การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2558
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1. นายรวยทําสัญญาซื้อบ้านหลังหนึ่งในอําเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี จากนางสาวบราลี ซึ่งมีภูมิลําเนาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยสั่งจ่ายเช็คจํานวนเงิน 3,000,000 บาท และมอบเช็คแก่ นางสาวบราลีที่หวัดอุดรธานี (อยู่ในเขตอํานาจของศาลจังหวัดอุดรธานี) และว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจํากัด ยอดเยี่ยมวิศวกรรม ให้ก่อสร้างบ้านพักอาศัยรวมเป็นเงิน 2,500,000 บาท โดยทําสัญญาว่าจ้าง ณ ที่ทําการของห้างหุ้นส่วนจํากัดยอดเยี่ยมวิศวกรรมที่อําเภอพล จังหวัดขอนแก่น (อยู่ในเขตอํานาจ ของศาลจังหวัดพล) ต่อมาห้างหุ้นส่วนจํากัดยอดเยี่ยมวิศวกรรมทําสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องค่าก่อสร้าง ตามสัญญาจ้างดังกล่าวให้แก่นายศรัณย์ โดยทําสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องกันที่อําเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น (อยู่ในเขตอํานาจของศาลจังหวัดขอนแก่น) ซึ่งเป็นภูมิลําเนาของนายศรัณย์ นายศรัณย์และห้างหุ้นส่วนจํากัดยอดเยี่ยมวิศวกรรมมีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องค่าก่อสร้าง ให้นายรวยทราบแล้ว เมื่อห้างหุ้นส่วนจํากัดยอดเยี่ยมวิศวกรรมได้ก่อสร้างบ้านเสร็จแล้ว นายศรัณย์ มีหนังสือถึงนายรวยขอรับเงินค่าก่อสร้าง นายรวยปฏิเสธการจ่ายเงิน อ้างว่าไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงิน แก่นายศรัณย์ ส่วนนางสาวบราลี เมื่อเช็คถึงกําหนดชําระได้นําเช็คไปเบิกเงินที่ธนาคารตามเช็ค สาขาอําเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ (อยู่ในเขตอํานาจของศาลจังหวัดเชียงใหม่) แต่ธนาคาร ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค
ดังนี้
นางสาวบราลีจะฟ้องนายรวยให้ชําระเงินตามเช็คได้ที่ศาลใด เพราะเหตุใด
นายศรัณย์จะยื่นฟ้องนาย รวยให้ชําระเงินได้ที่ศาลใด เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 4 “เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น
(1) คําฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้น ในเขตศาลไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่”
วินิจฉัย
ตามกฎหมายนั้น การฟ้องเรียกหนี้เหนือบุคลต้องเสนอคําฟ้องต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลนั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 (1) ซึ่งคําว่า “มูลคดี” ก็หมายถึง ต้นเหตุ อันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันทําให้เกิดอํานาจฟ้องนั่นเอง
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
ประเด็นที่ 1 นางสาวบราลีจะฟ้องนายรวยให้ชําระเงินตามเช็คได้ที่ศาลใด
การที่นายรวยได้ทําสัญญาซื้อบ้านหลังหนึ่งในอําเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี จาก นางสาวบราลีซึ่งมีภูมิลําเนาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยสั่งจ่ายเช็คจํานวน 3,000,000 บาท และมอบเช็คแก่ นางสาวบราลีที่จังหวัดอุดรธานี เมื่อเช็คถึงกําหนดชําระ นางสาวบราลีได้นําเช็คไปเบิกเงินที่ธนาคารตามเช็ค สาขาอําเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้น
กรณีดังกล่าว เป็นเรื่องที่โจทก์จะฟ้องจําเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายให้ชําระเงินตามเช็คแก่โจทก์ ซึ่งความรับผิดของจําเลยเกิดขึ้นเมื่อเช็คพิพาทถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ดังนั้นสถานที่ตั้งของธนาคารที่ ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค ย่อมถือว่าเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิด เมื่อธนาคารที่ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คตั้งอยู่ ในเขตอํานาจของศาลจังหวัดเชียงใหม่ นางสาวบราลีจึงฟ้องเรียกเงินตามเช็คจากนายรวยที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 (1)
ประเด็นที่ 2 นายศรัณย์ จะยื่นฟ้องนายรวยให้ชําระเงินได้ที่ศาลใด
