การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (ข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. นายสายฟ้าได้ครอบครองที่ดินของนายละเลย โดยสงบเปิดเผย เจตนาเป็นเจ้าของมากกว่า 10 ปีแล้ว ดังนี้ นายสายฟ้าประสงค์จะเสนอคดีต่อศาล เพื่อให้ศาลบังคับให้นายละเลยโอนที่ดินให้เป็นกรรมสิทธิ์ของตนหรือขอให้ศาลแสดงว่ากรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวตกเป็นของตนแล้วโดยการครอบครองปรปักษ์จะได้หรือไม่ อย่างไร
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 55 เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่งหรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้
มาตรา 188 ในคดีที่ไม่มีข้อพิพาท ให้ใช้ข้อบังคับต่อไปนี้
(1) ให้เริ่มคดีโดยยื่นคำร้องขอต่อศาล
วินิจฉัย
ในการนำคดีเสนอต่อศาลนั้นมิใช่บุคคลใดๆ จะทำได้เสมอไป ผู้ที่จะนำคดีเสนอต่อศาลได้จะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติมาตรา 55 แล้วได้กำหนดให้บุคคลมีสิทธิเสนอคดีต่อศาลได้ 2 กรณี กล่าวคือ
1. กรณีที่มีการโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่งก็ให้เสนอเป็นคดีมีข้อพิพาทโดยทำเป็นคำฟ้องยื่นต่อศาล ตามมาตรา 55 และมาตรา 172
2. กรณีที่ต้องใช้สิทธิทางศาล ในกรณีเป็นเรื่องที่ต้องใช้สิทธิทางศาลเพราะเหตุว่ามีความจำเป็นเกิดขึ้นจากกฎหมายบัญญัติไว้ตามกฎหมายสารบัญญัติ ให้เสนอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทโดยทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลตามมาตรา 55 และมาตรา 188(1)
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสายฟ้าครอบครองที่ดินของนายละเลยโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมากกว่า 10 ปี นายสายฟ้าย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมีโฉนดของนายละเลยโดยการครอบครองปรปักษ์ ตามป.พ.พ. 1382 แต่กรณีเช่นนี้ นายสายฟ้าจะเสนอคดีต่อศาลเพื่อให้ศาลบังคับให้นายละเลยโอนที่ดินให้เป็นกรรสิทธิ์ของตนไม่ได้ เพราะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดว่า นายละเลยได้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการใด อันจะถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของนายสายฟ้าเลย ทั้งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดบังคับให้เจ้าของที่ดินมีหน้าที่ทางนิติกรรมต้องไปจดทะเบียนโอนให้แก่ผู้ครอบครองปรปักษ์แต่อย่างใด (ฎ. 549/2535) แต่อย่างไรก็ตาม กรณีนี้นายสายฟ้าสามารถขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่ากรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวตกเป็นของตนแล้วโดยการครอบครองปรปักษ์ได้ เพราะกรณีถือว่านายสายฟ้ามีความจำเป็นเกิดขึ้นจากกฎหมายบัญญัติรับรองให้ใช้สิทธิทางศาลได้ (ป.พ.พ. มาตรา 1382) โดยต้องเสนอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทโดยทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาล ตามมาตรา 55 ประกอบมาตรา 188(1)
สรุป นายสายฟ้า จะเสนอคดีต่อศาลเพื่อบังคับให้นายละเลยโอนที่ดินให้เป็นกรรมสิทธิ์ของตนไม่ได้ แต่ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งแสดงว่ากรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวตกเป็นของตนแล้วโดยการครอบครองปรปักษ์ได้
หมายเหตุ ถ้าที่ดินของนายละเลยเป็นที่ดินไม่มีโฉนด เป็นเพียงที่ดินที่มีสิทธิครอบครอง เช่น น.ส.3, ส.ค.1 ฯลฯ นายสายฟ้าจะอ้างครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ไม่ได้ จึงยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่าตนมีสิทธิครอบครอง ตามมาตรา 55 ไมได้เช่นกัน เพราะกรณีดังกล่าวไม่มีกฎหมายรับรองให้ทำได้ (ฎ. 5389/2549)
ข้อ 2. คดีแพ่งเรื่องหนึ่ง โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินที่พิพาทเป็นของโจทก์ให้เพิกถอนชื่อจำเลยออกจากทะเบียนกรรมสิทธิ์แล้วใส่ชื่อโจทก์แทน ในระหว่างพิจารณาคดีผู้ร้องได้ยื่นคำร้องสอดต่อศาลว่าที่ดินที่พิพาทเป็นของจำเลย ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและได้ขอให้ศาลยึดที่ดินที่พิพาทไว้แล้ว จึงขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) และให้ผู้ร้องยื่นคำให้การแก้ฟ้องภายใน 15วัน ถ้าท่านเป็นศาลจะสั่งคำร้องของผู้ร้องอย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 57 บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด
(1) ด้วยความสมัครใจเองเพราะเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา หรือเมื่อตนมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีนั้น
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่บุคคลใดจะร้องสอดเข้ามาในขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาต้องเป็นเรื่องที่ผู้ร้องสอดเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ ซึ่งจะต้องเป็นเรื่องที่ผู้ร้องสอดเกี่ยวข้องกับคดีนั้น กล่าวคือ ข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุให้เกิดการฟ้องร้องในคดีเดิมเป็นการกระทบสิทธิของผู้ร้องสอดซึ่งสมควรที่จะว่ากล่าวให้เสร็จไปคราวเดียวกันกับคดีเดิม แต่ถ้าการพิพาทกันในระหว่างคู่ความในคดีเดิมมิได้กระทบกระเทือนสิทธิของผู้ใดแล้ว ผู้นั้นก็จะร้องสอดเข้ามาให้ว่ากล่าวในคราวเดียวกันไม่ได้
ซึ่งตามข้อเท็จจริงรับฟังได้ ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดต่อศาลว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและได้ขอให้ศาลยึดที่ดินไว้แล้ว จึงขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม กรณีเช่นนี้ถือว่าผู้ร้องมีแต่เพียงสิทธิที่จะบังคับคดีเอาจากทรัพย์สินทั้งหลายในส่วนของลูกหนี้ เพื่อให้ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น หาได้มีสิทธิที่จะบังคับเอากับที่ดินพิพาทหรือทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยตรงไม่ สิทธิของผู้ร้องจึงยังมิได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ หรือมิได้มีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งคดีนี้โดยตรง เพราะผู้ร้องสามารถดำเนินการบังคับคดีของตนต่อไปได้ จึงไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใดที่ผู้ร้องจะร้องสอดเข้ามาในคดี ตามมาตรา 57(1) ศาลจึงต้องมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องสอด
สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลจะสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง
ข้อ 3. ฟ้าใสชาวไทยได้ไปประกอบอาชีพขายอาหารไทยอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย เป็นเวลา 5 ปีแล้ว โทนี่ชาวไทยมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศออสเตรเลียเช่นกัน โทนี่ตกลงทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินตั้งอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรีจากฟ้าใส โดยทำสัญญากันที่ประเทศออสเตรเลีย เมื่อถึงกำหนดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ โทนี่ได้แจ้งให้ฟ้าใสไปดำเนินการจดทะเบียนและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญา แต่ฟ้าใสปฏิเสธ โทนี่ประสงค์จะฟ้องเรียกมัดจำคืนและเรียกค่าเสียหายจากการผิดสัญญาของฟ้าใสต่อศาลไทย โทนี่จะเสนอคำฟ้องต่อศาลใดได้บ้าง
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 4 เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น
(1) คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่
มาตรา 4 ทวิ คำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ให้เสนอต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ หรือต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล
มาตรา 4 ตรี คำฟ้องอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 ทวิ ซึ่งจำเลยมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรและมูลคดีมิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักรถ้าโจทก์เป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรให้เสนอต่อศาลแพ่งหรือต่อศาลที่โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล
คำฟ้องตามวรรคหนึ่ง ถ้าจำเลยมีทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับคดีได้อยู่ในราชอาณาจักร ไม่ว่าเป็นการชั่วคราวหรือถาวร โจทก์จะเสนอคำฟ้องต่อศาลที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในเขตศาลก็ได้
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โทนี่ประสงค์จะฟ้องเรียกค่ามัดจำคืนและเรียกค่าเสียหายจากการผิดสัญญาของฟ้าใสต่อศาลไทย การฟ้องดังกล่าวมีลักษณะเป็นการฟ้องบังคับตัวจำเลย อันถือว่าเป็นหนี้เหนือบุคคลไม่ได้ฟ้องขอให้บังคับเกี่ยวกับตัวทรัพย์ คือ ที่ดิน จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่เกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ไม่อยู่ในบังคับมาตรา 4 ทวิ (ฎ. 683/2534) กรณีเช่นนี้ จึงต้องบังคับ ตามมาตรา 4(1) ที่ว่า “คำฟ้องให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่” ซึ่งตามข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โทนี่มิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรและมูลคดีก็มิได้เกิดในราชอาณาจักร กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 4(1) เช่นเดียวกัน
แต่อย่างไรก็ดี คำฟ้องดังกล่าวของโทนี่ถือเป็นคำฟ้องอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4ทวิ และฟ้าใสจำเลยมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรและมูลคดีมิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักรแต่โทนี่โจทก์เป็นผู้มีสัญชาติไทย โทนี่จึงชอบที่จะเสนอคำฟ้องต่อศาลไทยได้ที่ศาลแพ่งเพียงศาลเดียว ตามมาตรา 4 ตรีวรรคแรก
สรุป โทนี่สามารถเสนอคำฟ้องต่อศาลไทยได้ที่ศาลแพ่งเพียงศาลเดียว
ข้อ 4. สมชายมีที่ดินตั้งอยู่ที่จังหวัดนครปฐม สมศักดิ์ตกลงซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวโดยทำเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย ต่อมาสมชายผิดสัญญาไม่ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้สมศักดิ์ สมศักดิ์เป็นโจทก์ฟ้องต่อศาล ขอให้บังคับสมชายจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่สมศักดิ์ สมชายขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลตรวจคำฟ้องแล้วมีมูลไม่ขัดต่อกฎหมาย จึงพิพากษาชี้ขาดให้สมศักดิ์ชนะคดีตามคำขอของสมศักดิ์โดยไม่มีการสืบพยาน
ดังนี้ คำพิพากษาของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 198 ทวิ วรรคแรกและวรรคสอง ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การมิได้ เว้นแต่ศาลเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ในการนี้ศาลจะยกขึ้นอ้างโดยลำพังซึ่งข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ได้
เพื่อประโยชน์ในการพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีตามวรรคหนึ่ง ศาลอาจสืบพยานเกี่ยวกับข้ออ้างของโจทก์หรือพยานหลักฐานอื่นไปฝ่ายเดียวตามที่เห็นว่าจำเป็นก็ได้แต่ในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลสิทธิในครอบครัวหรือคดีพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียว และศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า คำพิพากษาของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การที่สมศักดิ์ฟ้องต่อศาลขอให้บังคับสมชายจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่สมศักดิ์ เป็นคดีที่พิพาทโต้เถียงเกี่ยวกับสิทธิความเป็นเจ้าของในอสังหาริมทรัพย์ อันถือเป็นคดีที่พิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์เมื่อจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและโจทก์ยื่นคำขอให้ศาลพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี กรณีเช่นนี้ ศาลต้องอยู่ในบังคับมาตรา 198 ทวิ วรรคสอง ตอนท้าย ที่ต้องสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียว และอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมแล้ว จึงจะมีคำพิพากษาไปได้แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงได้ความว่า สมชายจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลได้พิเคราะห์แต่เพียงว่าคดีมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายจึงพิพากษาชี้ขาดให้สมศักดิ์ชนะคดีตามคำขอของสมศักดิ์ โดยไม่มีการสืบพยาน คำพิพากษาของศาลจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สรุป คำพิพากษาของศาลไม่ชอบด้วยกฎหมาย