การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2560

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ

ข้อ 1. (ก) ให้ท่านอธิบายหลักกฎหมายเรื่อง “อํานาจฟ้องคดี” โดยสังเขป

(ข) เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2560 นายงามมีภูมิลําเนาที่จังหวัดตรัง ได้ซื้อที่ดิน น.ส. 3 ก. ในจังหวัดแพร่ราคา 700,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2560 นายงามกู้ยืมเงินจาก นางหล่อซึ่งมีภูมิลําเนาที่จังหวัดตรังจํานวน 800,000 บาท กําหนดชําระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืน ในวันที่ 9 ธันวาคม 2560 โดยนายงามได้มอบ น.ส. 3 ก. ให้นางหล่อยึดไว้เป็นหลักประกัน ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2560 นายงามยังได้ทําสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน แปลงดังกล่าวที่จังหวัดตากให้แก่บริษัท อ้วนพีพี จํากัด ซึ่งสํานักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่จังหวัดตาก ราคา 1,000,000 บาท มีกําหนดจดทะเบียนโอนในวันที่ 10 ธันวาคม 2560 โดยที่บริษัท อ้วนพีพี จํากัด ผู้จะซื้อได้วางเงินมัดจําในวันทําสัญญาจะซื้อจะขายจํานวน 300,000 บาท หากมีการ ผิดสัญญาจะซื้อจะขายโดยผู้จะขาย ผู้จะขายต้องถูกปรับ 3 เท่าของเงินมัดจํา ทั้งนี้ นางหล่อ ก็ได้ทราบข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้แล้วในขณะทําสัญญากู้ยืมเงิน โดยที่นายงามเป็นผู้แจ้งให้ทราบ ต่อมาในวันที่ 9 ธันวาคม 2560 นางหล่อได้ซื้อรถยนต์จากนายงามที่จังหวัดตากราคา 800,000 บาท โดยตกลงหักกลบลบหนี้กันถูกต้องตามกฎหมายแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม นางหล่อยังไม่ยอมคืน น.ส. 3 ก. ให้นายงาม และยังถูกนางหล่อมีหนังสือทวงหนี้อีกหลายครั้ง

ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายงามจะยื่นฟ้องนางหล่อต่อศาล ขอให้ศาลพิพากษาแสดงว่านายงาม และนางหล่อมิได้มีหนี้สินใด ๆ ต่อกัน และขอให้บังคับให้นางหล่อส่งคืนเอกสาร น.ส. 3 ก. ที่นางหล่อยึดไว้ และขอเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 55 “เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอํานาจได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้”

(ก) คําว่า “อํานาจฟ้อง” หมายถึงอํานาจในการเสนอคดีต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอํานาจตามที่ บัญญัติไว้ในกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั่นเอง ซึ่งเป็นสิทธิของบุคคลที่ถูกโต้แย้ง เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ที่จะนําคดีมาสู่ศาลหรือไม่ก็ได้

ในการนําคดีเสนอต่อศาลนั้นมิใช่บุคคลใด ๆ จะทําได้เสมอไป ผู้ที่จะนําคดีเสนอต่อศาลได้ จะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติมาตรา 55 แล้วได้กําหนดให้บุคคล มีสิทธิเสนอคดีต่อศาลได้ 2 กรณี กล่าวคือ

1 กรณีที่มีการโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิ์หรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่งก็ให้ เสนอเป็นคดีมีข้อพิพาทโดยทําเป็นคําฟ้องยื่นต่อศาลตามมาตรา 55 และมาตรา 172

2 กรณีที่ต้องใช้สิทธิทางศาล ในกรณีเป็นเรื่องที่ต้องใช้สิทธิทางศาลเพราะเหตุว่า มีความจําเป็นเกิดขึ้นจากกฎหมายบัญญัติไว้ตามกฎหมายสารบัญญัติให้เสนอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทโดยทําเป็นคําร้องยื่นต่อศาลตามมาตรา 55 และมาตรา 188 (1)

คดีมีข้อพิพาท การที่จะเสนอคดีต่อศาลเป็นคดีมีข้อพิพาทโดยทําเป็นคําฟ้องตามมาตรา 55 นั้น จะต้องมีหลักเกณฑ์ดังนี้

1 โจทก์และจําเลยจะต้องเป็นบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งอาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้

2 มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลตามกฎหมายแพ่ง ซึ่งกรณีที่จะถือว่า มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลตามกฎหมายแพ่งนั้น จะต้องประกอบด้วย

(1) โจทก์มีสิทธิหรือหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ตามกฎหมายแพ่ง

(2) จําเลยได้โต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์

3 โจทก์ได้ฟ้องคดีต่อศาลแพ่งที่มีเขตอํานาจ

คดีไม่มีข้อพิพาท การที่จะเสนอคดีต่อศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทโดยทําเป็นคําร้องตามมาตรา 55 นั้น จะต้องมีหลักเกณฑ์คือ

1 บุคคลที่จะยื่นคําร้องขอต่อศาลจะต้องเป็นบุคคลเช่นเดียวกับการยืนฟ้องเป็นคดีมีข้อพิพาท

2 บุคคลนั้นมีความจําเป็นที่จะต้องใช้สิทธิทางศาล

3 บุคคลนั้นได้ยื่นคําร้องต่อศาลแพ่งที่มีเขตอํานาจ

(ข) วินิจฉัย

ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 บุคคลผู้ที่อ้างว่าตนถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่และจะเสนอคดีต่อ ศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอํานาจได้นั้น จะต้องปรากฏว่าบุคคลผู้นั้นได้ถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่อย่างแท้จริงด้วย

กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้

1 การที่นายงามได้กู้ยืมเงินจากนางหล่อจํานวน 800,000 บาท และต่อมานางหล่อได้ซื้อ รถยนต์จากนายงามราคา 800,000 บาท โดยหนี้ทั้งสองรายถึงกําหนดชําระและทั้งสองตกลงหักกลบลบหนี้กัน ถูกต้องตามกฎหมายทําให้หนี้ทั้งสองรายระงับไปแล้วนั้น เป็นเรื่องที่นายงามชอบที่จะหยิบยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ เมื่อถูกนางหล่อฟ้องเป็นคดีขึ้นในอนาคต มิใช่เป็นเรื่องที่นายงามจะมายื่นฟ้องนางหล่อต่อศาล เพื่อขอให้ศาล พิพากษาแสดงว่านายงามและนางหล่อมิได้มีหนี้สินใด ๆ ต่อกัน ดังนั้น กรณีนี้นายงามจึงไม่มีอํานาจฟ้อง เพราะไม่ต้องด้วย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 (คําพิพากษาฎีกาที่ 1475/2532)

2 การที่นายงามได้ยื่นฟ้องนางหล่อต่อศาลเพื่อให้นางหล่อส่งคืนเอกสาร น.ส. 3 ก. ที่ นางหล่อยึดไว้นั้น เมื่อนายงามได้กู้ยืมเงินจากนางหล่อโดยมอบเอกสาร น.ส. 3 ก. ให้นางหล่อยึดไว้เป็นหลักประกัน และเมื่อนายงามได้ชําระหนี้เงินกู้เสร็จสิ้นแล้ว (โดยการหักกลบลบหนี้) นางหล่อจึงไม่มีอํานาจยึดเอกสาร น.ส. 3 ก. ของนายงามไว้อีกต่อไป การที่นางหล่อยึดเอกสาร น.ส. 3 ก. ของนายงามไว้จึงถือเป็นการโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ ระหว่างนายงามและนางหล่อตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 แล้ว ดังนั้น กรณีนี้นายงามจึงมีอํานาจฟ้องให้นางหล่อ ส่งคืนเอกสาร น.ส. 3 ก. แก่นายงามได้ (คําพิพากษาฎีกาที่ 1475/2532)

3 การที่นายงามได้ทําสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงที่มี น.ส. 3 ก. ดังกล่าวให้แก่บริษัท อ้วนพีพี จํากัด โดยมีกําหนดจดทะเบียนโอนในวันที่ 10 ธันวาคม 2560 โดยบริษัท อ้วนพีพี จํากัด ได้วางเงินมัดจํา ไว้แล้วจํานวน 300,000 บาท และถ้านายงามผู้จะขายผิดสัญญาจะต้องถูกปรับ 3 เท่าของเงินมัดจํา ดังนั้น การที่ นางหล่อไม่ยอมคืน น.ส. 3 ก. ให้แก่นายงาม ทําให้นายงามไม่สามารถจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่บริษัท อ้วนพีพี จํากัด ได้ ทําให้นายงามเป็นผู้ผิดสัญญาและถูกปรับเงิน 3 เท่าของเงินมัดจํา ย่อมถือว่านายงามถูกโต้แย้งสิทธิ และหน้าที่ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 แล้ว นายงามจึงมีอํานาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากนางหล่อได้

สรุป

นายงามจะยื่นฟ้องเพื่อให้ศาลพิพากษาแสดงว่านายงามและนางหล่อมิได้มีหนี้สินใด ๆต่อกันไม่ได้

นายงามสามารถฟ้องศาลเพื่อบังคับให้นางหล่อส่งคืนเอกสาร น.ส. 3 ก. ได้

นายงามสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายจากนางหล่อได้

 

ข้อ 2. กรณีข้อเท็จจริงตามข้อ 1. (ข) ให้ท่านวินิจฉัยว่า นายงามจะนําข้อพิพาทยื่นฟ้องนางหล่อเป็นคดีแพ่งต่อศาลเพื่อขอให้ศาลพิพากษาตามข้อ 1. (ข) นายงามจะต้องนําข้อพิพาทฟ้องนางหล่อเป็นคดีแพ่ง ต่อศาลใดได้บ้าง เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 4 “เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น

(1) คําฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้น ในเขตศาลไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่”

มาตรา 4 ทวิ “คําฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วย อสังหาริมทรัพย์ ให้เสนอต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักร หรือไม่ หรือต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล”

วินิจฉัย

การฟ้องเรียกหนี้เหนือบุคคล ต้องฟ้องต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลตามมาตรา 4 (1) ซึ่งคําว่า “มูลคดีเกิด” หมายถึง ต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิ อันจะทําให้เกิดอํานาจฟ้อง ซึ่งในกรณีของสัญญานั้น สถานที่ที่มูลคดีเกิดคือสถานที่ที่สัญญาเกิดขึ้นนั่นเอง

กรณีข้อเท็จจริงตามข้อ 1. (ข) การที่นายงามจะนําข้อพิพาทยื่นฟ้องนางหล่อเป็นคดีแพ่งต่อศาล เพื่อขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้นางหล่อส่งคืนเอกสาร น.ส. 3 ก. และเรียกค่าเสียหายจากนางหล่อ นายงามจะต้อง นําข้อพิพาทฟ้องนางหล่อต่อศาลใดได้บ้างนั้น เห็นว่า การที่นายงามได้ทําสัญญากู้ยืมเงินจากนางหล่อซึ่งมีภูมิลําเนา อยู่ที่จังหวัดตรัง โดยนายงามได้มอบเอกสาร น.ส. 3 ก. ของที่ดินที่อยู่ในจังหวัดแพร่ให้นางหล่อยึดไว้เป็นหลักประกันนั้น เมื่อนายงามได้นําเอกสาร น.ส. 3 ก. ให้นางหล่อยึดถือไว้ โดยไม่ได้มอบการครอบครองหรือมอบสิทธิในที่ดินให้แก่ นางหล่อแต่อย่างใด คําฟ้องของนายงามจึงมิใช่คําฟ้องที่เกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์หรือสิทธิหรือประโยชน์ใด ๆ อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 ทวิ แต่เป็นคําฟ้องเกี่ยวกับหนี้เหนือบุคคล ดังนั้น นายงาม จึงต้องฟ้องนางหล่อต่อศาลที่นางหล่อจําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นคือสถานที่ที่สัญญา เกิดขึ้น ซึ่งได้แก่ศาลจังหวัดตรังตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 (1)

สรุป

นายงามจะต้องนําข้อพิพาทดังกล่าวฟ้องนางหล่อเป็นคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดตรัง

 

ข้อ 3. นายอาทิตย์ รักดี ยื่นคําฟ้อง นายศุกร์ รักดี ผู้เป็นผู้จัดการมรดกของนายสัปดาห์ รักดี ให้แบ่งมรดกของนายสัปดาห์ รักดี ซึ่งเป็นโฉนดที่ดิน เลขที่ 12345 ให้กับตนผู้เป็นทายาทของนายสัปดาห์ รักดี แต่นายศุกร์ รักดี ได้ขาดนัดยื่นคําให้การ คดีจึงมีการพิจารณาฝ่ายเดียวและมีคําพิพากษาว่า นายอาทิตย์ รักดี เป็นทายาทของนายสัปดาห์ รักดี ให้นายศุกร์ รักดี แบ่งที่ดินทรัพย์มรดกให้แก่ นายอาทิตย์ รักดี กึ่งหนึ่ง นายศุกร์ รักดี จึงยื่นคําร้องขอพิจารณาคดีใหม่โดยมิได้มีการอุทธรณ์ คําพิพากษา ศาลชั้นต้นมีคําสั่งยกคําร้องขอพิจารณาคดีใหม่ และไม่มีการอุทธรณ์คําสั่งยกคําร้อง ดังกล่าวจนสิ้นสุดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว แต่ต่อมานายศุกร์ รักดี ยื่นฟ้องนายอาทิตย์ รักดี เป็นคดีใหม่ ว่านายอาทิตย์ รักดี มิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสัปดาห์ รักดี ไม่ใช่ทายาทและห้ามใช้ ชื่อสกุล “รักดี” อีกต่อไป นายอาทิตย์ รักดี ยื่นคําให้การขอให้ศาลยกฟ้อง

ให้ท่านวินิจฉัยว่า คําฟ้องในคดีหลังของนายศุกร์ รักดี นั้นเป็นฟ้องซ้อน ฟ้องซ้ำหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 148 “คดีที่ได้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งถึงที่สุดแล้ว ห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้อง ฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน…”

มาตรา 173 วรรคสอง “นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคําฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณา และผลแห่งการนี้

(1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคําฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น และ…”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายอาทิตย์ รักดี ยื่นคําฟ้องนายศุกร์ รักดี ซึ่งผู้เป็นผู้จัดการมรดกของนายสัปดาห์ รักดี ให้แบ่งมรดกของนายสัปดาห์ รักดี ให้กับตนผู้เป็นทายาทของนายสัปดาห์ รักดี และศาลได้มีคําพิพากษาว่านายอาทิตย์ รักดี เป็นทายาทของนายสัปดาห์ รักดี และให้นายศุกร์ รักดี แบ่งที่ดินทรัพย์มรดก ให้แก่นายอาทิตย์ รักดี กึ่งหนึ่ง และเมื่อนายศุกร์ รักดี ได้ยื่นคําร้องขอพิจารณาคดีใหม่โดยมิได้มีการอุทธรณ์ คําพิพากษา ศาลชั้นต้นมีคําสั่งยกคําร้องขอพิจารณาคดีใหม่ และไม่มีการอุทธรณ์คําสั่งยกคําร้องดังกล่าวจนสิ้นสุด ระยะเวลาอุทธรณ์แล้วนั้น ย่อมถือว่าคดีนี้ศาลได้มีคําพิพากษาถึงที่สุดแล้ว

ต่อมาการที่นายศุกร์ รักดี ได้ยื่นฟ้องนายอาทิตย์ รักดี เป็นคดีใหม่ว่านายอาทิตย์ รักดี มิใช่บุตร โดยชอบด้วยกฎหมายของนายสัปดาห์ รักดี ไม่ใช่ทายาทและห้ามใช้ชื่อสกุล “รักดี” อีกต่อไปนั้น จะเห็นได้ว่า คู่ความในคดีก่อนและในคดีหลัง คือ นายอาทิตย์ รักดี และนายศุกร์ รักดี เป็นคู่ความเดียวกัน และประเด็น ข้อพิพาทในคดีแรกและในคดีหลังก็มีประเด็นข้อพิพาทเดียวกัน คือ “นายอาทิตย์ รักดี เป็นทายาทของ นายสัปดาห์ รักดี หรือไม่” ซึ่งในประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว ศาลได้มีคําพิพากษาถึงที่สุดในคดีก่อนแล้ว ดังนั้น คําฟ้องในคดีหลังของนายศุกร์ รักดี จึงเป็นฟ้องซ้ําตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 148 แต่ไม่เป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) เพราะมิใช่เป็นการฟ้องเรื่องเดียวกันต่อศาลในระหว่างที่คดีก่อนอยู่ในระหว่างการพิจารณา

สรุป

คําฟ้องในคดีหลังของนายศุกร์ รักดี เป็นฟ้องซ้ำ

 

ข้อ 4. โจทก์ยื่นคําฟ้องให้จําเลยชําระค่าเสียหายในกรณีละเมิดขับรถชนโจทก์โดยประมาท ขอให้จําเลยชดใช้ค่าเสียหาย 1 ล้านบาท แต่จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ โจทก์จึงยื่นคําร้องตามมาตรา 198 แต่ปรากฏว่าจําเลยมายื่นคําร้องขออนุญาตยื่นคําให้การ ศาลอนุญาต จําเลยจึงยื่นคําให้การเข้ามาว่า ความประมาทมิได้เกิดจากจําเลย แต่เกิดจากตัวโจทก์เอง ขอให้ศาลยกฟ้อง ศาลนัดสืบพยาน ในวันที่ 1 ธันวาคม 2559 เมื่อถึงกําหนดวันสืบพยานโจทก์มาศาลแต่จําเลยไม่มา ในกรณีนี้หากศาลตรวจคําฟ้องและเอกสาร แนบท้ายคําฟ้องแล้วเห็นว่า คดีโจทก์มีมูลจําเลยเป็นฝ่ายประมาท เช่นนี้ศาลจะสามารถพิพากษา ให้โจทก์ชนะคดีโดยไม่สืบพยานฝ่ายเดียวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

มาตรา 198 วรรคหนึ่ง “ถ้าจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ ให้โจทก์มีคําขอต่อศาลภายในสิบห้า วันนับแต่ระยะเวลาที่กําหนดให้จําเลยยื่นคําให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดให้ตน เป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด”

มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง วรรคสามและวรรคสี่ “ศาลจะมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาด ให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี โดยจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การมิได้ เว้นแต่ศาลเห็นว่าคําฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ในการนี้ศาลจะยกขึ้นอ้างโดยลําพังซึ่งข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ได้

ในการกําหนดจํานวนเงินตามคําขอบังคับของโจทก์ ให้ศาลปฏิบัติดังนี้

(2) ในกรณีที่โจทก์มีคําขอบังคับให้จําเลยชําระหนี้เป็นเงินอันไม่อาจกําหนดจํานวนได้ โดยแน่นอน ให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียว และศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่ เห็นว่าจําเป็น

ถ้าจําเลยที่ขาดนัดยื่นคําให้การไม่มาศาลในวันสืบพยานตามมาตรานี้ มิให้ถือว่าจําเลยนั้น ขาดนัดพิจารณา”

มาตรา 199 วรรคหนึ่ง “ถ้าจําเลยที่ขาดนัดยื่นคําให้การมาศาลก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี และแจ้งต่อศาลในโอกาสแรกว่าตนประสงค์จะต่อสู้คดี เมื่อศาลเห็นว่าการขาดนัดยื่นคําให้การนั้นมิได้เป็นไปโดยจงใจ หรือมีเหตุอันสมควร ให้ศาลมีคําสั่งอนุญาตให้จําเลยยื่นคําให้การภายในกําหนดเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรและ ดําเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตั้งแต่เวลาที่จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ”

มาตรา 204 “ถ้าจําเลยขาดนัดพิจารณา ให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียว”

มาตรา 206 วรรคหนึ่งและวรรคสอง “คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะร้องต่อศาลให้วินิจฉัยชี้ขาดคดี ให้ตนเป็นฝ่ายชนะโดยอาศัยเหตุแต่เพียงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งขาดนัดพิจารณานั้นหาได้ไม่ ให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี ให้คู่ความที่มาศาลเป็นฝ่ายชนะต่อเมื่อศาลเห็นว่าข้ออ้างของคู่ความเช่นว่านี้มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ในการนี้ ศาลจะยกขึ้นอ้างโดยลําพังซึ้งข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ได้

เพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยชี้ขาดคดีตามวรรคหนึ่ง ให้นําบทบัญญัติมาตรา 198 ทวิ วรรคสอง และวรรคสาม มาใช้บังคับแก่คดีของคู่ความฝ่ายที่มาศาลโดยอนุโลม”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ยื่นฟ้องให้จําเลยชําระค่าเสียหายในกรณีละเมิดขับรถชนโจทก์ โดยประมาท แต่จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ โจทก์จึงยื่นคําร้องตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 วรรคหนึ่ง แต่จําเลยมายื่น คําร้องขออนุญาตยื่นคําให้การและศาลอนุญาต จําเลยจึงยื่นคําให้การเข้ามาว่า ความประมาทมิได้เกิดจากจําเลย แต่เกิดจากตัวโจทก์เอง ขอให้ศาลยกฟ้อง (ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 199 วรรคหนึ่ง) นั้น เมื่อศาลอนุญาตให้จําเลย ยื่นคําให้การและจําเลยได้ยื่นคําให้การดังกล่าวแล้ว คดีนี้จึงไม่ถือว่าจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ ดังนั้น เมื่อถึง กําหนดนัดสืบพยานในวันที่ 1 ธันวาคม 2559 การที่โจทก์มาศาลแต่จําเลยไม่มาศาลนั้น จึงถือว่าจําเลยขาดนัด พิจารณา (ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคสี่) และเมื่อถือว่าจําเลยขาดนัดพิจารณา ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 204 ได้บัญญัติให้ศาลพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไปฝ่ายเดียว

แต่อย่างไรก็ดี เมื่อปรากฏว่าคดีนี้เป็นคดีฟ้องเรียกค่าเสียหายในกรณีละเมิด แม้โจทก์จะขอให้จําเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นจํานวน 1 ล้านบาทก็ตาม แต่กรณีนี้ถือเป็นกรณีที่โจทก์มีคําขอบังคับให้จําเลยชําระหนี้ เป็นเงินอันไม่อาจกําหนดจํานวนได้แน่นอน ดังนั้น แม้ศาลจะตรวจคําฟ้องและเอกสารแนบท้ายคําฟ้องแล้วเห็นว่า คดีโจทก์มีมูลและจําเลยเป็นฝ่ายประมาท ศาลก็จะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยไม่สืบพยานฝ่ายเดียวก่อนไม่ได้ ศาลจะต้องสั่งให้มีการสืบพยานโจทก์ก่อนตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 206 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ประกอบมาตรา 198 ทวิ วรรคสาม ถ้าศาลพิพากษาตามฟ้องโจทก์โดยไม่สั่งให้โจทก์นําพยานเข้าสืบก่อนย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

กรณีดังกล่าวศาลจะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีโดยไม่สืบพยานโจทก์ฝ่ายเดียวก่อนไม่ได้

Advertisement