การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2553
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3005 กฎหมายวีพิจารณาความแพ่ง
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. โตมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดลำปาง ใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ โตเป็นลูกจ้างใหญ่ได้ขับรถยนต์บรรทุกสินค้าของใหญ่ในทางการที่จ้างด้วยความประมาทเลินเล่อ ชนท้ายรถยนต์น้อยได้รับความเสียหาย และนิดนั่งมาในรถยนต์ได้รับบาดเจ็บ โดยเหตุละเมิดรถชนกันที่จังหวัดเชียงรายน้อยและนิดร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องโตและใหญ่เป็นจำเลยที่ศาลจังหวัดลำปาง โตจำเลยที่ 1 ให้การว่าโจทก์ทั้งสองต่างเรียกร้องค่าเสียหายเป็นคนละส่วนแยกต่างหากจากกัน จึงไม่มีอำนาจฟ้องรวมกันมาในคดีเดียวกัน ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2มิได้มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดลำปาง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ต่อศาลที่จังหวัดลำปาง ศาลที่จังหวัดลำปางรับฟ้องของโจทก์ทั้งสองไว้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนี้ ข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 4 “เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น
(1) คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่”
มาตรา 5 “คำฟ้องหรือคำร้องขอซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะภูมิลำเนาของบุคคลก็ดี เพราะที่ตั้งของทรัพย์สินก็ดี เพราะสถานที่ที่เกิดมูลคดีก็ดี หรือเพราะมีข้อหาหลายข้อก็ดี ถ้ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์หรือผู้ร้องจะเสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลใดศาลหนึ่งเช่นว่านั้นก็ได้
มาตรา 59 “บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป อาจเป็นคู่ความในคดีเดียวกันได้ โดยเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วม ถ้าหากปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี แต่ห้ามมิให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกัน เว้นแต่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ หรือได้มีกฎหมายบัญญัติไว้ ดังนั้นโดยชัดแจ้ง ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกันเพียงเท่าที่จะกล่าวต่อไปนี้…”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่น้อยและนิดได้รับความเสียหายจากการทำละเมิดของโต ถือว่าน้อยและนิดมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี ดังนั้นน้อยและนิดจึงเป็นโจทก์ร่วมกันฟ้องโตและใหญ่เป็นจำเลยร่วมกันได้ เพราะโตและใหญ่มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีเช่นเดียวกันตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 59
โดยปกติการฟ้องคดีนั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4(1) โจทก์จะต้องฟ้องจำเลยต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลนั้น แต่ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 5 ได้บัญญัติไว้ว่าคำฟ้องซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะภูมิลำเนาของบุคคล หรือเพราะสถานที่ที่เกิดมูลคดี ถ้ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกันโจทก์จะเสนอคำฟ้องต่อศาลใดศาลหนึ่งก็ได้
ดังนั้น ตามอุทาหรณ์ การที่โตมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดลำปาง แต่ใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อโตและใหญ่มีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี คือมีมูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน น้อยและนิดในฐานะโจทก์ร่วมจึงสามารถเสนอคำฟ้องต่อศาลใดศาลหนึ่งก็ได้ กล่าวคือน้อยและนิดโจทก์ร่วมสามารถฟ้องโตและใหญ่ต่อศาลที่จังหวัดลำปางหรือที่จังหวัดเชียงใหม่ก็ได้ ดังนั้นการที่น้อยและนิดร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องโตและใหญ่เป็นจำเลยที่ศาลจังหวัดลำปาง และการที่ศาลจังหวัดลำปางได้รับฟ้องของโจทก์ทั้งสองไว้จึงชอบด้วยกฎหมาย ข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสองจึงฟังไม่ขึ้น
สรุป ข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ข้อ 2. คดีแพ่งโจทก์ฟ้องจำเลยอ้างว่า จำเลยเป็นลูกหนี้เงินกู้โจทก์ จำเลยผิดนัดชำระหนี้ ขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์ ก่อนจำเลยยื่นคำให้การ นายเอกเป็นผู้ค้ำประกันหนี้รายนี้ ได้ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมพร้อมกับยื่นคำให้การเข้ามาว่าฟ้องโจทก์ก็เคลือบคลุม และหนี้กู้ยืมระงับไปโดยการแปลงหนี้ใหม่ ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้นายเอกเข้าเป็นจำเลยร่วมได้ และสั่งรับคำให้การของจำเลยร่วม ส่วนจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ยื่นคำแถลงคัดค้านว่าผู้ร้องสมัครใจเข้าเป็นจำเลยร่วมตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57(2) เมื่อจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การจำเลยร่วมจะยื่นคำให้การไม่ได้ เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 58 วรรคสอง ดังนี้ คำแถลงคัดค้านของโจทก์ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 57 “บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด
(2) ด้วยความสมัครใจเองเพราะตนมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้น โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลไม่ว่าเวลาใดๆก่อนมีคำพิพากษา ขออนุญาตเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมหรือเข้าแทนที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียทีเดียวโดยได้รับความยินยอมของคู่ความฝ่ายนั้น แต่ว่าแม้ศาลจะได้อนุญาตให้เข้าแทนที่กันได้ก็ตาม คู่ความฝ่ายนั้นจำต้องผูกพันตนโดยคำพิพากษาของศาลทุกประการเสมือนหนึ่งว่ามิได้มีการเข้าแทนที่กันเลย”
มาตรา 58 วรรคสอง “ห้ามมิให้ผู้ร้องสอดที่ได้เป็นคู่ความตามอนุมาตรา (2) แห่งมาตราก่อนใช้สิทธิอย่างอื่น นอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่คู่ความฝ่ายซึ่งตนเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมในชั้นพิจารณาเมื่อตนร้องสอด และห้ามมิให้ใช้สิทธิเช่นว่านั้นในทางที่ขัดกับสิทธิของโจทก์หรือจำเลยเดิม และให้ผู้ร้องสอดเสียค่าฤชาธรรมเนียมอันเกิดแต่การที่ร้องสอด แต่ถ้าศาลได้อนุญาตให้เข้าแทนที่โจทก์หรือจำเลยเดิม ผู้ร้องสอดจึงมีฐานเสมอด้วยคู่ความที่ตนเข้าแทน
วินิจฉัย
การที่บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความได้ร้องสอดเข้าเป็นคู่ความด้วยความสมัครใจเองตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57(2) นั้น มาตรา 58 วรรคสอง ได้บัญญัติไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ร้องสอดนั้นใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่คู่ความที่ตนขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วม และจะใช้สิทธิขัดกับสิทธิของโจทก์หรือจำเลยเดิมไม่ได้เช่นเดียวกัน แต่บทบัญญัติต้องห้ามดังกล่าว จะต้องพิจารณาในขณะที่ผู้นั้นเข้าเป็นคู่ความร่วมว่าคู่ความเดิมมิสิทธิอย่างไร และได้ใช้สิทธิไว้ก่อนหรือไม่อย่างไรด้วย
กรณีตามอุทาหรณ์ นายเอกได้ยื่นคำร้องเข้ามาเป็นจำเลยร่วมพร้อมกับคำให้การเข้ามาก่อนที่จะครบกำหนดระยะเวลาที่จำเลยจะยื่นคำให้การและจำเลยยังไม่ได้ยื่นคำให้การ เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้นายเอกผู้ร้องเข้ามาเป็นจำเลยร่วม จึงต้องถือว่าจำเลยร่วมได้ใช้สิทธิของจำเลยที่มีอยู่ขณะที่ตนร้องสอดเข้ามา และเมื่อปรากฏต่อศาลว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ จึงไม่มีกรณีที่จะถือว่าข้อต่อสู้ตามคำให้การของจำเลยร่วมเป็นไปในทางที่ขัดกับสิทธิของจำเลยเดิมแต่อย่างใด ดังนั้นคำแถลงคัดค้านของโจทก์ที่ว่า เมื่อจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การจำเลยร่วมจะยื่นคำให้การไม่ได้เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 58 วรรคสอง นั้นจึงฟังไม่ขึ้น
สรุป คำแถลงคัดค้านของโจทก์ ฟังไม่ขึ้น
ข้อ 3. โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองดำเนินการเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินพิพาทเนื้อที่ 2 ไร่ ที่มีชื่อจำเลยทั้งสองเป็นผู้ครองครอง โดยอ้างว่าเป็นที่ดินของโจทก์และเป็นที่ดินมรดกของนายไพรัชสามีโจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทน การแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองให้การว่าซื้อที่ดินพิพาทมาจากนายช่วยเจ้าของเดิมขอให้ยกฟ้อง ข้อเท็จจริงได้ความว่า เดิมนายช่วงเคยฟ้องขับไล่นายไพรัชสามีโจทก์ออกจากที่ดินพิพาทศาลในคดีนั้นพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของนายช่วง ห้ามโจทก์และบริวารเข้ายุ่งเกี่ยว ต่อมาจำเลยทั้งสองได้ซื้อที่ดินพิพาทแปลงนี้จากนายช่วง จำเลยทั้งสองในคดีนี้ขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย ท่านเห็นว่า คดีนี้ศาลจะสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาตามคำร้องของจำเลยทั้งสองได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 24 “เมื่อคู่ความฝ่ายใดยกปัญหาข้อกฎหมายขึ้นอ้าง ซึ่งถ้าหากได้วินิจฉัยให้เป็นคุณแก่ฝ่ายนั้นแล้ว จะไม่ต้องมีการพิจารณาคดีต่อไปอีก หรือไม่ต้องพิจารณาประเด็นสำคัญแห่งคดีบางข้อ หรือถึงแม้จะดำเนินการพิจาณาประเด็นข้อสำคัญแห่งคดีไปก็ไม่ทำให้ได้ความขัดขึ้นอีกแล้ว เมื่อศาลเห็นสมควร หรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอ ให้ศาลมีอำนาจที่จะมีคำสั่งให้มีผลว่าก่อนดำเนินการพิจารณาต่อไป ศาลจะได้พิจารณาปัญหาข้อกฎหมายเช่นว่านี้ แล้ววินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหานั้น
ถ้าศาลเห็นว่า คำวินิจฉัยชี้ขาดเช่นว่านี้จะทำให้คดีเสร็จไปได้ทั้งเรื่อง หรือเฉพาะแต่ประเด็นแห่งคดีบางข้อ ศาลจะวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาที่กล่าวแล้ว และพิพากษาคดีเรื่องนั้น หรือเฉพาะแต่ประเด็นที่เกี่ยวข้องโดยคำพิพากษาหรือคำสั่งฉบับเดียวกันก็ได้”
มาตรา 145 วรรคแรก “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการอุทธรณ์ฎีกา และการพิจารณาใหม่ คำพิพากษาหรือคำสั่งใดๆ ให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่ง นับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาหรือคำสั่ง จนถึงวันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไข กลับ หรืองดเสีย ถ้าหากมี”
