การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3005 (LA 305),(LW 306) กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 4 ข้อ
ข้อ 1. เมืองต้องการยกที่ดินแปลงหนึ่งเนื้อที่ 50 ไร่ แก่บุตรสองคน คือ หนึ่ง และ สอง จึงไปทำสัญญาให้และ จดทะเบียนโอนที่สำนักงานที่ดิน และเมืองได้ทำสัญญาเช่าที่ดินแปลงหนึ่ง เนื้อที่ 5 ไร่จากไม้ เพื่อใช้เป็นที่จอดรถของโรงแรมที่เมืองดำเนินกิจการอยู่ ปรากฏต่อมาว่า
ก. ในโฉนดที่ดินมีการจดทะเบียนว่าผู้ได้รับการให้ที่ดินแปลงแรกสามคนคือ หนึ่ง และ บุตรของหนึ่งอีกสองคน เพราะสองถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ซึ่งเมืองเห็นว่าไม่ตรงตามความประสงค์ของตน และต้องการได้ที่ดินคืน โดยการยื่นคำร้องอย่างคดีไม่มีข้อพิพาท ขอให้ศาลมีคำสั่งให้สัญญาให้เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156
ข. เอก โท และตรี เจ้าของตึกแถวซึ่งอยู่ข้างที่ดินที่เช่าได้ติดตั้งหลังคากันสาดรุกล้ำเข้ามาในที่ดินที่เช่า ทำให้เมืองไม่สามารถปรับปรุงที่ดินที่เช่าและสร้างหลังคาโรงรถได้ เมืองจึงจะฟ้องคดีเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้เอก โท และตรี รื้อถอนกันสาดออกไปจากที่ดินที่เช่า
ท่านเห็นว่าเมืองจะยื่นคำร้องขอตามข้อ ก. และฟ้องคดีตามข้อ ข. ได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
ข้อเท็จจริงในคำถามเกี่ยวกับสิทธิในการฟ้องคดีต่อศาลตาม ป.วิ.พ.มาตรา 55
ก. การที่บุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทโดยทำเป็นคำร้องขอยื่นต่อศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 และ 188 (1) ต้องพิจารณาจากกฎหมายสารบัญญัติ กล่าวคือ จะต้องมีกฎหมายบัญญัติรับรองให้ใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำขอในกรณีนั้น ๆ ได้ เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติรับรองว่าหากผู้ทำนิติกรรมยกที่ดินให้ผู้ใดไปแล้ว ให้ผู้นั้นใช้สิทธิทางศาลยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่านิติกรรมยกให้ดังกล่าวเป็นโมฆะได้ แม้ ป.พ.พ.มาตรา 156 ที่ให้ใช้สิทธิทางศาลยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่านิติกรรมเป็นโมฆะได้ก็เป็นเพียงหลักเกณฑ์ของกฎหมายที่จะทำให้นิติกรรมเป็นโมฆะเท่านั้น หาได้รับรองให้เมืองใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่านิติกรรมยกให้นั้นเป็นโมฆะแต่อย่างใด เมืองจึงไม่สามารถใช้สิทธิทางศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4530/2541)
ข. เอก โท และตรี ได้ติดตั้งหลังคากันสาดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินที่เมืองเช่า เมืองจึงไม่สามารถใช้หรือได้รับประโยชน์จากที่ดินดังกล่าวได้ ทำให้เมืองได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร คิดหรือคาดหมายในการใช้ที่ดิน แม้เมืองเป็นเพียงผู้เช่าที่ดิน แต่การเช่าดังกล่าวก็เพื่อประโยชน์ในกิจการโรงแรมของเมือง เมื่อเมืองเป็นเจ้าของโรงแรมอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้รับความเดือดร้อนรำคาญเป็นพิเศษจากการกระทำของเอก โท และตรี จึงย่อมมีอำนาจฟ้องให้ขจัดความเดือดร้อนได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 421 และมาตรา 1337 แม้เอก โท และตรีจะติดตั้งหลังคากันสาดตึกแถวก่อนที่เมืองจะทำสัญญาเช่าที่ดินก็หาเป็นเหตุให้เมืองต้องเสียสิทธิดังกล่าวไปไม่ โจทก์มีสิทธิฟ้องเอก โท และตรีเป็นจำเลยให้รื้อถอนหลังคาที่ต่อเติมและกีดขวางการใช้ประโยชน์ของเมืองได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 877/2546)
ข้อ 2. นายสรศักดิ์คนไทยมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดสงขลา นายสรศักดิ์ได้ขับรถยนต์ไปเติมน้ำมันในประเทศมาเลเซีย เมื่อเติมน้ำมันเสร็จแล้ว นายสรศักดิ์ขับรถยนต์ออกจากปั๊มน้ำมัน ได้ถูกรถยนต์ที่นายอับดุลซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดปัตตานีคนขับรถยนต์ของนายเดวิดนายจ้างชาวมาเลเซียมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศมาเลเซียขับชนได้รับความเสียหาย นายสรศักดิ์กลับเข้ามาในประเทศไทย ทราบว่านายเดวิดมีคอนโดมีเนียมอยู่ที่จังหวัดกระบี่ นายสรศักดิ์ประสงค์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเหตุที่นายอับดุลกระทำละเมิดจากนายอับดุล และนายเดวิดต่อศาลไทย จะเสนอคำฟ้องต่อศาลใดได้บ้าง และจะฟ้องทั้งสองยังศาลเดียวกันได้หรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4(1), 4 ตรีและมาตรา 5
วินิจฉัย ตามปัญหาเป็นเรื่องกระทำละเมิดโดยมูลคดีเกิดนอกราชอาณาจักร นายสรศักดิ์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากนายอับดุลที่กระทำละเมิดต่อนายสรศักดิ์ได้ต่อศาลที่จังหวัดปัตตานีอันเป็นศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4(1) และฟ้องนายเดวิด นายจ้าง ต่อศาลแพ่ง หรือศาลที่จังหวัดสงขลาอันเป็นศาลที่โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 4 ตรี นายสรศักดิ์ฟ้องนายอับดุลและนายเดวิด ยังศาลเดียวกันได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 5
ข้อ 3. ฟ้องซ้ำและการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
คดีแรก โจทก์ฟ้องเรียกที่ดินมรดกคืนจากจำเลยอ้างว่าจำเลยไม่ใช่สามีของเจ้ามรดกผู้ตาย คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดก ต่อมาโจทก์ฟ้องคดีหลังเรียกที่ดินมรดกในคดีแรกคืนจากจำเลย อ้างว่าจำเลยได้กระทำการอันเป็นการปิดบังซ่อนเร้นทรัพย์มรดกเพื่อมิให้โจทก์ได้รับมรดกจากเจ้ามรดก จำเลยให้การต่อสู้ว่าการฟ้องคดีหลังของโจทก์ไม่ชอบเพราะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแรก ท่านเห็นว่าข้อต่อสู้ของจำเลยถูกต้องหรือไม่ และศาลจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างไร
ธงคำตอบ
การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำบัญญัติในมาตรา 144 ส่วนการฟ้องซ้ำบัญญัติในมาตรา 148 ซึ่งมีข้อแตกต่างกันดังนี้
1. หากคำพิพากษาหรือคำสั่งในประเด็นสำคัญแห่งคดียังไม่ถึงที่สุดต้องพิจารณาตามมาตรา 144 ไม่ใช่มาตรา 148
2. หากคำพิพากษาหรือคำสั่งในประเด็นสำคัญแห่งคดีถึงที่สุดแล้ว ถ้าคดีที่วินิจฉัยภายหลัง
ก. มีลักษณะเป็นคำฟ้องต้องพิจารณาหลักเกณฑ์เรื่องฟ้องซ้ำตามมาตรา 148
ข. ไม่มีลักษณะเป็นคำฟ้องต้องพิจารณาหลักเกณฑ์เรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามมาตรา 144
3. ถ้าเป็นการกล่าวอ้างในคดีเดิมต้องพิจารณาหลักเกณฑ์เรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามมาตรา 144 เพราะการฟ้องซ้ำตามมาตรา 148 ต้องเป็นคนละคดี
กรณีตามปัญหา คดีแรกมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ดังนั้นจึงเป็นไม่ใช่กรณีของการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำแต่ต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์ของฟ้องซ้ำ คดีแรกประเด็นแห่งคดีมีว่าจำเลยเป็นทายาทของเจ้ามรดกหรือไม่ ส่วนคดีหลังประเด็นแห่งคดีมีว่า จำเลยได้กระทำการอันเป็นการปิดบังซ่อนเร้นทรัพย์มรดกอันจะถูกจำกัดไม่ให้รับมรดกหรือไม่ จึงเป็นคนละประเด็นกันไม่เป็นฟ้องซ้ำ ศาลจึงสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2219/2530)
ข้อ 4. โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกไปจากที่ดินและบ้านพิพาท โดยโจทก์อ้างว่าที่ดินและบ้านเป็นของโจทก์ คดีอยู่ในระหว่างพิจารณา ผู้ร้องสอดได้ยื่นคำร้องอ้างว่าที่ดินพิพาทผู้ร้องได้เข้าครอบครองทำประโยชน์และอยู่อาศัยโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ผู้ร้องจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านไม่ใช่ของโจทก์ และขอให้ศาลมีคำสั่งว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นของผู้ร้องสอด ห้ามโจทก์เกี่ยวข้อง โจทก์ขาดนัดยื่นคำให้การ ผู้ร้องสอดขอให้ศาลพิพากษาชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด ศาลพิเคราะห์คำฟ้องแล้วมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย ศาลสั่งให้ผู้ร้องสอดนำพยานเข้าสืบดังนี้
ก. ในวันสืบพยานผู้ร้องสอดโจทก์จำเลยคดีร้องสอดไม่มาศาล ศาลถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา จึงสั่งให้พิจารณาคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียว
ข. ในวันสืบพยานผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดไม่มาศาล ศาลสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ
ทั้ง ข้อ ก. และ ข้อ ข. คำสั่งของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
หลักกฎหมาย ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคสี่ และวรรคห้า, และ 200
วินิจฉัย ตามปัญหาผู้ร้องสอดได้ยื่นคำร้องเข้ามาในคดีอ้างว่าที่ดินและบ้านที่พิพาท ผู้ร้องได้เข้าครอบครองทำประโยชน์และอยู่อาศัยโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อมาเป็นเวลากว่า 10 ปี ผู้ร้องจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ขอให้ศาลสั่งว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นของผู้ร้อง ห้ามโจทก์เกี่ยวข้อง ผู้ร้องได้เข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามในฐานะโจทก์ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 57 (1) โจทก์เดิมเป็นจำเลยในคดีร้องสอดต้องยื่นคำให้การเมื่อโจทก์ขาดนัดยื่นคำให้การ ผู้ร้องสอดขอให้ศาลมีคำพิพากษาชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีได้ ศาลตรวจคำฟ้องแล้วมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายจึงสั่งให้โจทก์นำพยานเข้าสืบในวันสืบพยานโจทก์ (ผู้ร้องสอด) โจทก์ (จำเลยคดีร้องสอด) ไม่มาศาล ไม่ถือว่าจำเลยขาดนัดตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคสี่ ศาลจะถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 204 ไม่ได้ ส่วนโจทก์ (ผู้ร้องสอด) ไม่มาศาลในวันสืบพยานก็ไม่ถือว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 200 และ 202 แต่ถือว่าโจทก์ไม่นำพยานเข้าสืบคดี โจทก์ไม่มีมูลให้ศาลพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคห้า
ดังนั้น คำสั่งศาลตาม ข้อ ก. และ ข้อ ข. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย