การสอบไล่ภาค  1 ปีการศึกษา 2550

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1

Advertisement

 คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ ข้อละ 25 คะแนน

ข้อ 1. เจ้าหนี้เป็นโจทก์ฟ้องลูกหนี้เป็นจำเลยขอให้ชำระหนี้ จำเลยให้การปฏิเสธโดยมิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้พร้อมกับคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกผู้ค้ำประกันเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลหมายเรียกผู้ค้ำประกันเข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามคำร้องของจำเลย จำเลยร่วมได้ยื่นคำให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ โจทก์แถลงคัดค้านว่าจำเลยร่วมจะยื่นคำให้การนอกเหนือจากคำให้การของจำเลยเดิมไม่ได้เพราะเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ดังนี้คำแถลงคัดค้านของโจทก์ฟังขึ้นหรือไม่ หากฟังไม่ขึ้นศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะฟ้องโจทก์ขาดอายุความคำพิพากษาของศาลจะมีผลไปถึงจำเลยด้วยหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

            หลักกฎหมาย            ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

            มาตรา 57 บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด

(3) ด้วยถูกหมายเรียกให้เข้ามาในคดี (ก) ตามคำขอของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำเป็นคำร้องแสดงเหตุว่าตนอาจฟ้องหรือถูกคู่ความเช่นว่านั้นฟ้องตนได้ เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ย หรือเพื่อใช้ค่าทดแทน ถ้าหากศาลพิจารณาให้คู่ความเช่นว่านั้นแพ้คดี…

มาตรา 58 วรรคแรก ผู้ร้องสอดที่ได้เข้าเป็นคู่ความตามอนุมาตรา (1) และ (3) แห่งมาตราก่อนนี้ มีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ ซึ่งโดยเฉพาะผู้ร้องสอดอาจนำพยานหลักฐานใหม่มาแสดง คัดค้านเอกสารที่ได้ยื่นไว้ ถามค้านพยานที่ได้สืบมาแล้ว และคัดค้านพยานหลักฐานที่ได้สืบไปแล้วก่อนที่ตนได้ร้องสอด อาจอุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และอาจได้รับหรือถูกบังคับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียม

            มาตรา 59 บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป อาจเป็นคู่ความในคดีเดียวกันได้ โดยเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วม ถ้าหากปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี แต่ห้ามมิให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกัน เว้นแต่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ หรือได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ ดังนั้นโดยชัดแจ้ง ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกันเพียงเท่าที่จะกล่าวต่อไปนี้

(1)       บรรดากระบวนพิจารณาซึ่งได้ทำโดย หรือทำต่อคู่ความร่วมคนหนึ่งนั้นให้ถือว่าได้ทำโดยหรือทำต่อ คู่ความร่วมคนอื่นๆ ด้วย เว้นแต่กระบวนพิจารณาที่คู่ความร่วมคนหนึ่งกระทำไปเป็นที่เสื่อมเสียแก่คู่ความร่วมคนอื่นๆ

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า ผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นจำเลยร่วมจะยื่นคำให้การนอกเหนือจากคำให้การเดิมได้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มิได้ฟ้องผู้ค้ำประกันเป็นจำเลยโดยตรง หากแต่ศาลได้หมายเรียกผู้ค้ำประกันเข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามคำร้องของจำเลย ตามมาตรา 57(3)(ก) กรณีเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นจำเลยร่วมมีสิทธิเสมือนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ ตามมาตรา 58 วรรคแรกอันทำให้จำเลยร่วมมีสิทธิยื่นคำให้การโดยการยกอายุความขึ้นต่อสู้คดีได้ ดังนั้น คำคัดค้านของโจทก์ในกรณีนี้จึงฟังไม่ขึ้น (ฎ. 22527/2525)

ส่วนประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า เมื่อจำเลยร่วมยื่นคำให้การโดยยกอายุความเป็นข้อต่อสู้

และศาลพิจารณาแล้วว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เช่นนี้จะมีผลไปถึงจำเลยลูกหนี้ด้วยหรือไม่ เห็นว่าการที่โจทก์ได้ฟ้องลูกหนี้เป็นจำเลยต่อศาลขอให้ชำระหนี้และผู้ค้ำประกันก็ได้เข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดีดังกล่าว ซึ่งต้องรับผิดเมื่อจำเลยลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ จึงเป็นกรณีที่บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเป็นคู่ความในคดีเดียวกัน เมื่อได้ความว่าจำเลยร่วมได้ยื่นคำให้การต่อสู้ในเรื่องของอายุความไว้ กรณีเช่นนี้ถือว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาซึ่งได้กระทำโดยจำเลยร่วมให้ถือว่าได้กระทำโดยจำเลยด้วย ตามมาตรา 59(1) เพราะมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ ทั้งนี้แม้จำเลยจะมิได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ก็ตาม ดังนั้น การที่ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์และให้มีผลถึงลูกหนี้ด้วย จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว (ฎ. 6246/2540ฎ. 839/2535)

สรุป คำพิพากษาของศาลชอบด้วยกฎหมาย

 

 

ข้อ 2. พอลคนอังกฤษสมรสกับระรินคนไทย และมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต ต่อมาพอลได้พาระรินไปอยู่ที่ประเทศอังกฤษ พอลได้ตกลงซื้อคอนโดมิเนียมตั้งอยู่ที่ประเทศอังกฤษจากจิมมี่คนอังกฤษโดยทำสัญญาจะซื้อจะขายกันที่ประเทศอังกฤษในวันทำสัญญาจะซื้อขาย พอลได้วางเงินมัดจำไว้ 1 ล้านบาท ถึงกำหนดวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียม จิมมี่ผิดนัดไม่ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมให้พอล พอลและระรินได้กลับมาเที่ยวในประเทศไทยพบจิมมี่ขับเรือยอร์ช มาจอดอยู่ที่ท่าเรือจังหวัดภูเก็ตประเทศไทย พอลประสงค์จะฟ้องเรียกมัดจำคืนจากจิมมี่ตามสัญญาจะซื้อขายคอนโดมิเนียมยังศาลไทยจะฟ้องได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

            หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

            มาตรา 4 เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น

(1)       คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่

มาตรา 4 ทวิ คำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ให้เสนอต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ หรือต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล

มาตรา 4 ตรี คำฟ้องอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 ทวิ ซึ่งจำเลยมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรและมูลคดีมิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักร ถ้าโจทก์เป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรให้เสนอต่อศาลแพ่งหรือต่อศาลที่โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล

            คำฟ้องตามวรรคหนึ่ง ถ้าจำเลยมีทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับคดีได้อยู่ในราชอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็นการชั่วคราวหรือถาวร โจทก์จะเสนอคำฟ้องต่อศาลที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในเขตศาลก็ได้

            วินิจฉัย

            กรณีตามอุทาหรณ์ การที่พอลจะฟ้องจิมมี่เรียกเงินมัดจำคืนตามสัญญาจะซื้อจะขายคอนโดมิเนียม การฟ้องดังกล่าวมีลักษณะเป็นการฟ้องให้บังคับตัวจำเลย อันถือเป็นหนี้เหนือบุคคลไม่ได้ฟ้องขอให้บังคับเกี่ยวกับตัวทรัพย์ คือ คอนโดมิเนียม จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่เกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ไม่อยู่ในบังคับมาตรา 4 ทวิ (ฎ. 683/2534) กรณีเช่นนี้ จึงต้องบังคับตามมาตรา 4(1) ที่ว่า คำฟ้องให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาล ไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ แต่เมื่อพิจารณาตามข้อเท็จจริงแล้วได้ความว่า จิมมี่มิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรและมูลคดีก็มิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักร กรณีจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 4(1) เช่นเกี่ยวกัน

            และแม้จะได้ความว่า จิมมี่มีเรือยอร์ชอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต อันถือเป็นทรัพย์ที่อาจถูกบังคับคดีได้ กรณีเช่นนี้พอลก็ไม่สามารถเสนอคำฟ้องต่อศาลที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ได้เช่นกันเนื่องจากพอลมิได้มีสัญชาติได้และภูมิลำเนาก็มิได้อยู่ในประเทศไทย กรณีจึงบังคับตามมาตรา 4 ตรี วรรคแรก ไม่ได้ และเมื่อบังคับตามมาตรา 4 ตรี วรรคแรกไม่ได้ แม้จิมมี่จะมีทรัพย์ที่อาจถูกบังคับคดีอยู่ในราชอาณาจักร ก็ไม่อาจจะเสนอคำฟ้องต่อศาลตามมาตรา 4 ตรี วรรคสองได้

            ดังนั้น เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงประกอบหลักกฎหมายข้างต้น พอลจึงไม่สามารถฟ้องเรียกเงินมัดจำคืนจากจิมมี่ตามสัญญาจะซื้อจะขายต่อศาลไทยได้เลย

            สรุป พอลจะฟ้องจิมมี่ยังศาลไทยไม่ได้

 

 

ข้อ 3. โจทก์ฟ้องว่าจำเลยรับฝากสินค้าปุ๋ยของโจทก์ไว้ในคลังสินค้าของจำเลย จำเลยหาได้ใช้ความระมัดระวังและฝีมือเพื่อสงวนรักษาปุ๋ยของโจทก์เหมือนเช่นวิญญูชนพึงปฏิบัติเป็นเหตุให้ปุ๋ยของโจทก์ถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหาย จำเลยให้การว่าได้ใช้ความระมัดระวังดูแลแล้วจำเลยไม่ต้องรับผิดขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งว่า โจทก์จำนำสินค้าที่ฝากไว้กับจำเลยแต่โจทก์ไม่ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยขอให้บังคับโจทก์ชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ดังนี้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฟ้องแย้งของจำเลยหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

            หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

            มาตรา 177 วรรคสาม จำเลยจะฟ้องแย้งมาในคำให้การก็ได้ แต่ถ้าฟ้องแย้งนั้นเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมแล้ว ให้ศาลสั่งให้จำเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก

            มาตรา 179 วรรคท้าย แต่ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายใดเสนอคำฟ้องใดต่อศาล ไม่ว่าโดยวิธีฟ้องเพิ่มเติมหรือฟ้องแย้ง ภายหลังที่ได้ยื่นคำฟ้องเดิมต่อศาลแล้ว เว้นแต่คำฟ้องเดิมและคำฟ้องภายหลังนี้จะเกี่ยวข้องกัน

            วินิจฉัย

            ในการพิจารณาว่าเป็นฟ้องแย้งหรือไม่ จะต้องพิจารณาว่าคำฟ้องดังกล่าวประกอบด้วยหลักเกณฑ์สำคัญ 3 ประการดังต่อไปนี้หรือไม่

1.         ต้องมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่

2.         ต้องมีฟ้องเดิม

3.         ฟ้องแย้งนั้นเกี่ยวกับฟ้องเดิม

กรณีตามอุทาหรณ์ ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฟ้องแย้งของจำเลยไว้พิจารณาหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยรับฝากสินค้าปุ๋ยของโจทก์ไว้ในคลังสินค้าของจำเลยแล้วไม่สงวนรักษาเช่นวิญญูชนจนปุ๋ยเสียหายขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย จึงถือว่าฟ้องเดิมเป็นเรื่องความรับผิดของผู้รับฝากทรัพย์ ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยเป็นเรื่องโจทก์ผิดสัญญาจำนำ แม้จะได้ความว่าทรัพย์ที่รับฝากและทรัพย์ที่จำนำและเป็นทรัพย์รายเดียวกันก็ตามแต่เมื่อมูลเหตุอันเป็นรากฐานในการก่อให้เกิดการโต้แย้งสิทธิหรือมูลเหตุให้ใช้สิทธิเรียกร้องเพื่อให้รับผิดตามฟ้องและฟ้องแย้งนั้น ต่างอาศัยมูลเหตุของสัญญาต่างกัน กรณีเช่นนี้ จึงถือว่าฟ้องแย้งเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ทั้งฟ้องแย้งเกี่ยวกับจำนำเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังการฝากทรัพย์แล้วจึงไม่เกี่ยวพันกัน อันพอที่จะรวมการพิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีเข้าด้วยกันได้ ตามมาตรา 177 วรรคสาม ประกอบมาตรา 179 วรรคท้าย ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยไว้พิจารณา (ฎ. 2864/2541)

            สรุป ศาลชั้นต้นชอบจะสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลย

 

 

ข้อ 4. โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยพร้อมรื้อสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยปลูกสร้างในที่ดินอันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลยกฟ้อง คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาผู้ร้องสอดเข้ามาในคดีอ้างว่าที่ดินที่โจทก์และจำเลยพิพาทกันเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง ผู้ร้องให้โจทก์และจำเลยอาศัยทำประโยชน์ ขอให้ศาลพิพากษาขับไล่โจทก์และจำเลยออกจากที่ดินพิพาท จำเลยให้การต่อสู้กรรมสิทธิ์ แต่โจทก์ขาดนัดยื่นคำให้การ ผู้ร้องขอให้ศาลพิพากษาและชี้ขาดให้ผู้ร้องชนะคดี โดยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลพิเคราะห์คำร้องสอดของผู้ร้องแล้วมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย จึงสั่งให้ผู้ร้องนำพยานเข้าสืบโดยกำหนดวันนัดสืบพยานพร้อมกันทุกคดีถึงวันสืบพยานโจทก์จำเลยและผู้ร้องสอดไม่มาศาล ศาลสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ  ดังนี้คำสั่งจำหน่ายคดีของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคำตอบ

            หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

            มาตรา 198 ทวิ วรรคสอง วรรคสี่และวรรคห้า เพื่อประโยชน์ในการพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดีตามวรรคหนึ่ง ศาลอาจสืบพยานเกี่ยวกับข้ออ้างของโจทก์หรือพยานหลักฐานอื่นไปฝ่ายเดียวตามที่เห็นว่าจำเป็นก็ได้ แต่ในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคล สิทธิในครอบครัวหรือคดีพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียว และศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่เห็นว่าจำเป็น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม

            ถ้าจำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การไม่มาศาลในวันสืบพยานตามมาตรานี้ มิให้ถือว่าจำเลยนั้นขาดนัดพิจารณา

            ถ้าโจทก์ไม่นำพยานหลักฐานมาสืบตามความในมาตรานี้ภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด ให้ถือว่าคดีของโจทก์ไม่มีมูล และให้ศาลยกฟ้องของโจทก์

            มาตรา 200 วรรคแรก ภายใต้บังคับมาตรา 198 ทวิและมาตรา 198 ตรี ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่มาศาลในวันสืบพยานและไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ให้ถือว่าคู่ความฝ่ายนั้นขาดนัดพิจารณา

            มาตรา 201 ถ้าคู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณา ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความ

            วินิจฉัย

            กรณีตามอุทาหรณ์ โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท จำเลยให้การต่อสู้กรรมสิทธิ์คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณา ผู้ร้องสอดเข้ามาในคดีโดยอ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องเข้าเป็นคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง ตามมาตรา 57(1) ในฐานะโจทก์ โจทก์และจำเลย (เดิม) จึงตกเป็นจำเลยในคดีร้องสอด ซึ่งต้องยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ปรากฏข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลย (เดิม) ยื่นคำให้การ ส่วนโจทก์ (เดิม) ขาดนัดยื่นคำให้การ ผู้ร้องสอดได้ขอให้ศาลพิพากษาชี้ขาดให้ผู้ร้องเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลพิเคราะห์คำร้องสอดแล้วเห็นว่ามีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย จึงให้ผู้ร้องนำพยานเข้าสืบ เนื่องจากเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา 198 ทวิ วรรคสอง

            ในวันสืบพยานโจทก์ จำเลย และผู้ร้องสอดไม่มาศาล กรณีเช่นนี้ คำสั่งศาลที่สั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น แยกพิจารณาดังนี้

            ในคดีเดิมระหว่างโจทก์และจำเลยนั้นชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 201 ประกอบมาตรา 200 วรรคแรก เพราะเป็นกรณีที่คู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณา และคดีระหว่างผู้ร้องสอดกับจำเลย (เดิม) ที่ยื่นคำให้การก็ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 201 ประกอบมาตรา 200 วรรคแรก เช่นกัน

            ส่วนคดีระหว่างผู้ร้องสอดกับโจทก์เดิม (เดิม) ซึ่งเป็นจำเลยในคดีร้องสอดนั้น เมื่อได้ความว่า โจทก์ (ผู้ร้องสอด) ไม่มาศาลในวันสืบพยาน กรณีเช่นนี้ ถือว่าโจทก์ไม่นำพยานหลักฐานมาสืบภายในเวลาที่ศาลกำหนด ศาลต้องยกฟ้องโจทก์ ตามมาตรา 198 ทวิ วรรคห้า ทั้งการที่โจทก์ (เดิม) ซึ่งเป็นจำเลยในคดีร้องสอดขาดนัดยื่นคำให้การไม่มาศาลในวันสืบพยานก็จะถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 198 ทวิ วรรคสี่ ที่ว่า ถ้าจำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การไม่มาศาลในวันสืบพยานตามมาตรานี้ มิให้ถือว่าจำเลยนั้นขาดนัดพิจารณา ดังนั้น การที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีในส่วนนี้ ตามมารตรา 201 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมิใช่กรณีที่คู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณา

            สรุป คำสั่งจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมาย เฉพาะคดีเดิมระหว่างโจทก์และจำเลยและคดีระหว่างผู้ร้องสอดกับจำเลย

            ส่วนคดีผู้ร้องสอดกับโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement