การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2552
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง1
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ (คะแนนเต็มข้อละ 25 คะแนน)
ข้อ 1. สักและศุขอยู่กินฉันสามีภริยาแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน มีบุตรด้วยกัน 3 คนคือ เสก สัน และสน ซึ่งมีอายุ 17 ปี 15 ปี และ 14 ปี ตามลำดับ โดยสักได้เลี้ยงดูและรับรองว่าทั้งสามคนเป็นบุตร วันหนึ่งสักได้ขี่รถจักรยานยนต์ไปทำงานตามปกติ ระหว่างทางถูกรถยนต์ซึ่งดำขับมาชนจนถึงแก่ความตาย เสกโดยศุขมารดาได้เป็นโจทก์ฟ้องคดีหนึ่งเป็นจำเลยเรียกค่าปลงศพ ค่าขาดไร้อุปกระและค่าเสียหายของรถจักรยนต์เป็นคดีที่หนึ่ง ระหว่างที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น
สันและสนโดยศุขมารดาได้เป็นโจทก์ฟ้องดำเป็นจำเลยที่ 1
แดงซึ่งเป็นเจ้าของรถและนายจ้างของดำเป็นจำเลยที่ 2
และบริษัทผู้รับประกันภัยรถยนต์เป็นจำเลยที่ 3
เรียกค่าปลงศพค่าขาดอุปการะและค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์เช่นเดียวกันเป็นคดีที่สอง ต่อมาศาลชั้นต้นในคดีแรกได้พิพากษาให้ดำใช้ค่าปลงศพ ค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์ และค่าขาดไร้อุปการะให้แก่เสก สัน และสน จำเลยทั้งสามในคดีที่สองต่อสู้ว่า สันและสนได้รับค่าขาดอุปการะตามคำพิพากษาในคดีที่หนึ่งแล้ว
และการฟ้องคดีของสันและสนในคดีที่สองเป็นฟ้องซ้ำขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง ท่านเห็นด้วยกับคำให้การของจำเลยทั้งสามในคดีที่สองหรือไม่
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 144 เมื่อศาลใดมีคำพิพากษา หรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือในประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยแล้วนั้น…
มาตรา 145 วรรคแรก ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการอุทธรณ์ฎีกา และการพิจารณาใหม่ คำพิพากษาหรือคำสั่งใดๆ ให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือคำสั่ง นับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาหรือคำสั่ง จนถึงวันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย ถ้าหากมี
มาตรา 148 คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน…
มาตรา 173 วรรคสอง นับแต่เวลาที่ได้ยื่นฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณา และผลแห่งการนี้
(1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกัน หรือต่อศาลอื่นและ…
วินิจฉัย
การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำมีบัญญัติไว้ในมาตรา 144 ซึ่งประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้
1. ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องทำในศาลนั้นเอง
2. ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำในศาลนั้น อันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว
3. เป็นคู่ความเดียวกันกับคู่ความในคดีเดิม
4. ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดไปแล้ว
การฟ้องซ้ำมีบัญญัติไว้ในมาตรา 148 ซึ่งประกอบด้วยหลักเกณฑ์ดังนี้
1. คดีนั้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว
2. คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นจะต้องถึงที่สุด
3. ห้ามคู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก
4. ห้ามเฉพาะประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยไปแล้ว
5. ประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยไปแล้วโดยอาศัยเหตุใด ก็ห้ามฟ้องเฉพาะอ้างเหตุนั้นอีก
กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า สันและสนได้รับค่าขาดไร้อุปการะตามคำพิพากษาในคดีที่หนึ่งแล้วหรือไม่ เห็นว่า การที่เสกฟ้องคดีในฐานะบุตรของผู้ตายเรียกค่าเสียหายที่เกิดจากการกระทำละเมิดของดำ สำหรับค่าปลงศพและค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์ถือว่าเป็นการฟ้องเพื่อประโยชน์ของทายาทผู้ตายทุกคนรวมทั้งสันและสนด้วย ส่วนค่าขาดไร้อุปการะนั้นถือเป็นสิทธิเฉพาะตัวของทายาทแต่ละคนที่ได้รับความเสียหายและตามคำฟ้องในคดีที่หนึ่งก็ไม่ปรากฏว่าเสกฟ้องแทนสันและสนด้วย แม้ต่อมาศาลชั้นต้นจะพิพากษาให้ดำใช้ค่าขาดไร้อุปการะของสันและสน ก็เป็นการพิพากษาคดีโดยไม่ชอบไม่ผูกพันสันและสน ซึ่งไม่ใช่คู่ความในคดีดังกล่าวตามมาตรา 145 ดังนั้น สันและสนสามารถใช้สิทธิของตนฟ้องคดีนี้ได้
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า การฟ้องคดีของสันและสนในคดีที่สองเป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ เห็นว่า เมื่อได้ความว่าขณะที่สันและสนฟ้องดำเป็นจำเลยที่ 1 เรียกค่าปลงศพ ค่าขาดไร้อุปการะและค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์ อันเป็นเรื่องเดียวกันกับคดีแรกที่เสกฟ้องดำและคดีแรกอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีระหว่างสันและสนกับดำ ในส่วนของการเรียกค่าปลงศพและค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์จึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามมาตรา 173 วรรคสอง (1)
เมื่อต่อมาศาลชั้นต้นได้พิพากษาในคดีที่หนึ่งให้ดำใช้ค่าปลงศพและค่าเสียหายของจักรยานยนต์แก่เสก อันเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นเรื่องค่าปลงศพและค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์เรื่องเดียวกันกับคดีที่สันและสนฟ้อง ฟ้องของสันและสนเกี่ยวกับดำในประเด็นดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตามมาตรา 144 ไม่ใช่ฟ้องซ้ำ สันและสนคงฟ้องดำได้เฉพาะประเด็นเรื่องค่าขาดไร้อุปการะเท่านั้น
แต่สำหรับแดงและบริษัทผู้รับประกันภัย ศาลชั้นต้นยังไม่ได้มีคำพิพากษาให้ทั้งคู่ความต้องร่วมกับดำรับผิดในค่าปลงศพ ค่าขาดไร้อุปการะและค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์หรือไม่เพียงใด ทั้งแดงและบริษัทประกันภัยก็ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีที่หนึ่ง คดีในส่วนของแดงและบริษัทประกันภัยจึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ (ฎ. 3341/2548)
สรุป สันและสนยังไม่ได้รับค่าขาดไร้อุปการะตามคำพิพากษาในคดีที่หนึ่ง สันและสนจึงสามารถใช้สิทธิของตนฟ้องคดีนี้ได้ และการฟ้องคดีของสันและสนเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ไม่ใช่ฟ้องซ้ำ
ข้อ 2. โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลแขวงพระนครเหนือว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ 100,000 บาท ในเขตศาลแขวงธนบุรี จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คซึ่งมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเงิน 50,000 บาท มอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้ เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินในเขตศาลแขวงพระนครเหนือ ขอให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เงินตามสัญญา 100,000บาท และจำเลยทั้งสองชำระเงินตามเช็ค 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
ให้วินิจฉัยว่า หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยทั้งสองมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลแขวงธนบุรี ศาลแขวงพระนครเหนือจะรับคดีนี้ไว้พิจารณาได้หรือไม่
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 4 เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น
(1) คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่
มาตรา 5 คำฟ้องงหรือคำร้องขอซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะภูมิลำเนาของบุคคลก็ดี เพราะที่ตั้งของทรัพย์สินก็ดี เพราะสถานที่ที่เกิดมูลคดีก็ดี หรือเพราะมีข้อหาหลายข้อหาก็ดี ถ้ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์หรือผู้ร้องจะเสนอคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลใดศาลหนึ่งเช่นว่านั้นก็ได้
วินิจฉัย
การฟ้องร้องเรียกหนี้เหนือบุคคล ต้องฟ้องต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลตามมาตรา 4(1) ซึ่งคำว่า “มูลคดีเกิด” หมายถึง ต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้เกิดอำนาจฟ้อง
กรณีตามอุทาหรณ์ ความรับผิดชอบของจำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเช็ค และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สลักหลังเช็คได้เกิดมีขึ้นเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ดังนั้น สถานที่เช็คพิพาทถูกปฏิเสธการจ่ายเงิน ย่อมเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดขึ้นด้วย เมื่อธนาคารตามเช็คที่ถูกปฏิเสธการจ่ายเงินตั้งอยู่ในเขตศาลแขวงพระนครเหนือ กรณีย่อมถือได้ว่ามูลคดีตั๋วเงินนี้เกิดขึ้นในเขตศาลแขวงพระนครเหนือ (ฎ. 5577/2550)
ส่วนมูลคดีหนี้กู้ยืมเงินนั้น แม้จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ในเขตศาลแขวงธนบุรี ซึ่งถือว่ามูลหนี้กู้ยืมเงินเกิดขึ้นในเขตศาลแขวงธนบุรีก็ตาม แต่ในคดีหนึ่งมูลคดีอาจเกิดขึ้นได้หลายแห่งได้ สถานที่ที่เช็คพิพาทถูกปฏิเสธการจ่ายเงินอยู่ในเขตศาลแขวงพระนครเหนือ สถานที่ดังกล่าวย่อมเป็นสถานที่ที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดและผิดสัญญาในการชำระหนี้กู้ยืมเงินด้วย จึงต้องถือว่ามูลคดีกู้ยืมเงินเกิดขึ้นในเขตศาลแขวงพระนครเหนือด้วย (ฎ. 6508/2547)