มาตรา 148 “คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน…”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสอง โดยอ้างว่าที่ดินพิพาทนั้นเป็นที่ดินของโจทก์และเป็นที่ดินมรดกของนายไพรัชสามีโจทก์ แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสามีโจทก์เคยถูกฟ้องเป็นจำเลย และศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของนายช่วงโดยห้ามมิให้โจทก์และบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดินพาท คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความ คือนายช่วงและสามีโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความเดิม รวมทั้งยังผูกพันผู้สืบสิทธิของคู่ความเดิมด้วยตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 145 วรรคแรก ซึ่งโจทก์ในคดีนี้ก็คือ ผู้สืบสิทธิของสามีโจทก์ในคดีเดิม และจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทมาจากนายช่วง จึงถือว่าเป็นผู้สืบสิทธิมาจากนายช่วงคู่ความในคดีเดิมด้วย
และเมื่อโจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ดำเนินการเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินพิพาท โดยอ้างว่าเป็นที่ดินของโจทก์ แต่จำเลยทั้งสองให้การว่าซื้อที่ดินพิพาทมาจากนายช่วงเจ้าของเดิมประเด็นแห่งคดีจึงมีว่า โจทก์หรือจำเลยทั้งสองใครเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นประเด็นเดียวกันกับคดีเดิม ดังนั้นฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 148 ศาลต้องยกฟ้องโจทก์ในคดีนี้ (ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 7542/2548)
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อจำเลยทั้งสองในคดีนี้ร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย และเพื่อยุติประเด็นข้อพิพาทในคดี ศาลย่อมมีอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 24
สรุป ศาลมีอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายได้ และต้องยกฟ้องโจทก์ในคดีนี้ เพราะเป็นฟ้องซ้ำ
ข้อ 4. โจทก์ยื่นฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินกู้ยืมจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องในวันที่ 1สิงหาคม 2553 จำเลยมาศาลในวันที่ 13 สิงหาคม 2553 และแถลงยอมรับต่อศาลว่าเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องจริง ศาลได้บันทึกคำแถลงของจำเลยไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา เมื่อครบกำหนดยื่นคำให้การในวันที่ 16 สิงหาคม 2553 จำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การตามแบบพิมพ์ของศาล ศาลได้กำหนดนัดวันสืบพยานโจทก์ในวันที่ 1 ตุลาคม 2553 เมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์จำเลยมาศาล แต่ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีโจทก์โดยไม่สืบพยานโจทก์ ท่านเห็นว่า คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวชอบหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 198 วรรคแรกและวรรคสอง “ถ้าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ให้โจทก์มีคำขอต่อศาลภายในสิบห้าวันนับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยยื่นคำให้การสิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด
ถ้าโจทก์ไม่ยื่นคำขอต่อศาลภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความ”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลย และจำเลยได้มาศาลและแถลงยอมรับต่อศาลว่าเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องจริง ซึ่งศาลได้บันทึกคำแถลงของจำเลยไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ดังนี้ ยังถือไม่ได้รายงานกระบวนพิจารณาฉบับดังกล่าว เป็นคำให้การของจำเลย ดังนั้นเมื่อครบกำหนดยื่นคำให้การ จำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การภายในกำหนด จึงถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 วรรคแรก ในกรณีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ต้องมีคำขอต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยยื่นคำให้การสิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษา หรือคำสั่งชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี ซึ่งในกรณีนี้แม้จำเลยจะแถลงยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องจริง และศาลชั้นต้นสามารถพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องทำการสืบพยานอีกต่อไป ก็ไม่ทำให้โจทก์หมดหน้าที่ที่จะต้องมีคำขอตามบทบัญญัติดังกล่าว ดังนั้นเมื่อโจทก์มิได้มีคำขอ ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของโจทก์ออกจากสารบบความได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 วรรคสอง (ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 911/2548)
สรุป คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีโจทก์โดยไม่สืบพยานโจทก์นั้นชอบด้วยกฎหมาย