การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2559
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3005 กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1
คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1. นายชลธีมีภูมิลําเนาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ต้องการขายที่ดินของตนซึ่งมีหลายแปลง จึงติดต่อนายนิรัชให้เป็นนายหน้าจัดการขายที่ดินให้ตนโดยมีการตกลงทําสัญญารับเป็นนายหน้ากันที่จังหวัดเชียงใหม่ นายนิรัชจึงเดินทางไปพบนายบัญญัติที่จังหวัดพะเยาเพื่อจะเสนอขายที่ดินให้นายบัญญัติ นายบัญญัติ ต้องการซื้อที่ดินแปลงหนึ่งของนายชลธีโดยที่ดินที่นายบัญญัติต้องการนั้นตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงราย นายนิรัชจึงได้จัดการนัดให้นายชลธีและนายบัญญัติมาเจอกันเพื่อทําสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน แปลงดังกล่าวโดยได้นัดเจอและทําสัญญากันที่จังหวัดเชียงใหม่ ภายหลังจากที่ทําสัญญากันแล้ว นายบัญญัติได้ชําระเงินให้นายชลธีครบถ้วนแล้ว แต่นายชลธีไม่ยอมจดทะเบียนโอนที่ดินให้และไม่ยอมชําระค่านายหน้าให้แก่นายนิรัชอีกด้วย ให้ท่านวินิจฉัยว่า
(ก) นายบัญญัติจะเป็นโจทก์คนเดียวยื่นฟ้องนายชลธีให้นายชลธีโอนที่ดินให้ตนต่อศาลจังหวัดเชียงรายได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
(ข) นายนิรัชจะเป็นโจทก์คนเดียวยื่นฟ้องนายชลธีให้นายชลธีชดใช้ค่านายหน้าให้ตนต่อศาลจังหวัดเชียงรายได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 4 “เว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นอย่างอื่น
(1) คําฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้น ในเขตศาลไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่”
มาตรา 4 ทวิ “คําฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ หรือสิทธิหรือประโยชน์อันเกี่ยวด้วย อสังหาริมทรัพย์ ให้เสนอต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล ไม่ว่าจําเลยจะมีภูมิลําเนาอยู่ในราชอาณาจักร หรือไม่ หรือต่อศาลที่จําเลยมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
(ก) การที่นายชลธีซึ่งมีภูมิลําเนาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ได้ทําสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงรายกับนายบัญญัติ โดยได้ทําสัญญากันที่จังหวัดเชียงใหม่ ภายหลังจากที่ได้ทําสัญญากันแล้ว เมื่อนายบัญญัติได้ชําระเงินให้นายชลธีครบถ้วนแล้ว แต่นายชลธิ์ไม่ยอมจดทะเบียนโอนที่ดินให้นายบัญญัติ ทําให้นายบัญญัติจะเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายชลธีโอนที่ดินให้ตนต่อศาลจังหวัดเชียงรายนั้น การที่นายบัญญัติจะฟ้อง เพื่อให้นายชลธีโอนที่ดินให้แก่ตน เป็นการฟ้องเรียกกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ซึ่งเป็นคดีที่โจทก์มุ่งหมายจะบังคับเอากับ ที่ดิน จึงถือว่าเป็นคดีที่มีคําฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น นายบัญญัติย่อมสามารถยื่นฟ้องนายชลธีต่อ ศาลจังหวัดเชียงรายได้ เพราะเป็นศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาล หรือจะยื่นฟ้องนายชลธีต่อศาล จังหวัดเชียงใหม่ซึ่งเป็นศาลที่นายชลธีมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาลก็ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 ทวิ
(ข) การที่นายนิรัชจะเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายชลธีเพื่อให้ชดใช้ค่านายหน้าในการขายที่ดินให้แก่ตน ต่อศาลจังหวัดเชียงรายนั้น เมื่อการฟ้องเรียกค่านายหน้าขายที่ดินมิใช่เป็นคดีที่มีคําฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ เพราะเป็นคดีที่โจทก์มิได้มุ่งหมายจะบังคับเอากับที่ดิน จึงถือเป็นการฟ้องเรียกหนี้เหนือบุคคล ดังนั้น นายนิรัช จะยื่นฟ้องนายชลธีต่อศาลจังหวัดเชียงรายไม่ได้ นายนิรัชจะต้องยื่นฟ้องนายชลธีต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็น ศาลที่นายชลธีมีภูมิลําเนาอยู่ในเขตศาล รวมทั้งเป็นศาลที่มูลคดีเกิดขึ้น เนื่องจากมีการตกลงทําสัญญารับเป็น นายหน้ากันที่จังหวัดเชียงใหม่) เท่านั้น ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 (1)
สรุป
(ก) นายบัญญัติจะเป็นโจทก์คนเดียวยื่นฟ้องนายชลธีให้นายชลธีโอนที่ดินให้ตนต่อศาลจังหวัดเชียงรายได้
(ข) นายนิรัชจะเป็นโจทก์คนเดียวยื่นฟ้องนายชลธิ์ให้นายชลธีชดใช้ค่านายหน้าให้ตน ต่อศาลจังหวัดเชียงรายไม่ได้
ข้อ 2. นายโหวโหซื้อที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งจากนางเจนจิซึ่งที่ดินดังกล่าวนั้นอยู่ติดกับที่ดินของนางฟิจิโดยไม่เจตนาไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อีก ต่อมาหลังจากนางเจนจิส่งมอบที่ดินให้ นายโหวโหเข้าครอบครองแล้ว นายโหวโหได้ใช้ทางเดินในที่ดินของนางฟิจิจนได้ภาระจํายอม นอกจากนี้นายโหวโหได้ทําสัญญากับนายกิโปตกลงให้นายกิโปมีสิทธิอาศัยในที่ดินมือเปล่าซึ่ง นายโหวโหได้ซื้อจากนางเจนจินั้น ต่อมานางฟิจิปิดทางเดินซึ่งเป็นทางภาระจํายอมในที่ดินของตนทําให้นายกิโปไม่สามารถเดินผ่านทาง ภาระจํายอมดังกล่าว นายกิโปจึงจะยื่นฟ้องนางฟิจิต่อศาลขอให้บังคับนางฟิจิเปิดทางภาระจํายอม นอกจากนี้ นางเจนจิได้ถึงแก่ความตาย นายโหวโหจึงจะยื่นฟ้องทายาทของนางเจนจิให้จดทะเบียน โอนที่ดินมือเปล่านั้นแก่นายโหวโห
ท่านเห็นว่านายโหวโหและนายกิโปมีอํานาจฟ้องหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 55 “เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้น เกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอํานาจได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแพ่งและประมวลกฎหมายนี้”
วินิจฉัย
ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 55 บุคคลผู้ที่อ้างว่าตนถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่และจะเสนอคดีต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอํานาจได้นั้น จะต้องปรากฏว่าบุคคลผู้นั้นได้ถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่อย่างแท้จริงด้วย
กรณีตามอุทาหรณ์
นายโหวโหและนายกิโปมีอํานาจฟ้องหรือไม่ แยกพิจารณาได้ดังนี้
กรณีของนายโหวโห การที่นายโหวโหซื้อที่ดินมือเปล่าแปลงหนึ่งจากนางเจนจิโดยไม่มีเจตนาไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อีกนั้น เมื่อที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นเพียงที่ดินมือเปล่าแม้ว่านายโหวโห จะได้ซื้อมาจากนางเจนจิ และได้ครอบครองมานานเพียงใดก็ตาม นายโหวโหก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้น ได้ไปเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น และการที่นางเจนจิรวมทั้งทายาทของนางเจนจิไม่ได้จดทะเบียนโอนที่ดิน มือเปล่านั้นให้แก่นายโหวโห ก็ไม่ถือว่านายโหวโหได้ถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่แต่อย่างใด ดังนั้น นายโหวโหจึง ไม่มีอํานาจฟ้องทายาทของนางเจนจิเพื่อให้จดทะเบียนโอนที่ดินมือเปล่านั้นให้แก่นายโหวโห
กรณีของนายกิโป การที่นายโหวโหได้ใช้ทางเดินในที่ดินของนางฟิจิจนได้ภาระจํายอม และ นายโหวโหได้ทําสัญญาให้นายกิโปมีสิทธิอาศัยในที่ดินมือเปล่าซึ่งนายโหวโหได้ซื้อจากนางเจนจินั้น แม้ว่านายกิโปใน ฐานะผู้อาศัยในที่ดินของนายโหวโหจะมีสิทธิใช้ทางเดินในที่ดินของนางฟิจิด้วยก็ตาม แต่การที่นางฟิจิได้ปิดทางเดิน ซึ่งเป็นทางภาระจํายอมในที่ดินของตนทําให้นายกิโปไม่สามารถเดินผ่านทางภาระจํายอมดังกล่าว เมื่อนายกิโปไม่ใช่ เจ้าของที่ดิน แต่เป็นเพียงผู้อาศัย จึงไม่มีอํานาจฟ้องเพื่อบังคับให้นางฟิจิเปิดทางภาระจํายอม เพราะภาระจํายอม ที่เกิดขึ้นนั้นก็เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสามยทรัพย์ ดังนั้น ผู้ที่จะฟ้องขอให้เปิดทางภาระจํายอม จึงต้องเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ (สามยทรัพย์) เท่านั้น (คําพิพากษาฎีกาที่ 738/2503 และ 269/2539)
สรุป
นายโหวโหและนายกิโปไม่มีอํานาจฟ้องตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้น
ข้อ 3. โจทก์ยื่นฟ้องจําเลยที่ 1 ผู้รู้ และจําเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันให้ชําระหนี้ จําเลยที่ 1 ยื่นคําให้การว่ามูลหนี้ดังกล่าวเกิดจากการเล่นการพนันเป็นโมฆะไม่อาจบังคับได้ ส่วนจําเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคําให้การ (โจทก์ยื่นคําร้องตามมาตรา 198 แล้ว) ศาลจึงมีการชี้สองสถานโดยภายหลังจากการชี้สองสถานแล้ว ศาลจึงนัดสืบพยานโจทก์ก่อน เมื่อถึงในวันนัดสืบพยานโจทก์หากมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ดังนี้
(ก) จําเลยที่ 1 มายื่นคําร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคําให้การต่อศาล โดยต้องการเพิ่มข้อต่อสู้ว่าคดีดังกล่าวขาดอายุความแล้ว (เขียนเหตุผลครบถ้วนแล้ว) แต่ศาลไม่อนุญาตและสั่งไม่รับคําร้องของจําเลยที่ 1 คําสั่งดังกล่าวนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
(ข) ในวันสืบพยานดังกล่าวนี้ จําเลยที่ 2 ไม่มาศาล และโจทก์มายื่นคําบอกกล่าวเป็นหนังสือต่อศาลขอถอนฟ้องจําเลยที่ 2 เพียงคนเดียว ศาลจึงมีคําสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องและจําหน่ายคดีของ จําเลยที่ 2 ออกจากสาระบบความโดยไม่ได้ถามจําเลยก่อน การอนุญาตให้ถอนฟ้องดังกล่าวนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 175 “ก่อนจําเลยยื่นคําให้การ โจทก์อาจถอนคําฟ้องได้โดยยื่นคําบอกกล่าวเป็นหนังสือต่อศาล
ภายหลังจําเลยยื่นคําให้การแล้ว โจทก์อาจยื่นคําขอโดยทําเป็นคําร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่ออนุญาต ให้โจทก์ถอนคําฟ้องได้ ศาลจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตหรืออนุญาตภายในเงื่อนไขตามที่เห็นสมควรก็ได้ แต่
(1) ห้ามไม่ให้ศาลให้อนุญาต โดยมิได้ฟังจําเลยหรือผู้ร้องสอด ถ้าหากมีก่อน”
มาตรา 179 วรรคหนึ่ง “โจทก์หรือจําเลยจะแก้ไขข้อหา ข้อต่อสู้ ข้ออ้าง หรือข้อเถียงอันกล่าว ไว้ในคําฟ้องหรือคําให้การที่เสนอต่อศาลแต่แรกก็ได้
การแก้ไขนั้น โดยเฉพาะอาจเป็นการแก้ไขในข้อต่อไปนี้
(1) เพิ่ม หรือลด จํานวนทุนทรัพย์ หรือราคาทรัพย์สินที่พิพาทในฟ้องเดิม หรือ
(2) สละข้อหาในฟ้องเดิมเสียบางข้อ หรือเพิ่มเติมฟ้องเดิมให้บริบูรณ์โดยวิธีเสนอคําฟ้อง เพิ่มเติม หรือเสนอคําฟ้อง เพื่อคุ้มครองสิทธิของตนในระหว่างการพิจารณา หรือเพื่อบังคับตามคําพิพากษาหรือ คําสั่ง หรือ
(3) ยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่ เป็นข้อแก้ข้อหาเดิม หรือที่ยื่นภายหลัง หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไข ข้ออ้าง หรือข้อเถียงเพื่อสนับสนุนข้อหา หรือเพื่อหักล้างข้อหาของคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง”
มาตรา 180 “การแก้ไขคําฟ้องหรือคําให้การที่คู่ความเสนอต่อศาลไว้แล้ว ให้ทําเป็นคําร้อง ยื่นต่อศาลก่อนวันชี้สองสถาน หรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน เว้นแต่มีเหตุ อันสมควรที่ไม่อาจยื่นคําร้องได้ก่อนนั้นหรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย”
วินิจฉัย
กรณีตามอุทาหรณ์ แยกวินิจฉัยได้ดังนี้
(ก) การที่โจทก์ฟ้องจําเลยที่ 1 ผู้กู้ให้ชําระหนี้ จําเลยที่ 1 ยื่นคําให้การแต่แรกว่ามูลหนี้ดังกล่าว เกิดจากการเล่นการพนันเป็นโมฆะไม่อาจบังคับได้ แต่ภายหลังจากที่ศาลได้มีการชี้สองสถานแล้วในวันนัด สืบพยานโจทก์ จําเลยที่ 1 มายื่นคําร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคําให้การต่อศาล โดยการเพิ่มข้อต่อสู้ว่าคดีดังกล่าวขาด อายุความแล้วนั้น แม้ว่าเป็นกรณีที่จําเลยที่ 1 จะแก้ไข ข้อต่อสู้ ข้ออ้าง หรือข้อเถียงอันกล่าวไว้ในคําให้การที่เสนอ ต่อศาลแต่แรกตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 179 วรรคหนึ่ง (3) ซึ่งโดยหลักแล้วจําเลยที่ 1 สามารถที่จะแก้ไขคําให้การ ได้ก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าจําเลยที่ 1 ได้ยื่นคําร้องขอแก้ไขคําให้การภายหลังจากที่ศาลได้ชี้สองสถานแล้ว และกรณีนี้เป็นเรื่องที่จําเลยที่ 1 ทราบอยู่ก่อนแล้ว หาใช่กรณีที่ไม่อาจยื่นคําร้องขอแก้ไขคําให้การได้ก่อนวันนี้ สองสถานแต่อย่างใดไม่ ทั้งไม่ใช่การแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นการแก้ไข ข้อผิดพลาดเล็กน้อย หรือข้อผิดหลงเล็กน้อยตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 180 ดังนั้น จําเลยที่ 1 จะขอแก้ไขเพิ่มเติม คําให้การว่าคดีดังกล่าวขาดอายุความแล้วไม่ได้ (คําพิพากษาฎีกาที่ 4685/2549) การที่จําเลยที่ 1 มายื่นคําร้อง ขอแก้ไขเพิ่มเติมคําให้การดังกล่าวต่อศาล แต่ศาลไม่อนุญาตและสั่งไม่รับคําร้องของจําเลยที่ 1 นั้น คําสั่งของ ศาลดังกล่าวย่อมชอบด้วยกฎหมาย
(ข) การที่โจทก์ยื่นฟ้องจําเลยที่ 2 ผู้ค้ําประกัน แต่จําเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคําให้การ และภายหลังจาก ที่ศาลได้มีการชี้สองสถานแล้ว ในวันนัดสืบพยานโจทก์จําเลยที่ 2 ไม่มาศาล และโจทก์ได้ยื่นคําบอกกล่าวเป็น หนังสือต่อศาลขอถอนฟ้องจําเลยที่ 2 เพียงคนเดียวนั้น กรณีนี้ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ขอถอนคําฟ้องจําเลยที่ 2 ก่อนจําเลยที่ 2 ยื่นคําให้การ ตาม ป.วิ.แพ่งมาตรา 175 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์ย่อมสามารถที่จะทําได้ และศาลก็สามารถ มีคําสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องได้โดยมิต้องฟังจําเลยที่ 2 ก่อนแต่อย่างใด เพราะมิใช่เป็นกรณีที่โจทก์ขอถอนฟ้อง ภายหลังจําเลยที่ 2 ยื่นคําให้การแล้วตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 175 วรรคสอง (1) ดังนั้น การที่โจทก์ได้ขอถอนฟ้อง จําเลยที่ 2 และศาลได้มีคําสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องและจําหน่ายคดีของจําเลยที่ 2 ออกจากสาระบบความโดย ไม่ได้ถามจําเลยที่ 2 ก่อนนั้น การอนุญาตให้ถอนฟ้องดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย
สรุป
(ก) คําสั่งของศาลที่ไม่อนุญาตและสั่งไม่รับคําร้องของจําเลยที่ 1 ชอบด้วยกฎหมาย
(ข) การอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจําเลยที่ 2 ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 4. โจทก์กับจําเลยทําสัญญาหมั้นกันด้วยแหวนเพชร 1 วง มูลค่า 2 ล้านบาท แต่จําเลยผิดสัญญาหมั้นโจทก์จึงมาฟ้องให้จําเลยคืนของหมั้น จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ (โจทก์ยื่นคําร้องตามมาตรา 198 แล้ว) ศาลจึงได้พิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์ตามคําฟ้องแล้วเห็นว่า คดีมีมูลจึงพิพากษาว่าจําเลย ผิดสัญญาหมั้นโจทก์ให้จําเลยคืนของหมั้นโดยไม่ได้มีการสืบพยานโจทก์ไปแต่เพียงฝ่ายเดียวก่อน ภายหลังจากที่ศาลพิพากษาแล้ว จําเลยยื่นอุทธรณ์โต้แย้งว่าการที่ศาลพิพากษานั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะกรณีนี้กฎหมายบังคับว่าต้องมีการสืบพยานไปฝ่ายเดียวเสียก่อนจึงจะตัดสินคดีได้ เมื่อศาลพิพากษาโดยมิได้มีการสืบพยานไปฝ่ายเดียวก่อนจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ข้อต่อสู้นี้ ฟังขึ้นหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคําตอบ
หลักกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 198 วรรคหนึ่ง “ถ้าจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ ให้โจทก์มีคําขอต่อศาลภายในสิบห้า วันนับแต่ระยะเวลาที่กําหนดให้จําเลยยื่นคําให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดให้ตน เป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด”
มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสอง “ศาลจะมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดให้โจทก์ เป็นฝ่ายชนะคดี โดยจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การมิได้ เว้นแต่ศาลเห็นว่าคําฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ในการนี้ศาลจะยกขึ้นอ้างโดยลําพังซึ่งข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนก็ได้
เพื่อประโยชน์ในการพิพากษาหรือมีคําสั่งชี้ขาดคดีตามวรรคหนึ่ง ศาลอาจสืบพยานเกี่ยวกับ ข้ออ้างของโจทก์หรือพยานหลักฐานอื่นไปฝ่ายเดียวตามที่เห็นว่าจําเป็นก็ได้ แต่ในคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพ บุคคล สิทธิในครอบครัวหรือคดีพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ไป ฝ่ายเดียว และศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่เห็นว่าจําเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม”
วินิจฉัย
การที่โจทก์ฟ้องจําเลย แต่จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ โจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาชี้ขาดให้ โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยจําเลยขาดนัดยื่นคําให้การนั้น เป็นการดําเนินการตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 วรรคหนึ่ง และถ้าศาลเห็นว่าคําฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ศาลอาจมีคําพิพากษาหรือคําสั่งชี้ขาดให้โจทก์ เป็นฝ่ายชนะคดีก็ได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง แต่ถ้าเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคล สิทธิ ในครอบครัวหรือคดีพิพาทเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ให้ศาลสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียว และศาลอาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบได้เองตามที่เห็นว่าจําเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม (ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคสอง)
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์กับจําเลยทําสัญญาหมั้นกันด้วยแหวนเพชร 1 วง มูลค่า 2 ล้านบาท แต่จําเลยผิดสัญญาหมั้น โจทก์จึงมาฟ้องให้จําเลยคืนของหมั้น จําเลยขาดนัดยื่นคําให้การ และโจทก์ ได้ยื่นคําร้องตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 วรรคหนึ่งแล้วนั้น เมื่อศาลได้พิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์ตามคําฟ้อง แล้วเห็นว่าคดีมีมูล จึงพิพากษาว่าจําเลยผิดสัญญาหมั่นโจทก์ให้จําเลยคืนของหมั่นโดยไม่ได้มีการสืบพยานโจทก์ ไปแต่เพียงฝ่ายเดียวก่อนตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง คําพิพากษาของศาลกรณีดังกล่าวย่อมชอบด้วย กฎหมาย เพราะการฟ้องคดีการผิดสัญญาหมั้นนั้นมิใช่คดีที่เกี่ยวด้วยสิทธิแห่งสภาพบุคคลหรือสิทธิในครอบครัว แต่อย่างใด (คําพิพากษาฎีกาที่ 9342/2538) จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคสอง ที่บังคับ ให้ศาลต้องสืบพยานหลักฐานโจทก์ไปฝ่ายเดียวก่อน ดังนั้น การที่จําเลยยื่นอุทธรณ์โต้แย้งว่าการที่ศาลพิพากษานั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะศาลพิพากษาโดยมิได้มีการสืบพยานไปฝ่ายเดียวก่อนนั้น ข้อต่อสู้ของจําเลยจึงฟังไม่ขึ้น
สรุป
ข้อต่อสู้ของจําเลยดังกล่าวฟังไม่ขึ้น