คดีนี้ โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองโดยมีมูลคดีตั๋วเงินและมูลคดีกู้ยืมเงินซึ่งคดีที่มีข้อหาหลายข้อหา หากจำเลยที่ 2 ชำระหนี้ในมูลคดีตั๋วเงิน ก็จะทำให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ในมูลคดีกู้ยืมเงินน้อยลง เพราะหนี้กู้ยืมเงินระงับบางส่วน มูลคดีตั๋วเงินและมูลคดีกู้ยืมเงินจึงมีมูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน เมื่อโจทก์เสนอคำฟ้องจำเลยที่ 1 ในมูลคดีกู้ยืมเงินและเสนอคำฟ้องจำเลยทั้งสองในมูลคดีตั๋วเงิน ศาลแขวงพระนครเหนือจึงรับไว้พิจารณาได้ตามมาตรา 5 ทั้งนี้ แม้จำเลยทั้งสองจะมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลแขวงธนบุรีก็ตาม (ฎ. 7917/2549)
สรุป ศาลแขวงพระนครเหนือรับคดีไว้พิจารณาได้
ข้อ 3. โจทก์ฟ้องต่อศาลแพ่งว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินจากโจทก์ 500,000 บาท มีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อครบกำหนดชำระหนี้จำเลยทั้งสองไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่าจำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์เพียง 50,000บาท แต่โจทก์กรอกเงินในสัญญากู้เงินเป็น 500,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 ไม่ยินยอมสัญญากู้เงินจึงเป็นเอกสารปลอม หากโจทก์นำสัญญากู้เงินดังกล่าวไปเปิดเผยต่อบุคคลภายนอกที่ไม่ทราบข้อเท็จจริงย่อมทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายได้รับการดูถูกว่าเป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่ยอมชำระหนี้ขอให้บังคับโจทก์รับชำระเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง ศาลแพ่งจะรับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ไว้พิจารณาได้หรือไม่
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 177 วรรคสาม จำเลยจะฟ้องแย้งมาในคำให้การก็ได้ แต่ถ้าฟ้องแย้งนั้นเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมแล้ว ให้ศาลสั่งให้จำเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก
มาตรา 179 วรรคท้าย แต่ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายใดเสนอคำฟ้องใดต่อศาล ไม่ว่าโดยวิธีฟ้องเพิ่มเติมหรือฟ้องแย้ง ภายหลังที่ได้ยื่นคำฟ้องเดิมต่อศาลแล้ว เว้นแต่คำฟ้องเดิมและคำฟ้องภายหลังนี้จะเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้
วินิจฉัย
ในการพิจาณาว่าเป็นฟ้องแย้งหรือไม่ จะต้องพิจารณาว่าคำฟ้องดังกล่าวประกอบด้วยหลักเกณฑ์สำคัญ 3 ประการดังต่อไปนี้หรือไม่
1. ต้องมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่
2. ต้องมีฟ้องเดิม
3. ฟ้องแย้งนั้นต้องเกี่ยวกับฟ้องเดิม
กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ศาลแพ่งจะรับฟ้องแย้งของจำเลยที่1 ไว้พิจารณาได้หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่1 ให้การต่อสู้ว่าจำเลยที่1 กู้เงินโจทก์เพียง 50,000 บาท แต่โจทก์กรอกเงินในสัญญากู้เป็น 500,000บาท โดยจำเลยที่ 1 ไม่ยินยอม สัญญากู้เงินจึงเป็นเอกสารปลอมนั้น หากข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่จำเลยที่ 1 อ้างก็ย่อมมีผลให้สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายและศาลย่อมนำมาเป็นเหตุยกฟ้องได้อยู่แล้ว จำเลยที่ 1 ไม่จำเป็นต้องฟ้องแย้ง ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินตามสัญญากู้ยืมตามที่จำเลย 1 กล่าวอ้าง
ทั้งกรณีไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ส่งมอบสัญญากู้เงินปลอมแก่จำเลยที่1 เพื่อไปทำลายตามฟ้องแย้งของจำเลยที่1 เช่นกัน เพราะสัญญากู้เงินดังกล่าวเป็นเอกสารของโจทก์และโจทก์ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายต้องส่งมอบให้จำเลยที่ 1 เพื่อนำไปทำลาย การที่โจทก์อาจนำสัญญากู้เงินดังกล่าวไปเปิดเผยต่อบุคคลภายนอกโดยที่บุคคลภายนอกไม่ทราบข้อเท็จจริงซึ่งทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายได้รับการดูถูกว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวก็มิใช่เหตุจะยกขึ้นอ้างเพื่อฟ้องแย้งโจทก์ได้ หากจำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายจากการกระทำของโจทก์อย่างไรก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ต้องไปว่ากล่าวอ้างกันอีกส่วนหนึ่ง กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 177 วรรคสาม ประกอบมาตรา 179 วรรคท้าย ที่จำเลยที่ 1 จะฟ้องแย้งโจทก์ได้ (ฎ. 625/2548)
สรุป ศาลแพ่งต้องไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ไว้พิจารณาพิพากษา
ข้อ 4. โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ 2 ให้รับผิดตามสัญญาค้ำประกันจำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลจึงพิพากษาให้จำเลยทั้งสองแพ้คดีและให้ส่งคำบังคับให้แก่จำเลยทั้งสอง โดยปิดประกาศหน้าศาลเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2552 วันที่ 1 มีนาคม 2552 โจทก์ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี วันที่ 1 เมษายน 2552 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์จำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 3 ตุลาคม 2552 จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ต่างยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่โดยคำขอนี้ได้บรรยายรายละเอียดชัดแจ้งซึ่งเหตุที่ได้ขาดนัดและรวมทั้งข้อคัดค้านคำตัดสิน ชี้ขาดของศาลและเหตุแห่งการยื่นคำขอล่าช้ามาด้วย ให้วินิจฉัยว่าศาลจะมีคำสั่งรับคำร้องขอของจำเลยทั้งสองไว้พิจารณาได้หรือไม่ และจะมีคำสั่งอย่างไร
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 199 จัตวา วรรคแรก คำขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้น ให้ยื่นต่อศาลภายในสิบห้าวันนับจากที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งให้แก่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การ แต่ถ้าศาลได้กำหนดการอย่างใดๆ เพื่อส่งบังคับเช่นว่านี้โดยวิธีส่งหมายธรรมดาหรือวิธีอื่นแทน จะต้องได้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดนั้นแล้วในกรณีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การไม่สามารถยื่นคำขอภายในระยะเวลาที่กำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง แต่กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตามห้ามมิให้ยื่นคำขอเช่นว่านี้เมื่อพ้นกำหนดหกเดือนนับแต่วันที่ได้ยึดทรัพย์หรือได้มีการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยวิธีอื่น
วินิจฉัย
ตามมาตรา 199 จัตวา วรรคแรก กำหนดว่า “คำขอให้พิจารณาคดีใหม่นั้น ให้ยื่นต่อศาลภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาหรือสั่งให้แก่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การ… ในกรณีที่จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การไม่สามารถยื่นคำขอภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ จำเลยนั้นอาจยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่พฤติการณ์นั้นได้สิ้นสุดลง แต่กรณีจะเป็นอย่างไรก็ตามห้ามมิให้ยื่นคำขอเช่นว่านี้ เมื่อพ้นกำหนดหกเดือนนับแต่วันที่ได้ยึดทรัพย์หรือได้มีการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยวิธีอื่น
กรณีตามอุทาหรณ์ กรณีของจำเลยที่ 1 ศาลส่งคำบังคับโดยวิธีปิดหมายในวันที่ 10 มกราคม 2552 ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 25 มกราคม 2552 (15 วัน) จำเลยที่ 1 ต้องยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ภายใน 15 วัน คือ ภายในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2552 หากไม่อาจยื่นได้ภายในระยะเวลาดังกล่าวเพราะมีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ จำเลยที่ 1 ต้องยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ภายในกำหนด 15 วันนับแต่พฤติการณ์ได้สิ้นสุดลงแต่อย่างไรก็ตามห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอเช่นว่านี้เมื่อพ้นกำหนด 6 เดือนนับแต่วันที่ได้ยึดทรัพย์หรือได้มีการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งโดยวิธีอื่น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ถูกยึดทรัพย์เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2552 ครบกำหนด 6 เดือนในวันที่ 1 ตุลาคม 2552 แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2552 จึงพ้นกำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด ศาลไม่อาจรับคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลยที่ 1 ไว้พิจารณาได้ ต้องมีคำสั่งยกคำร้องขอดังกล่าว
สำหรับจำเลยที่ 2 ไม่เคยถูกยึดทรัพย์หรือมีการบังคับคดีมาก่อน ข้อกำหนด 6เดือน จึงไม่ใช้บังคับกับจำเลยที่ 2 เมื่อคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยที่ 2 รายละเอียดและข้อคัดค้านเป็นไปตามกฎหมายกำหนด จึงเป็นคำร้องที่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลจึงต้องมีคำสั่งให้รับคำร้องของจำเลยที่ 2 ไว้พิจารณา (ฎ. 2512/2536)
สรุป ศาลจะมีคำสั่งรับคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่เฉพาะของจำเลยที่ 2 เท่านั้น