุมัติและการออกบัตรเครดิตจะดำเนินการที่สำนักงานใหญ่ของธนาคารสยาม จำกัด ซึ่งอยู่ในเขตศาลแขวงพระนครเหนือ แต่มูลคดีมิได้เกิดในเขตศาลแขวงพระนครเหนือ เพราะการดำเนินการดังกล่าวก็เป็นเพียงขั้นตอนปฏิบัติของธนาคารสยาม จำกัด เท่านั้น สัญญาใช้บัตรเครดิตยังไม่เกิด เพราะสัญญาระหว่างบุคคลซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทางนั้น ย่อมเกิดเป็นสัญญาขึ้น แต่เมืองคำบอกกล่าวสนองไปถึงผู้เสนอ กล่าวคือ สัญญาเกิดขึ้นเมื่อส่งบัตรเครดิตไปถึงภูมิลำเนาของนายเอ เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่นายเอจะนำบัตรเครดิตไปใช้ จนเป็นเหตุพิพาทซึ่งเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิและมูลหนี้ตามฟ้อง หากปราศจากเหตุและขั้นตอนสุดท้ายดังกล่าวเสียแล้ว ธนาคารสยาม จำกัด และนายเอย่อมไม่มีนิติสัมพันธ์เกี่ยวกับบัตรเครดิตต่อกัน เช่นนี้มูลคดีจึงเกิดขึ้นในเขตศาลแขวงธนบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ส่งบัตรเครดิตไปถึงนายเอ
และเนื่องจากในคดีหนึ่งมูลคดีอาจเกิดขึ้นได้หลายแห่ง ดังนั้นกรณีนี้นอกจากมูลคดีจะเกิดขึ้นในเขตศาลแขวงธนบุรีแล้ว เมื่อนายเอไปทำหนังสือรับสารภาพหนี้ที่สำนักงานสาขาธนาคารสยาม จำกัด ซึ่งอยู่ในเขตศาลแขวงพระนครใต้ แม้จะไม่ทำให้หนี้เดิมระงับแต่หนังสือรับสารภาพหนี้ก็เป็นนิติกรรมอย่างหนึ่งที่บังคับได้สถานที่ทำหนังสือรับสารภาพหนี้จึงเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดขึ้น จึงถือว่ามูลคดีเกิดขึ้นในศาลแขวงพระนครใต้อีกแห่งหนึ่ง
ดังนั้น ธนาคารสยาม จำกัด จึงฟ้องนายเอได้ที่ศาลแขวงธนบุรี เพราะเป็นศาลที่นายเอมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลและเป็นศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล กับฟ้องนายเอได้ที่ศาลแขวงพระนครใต้ เพราะเป็นศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลอีกแห่งหนึ่ง (ฎ. 2841/2547,ฎ. 6508/2547)
สรุป ธนาคารสยาม จำกัด ฟ้องนายเอได้ที่ศาลแขวงธนบุรีและศาลแขวงพระนครใต้
ข้อ 3. โจทก์ยื่นฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้ค่าซื้อขายเครื่องจักรเป็นเงินจำนวน 5,000,000 บาทต่อศาลแพ่ง แต่ศาลแพ่งเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลแพ่งธนบุรี จึงให้โจทก์ถอนฟ้องและให้ยืนฟ้องใหม่ ในเขตศาลที่มีอำนาจหลังจากที่ศาลแพ่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องแล้ว โจทก์ได้ยื่นฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้ค่าซื้อขายเครื่องจักรเป็นเงินจำนวน 5,000,000 บาทต่อศาลแพ่งธนบุรี จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าภายหลังจากซื้อสินค้าจากโจทก์แล้ว โจทก์ได้มาซื้อสินค้าจากจำเลย เมื่อหักหนี้กันแล้วโจทก์ก็ยังเป็นลูกหนี้จำเลยอยู่ 50,000บาท ขอให้โจทก์ชำระหนี้จำนวน 50,000บาทให้จำเลย ต่อมาหลังจากที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่งธนบุรีได้ 15วัน จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลแพ่งที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายืนตามศาลแพ่งที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง จำเลยไม่ฎีกา คดีถึงที่สุด
ให้ท่านวินิจฉัยว่า ศาลแพ่งธนบุรีมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลย และจำเลยฟ้องแย้งโจทก์ต่อศาลแพ่งธนบุรีได้หรือไม่
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 173 วรรคสอง “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาและผลแห่งการนี้
(1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกัน หรือต่อศาลอื่นและ…”
มาตรา 176 “การทิ้งคำฟ้องหรือถอนคำฟ้องย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องนั้น รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่นๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคำฟ้อง และกระทำให้คู่ความกลับคืนเข้าสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องเลย แต่ว่าคำฟ้องใดๆ ที่ได้ทิ้งหรือถอนแล้ว อาจยื่นใหม่ได้ ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ”
มาตรา 177 วรรคสาม “จำเลยจะฟ้องแย้งมาในคำให้การก็ได้ แต่ถ้าฟ้องแย้งนั้นเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมแล้ว ให้ศาลสั่งให้จำเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก”
มาตรา 179 วรรคท้าย “ แต่ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายใดเสนอคำฟ้องใดต่อศาล ไม่ว่าโดยวิธีฟ้องเพิ่มเติมหรือฟ้องแย้ง ภายหลังที่ได้ยื่นคำฟ้องเดิมต่อศาลแล้ว เว้นแต่คำฟ้องเดิมและคำฟ้องภายหลังนี้จะเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่งธนบุรี ก่อนที่จำเลยจะอุทธรณ์คำสั่งศาลแพ่งที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องก็ตาม แต่การถอนฟ้องที่มีผลลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องและทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งว่ามิได้ยื่นฟ้องตามมาตรา 176นั้น หมายถึง การถอนคำฟ้องนั้นได้ถึงที่สุดแล้วไม่มีคดีค้างพิจารณาอยู่ในศาลใดศาลหนึ่ง ดังนี้ เมื่อจำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลแพ่งที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องภายในกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ และศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ จึงถือว่าคดีก่อนที่โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันอีกต่อศาลแพ่งธนบุรี ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามมาตรา 173 วรรคสอง(1) ทั้งนี้แม้ต่อมาศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลแพ่งที่อนุญาตให้โจทก์ฟ้องจนคดีถึงที่สุดแล้วก็ตาม ก็หาทำให้ฟ้องคดีซึ่งเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ต้น กลายเป็นฟ้องที่ชอบด้วยขึ้นมาใหม่ ศาลแพ่งธนบุรีจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลย
ส่วนกรณีที่จำเลยฟ้องแย้งโจทก์นั้น แม้จำเลยจะฟ้องมาในคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยจะเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ตามมาตรา 177 วรรคสาม ประกอบมาตรา 179 วรรคท้ายก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเพราะเป็นฟ้องซ้อนแล้ว จึงไม่มีฟ้องของโจทก์และตัวโจทก์ที่เป็นจำเลยในส่วนฟ้องแย้ง ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่มีคู่ความครบถ้วนที่ศาลจะดินเนินคดีต่อไปได้ ศาลแพ่งธนบุรีจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่จำเลยฟ้องแย้งโจทก์เช่นกัน (ฎ. 3133/2549, ฎ. 3688/2547)
สรุป ศาลแพ่งธนบุรีไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลย และคดีที่จำเลยฟ้องแย้ง
ข้อ 4. โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินและจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้รายนี้ จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชอบต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่าลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันเป็นลายมือปลอม โจทก์ยื่นคำขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลพิเคราะห์คำฟ้องโจทก์แล้วมีมูล และไม่ขัดต่อกฎหมาย ศาลสั่งให้โจทก์ส่งเอกสารสัญญากู้ต่อศาลแทนการสืบพยานแล้วรอการพิพากษาชี้ขาดคดี ส่วนคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ศาลสั่งให้สืบพยานโจทก์จำเลยในวันสืบพยานโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่มีผู้ใดมาศาล มาแต่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2แถลงต่อศาลขอให้ศาลดำเนินการพิจารณาคดีต่อไป ดังนี้ ถ้าท่านเป็นศาลชั้นต้น จะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งคดีนี้อย่างไร
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 198 ทวิ วรรคห้า “ถ้าโจทก์ไม่นำพยานหลักฐานมาสืบตามความในมาตรานี้ภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด ให้ถือว่าคดีของโจทก์ไม่มีมูล และให้ศาลยกฟ้องของโจทก์”
มาตรา 198 ตรี วรรคแรก “ในคดีที่จำเลยบางคนขาดนัดยื่นคำให้การ ให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีโดยขาดนัดยื่นคำให้การระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การนั้นไปก่อนและดำเนินการพิจารณาคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ยื่นคำให้การต่อไป แต่ถ้ามูลความแห่งคดีนั้นเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ ให้ศาลรอการพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีโดยขาดนัดยื่นคำให้การไว้ก่อน เมื่อศาลดำเนินการพิจารณาสำหรับจำเลยที่ยื่นคำให้การเสร็จสิ้นแล้วก็ให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีไปตามรูปคดีสำหรับจำเลยทุกคน”
มาตรา 200 วรรคแรก “ภายใต้บังคับมาตรา 198 ทวิ และมาตรา 198 ตรี ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาศาลในวันสืบพยาน และไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ให้ถือว่าคู่ความฝ่ายนั้นขาดนัดพิจารณา”
มาตรา 202 “ถ้าโจทก์ขาดนัดพิจารณา ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความเว้นแต่จำเลยจะได้แจ้งต่อศาลในวันสืบพยานขอให้ดำเนินการพิจารณาคดีต่อไปก็ให้ศาลพิจารณา และชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียว”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ โจทก์ฟ้องผู้กู้เป็นจำเลยที่ 1 และผู้ค้ำประกันเป็นจำเลยที่ 2 ให้ร่วมกันรับผิดในหนี้กู้ยืม มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและศาลได้พิจารณาคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 โดยสั่งให้โจทก์ส่งเอกสารสัญญากู้ต่อศาลแทนการสืบพยานแล้วรอการพิพากษาชี้ขาด ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 198 วรรคแรก
สำหรับคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การ ศาลสั่งสืบพยานโจทก์จำเลยครั้นถึงวันสืบพยานโจทก์ก็ไม่มาศาลและไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี กรณีนี้ให้ถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาตามมาตรา 200 วรรคแรก และจำเลยที่ 2 ไปฝ่ายเดียวตามมาตรา 202 แล้วจึงมีคำพิพากษารวมทั้งสองคดีในคำพิพากษาเดียวกันตามมาตรา 198 ตรี วรรคแรก หรือแยกคำพิพากษาก็ได้ โดยพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 เพราะโจทก์ไม่มาศาล ถือว่าโจทก์ไม่ส่งเอกสารคดีโจทก์ไม่มีมูล ให้ศาลพิพากษายกฟ้องตามมาตรา 198 ทวิ วรรคห้า และพิพากษาคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ตามที่ศาลได้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด
สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามที่กล่าวข้างต้น