การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2561
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1. (ก) ให้ท่านอธิบายหลักกฎหมายเรื่อง “อํานาจฟ้องคดี”
(ข) นายงามเช่าเครื่องจักรผลิตยาจากนางหล่อเป็นเวลา 5 เดือน มีอัตราค่าเช่า 10,000,000 บาท โดยนายงามได้มอบโฉนดที่ดินและมอบหนังสือมอบอํานาจจําหน่ายจ่ายโอนที่ดินตามโฉนด ดังกล่าวให้แก่นางหล่อยึดไว้เป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาเช่าฯ ต่อมา เมื่อครบกําหนดระยะเวลาการเช่า นางหล่อได้ซื้อรถยนต์มือสองจากนายงาม ราคา 10,900,000 บาท โดยนายงามและนางหล่อตกลงหักกลบลบหนี้กันถูกต้องตามกฎหมายแล้ว และนายงามได้ส่งมอบคืนเครื่องจักรผลิตยาดังกล่าวให้แก่นางหล่อแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ภายหลังนางหล่อได้รับมอบเครื่องจักรผลิตยาไว้แล้ว นางหล่อได้หลบหนี นายงามเพื่อไม่ให้นายงามติดต่อนางหล่อได้อีก ให้ท่านวินิจฉัยประเด็นดังต่อไปนี้
(1) นายงามจะยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ศาลพิพากษาห้ามไม่ให้นางหล่อกระทําการรุกล้ำ ที่ดินตามโฉนดดังกล่าว และขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่านายงามไม่ได้มีหนี้สินใด ๆ ต่อนางหล่อ ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
(2) นายงามจะยื่นฟ้องต่อศาลขอให้บังคับนางหล่อเรื่องใดได้อีกหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 55 “เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอํานาจได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้”
(ก) คําว่า “อํานาจฟ้อง” หมายถึงอํานาจในการเสนอคดีต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอํานาจตามที่ บัญญัติไว้ในกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั่นเอง ซึ่งเป็นสิทธิของบุคคลที่ถูกโต้แย้ง เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ที่จะนําคดีมาสู่ศาลหรือไม่ก็ได้
ในการนําคดีเสนอต่อศาลนั้นมิใช่บุคคลใด ๆ จะทําได้เสมอไป ผู้ที่จะนําคดีเสนอต่อศาลได้ จะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติมาตรา 55 แล้วได้กําหนดให้บุคคล มีสิทธิเสนอคดีต่อศาลได้ 2 กรณี กล่าวคือ
1 กรณีที่มีการโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่งก็ให้ เสนอเป็นคดีมีข้อพิพาทโดยทําเป็นคําฟ้องยื่นต่อศาลตามมาตรา 55 และมาตรา 172
2 กรณีที่ต้องใช้สิทธิทางศาล ในกรณีเป็นเรื่องที่ต้องใช้สิทธิทางศาลเพราะเหตุว่า มีความจําเป็นเกิดขึ้นจากกฎหมายบัญญัติไว้ตามกฎหมายสารบัญญัติ ให้เสนอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทโดยทําเป็น คําร้องยื่นต่อศาลตามมาตรา 55 และมาตรา 188 (1)
คดีมีข้อพิพาท การที่จะเสนอคดีต่อศาลเป็นคดีมีข้อพิพาทโดยทําเป็นคําฟ้องตามมาตรา 55 นั้น จะต้องมีหลักเกณฑ์ดังนี้
1 โจทก์และจําเลยจะต้องเป็นบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งอาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้
2 มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลตามกฎหมายแพ่ง ซึ่งกรณีที่จะถือว่า มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลตามกฎหมายแพ่งนั้น จะต้องประกอบด้วย
(1) โจทก์มีสิทธิหรือหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ตามกฎหมายแพ่ง
(2) จําเลยได้โต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์
3 โจทก์ได้ฟ้องคดีต่อศาลแพ่งที่มีเขตอํานาจ
คดีไม่มีข้อพิพาท การที่จะเสนอคดีต่อศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทโดยทําเป็นคําร้องตาม มาตรา 55 นั้น จะต้องมีหลักเกณฑ์คือ
