การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2556

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. บริษัท ยานยนต์ จํากัด ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกให้ประกอบการขนส่งด้วยรถยนต์โดยสารในเส้นทางจากจังหวัดอ่างทองถึงจังหวัดสุพรรณบุรีแต่ผู้เดียว นายโชติกับพวกได้นํา รถยนต์โดยสารมารับส่งคนโดยสารทับเส้นทางดังกล่าว เจ้าพนักงานตํารวจท้องที่ได้จับกุมนายโชติ กับพวกมาเปรียบเทียบปรับแล้วปล่อยตัวไป นายโชติกับพวกรวมทั้งลูกจ้างจํานวนหลายสิบคนจึงมา ประท้วงที่สํานักงานตํารวจแห่งชาติ สํานักงานตํารวจแห่งชาติเห็นว่าจะมีปัญหาในเรื่องมวลชนจึง มีคําสั่งให้เจ้าพนักงานตํารวจท้องที่ผ่อนผันการจับกุม นายโชติกับพวกจึงกลับไปและนํารถยนต์โดยสาร รับส่งคนโดยสารเช่นเดิมอีก บริษัท ยานยนต์ จํากัด จึงร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตํารวจท้องที่ขอให้ จับกุมแต่เจ้าพนักงานตํารวจท้องที่ไม่จับกุมอ้างว่ามีคําสั่งของสํานักงานตํารวจแห่งชาติให้ผ่อนผัน การจับกุม บริษัท ยานยนต์ จํากัด จึงฟ้องสํานักงานตํารวจแห่งชาติต่อศาลจังหวัดสุพรรณบุรีว่าคําสั่ง ดังกล่าวผิดต่อกฎหมาย ทําให้โจทก์เสียหายขาดรายได้จากการนี้ ขอให้ศาลเพิกถอนคําสั่งดังกล่าว จําเลยให้การต่อสู้ว่า จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่กรุงเทพมหานคร ศาลจังหวัดสุพรรณบุรีไม่มีอํานาจพิจารณา คดีนี้ และการที่จําเลยมีคําสั่งดังกล่าวเป็นดุลพินิจของจําเลยที่สั่งแก่เจ้าพนักงานตํารวจไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอํานาจฟ้อง ดังนี้ท่านเห็นว่าข้อต่อสู้ของจําเลยฟังได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 4 “เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น

(1) คําฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นใน เขตศาลไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่”

มาตรา 55 “เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือ บุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคติของตนต่อศาลส่วนแห่งที่มีเขตอํานาจได้ ตามบทบัญญัติ แห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้”

วินิจฉัย

การฟ้องเรียกหนี้เหนือบุคคล ต้องฟ้องต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่ มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลตามมาตรา 4 (1) ซึ่งคําว่า “มูลคดีเกิด” หมายถึง ต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิ อันจะทําให้เกิดอํานาจฟ้อง

ตามอุทาหรณ์ เห็นได้ว่า ความเสียหายที่โจทก์ได้รับจากการกระทําของจําเลยนั้นเกิดขึ้นใน เขตจังหวัดอ่างทองและจังหวัดสุพรรณบุรี จึงถือว่ามูลคดีเกิดขึ้นในเขตอํานาจของศาลจังหวัดอ่างทองและศาล จังหวัดสุพรรณบุรี ดังนั้นโจทก์จึงยื่นฟ้องจําเลยต่อศาลจังหวัดสุพรรณบุรีหรือศาลจังหวัดอ่างทองก็ได้ ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 9 (1) ข้อต่อสู้ของจําเลยที่ว่าศาลจังหวัดสุพรรณบุรีไม่มีอํานาจพิจารณาคดีนี้จึงรับฟังไม่ได้

และตามคําฟ้องของโจทก์ที่อ้างว่าคําสั่งของจําเลยมิชอบด้วยกฎหมายทําให้โจทก์เสียหาย เพราะการที่จําเลยมีคําสั่งผ่อนผันการจับกุมนายโชติกับพวกที่นํารถโดยสารมาวิ่งทับเส้นทางของโจทก์อันเป็นการ กระทําที่ผิดกฎหมาย และทําให้โจทก์ผู้ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกแต่ผู้เดียวต้องขาดรายได้ เป็นการสั่ง ที่มีผลให้เจ้าพนักงานตํารวจซึ่งมีหน้าที่จับกุมนายโชติกับพวกละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และก่อให้เกิด ความเสียหายแก่โจทก์นั้น ถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในอันที่จะระงับความเสียหายในการปฏิบัติหน้าที่ ตามกฎหมายของเจ้าพนักงานตํารวจท้องที่ ดังนั้นโจทก์จึงมีอํานาจฟ้องขอให้เพิกถอนคําสั่งของจําเลยได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 ข้อต่อสู้ของจําเลยที่ว่า โจทก์ไม่มีอํานาจฟ้อง จึงรับฟังไม่ได้ สรุป ข้อต่อสู้ทั้งหมดของจําเลยรับฟังไม่ได้

 

ข้อ 2. โจทก์ฟ้องจําเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจําเลยที่ 2 ว่าขับรถยนต์โดยประมาทชนรถยนต์โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นการกระทําละเมิดในทางการที่จ้างของจําเลยที่ 2 กับให้จําเลยที่ 3 ซึ่งเป็น ผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่จําเลยที่ 1 ขับให้ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จําเลยที่ 1 มี ภูมิลําเนาอยู่ที่จังหวัดนครปฐม จําเลยที่ 2 มีภูมิลําเนาอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร เหตุละเมิดเกิดที่จังหวัด สระบุรี โดยโจทก์เสนอคําฟ้องคดีนี้ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ซึ่งเป็นศาลที่จําเลยที่ 3 มีภูมิลําเนา หลังจากศาลมีคําสั่งรับคําฟ้องแล้ว โจทก์ขอถอนฟ้องจําเลยที่ 3 ศาลมีคําสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง และให้จําหน่ายคดีเฉพาะจําเลยที่ 3 จากสารบบความ

ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า ศาลแพ่งกรุงเทพใต้จะมีอํานาจพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีสําหรับจําเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อไปได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 4 “เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น

(1) คําฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้น ในเขตศาล ไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่”

มาตรา 5 “คําฟ้องหรือคําร้องขอซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะ ภูมิลําเนาของบุคคลก็ดี เพราะที่ตั้งของทรัพย์สินก็ดี เพราะสถานที่ที่เกิดมูลคดีก็ดี หรือเพราะมีข้อหาหลายข้อหา ก็ดี ถ้ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์หรือผู้ร้องจะเสนอคําฟ้องหรือคําร้องขอต่อศาลใดศาลหนึ่งเช่นว่านั้นก็ได้”

มาตรา 59 “บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป อาจเป็นคู่ความในคดีเดียวกันได้โดยเป็นโจทก์ร่วม หรือจําเลยร่วม ถ้าหากปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดี แต่ห้ามมิให้ถือว่าบุคคล เหล่านั้นแทนซึ่งกันและกัน เว้นแต่มูลความแห่งคดีเป็นการชําระหนี้ ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ หรือได้มีกฎหมาย บัญญัติไว้ดังนั้นโดยชัดแจ้ง ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกันเพียงเท่าที่จะกล่าวต่อไปนี้

(1) บรรดากระบวนพิจารณาซึ่งได้ทําโดย หรือทําต่อคู่ความร่วมคนหนึ่งนั้นให้ถือว่าได้ทําโดย หรือทําต่อคู่ความร่วมคนอื่น ๆ ด้วย เว้นแต่กระบวนพิจารณาที่คู่ความร่วมคนหนึ่งกระทําไปเป็นที่เสื่อมเสียแก่ คู่ความร่วมคนอื่น ๆ”

มาตรา 176 “การทิ้งคําฟ้องหรือถอนคําฟ้องย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคําฟ้องนั้น รวมทั้ง กระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคําฟ้อง และกระทําให้คู่ความกลับคืนเข้าสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่ง มิได้มีการยื่นฟ้องเลย แต่ว่าคําฟ้องใด ๆ ที่ได้ทิ้งหรือถอนแล้วอาจยืนใหม่ได้ ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมาย ว่าด้วยอายุความ”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องจําเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจําเลยที่ 2 ว่าขับรถยนต์ โดยประมาทชนรถยนต์โจทก์ได้รับความเสียหายอันเป็นการกระทําละเมิดในทางการที่จ้างของจําเลยที่ 2 และให้ จําเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่จําเลยที่ 1 ขับให้ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์นั้น ถือว่า เป็นกรณีที่มีมูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน ดังนั้นโจทก์จึงสามารถฟ้องจําเลยที่ 1 จําเลยที่ 2 และจําเลยที่ 3 เป็น จําเลยร่วมกันได้ เพราะจําเลยทั้งสามคนมีผลประโยชน์ร่วมกันในมูลความแห่งคดีตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 59

โดยปกติการฟ้องคดีนั้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 (1) โจทก์จะต้องฟ้องจําเลยต่อศาลที่จําเลย มีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลนั้น แต่ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 5 ได้บัญญัติไว้ว่า คําฟ้องซึ่งอาจเสนอต่อศาลได้สองศาลหรือกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเพราะภูมิลําเนาของบุคคล หรือเพราะสถานที่ที่เกิด มูลคดี ถ้ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกันโจทก์จะเสนอคําฟ้องต่อศาลใดศาลหนึ่งก็ได้

ดังนั้น เมื่อปรากฏว่า จําเลยทั้งสามมีภูมิลําเนาต่างกัน กล่าวคือ จําเลยที่ 1 มีภูมิลําเนาอยู่ที่ จังหวัดนครปฐม จําเลยที่ 2 มีภูมิลําเนาอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร ส่วนจําเลยที่ 3 มีภูมิลําเนาอยู่ที่กรุงเทพฯ การที่ โจทก์ฟ้องจําเลยทั้งสามยังศาลเดียวกันคือศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ซึ่งเป็นศาลที่จําเลยที่ 3 มีภูมิลําเนา โจทก์ย่อม สามารถฟ้องได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 5 และแม้ว่าต่อมาโจทก็ได้ถอนฟ้องจําเลยที่ 3 และศาลอนุญาตให้ถอนฟ้อง และให้จําหน่ายคดีเฉพาะจําเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ ซึ่งตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 176 ให้ถือเสมือนหนึ่งมิได้มี การยื่นฟ้องเลยนั้น ก็มีผลเฉพาะจําเลยที่ 3 เท่านั้น จะไม่มีผลไปถึงจําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ด้วย ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 59 (1) ดังนั้น ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ จึงมีอํานาจพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีสําหรับจําเลยที่ 1 และจําเลย ที่ 2 ต่อไปได้

สรุป

ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ มีอํานาจพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีสําหรับจําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ต่อไปได้

 

ข้อ 3. นายแจ้งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 123 เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่นายทองให้ออกไปจากที่ดินนายทองจําเลยให้การต่อสู้ว่า ได้ครอบครองที่ดินจนได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมายแล้วขอให้ยกฟ้อง ระหว่างพิจารณา นายดอนยื่นคําร้องสอดว่าผู้ร้องได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทร่วมกับนายทอง จําเลยตลอดมา จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายร่วมกับจําเลย ขอเข้าเป็นจําเลยร่วม โดยนายดอน ยื่นคําให้การและฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจําเลยร่วมโดยการ ครอบครองปรปักษ์ ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า นายดอนจําเลยร่วมจะมีสิทธิฟ้องแย้งโจทก์ได้หรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 57 “บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด

(2) ด้วยความสมัครใจเองเพราะตนมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้น โดยยื่นคําร้องขอ ต่อศาลไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนมีคําพิพากษา ขออนุญาตเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจําเลยร่วมหรือเข้าแทนที่คู่ความฝ่ายใด ฝ่ายหนึ่งเสียทีเดียวโดยได้รับความยินยอมของคู่ความฝ่ายนั้น แต่ว่าแม้ศาลจะได้อนุญาตให้เข้าแทนที่กันได้ก็ตาม คู่ความฝ่ายนั้นจําต้องผูกพันตนโดยคําพิพากษาของศาลทุกประการ เสมือนหนึ่งว่ามิได้มีการเข้าแทนที่กันเลย”

มาตรา 58 วรรคสอง “ห้ามมิให้ผู้ร้องสอดที่ได้เป็นคู่ความตามอนุมาตรา (2) แห่งมาตราก่อนใช้ สิทธิอย่างอื่น นอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่คู่ความฝ่ายซึ่งตนเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจําเลยร่วมในชั้นพิจารณาเมื่อตนร้องสอด และห้ามมิให้ใช้สิทธิเช่นว่านั้นในทางที่ขัดกับสิทธิของโจทก์หรือจําเลยเดิม และให้ผู้ร้องสอดเสียค่าฤชาธรรมเนียม อันเกิดแต่การที่ร้องสอด แต่ถ้าศาลได้อนุญาตให้เข้าแทนที่โจทก์หรือจําเลยเดิม ผู้ร้องสอดจึงมีฐานะเสมอด้วยคู่ความที่ตนเข้าแทน”

วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 58 วรรคสอง ได้กําหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ร้องสอดตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57 (2) ใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่ตนขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจําเลยร่วม และ จะใช้สิทธิขัดกับสิทธิของโจทก์หรือจําเลยเดิมไม่ได้

ตามอุทาหรณ์ การที่นายแจ้งเป็นโจทก์ฟ้องขับไล่นายทองให้ออกไปจากที่ดิน นายทองจําเลย ให้การต่อสู้ว่า ได้ครอบครองที่ดินจนได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมายแล้วขอให้ยกฟ้องนั้น ในระหว่างพิจารณาการที่ นายดอนยื่นคําร้องสอดว่าผู้ร้องได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทร่วมกับนายทองจําเลยตลอดมา และฟ้องแย้งขอให้ ศาลพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจําเลยร่วมโดยการครอบครองปรปักษ์นั้น เห็นได้ว่า นายดอน ได้ร้องสอดเข้าเป็นคู่ความในคดีตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57 (2) คือเข้าเป็นคู่ความร่วมด้วยความสมัครใจ จึงต้องห้ามมิให้ ใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่คู่ความฝ่ายซึ่งตนเข้าเป็นจําเลยร่วมในชั้นพิจารณาเมื่อตนร้องสอดตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 58 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อคําให้การและฟ้องแย้งของจําเลยที่อ้างสิทธิเกี่ยวกับสิทธิครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาท เป็นการยกสิทธิขึ้นมาใหม่นอกเหนือจากคําให้การเดิมของจําเลยซึ่งตนเข้ามาเป็นจําเลยร่วม จึงต้องห้าม ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57 (2) และมาตรา 58 วรรคสอง นายดอนจําเลยร่วมจึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้งโจทก์

สรุป นายดอนไม่มีสิทธิฟ้องแย้งโจทก์

 

ข้อ 4. โจทก์ตกลงให้จําเลยที่ 1 เช่าที่ดินโดยมีจําเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันในสัญญาเช่า มีข้อตกลงกันว่าถ้าผู้เช่าผิดสัญญาให้สิทธิผู้ให้เช่าเข้ายึดถือครอบครองที่ดินที่เช่าได้ทันที ต่อมาโจทก์ฟ้องจําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 อ้างว่าจําเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่า และโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว ขอให้จําเลยทั้งสอง ชําระค่าเช่าที่ดินและค่าเสียหายแก่โจทก์ จําเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์เข้ารื้อถอน ต้นมะพร้าวของจําเลยที่ 1 ออกจากที่ดินที่เช่าเป็นการละเมิดต่อจําเลยที่ 1 ขอให้บังคับโจทก์ชดใช้ค่าต้นมะพร้าวแก่จําเลยที่ 1 ดังนี้ ให้วินิจฉัยว่า เป็นฟ้องแย้งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 177 วรรคสาม “จําเลยจะฟ้องแย้งมาในคําให้การก็ได้ แต่ถ้าฟ้องแย้งนั้นเป็นเรื่องอื่น ไม่เกี่ยวกับคําฟ้องเดิมแล้ว ให้ศาลสั่งให้จําเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก”

มาตรา 179 วรรคท้าย “แต่ห้ามมิให้คู่ความฝ่ายใดเสนอคําฟ้องใดต่อศาล ไม่ว่าโดยวิธีฟ้อง เพิ่มเติมหรือฟ้องแย้ง ภายหลังที่ได้ยื่นคําฟ้องเดิมต่อศาลแล้ว เว้นแต่คําฟ้องเดิมและคําฟ้องภายหลังนี้จะเกี่ยวข้องกัน พอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้”

วินิจฉัย

การที่จําเลยจะฟ้องแย้งตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม และมาตรา 179 วรรคท้าย จะต้อง ประกอบด้วยหลักเกณฑ์สําคัญ 3 ประการดังต่อไปนี้ คือ

1 ต้องมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่

2 ต้องมีฟ้องเดิม

3 ฟ้องแย้งนั้นต้องเกี่ยวกับฟ้องเดิม

ตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องจําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 โดยอ้างว่าจําเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่า และโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว ขอให้จําเลยทั้งสองชําระค่าเช่าที่ดินและค่าเสียหายแก่โจทก์ และจําเลยที่ 1 ให้การและ ฟ้องแย้งว่า โจทก์เข้ารื้อถอนต้นมะพร้าวของจําเลยที่ 1 ออกจากที่ดินที่เช่าเป็นการละเมิดต่อจําเลยที่ 1 ขอให้บังคับ โจทก์ชดใช้ค่าต้นมะพร้าวแก่จําเลยที่ 1 นั้น จะเห็นว่าฟ้องแย้งของจําเลยที่ 1 เป็นผลสืบเนื่องจากข้อตกลงใน สัญญาเช่าที่ให้สิทธิโจทก์เข้ายึดถือครอบครองที่ดินที่เช่าได้ทันทีเมื่อผู้เช่าผิดสัญญา ดังนั้นฟ้องแย้งของจําเลยที่ 1 จึงเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ ฟ้องแย้งของจําเลยที่ 1 จึงเป็น ฟ้องแย้งที่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

ฟ้องแย้งของจําเลยที่ 1 ชอบด้วยกฎหมาย

 

Advertisement