การที่นายรวยว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจํากัดยอดเยี่ยมวิศวกรรมให้ก่อสร้างบ้านพักอาศัยรวมเป็นเงิน 2,500,000 บาท โดยทําสัญญาว่าจ้าง ณ ที่ทําการของห้างหุ้นส่วนจํากัดยอดเยี่ยมวิศวกรรมที่อําเภอพล จังหวัดขอนแก่น และต่อมาห้างหุ้นส่วนจํากัดยอดเยี่ยมวิศวกรรมทําสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องค่าก่อสร้างตามสัญญาจ้างดังกล่าว ให้แก่นายศรัณย์ โดยทําสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องกันที่อําเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่นนั้น
กรณีที่มีการทําสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวนั้น ถือว่านายศรัณย์เป็นเพียงผู้รับโอนสิทธิ เรียกร้องค่าก่อสร้างของห้างหุ้นส่วนจํากัดยอดเยี่ยมวิศวกรรม ในอันที่จะบังคับชําระหนี้ตามมูลหนี้เดิมจาก นายรวยแทนห้างหุ้นส่วนจํากัดยอดเยี่ยมวิศวกรรมเท่านั้น เมื่อสัญญาที่เป็นมูลหนี้ให้เกิดการโอนสิทธิเรียกร้อง เกิดขึ้น ณ ที่ทําการของห้างหุ้นส่วนจํากัดยอดเยี่ยมวิศวกรรม และนายรวยปฏิเสธไม่จ่ายเงินค่าก่อสร้างแก่นายศรัณย์ จึงถือว่ามูลเหตุซึ่งเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันทําให้นายศรัณย์มีอํานาจฟ้องเกิดขึ้น ณ ที่ทําการของ ห้างหุ้นส่วนจํากัดยอดเยี่ยมวิศวกรรม ซึ่งอยู่ในเขตอํานาจของศาลจังหวัดพล ดังนั้น นายศรัณย์จึงฟ้องนายรวย ให้ชําระเงินได้ที่ศาลจังหวัดพล ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 (1)
สรุป
นางสาวบราลีจะฟ้องนายรวยให้ชําระเงินตามเช็คได้ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่
นายศรัณย์จะยื่นฟ้องนายรวยให้ชําระเงินได้ที่ศาลจังหวัดพล
ข้อ 2. วันที่ 11 มกราคม 2559 นายสิงห์เป็นโจทก์ฟ้องนายศรเป็นจําเลย ขอให้ศาลพิพากษาขับไล่นายศรและบริวารออกจากที่ดินพิพาทของนายสิงห์ ต่อมานายสิงห์และนายศรทําสัญญาประนีประนอม ยอมความกันโดยนายศรรับว่าเป็นผู้เช่าที่ดินของนายสิงห์และยอมชําระค่าเสียหายแก่นายสิงห์ ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ในชั้นบังคับคดี นายเสื่อยื่นคําร้องขอเข้ามา ในคดีนี้อ้างว่านายเสือไม่ใช่บริวารของนายศร นายศรเป็นตัวแทนของตนกับพวกในการทําสัญญาเช่า ซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าการเช่าธรรมดากับนายสิงห์ เพื่อประกอบกิจการร้านอาหาร แต่นายสิงห์และนายศรสมรู้ร่วมคิดกันฟ้องคดีนี้และทําสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อให้ ศาลออกหมายบังคับคดีทําการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง นายเสือมีสิทธิร้องขอเข้ามาในชั้นบังคับคดีได้ หรือไม่ เพราะเหตุใด หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2559 ระหว่างพิจารณาคดีแรก นายเสือเป็นโจทก์ ฟ้องนายสิงห์และนายศรเป็นจําเลย อ้างว่านายศรทําสัญญาเช่ากับนายสิงห์ในฐานะเป็นตัวแทน ของนายเสือกับพวก ขอให้ศาลพิพากษาเปลี่ยนแปลงชื่อผู้เช่าที่ดินจากนายศรเป็นนายเสือกับพวก ให้นายสิงห์จดทะเบียนการเช่าที่ดินให้ผู้ร้องกับพวกมีกําหนด 5 ปี ศาลชั้นต้นจะสั่งคําร้องขอของ นายเสืออย่างไร เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 57 “บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด
(1) ด้วยความสมัครใจเองเพราะเห็นว่าเป็นการจําเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ โดยยื่นคําร้องขอต่อศาลที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา หรือเมื่อตนมีสิทธิเรียกร้อง เกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคําพิพากษาหรือคําสั่ง โดยยื่นคําร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีนั้น”
มาตรา 173 วรรคสอง “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณา และผลแห่งการนี้
(1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคําฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่นและ…”
วินิจฉัย
ตามกฎหมาย การฟ้องซ้อนมีบัญญัติไว้ในมาตรา 173 วรรคสอง (1) ซึ่งประกอบด้วยหลักเกณฑ์ ดังนี้
1 คดีเดิมอยู่ในระหว่างพิจารณาไม่ว่าจะเป็นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา
2 คู่ความทั้งสองฝ่ายในคดีเดิมและคดีหลังจะต้องเป็นคู่ความเดียวกัน
3 คดีเดิมกับคดีหลังต้องเป็นเรื่องเดียวกัน
4 ห้ามโจทก์ฟ้อง
5 ในศาลเดียวกันหรือศาลอื่น
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสิงห์เป็นโจทก์ฟ้องนายศรเป็นจําเลย ขอให้ศาลพิพากษาขับไล่ นายศรและบริวารออกจากที่ดินพิพาทของนายสิงห์ ต่อมานายสิงห์และนายศรทําสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยนายศรรับว่าเป็นผู้เช่าที่ดินของนายสิงห์ และยอมชําระค่าเสียหายแก่นายสิงห์ ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม ในชั้นบังคับคดี นายเสือยื่นคําร้องขอเข้ามาในคดีนี้โดยอ้างว่า นายเสือไม่ใช่บริวารของนายศร นายศรเป็นตัวแทน ของตนกับพวกในการทําสัญญาเช่าซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าการเช่าธรรมดากับนายสิงห์เพื่อประกอบ กิจการร้านอาหาร แต่นายสิงห์และนายศรสมรู้ร่วมคิดกันฟ้องคดีนี้และทําสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อให้ ศาลออกหมายบังคับคดีทําการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างนั้น
ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ในการบังคับคดีตามคําพิพากษาตามยอมในคดีนี้ ย่อมกระทบต่อสิทธิของนายเสือที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของนายศร ดังนั้น นายเสือจึงมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่อง
ด้วยการบังคับตามคําพิพากษาที่จะยื่นคําร้องสอดเข้ามาในชั้นบังคับคดีได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57 (1) ส่วนในคดีหลังนั้น แม้นายเสือจะมีสิทธิยื่นคําร้องสอด แต่ก่อนยื่นคําร้องสอดคือ ในวันที่ 18 มกราคม 2559 ระหว่างพิจารณาคดีแรก นายเสือฟ้องนายสิงห์และนายศรเป็นจําเลยโดยอ้างว่านายศรทําสัญญาเช่า กับนายสิงห์ในฐานะเป็นตัวแทนของนายเสือกับพวก ขอให้ศาลพิพากษาเปลี่ยนแปลงชื่อผู้เช่าที่ดินจากนายศร เป็นนายเสือกับพวกและให้นายสิงห์จดทะเบียนการเช่าที่ดินให้นายเสือกับพวกมีกําหนด 5 ปีนั้น จะเห็นได้ว่า ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคดีนี้กับที่อ้างในคําร้องสอดมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยอย่างเดียวกันว่า จําเลยเป็นตัวแทนนายเสือกับพวกทําสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาหรือไม่ ดังนั้นคําร้องสอดซึ่ง ถือเป็นคําฟ้องตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 1 ของนายเสือจึงเป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ศาลชั้นต้นจึงต้องสั่งไม่รับคําร้องหรือยกคําร้องของนายเสือ
สรุป
กรณีแรก นายเสือมีสิทธิร้องขอเข้ามาในชั้นบังคับคดีได้
กรณีหลัง ศาลชั้นต้นต้องสั่งไม่รับคําร้องหรือยกคําร้องขอของนายเสือ
ข้อ 3. คดีแรกนายหนึ่งเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสองเป็นจําเลยว่าขับรถด้วยความประมาทชนตนได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลพิพากษาให้นายสองรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย นายสองยื่นคําให้การว่าตนไม่ได้ประมาทแต่ไม่ได้ฟ้องแย้ง ต่อมาระหว่างที่คดีแรกอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น นายสองเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายหนึ่งเป็นจําเลยอีกคดีหนึ่งโดยอาศัยมูลเหตุเดียวกันกับคดีแรกว่านายหนึ่งเป็นฝ่ายขับรถด้วยความประมาทชนตนได้รับความเสียหายขอให้ศาลพิพากษาให้นายหนึ่งรับผิดชดใช้ ค่าเสียหาย นายหนึ่งจึงยื่นคําให้การว่าความประมาทไม่ได้เกิดจากตนขอให้ศาลยกฟ้อง โดยมิได้ มีการฟ้องแย้ง ซึ่งศาลในคดีที่นายสองได้ยื่นฟ้องภายหลังนี้ได้รับฟ้องของนายสองไว้พิจารณาและ มีการพิจารณาพิพากษาเสร็จสิ้นก่อนคดีแรก โดยมีคําพิพากษาว่าความประมาทเกิดจากนายหนึ่ง ให้นายหนึ่งชดใช้ค่าเสียหายแก่นายสอง นายหนึ่งจึงอุทธรณ์คําพิพากษาต่อศาลอุทธรณ์ ภายหลังจากที่ศาลในคดีหลังพิพากษาและนายหนึ่งได้อุทธรณ์แล้ว ศาลในคดีแรกที่นายหนึ่งได้ยื่นฟ้องไว้ จึงมีคําพิพากษาต่อมาว่าความประมาทเกิดจากนายสองให้นายสองชดใช้ค่าเสียหายแก่นายหนึ่ง ให้ท่านวินิจฉัยว่าการที่ศาลรับฟ้องในคดีหลังที่นายสองเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายหนึ่งไว้พิจารณาพิพากษานั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และการที่ศาลในคดีแรกที่นายหนึ่งยื่นฟ้องนายสองมีคําพิพากษานั้น จะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 144 “เมื่อศาลใดมีคําพิพากษา หรือคําสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือในประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิให้ดําเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยแล้วนั้น…”
มาตรา 148 “คดีที่ได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งถึงที่สุดแล้ว ห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้อง ฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน…”
มาตรา 173 วรรคสอง “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคําฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณา และผลแห่งการนี้
(1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคําฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น และ…”
วินิจฉัย
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น กรณีที่จะถือว่าเป็นการดําเนินกระบวน พิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 144 หรือกรณีที่จะถือว่าเป็นการฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 148 หรือกรณี ที่จะถือว่าเป็นการฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) นั้น จะมีองค์ประกอบที่สําคัญ คือ เป็นกรณีที่ คู่ความเดิมได้นํามูลความแห่งคดีเดิมมาฟ้องร้องบังคับคดีกันอีกครั้งหนึ่ง
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
กรณีแรก การที่ศาลรับฟ้องในคดีหลังที่นายสองเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายหนึ่งไว้พิจารณา พิพากษานั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
คดีแรกนายหนึ่งเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสองเป็นจําเลยว่าขับรถด้วยความประมาทชนตนได้รับ ความเสียหาย และนายสองยื่นคําให้การว่าตนไม่ได้ประมาทแต่ไม่ได้ฟ้องแย้ง ต่อมาระหว่างที่คดีแรกอยู่ในระหว่าง พิจารณาของศาลชั้นต้น นายสองได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายหนึ่งเป็นจําเลยอีกคดีหนึ่งโดยอาศัยมูลเหตุเดียวกันกับ คดีแรกว่านายหนึ่งเป็นฝ่ายขับรถด้วยความประมาทชนตนได้รับความเสียหาย และนายหนึ่งได้ยื่นคําให้การว่า ความประมาทไม่ได้เกิดจากตนโดยมิได้มีการฟ้องแย้ง การที่ศาลในคดีที่นายสองได้ยื่นฟ้องภายหลังได้รับฟ้องของ นายสองไว้พิจารณาพิพากษานั้นถือว่าชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้เพราะโจทก์ในคดีแรก (คือนายหนึ่ง) กับโจทก์ใน คดีหลัง (คือนายสอง) เป็นคนละคนกัน ดังนั้นการฟ้องในคดีหลังจึงไม่เป็นการฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบกับในขณะยื่นฟ้องคดีหลัง คดีแรกยังไม่มีคําพิพากษาจึงไม่ถือว่าเป็นการดําเนิน กระบวนพิจารณาซ้ําตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 144 และไม่เป็นการฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 148
กรณีหลัง การที่ศาลในคดีแรกที่นายหนึ่งยื่นฟ้องนายสองมีคําพิพากษานั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
การที่ศาลในคดีหลังได้พิพากษาไปแล้วว่าความประมาทเกิดจากนายหนึ่งให้นายหนึ่งชดใช้ ค่าเสียหายแก่นายสองและนายหนึ่งได้ยื่นอุทธรณ์แล้ว ต่อมาในภายหลังศาลในคดีแรกที่นายหนึ่งได้ยื่นฟ้องไว้จึง มีคําพิพากษาว่าความประมาทเกิดจากนายสองให้นายสองชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายหนึ่งนั้น จะเห็นได้ว่า เมื่อศาล ในคดีหลังได้มีคําพิพากษาแล้ว ศาลในคดีแรกจึงต้องห้ามในการพิพากษาในประเด็นเดิมที่มีการพิพากษา ไปแล้วอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น การที่ศาลในคดีแรกมีคําพิพากษาภายหลังจากที่ศาลในคดีหลังได้พิพากษาไปแล้ว จึงเป็นการดําเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 144 คําพิพากษาของศาลในคดีแรกจึงไม่ชอบ ด้วยกฎหมาย
สรุป
