การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2559

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3004 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. โจทก์ฟ้องจําเลยต่อศาลจังหวัดอุทัยธานี (จังหวัดอุทัยธานีไม่มีศาลแขวงที่มีเขตอํานาจ) ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ 2 ครั้ง ซึ่งความผิดฐานยักยอกมีระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท มีนายเก่งและนายกล้าซึ่งเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษา เมื่อการพิจารณาเสร็จสิ้นลง นายเก่งย้ายไปรับราชการยังศาลอื่น นายกล้าจึงพิพากษาลงโทษจําคุก จําเลยกระทงละ 6 เดือน รวมเป็นโทษจําคุก 1 ปี การทําคําพิพากษาของนายกล้าชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ แต่จะลงโทษจําคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือ ทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งโทษจําคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้”

มาตรา 26 “ภายใต้บังคับมาตรา 25 ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น นอกจาก ศาลแขวงและศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย สองคนและต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจําศาลเกินหนึ่งคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง หรือคดีอาญาทั้งปวง”

มาตรา 29 “ในระหว่างการทําคําพิพากษาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจ ก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทําคําพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้ ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอํานาจลงลายมือชื่อทําคําพิพากษา และเฉพาะในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และ ศาลชั้นต้น มีอํานาจทําความเห็นแย้งได้ด้วย ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสํานวนคดีนั้นแล้ว

(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค รองอธิบดี ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี

มาตรา 30 “เหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 หมายถึงกรณี ที่ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีนั้นพ้นจากตําแหน่งที่ดํารงอยู่ หรือถูกคัดค้านและถอนตัวไป หรือ ไม่อาจปฏิบัติราชการจนไม่สามารถนั่งพิจารณา หรือทําคําพิพากษาในคดีนั้นได้”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น จะต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคน เป็นองค์คณะเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีเพ่งหรือคดีอาญาทั้งปวง (มาตรา 26) แต่อย่างไรก็ดี ผู้พิพากษาคนเดียว มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ แต่จะลงโทษจําคุกเกิน 6 เดือน หรือปรับเกิน 10,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งโทษจําคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราดังกล่าวไม่ได้ (มาตรา 25 (5)

 

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องจําเลยต่อศาลจังหวัดอุทัยธานี ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ 2 ครั้งนั้น แม้จะเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือความผิดหลายกระทง แต่เมื่อความผิดแต่ละกระทง เป็นความผิดที่กฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท ดังนี้ ผู้พิพากษาคนเดียวในศาลนั้น ย่อมมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวได้ แม้ว่าเมื่อรวมความผิดแต่ละกรรม หรือแต่ละกระทงแล้วอัตราโทษจะเกินอํานาจของผู้พิพากษาคนเดียวก็ตาม

การที่นายเก่งและนายกล้าซึ่งเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดได้ร่วมกันเป็นองค์คณะพิจารณา พิพากษาคดีดังกล่าว ซึ่งโดยหลักแล้วทั้งสองก็ต้องร่วมกันทําคําพิพากษา แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าก่อนทํา คําพิพากษานั้น นายเก่งได้ย้ายไปรับราชการยังศาลอื่น ดังนี้ นายกล้าซึ่งเป็นผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีดังกล่าว มาตั้งแต่ต้นย่อมมีอํานาจตามมาตรา 25 (5) คือมีอํานาจพิพากษาลงโทษจําเลยได้ แต่จะพิพากษาลงโทษจําคุกจําเลย แต่ละกระทงเกิน 6 เดือน หรือปรับเกิน 10,000 บาทไม่ได้ ดังนั้นการที่นายกล้าได้พิพากษาลงโทษจําคุกจําเลยกระทงละ 6 เดือน แม้จะรวมโทษจําคุกทั้ง 2 กระทงเป็น 1 ปีก็ตาม คําพิพากษาของนายกล้าก็ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

และตามข้อเท็จจริงนั้น การที่นายเก่งได้ย้ายไปรับราชการยังศาลอื่นนั้น ถือว่าเป็นกรณีที่ ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีนั้นพ้นจากตําแหน่งที่ดํารงอยู่ตามมาตรา 30 และถือว่ามีเหตุจําเป็นอื่น อันมิอาจก้าวล่วงได้ในระหว่างการทําคําพิพากษาคดีตามมาตรา 29 ก็ตาม แต่เมื่อกรณีที่นายกล้าได้พิพากษา ให้ลงโทษจําคุกจําเลยกระทงละ 6 เดือนนั้น เป็นอํานาจของผู้พิพากษาคนเดียวที่สามารถทําคําพิพากษาได้ ดังนั้น ในการทําคําพิพากษาของนายกล้าดังกล่าวจึงไม่จําต้องให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลลงลายมือชื่อทํา คําพิพากษาแต่อย่างใด

สรุป

การทําคําพิพากษาของนายกล้าชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

 

ข้อ 2. จงอธิบายการโอนคดีตามมาตรา 19/1 แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม พร้อมยกตัวอย่างประกอบให้ชัดเจน

ธงคําตอบ

ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 19/1 ได้บัญญัติไว้ว่า

“บรรดาคดีซึ่งเกิดขึ้นในเขตศาลแขวงและอยู่ในอํานาจของศาลแขวงนั้น ถ้ายื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัด ให้อยู่ใน ดุลพินิจของศาลดังกล่าวที่จะยอมรับพิจารณาคดีใดคดีหนึ่งที่ยื่นฟ้องเช่นนั้นหรือมีคําสั่งโอนคดีไปยังศาลแขวงที่มี เขตอํานาจก็ได้ และไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด หากศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัดได้มีคําสั่งรับฟ้องคดีเช่นว่านั้นไว้แล้ว ให้ศาลดังกล่าว พิจารณาพิพากษาคดีนั้นต่อไป

ในกรณีที่ขณะยื่นฟ้องนั้นเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัดอยู่แล้ว แม้ต่อมาจะมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ทําให้คดีนั้นเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลแขวง ก็ให้ศาลนั้นพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวต่อไป”

ตามบทบัญญัติมาตรา 19/1 วรรคหนึ่ง เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการโอนคดีไปยังศาลแขวง ซึ่งมีหลักเกณฑ์ ดังนี้คือ

1 คดีนั้นเกิดขึ้นในเขตศาลแขวง

2 คดีนั้นอยู่ในอํานาจของศาลแขวง (ตามมาตรา 25 (4) (5) ประกอบมาตรา 17)

3 โจทก์นําคดีนั้นไปยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญาศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัด

4 ศาลดังกล่าว (ศาลที่โจทก์นําคดีไปยื่นฟ้องตาม 3) ย่อมสามารถใช้ดุลพินิจได้ 2 ประการกล่าวคือ

(1) ยอมรับคดีที่โจทก์ได้ยื่นฟ้องนั้นไว้พิจารณา หรือ

(2) มีคําสั่งโอนคดีดังกล่าวไปยังศาลแขวงที่มีเขตอํานาจ

ตัวอย่างเช่น นาย ก. เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนาย ข. เป็นจําเลยต่อศาลจังหวัดแห่งหนึ่งในความผิด ซึ่งอยู่ในอํานาจการพิจารณาของศาลแขวง (ตามมาตรา 25 (4) (5) ประกอบมาตรา 17) เมื่อศาลจังหวัดได้ไต่สวนแล้ว เห็นว่าเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจการพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง ดังนี้ ศาลจังหวัดอาจใช้ดุลพินิจยอมรับคดีดังกล่าว ไว้พิจารณาก็ได้ หรือศาลจังหวัดอาจมีคําสั่งให้โอนคดีดังกล่าวไปยังศาลแขวงที่มีเขตอํานาจเพื่อให้ศาลแขวงนั้น พิจารณาพิพากษาคดีนั้นต่อไปก็ได้ (โดยศาลจังหวัดจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น เช่น มีคําสั่งไม่รับฟ้อง หรือสั่งยกฟ้อง หรือสั่งจําหน่ายคดีไม่ได้)

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าเข้าเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ศาลดังกล่าว (ศาลที่โจทก์นําคดี ไปยื่นฟ้อง) จะมีคําสั่งโอนคดีไปยังศาลแขวงที่มีเขตอํานาจไม่ได้ ศาลดังกล่าวจะต้องพิจารณาพิพากษาคดีนั้นต่อไป

1 เมื่อโจทก์นําคดีนั้นไปยื่นต่อศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัดนั้น ปรากฏว่าศาลดังกล่าวได้มีคําสั่งรับฟ้องคดีเช่นว่านั้น ไว้แล้ว (มาตรา 19/1 วรรคหนึ่งตอนท้าย) หรือ

2 ในขณะที่ยื่นฟ้องปรากฏว่าคดีนั้นเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี หรือศาลจังหวัดอยู่แล้ว แต่ต่อมามีพฤติการณ์ เปลี่ยนแปลงไปทําให้คดีนั้นเป็นคดีที่อยู่ในอํานาจของศาลแขวง (มาตรา 19/1 วรรคสอง)

 

ข้อ 3. ศาลจังหวัดมีนายประธานเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ได้จ่ายสํานวนคดีให้แก่นายหนึ่ง นายสองผู้พิพากษาศาลจังหวัดเป็นองค์คณะพิจารณาคดีอาญาคดีหนึ่งในความผิดซึ่งมีอัตราโทษจําคุก 6 เดือน ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ นายหนึ่ง นายสอง ได้พิจารณาคดีจนเสร็จ และขณะกําลังทําคําพิพากษานายหนึ่งได้ล้มป่วยกะทันหันต้อง พักรักษาตัวที่โรงพยาบาล นายสองจึงนําสํานวนคดีดังกล่าวไปให้นายประธานเพื่อตรวจสํานวน และลงลายมือชื่อทําคําพิพากษา แต่นายประธานไปราชการอีกจังหวัดหนึ่ง จึงได้นําเอาคดีดังกล่าว ไปปรึกษานายประยุทธ์ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดรองลงมาจากนายประธานในศาลจังหวัดแห่งนั้น คําพิพากษาดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 9 วรรคสอง “เมื่อตําแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดหรือผู้พิพากษาหัวหน้า ศาลแขวงว่างลง หรือเมื่อผู้ดํารงตําแหน่งดังกล่าวไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้น เป็นผู้ทําการแทน ถ้าผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้นไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสถัดลงมาตามลําดับ ในศาลนั้นเป็นผู้ทําการแทน”

มาตรา 29 “ในระหว่างการทําคําพิพากษาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจ ก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทําคําพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้ ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอํานาจลงลายมือชื่อทําคําพิพากษา และเฉพาะในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และ ศาลชั้นต้นมีอํานาจทําความเห็นแย้งได้ด้วย ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสํานวนคดีนั้นแล้ว

(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค รองอธิบดี ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี

ให้ผู้ทําการแทนในตําแหน่งต่าง ๆ ตามมาตรา 8 มาตรา 9 และมาตรา 13 มีอํานาจตาม (1) (2) และ (3) ด้วย”

มาตรา 30 “เหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 หมายถึง กรณีที่ ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีนั้นพ้นจากตําแหน่งที่ดํารงอยู่ หรือถูกคัดค้านและถอนตัวไป หรือไม่อาจ ปฏิบัติราชการจนไม่สามารถนั่งพิจารณา หรือทําคําพิพากษาในคดีนั้นได้”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายหนึ่งและนายสอง ผู้พิพากษาศาลจังหวัดเป็นองค์คณะพิจารณา คดีอาญาคดีหนึ่งในความผิดซึ่งมีอัตราโทษจําคุก 6 เดือน ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 100,000 บาท หรือ ทั้งจําทั้งปรับ และเมื่อนายหนึ่ง นายสอง ได้พิจารณาคดีจนเสร็จและขณะกําลังทําคําพิพากษา นายหนึ่งได้ล้มป่วย กะทันหันต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลนั้น ถือว่านายหนึ่งผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีนั้นไม่อาจทํา คําพิพากษาในคดีนั้นได้ ซึ่งเป็นเหตุจําเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 30 และเมื่อได้เกิดขึ้นในระหว่างการทํา คําพิพากษา จึงต้องให้นายประธานซึ่งเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเป็นผู้ตรวจสํานวน และลงลายมือชื่อทําคําพิพากษา ตามมาตรา 29 (3)

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายประธานได้ไปราชการอีกจังหวัดหนึ่งจึงไม่อาจ ปฏิบัติราชการได้ ดังนั้น จึงต้องให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้น หรือผู้พิพากษาที่มีอาวุโสถัดลงมาตามลําดับ ในศาลนั้นเป็นผู้ทําการแทนตามมาตรา 9 วรรคสอง กล่าวคือ เมื่อนายประธานไม่อาจปฏิบัติราชการได้ จึงต้องให้ นายประยุทธ์ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดรองลงมาจากนายประธานเป็นผู้ทําการแทน ดังนั้น นายประยุทธ์จึงมีอํานาจ ตรวจสํานวนและลงลายมือชื่อทําคําพิพากษาในคดีดังกล่าวได้ตามมาตรา 29 (3) ประกอบมาตรา 29 วรรคสอง และเมื่อนายสองได้นําสํานวนคดีดังกล่าว ไปปรึกษานายประยุทธ์ และให้นายประยุทธ์ตรวจสํานวนและลงลายมือชื่อ ทําคําพิพากษาร่วมกับนายสอง คําพิพากษาดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย

สรุป

คําพิพากษาดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย

Advertisement