1 บุคคลที่จะยื่นคําร้องขอต่อศาลจะต้องเป็นบุคคลเช่นเดียวกับการยื่นฟ้องเป็นคดีมีข้อพิพาท
2 บุคคลนั้นมีความจําเป็นที่จะต้องใช้สิทธิทางศาล
3 บุคคลนั้นได้ยื่นคําร้องต่อศาลแพ่งที่มีเขตอํานาจ
(ข) วินิจฉัย
ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 บุคคลผู้ที่อ้างว่าตนถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่และจะเสนอคดีต่อ ศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอํานาจได้นั้น จะต้องปรากฏว่าบุคคลผู้นั้นได้ถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่อย่างแท้จริงด้วย
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
(1) การที่นายงามได้เช่าเครื่องจักรผลิตยาจากนางหล่อเป็นเวลา 5 เดือน มีอัตราค่าเช่า 10,000,000 บาท โดยนายงามได้มอบโฉนดที่ดินและมอบหนังสือมอบอํานาจจําหน่ายจ่ายโอนที่ดินตามโฉนด ดังกล่าวให้แก่นางหล่อยึดไว้เป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาเช่าฯ และต่อมาเมื่อครบกําหนดระยะเวลาการเช่า นางหล่อได้ซื้อรถยนต์มือสองจากนายงาม ราคา 10,900,000 บาท โดยนายงามและนางหล่อตกลงหักกลบลบหนี้กัน ถูกต้องตามกฎหมายและนายงามได้ส่งมอบคืนเครื่องจักรผลิตยาดังกล่าวให้แก่นางหล่อแล้วนั้น การที่นางหล่อได้ หลบหนีนายงามเพื่อไม่ให้นายงามติดต่อนางหล่อได้อีกนั้น นายงามจะยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ศาลพิพากษาห้าม ไม่ให้นางหล่อกระทําการรุกล้ำที่ดินตามโฉนดดังกล่าวไม่ได้ เพราะสิทธิตามกรรมสิทธิ์ในที่ดินของนายงามยัง ไม่ได้ถูกโต้แย้งแต่อย่างใด ดังนั้น กรณีนี้นายงามจึงไม่มีอํานาจฟ้อง เพราะไม่ต้องด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55
และการที่นายงามจะยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่า นายงามไม่ได้มีหนี้สินใด ๆ ต่อ นางหล่อนั้น นายงามก็ไม่มีอํานาจฟ้องนางหล่อเช่นเดียวกัน เพราะการที่หนี้ทั้งสองรายถึงกําหนดชําระและได้ตกลง หักกลบลบหนี้กัน ทําให้หนี้ที่นายงามมีต่อนางหล่อระงับไปแล้วนั้น เป็นเรื่องที่นายงามชอบที่จะหยิบยกขึ้นเป็น ข้อต่อสู้เมื่อถูกนางหล่อฟ้องเป็นคดีขึ้นในอนาคต ไม่ใช่เป็นเรื่องที่นายงามจะมายื่นฟ้องนางหล่อต่อศาลเพื่อขอให้ศาล พิพากษาแสดงว่านายงามและนางหล่อไม่ได้มีหนี้สินใด ๆ ต่อกันแต่อย่างใด เมื่อกฎหมายไม่ได้บัญญัติให้สิทธิในการ ดําเนินการดังกล่าว เนื่องจากนายงามยังไม่ได้ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 นายงามจึงไม่มีอํานาจฟ้อง
(2) นายงามสามารถยื่นฟ้องต่อศาลขอให้บังคับนางหล่อในเรื่องดังต่อไปนี้ คือ
2.1 นายงามมีอํานาจฟ้องนางหล่อเพื่อขอให้ส่งมอบคืนโฉนดที่ดินและหนังสือมอบ อํานาจแก่ตนได้ เนื่องจากกรณีดังกล่าวถือว่าสิทธิตามกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินและหนังสือมอบอํานาจถูก โต้แย้งแล้ว เพราะการที่นางหล่อได้หลบหนีไปนั้น ย่อมทําให้นายงามไม่สามารถนําโฉนดที่ดินและหนังสือมอบ อํานาจมาใช้ประโยชน์ตามหลักกรรมสิทธิ์ได้ กรณีจึงต้องด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 ดังนั้น นายงามจึงมีอํานาจฟ้อง
2.2 นายงามมีอํานาจฟ้องนางหล่อเพื่อขอให้ชําระเงินค่ารถยนต์ 900,000 บาท พร้อม ดอกเบี้ยจนกว่านางหล่อจะชําระเสร็จสิ้นแก่ตนได้ เพราะกรณีดังกล่าวถือว่าสิทธิเรียกร้องตามสัญญาของนายงาม
ได้ถูกโต้แย้งตามนัยของ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 แล้ว เนื่องจากนางหล่อได้หลบหนีนายงามเพื่อไม่ให้นายงาม ติดต่อนางหล่อได้อีก ดังนั้น นายงามจึงมีอํานาจฟ้อง
สรุป
(1) นายงามจะยื่นฟ้องต่อศาลขอให้ศาลพิพากษาห้ามไม่ให้นางหล่อกระทําการรุกล้ำที่ดินตามโฉนดดังกล่าวไม่ได้ และขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่านายงามไม่ได้มีหนี้สินใด ๆ ต่อนางหล่อไม่ได้เช่นเดียวกัน
(2) นายงามสามารถยื่นฟ้องต่อศาลขอให้บังคับนางหล่อให้ส่งมอบคืนโฉนดที่ดิน และหนังสือมอบอํานาจให้แก่ตนได้ และสามารถยื่นฟ้องต่อศาลขอให้บังคับนางหล่อให้ชําระเงินค่ารถยนต์ จํานวน 900,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่ตนได้
ข้อ 2. นายประเสริฐมีภูมิลําเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร (ในเขตอํานาจศาลแพ่งกรุงเทพใต้) ทําสัญญาให้นางภัสสรเช่าที่ดินที่ตั้งอยู่ในเมืองพัทยา (ในเขตอํานาจศาลจังหวัดพัทยา) โดยมีนายเมธและ นายกรกันต์เป็นผู้ค้ำประกัน (ทั้งสามคนมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตอํานาจศาลจังหวัดมีนบุรี) โดยสัญญาเช่า และสัญญาค้ำประกันได้ทํากันขึ้นที่โรงแรมสยามพิมานซึ่งเป็นโรงแรมของนายประเสริฐที่ตั้งอยู่ ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ (ในเขตอํานาจศาลจังหวัดมีนบุรี) โดยสัญญาระบุให้เช่ากันเป็นเวลา 3 ปี ต่อมาเมื่อครบ 3 ปีแล้ว นางภัสสรผู้เช่าที่ดินต้องการจะเช่าที่ดินต่อ เพราะนางภัสสรนําที่ดินไปเปิด ตลาดนัดและกิจการเป็นไปด้วยดี แต่นายประเสริฐต้องการจะนําที่ดินดังกล่าวไปสร้างโรงแรมใหม่ จึงไม่ต่อสัญญา แต่นางภัสสรก็ไม่ยอมออกไปจากที่ดินและทําประโยชน์ต่อมาอีก 1 ปี โดยไม่ชําระค่าเช่า นายประเสริฐจึงให้ทนายความยื่นฟ้องให้นางภัสสรชําระค่าเช่าและค่าเสียหายอันเกิดจากการ ผิดสัญญาเช่าที่ศาลจังหวัดพัทยา กรณีนี้ศาลจังหวัดพัทยามีอํานาจพิจารณาคดีนี้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 4 “เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น
(1) คําฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้น ในเขตศาลไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่”
มาตรา 4 ทวิ “คําฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วย อสังหาริมทรัพย์ ให้เสนอต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ หรือต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล”
วินิจฉัย
การฟ้องเรียกหนี้เหนือบุคคล ต้องฟ้องต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่ มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลตามมาตรา 4 (1) ซึ่งคําว่า “มูลคดีเกิด” หมายถึง ต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิ อันจะทําให้เกิดอํานาจฟ้อง ซึ่งในกรณีของสัญญานั้น สถานที่ที่มูลคดีเกิดคือสถานที่ที่สัญญาเกิดขึ้นนั่นเอง
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายประเสริฐได้ทําสัญญาให้นางภัสสรเช่าที่ดินที่ตั้งอยู่ในเมืองพัทยา โดยมีนายเมธและนายกรกันต์เป็นผู้ค้ำประกัน โดยทั้งสามคนมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตอํานาจศาลจังหวัดมีนบุรี โดยสัญญาเช่าและสัญญาค้ำประกันได้ทํากันขึ้นที่โรงแรมสยามพิมานซึ่งเป็นโรงแรมของนายประเสริฐที่ตั้งอยู่ในเขตอํานาจศาลจังหวัดมีนบุรี และเมื่อครบกําหนดสัญญาเช่า นางภัสสรไม่ยอมออกไปจากที่ดินที่เช่าและทําประโยชน์ ต่อมาอีก 1 ปี โดยไม่ชําระค่าเช่า เมื่อนายประเสริฐให้ทนายความยื่นฟ้องให้นางภัสสรชําระค่าเช่าและค่าเสียหาย อันเกิดจากการผิดสัญญาเช่านั้น คําฟ้องของนายประเสริฐดังกล่าวจึงไม่ใช่คําฟ้องที่เกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์ใด ๆ อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 ทวิ แต่เป็นคําฟ้องเกี่ยวกับหนี้ เหนือบุคคล ดังนั้น นายประเสริฐจึงต้องฟ้องนางภัสสรต่อศาลที่นางภัสสรจําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาล ที่มูลคดีเกิดขึ้น คือ สถานที่ที่สัญญาได้ทําขึ้น ซึ่งได้แก่ ศาลจังหวัดมีนบุรี ตาม ป.วิ.แพ่งมาตรา 4 (1) เมื่อนายประเสริฐ ได้ให้ทนายความยื่นฟ้องนางภัสสรต่อศาลจังหวัดพัทยา ศาลจังหวัดพัทยาจึงไม่มีอํานาจพิจารณาคดีดังกล่าว
สรุป
ศาลจังหวัดพัทยาไม่มีอํานาจพิจารณาคดีดังกล่าว
ข้อ 3. นายพีทฟ้องนายอี้และนายเต้ยว่า นายอี้และนายเต้ยขับรถยนต์ด้วยความประมาทชนรถของตนทําให้ตนได้รับความเสียหาย (บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบแล้ว) ขอให้จําเลยทั้งสองร่วมกัน ชดใช้ค่าเสียหายแก่ตน 500,000 บาท นายอี้ยื่นคําให้การและฟ้องแย้งว่า เหตุการณ์ที่ขับรถยนต์ ชนกัน 3 คันในครั้งนี้ตนไม่ได้ประมาท ความประมาทเกิดจากนายเต้ยที่เป็นผู้ขับรถด้วยความประมาท แต่เพียงผู้เดียว ขอให้ศาลยกฟ้องตนและขอให้นายเต้ยชําระค่าเสียหายแก่ตน 350,000 บาท ให้ท่านวินิจฉัยว่า ศาลจะสามารถรับฟ้องแย้งได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 177 วรรคสาม “จําเลยจะฟ้องแย้งมาในคําให้การก็ได้ แต่ถ้าฟ้องแย้งนั้นเป็นเรื่องอื่น ไม่เกี่ยวกับคําฟ้องเดิมแล้ว ให้ศาลสั่งให้จําเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก”
วินิจฉัย
“ฟ้องแย้ง” คือ การฟ้องซึ่งจําเลยฟ้องกลับโจทก์ในคดีเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องจําเลย โดย ฟ้องขอให้โจทก์รับผิดต่อจําเลย กล่าวคือ โจทก์เป็นผู้เริ่มคดีโดยฟ้องจําเลยก่อน แล้วจําเลยจึงได้ฟ้องโจทก์บ้างใน คดีเดียวกัน โดยกล่าวรวมมาในคําให้การ
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายพีทฟ้องนายอี้และนายเต้ยว่า นายอี้และนายเต้ยขับรถยนต์ ด้วยความประมาทชนรถของตนทําให้ตนได้รับความเสียหาย ขอให้จําเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่ตน 500,000 บาท แต่นายอี้ยื่นคําให้การและฟ้องแย้งว่า เหตุการณ์ที่ขับรถยนต์ชนกัน 3 คันในครั้งนี้ตนไม่ได้ประมาท ความประมาทเกิดจากนายเต้ยที่เป็นผู้ขับรถด้วยความประมาทแต่เพียงผู้เดียว ขอให้ศาลยกฟ้องตนและขอให้ นายเต้ยชําระค่าเสียหายแก่ตน 350,000 บาทนั้น เป็นกรณีที่นายอี้ ซึ่งเป็นจําเลยคนหนึ่งในคดีที่นายพีทเป็นโจทก์ ได้ฟ้องแย้งกลับมายังนายเต้ยจําเลยอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นจําเลยด้วยกัน ดังนั้น คําฟ้องของนายอี้จึงไม่ใช่เป็นฟ้องแย้ง ตามนัยของ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม ศาลจึงไม่สามารถรับฟ้องแย้งของนายอี้ได้
สรุป
ศาลจะไม่สามารถรับฟ้องแย้งของนายอี้ได้
ข้อ 4. โจทก์ฟ้องว่าโจทก์กับจําเลยทําสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและโจทก์ได้ชําระเงินไว้บางส่วนแล้ว แต่จําเลยผิดสัญญาไม่ยอมโอนที่ดินให้ตามกําหนด ขอให้จําเลยมารับเงินที่เหลือและโอนที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ ปรากฏว่าคดีนี้จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ ในกรณีนี้ ถ้าท่านเป็นทนายโจทก์ จะต้องทําอย่างไรเพื่อให้ศาลพิพากษาให้ตนชนะคดี และหากศาลดูจากคําฟ้องแล้วเหตุว่าคดีมีมูล จะสามารถพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยไม่สืบพยานโจทก์ฝ่ายเดียวก่อนได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 198 วรรคหนึ่ง “ถ้าจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ ให้โจทก์มีคําขอต่อศาลภายในสิบห้า วันนับแต่ระยะเวลาที่กําหนดให้จําเลยยื่นคําให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดให้ตน เป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด”
มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ศาลจะมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดให้โจทก์ เป็นฝ่ายชนะคดี โดยจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การมิได้ เว้นแต่ศาลเห็นว่าคําฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ในการนี้ศาลจะยกขึ้นอ้างโดยลําพังซึ่งข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ได้
เพื่อประโยชน์ในการพิพากษาหรือมีคําสั่งชี้ขาดคดีตามวรรคหนึ่ง ศาลอาจสืบพยานเกี่ยวกับข้ออ้างของโจทก์หรือพยานหลักฐานอื่นไปฝ่ายเดียวตามที่เห็นว่าจําเป็นก็ได้ แต่ในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพ บุคคล สิทธิในครอบครัวหรือคดีพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ไป ฝ่ายเดียว และศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่เห็นว่าจําเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม”
วินิจฉัย
การที่โจทก์ฟ้องจําเลย แต่จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ โจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาชี้ขาดให้ โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การนั้น เป็นการดําเนินการตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 วรรคหนึ่ง และถ้าศาลเห็นว่าคําฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ศาลอาจมีคําพิพากษาหรือคําสั่งขี้ขาดให้โจทก์ เป็นฝ่ายชนะคดีก็ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง แต่ถ้าเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคล สิทธิ์ ในครอบครัวหรือคดีพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียว และศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่เห็นว่าจําเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคสอง)
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องว่าโจทก์กับจําเลยทําสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและโจทก์ ได้ชําระเงินไว้บางส่วนแล้ว แต่จําเลยผิดสัญญาไม่ยอมโอนที่ดินให้ตามกําหนด ขอให้จําเลยมารับเงินที่เหลือและ โอนที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์นั้น เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น เมื่อจําเลยขาดนัดยื่น คําให้การ ถ้าข้าพเจ้าเป็นทนายโจทก์ ข้าพเจ้าจะยื่นคําขอต่อศาลเพื่อให้ศาลพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะ คดีโดยจําเลยขาดนัด ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 วรรคหนึ่ง และเมื่อเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ใน อสังหาริมทรัพย์ และศาลเห็นว่าฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย กรณีจึงต้องอยู่ในบังคับของ ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคสอง คือ ศาลจะต้องสืบพยานหลักฐานของโจทก์ไปฝ่ายเดียวแล้วจึงจะมีคําพิพากษาได้ ศาล จะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยไม่สืบพยานโจทก์ฝ่ายเดียวก่อนไม่ได้
สรุป
ถ้าข้าพเจ้าเป็นทนายโจทก์ ข้าพเจ้าจะยื่นคําขอต่อศาลเพื่อให้ศาลพิพากษาชี้ขาดให้โจทก์ เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจําเลยขาดนัด แต่ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยไม่สืบพยานโจทก์ฝ่ายเดียวก่อนไม่ได้