การที่ศาลรับฟ้องในคดีหลังที่นายสองเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายหนึ่งไว้พิจารณาพิพากษานั้น ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนการที่ศาลในคดีแรกที่นายหนึ่งยื่นฟ้องนายสองมีคําพิพากษานั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 4. คดีแพ่งเรื่องหนึ่งโจทก์ฟ้องจําเลยว่าบุกรุกที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยไม่สุจริต จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์ชนะคดีโดยจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ ศาลพิเคราะห์คําฟ้องโจทก์แล้วมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย จึงสั่งให้โจทก์นําพยานเข้าสืบ ในวันสืบพยานโจทก์ โจทก์และจําเลยไม่มาศาล ศาลจึงสั่งจําหน่ายคดีเสียจากสารบบความ ดังนี้ชอบด้วย กฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 198 ทวิ วรรคสี่และวรรคห้า “ถ้าจําเลยที่ขาดนัดยื่นคําให้การไม่มาศาลในวัน สืบพยานตามมาตรานี้ มิให้ถือว่าจําเลยนั้นขาดนัดพิจารณา
ถ้าโจทก์ไม่นําพยานหลักฐานมาสืบตามความในมาตรานี้ภายในระยะเวลาที่ศาลกําหนด ให้ถือว่า คดีของโจทก์ไม่มีมูล และให้ศาลยกฟ้องของโจทก์”
มาตรา 200 วรรคหนึ่ง “ภายใต้บังคับมาตรา 198 ทวิ และมาตรา 198 ตรี ถ้าคู่ความฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งไม่มาศาลในวันสืบพยาน และไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้เลื่อนคดี ให้ถือว่าคู่ความฝ่ายนั้นขาดนัดพิจารณา”
มาตรา 202 “ถ้าโจทก์ขาดนัดพิจารณา ให้ศาลมีคําสั่งจําหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความ เว้นแต่จําเลยจะได้แจ้งต่อศาลในวันสืบพยานขอให้ดําเนินการพิจารณาดีต่อไปก็ให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสิน คดีนั้นไปฝ่ายเดียว”
มาตรา 204 “ถ้าจําเลยขาดนัดพิจารณา ให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียว”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องจําเลยว่าบุกรุกที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยไม่สุจริต จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ โจทก์ขอให้ศาลพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์ชนะคดีโดยจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ ศาลพิเคราะห์ คําฟ้องโจทก์แล้วมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย จึงสั่งให้โจทก์นําพยานเข้าสืบ ในวันสืบพยานโจทก์ โจทก์และจําเลย ไม่มาศาลนั้น ย่อมเกิดผลดังนี้คือ
กรณีของจําเลย การที่จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การไม่มาศาลในวันสืบพยาน มิให้ถือว่าจําเลย ขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคสี่ ซึ่งกรณีเช่นนี้ ศาลจะถือว่าจําเลยขาดนัดพิจารณา แล้วสั่งให้ พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียวตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 204 ไม่ได้
กรณีของโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่มาศาลในวันสืบพยานของตนเอง ถือว่าโจทก์ไม่นําพยานหลักฐาน มาสืบภายในระยะเวลาที่ศาลกําหนด กรณีเช่นนี้ให้ถือว่าคดีของโจทก์ไม่มีมูล และให้ศาลยกฟ้องของโจทก์ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 วรรคห้า ศาลจะถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาแล้วมีคําสั่งจําหน่ายคดีเสียจากสารบบความ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 202 ไม่ได้ เพราะบทบัญญัติเรื่องคู่ความขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 202 นั้น ต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 198 ทวิ (ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 200 วรรคหนึ่ง)
ดังนั้น กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์และจําเลยไม่มาศาลในวันสืบพยานโจทก์นั้น ศาลจะต้อง สั่งว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลและให้ยกฟ้องของโจทก์ จะสั่งจําหน่ายคดีเสียจากสารบบความไม่ได้
สรุป การที่ศาลมีคําสั่งจําหน่ายคดีเสียจากสารบบความ เป็นคําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย