การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2555

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3004 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. โจทก์ฟ้องจําเลยต่อศาลจังหวัดอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานีไม่มีศาลแขวง) ในความผิดฐานยักยอก 2 ครั้ง ซึ่งความผิดฐานยักยอกมีระวางโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท มีนายเก่ง และนายกล้าซึ่งเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษา เมื่อการพิจารณาเสร็จสิ้นลง นายเก่งย้ายไปรับราชการยังศาลอื่น นายกล้าจึงพิพากษาลงโทษจําคุกจําเลยกระทงละ 6 เดือน รวมเป็นโทษจําคุก 1 ปี การทําคําพิพากษาของนายกล้าชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ แต่จะลงโทษจําคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือ ทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งโทษจําคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้”

มาตรา 26 “ภายใต้บังคับมาตรา 25 ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น นอกจาก ศาลแขวงและศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย สองคนและต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจําศาลเกินหนึ่งคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง หรือคดีอาญาทั้งปวง”

มาตรา 29 “ในระหว่างการทําคําพิพากษาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจ ก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทําคําพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้ ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอํานาจลงลายมือชื่อทําคําพิพากษา และเฉพาะในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และศาลชั้นต้น มีอํานาจทําความเห็นแย้งได้ด้วย ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสํานวนคดีนั้นแล้ว

(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค รองอธิบดี ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี”

มาตรา 30 “เหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 หมายถึง กรณีที่ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีนั้นพ้นจากตําแหน่งที่ดํารงอยู่ หรือถูกคัดค้านและถอนตัวไป หรือไม่อาจปฏิบัติราชการจนไม่สามารถนั่งพิจารณา หรือทําคําพิพากษาในคดีนั้นได้”

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น จะต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคน เป็นองค์คณะเพื่อพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งหรือคดีอาญาทั้งปวง (มาตรา 26) แต่อย่างไรก็ดี ผู้พิพากษาคนเดียว มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ แต่จะลงโทษจําคุกเกิน 6 เดือน หรือปรับเกิน 10,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งโทษจําคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราดังกล่าวไม่ได้ (มาตรา 25 (5)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่โจทก์ฟ้องจําเลยต่อศาลจังหวัดอุทัยธานี ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ 2 ครั้งนั้น แม้จะเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือความผิดหลายกระทง แต่เมื่อความผิดแต่ละกระทง เป็นความผิดที่กฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จําคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท ดังนี้ ผู้พิพากษาคนเดียวในศาลนั้น ย่อมมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวได้ แม้ว่าเมื่อรวมความผิดแต่ละกรรม หรือแต่ละกระทงแล้วอัตราโทษจะเกินอํานาจของผู้พิพากษาคนเดียวก็ตาม

การที่นายเก่งและนายกล้าซึ่งเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดได้ร่วมกันเป็นองค์คณะพิจารณา พิพากษาคดีดังกล่าว ซึ่งโดยหลักแล้วทั้งสองก็ต้องร่วมกันทําคําพิพากษา แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าก่อนทํา คําพิพากษานั้น นายเก่งได้ย้ายไปรับราชการยังศาลอื่น ดังนี้ นายกล้าซึ่งเป็นผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีดังกล่าว มาตั้งแต่ต้นย่อมมีอํานาจตามมาตรา 25 (5) คือมีอํานาจพิพากษาลงโทษจําเลยได้ แต่จะพิพากษาลงโทษจําคุกจําเลย แต่ละกระทงเกิน 6 เดือน หรือปรับเกิน 10,000 บาทไม่ได้ ดังนั้นการที่นายกล้าได้พิพากษาลงโทษจําคุกจําเลย กระทงละ 6 เดือน แม้จะรวมโทษจําคุกทั้ง 2 กระทงเป็น 1 ปีก็ตาม คําพิพากษาของนายกล้าก็ชอบด้วยพระธรรมนูญ ศาลยุติธรรม

และตามข้อเท็จจริงนั้น การที่นายเก่งได้ย้ายไปรับราชการยังศาลอื่นนั้น ถือว่าเป็นกรณีที่ ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีนั้นพ้นจากตําแหน่งที่ดํารงอยู่ตามมาตรา 30 และถือว่ามีเหตุจําเป็นอื่น อันมิอาจก้าวล่วงได้ในระหว่างการทําคําพิพากษาคดีตามมาตรา 29 ก็ตาม แต่เมื่อกรณีที่นายกล้าได้พิพากษา ให้ลงโทษจําคุกจําเลยกระทงละ 6 เดือนนั้น เป็นอํานาจของผู้พิพากษาคนเดียวที่สามารถทําคําพิพากษาได้ ดังนั้น ในการทําคําพิพากษาของนายกล้าดังกล่าวจึงไม่จําต้องให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลลงลายมือชื่อทําคําพิพากษา แต่อย่างใด

สรุป การทําคําพิพากษาของนายกล้าชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

 

ข้อ 2. ศาลแขวงสุพรรณบุรี โดยนายจันทร์ผู้พิพากษาศาลแขวงสุพรรณบุรี พิจารณาคดีแพ่งซึ่งโจทก์ฟ้องมีทุนทรัพย์สามแสนบาท ต่อมาปรากฏว่าราคาทรัพย์ที่พิพาทเกินสามแสนบาท นายจันทร์เห็นว่า เป็นเหตุจําเป็นอื่นอันไม่อาจก้าวล่วงได้ จึงนําคดีไปให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงสุพรรณบุรี ตรวจสํานวนลงชื่อทําคําพิพากษาเป็นองค์คณะ แล้วพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี

คําพิพากษาศาลแขวงสุพรรณบุรีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมี คําสั่งใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน สามแสนบาท ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”

มาตรา 26 “ภายใต้บังคับมาตรา 25 ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น นอกจาก ศาลแขวงและศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย สองคนและต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจําศาลเกินหนึ่งคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง หรือคดีอาญาทั้งปวง”

มาตรา 31 “เหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 นอกจากที่ กําหนดไว้ในมาตรา 30 แล้วให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย

(4) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวพิจารณาคดีแพ่งตามมาตรา 2545 ไปแล้ว ต่อมาปรากฏว่า ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องเกินกว่าอํานาจพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียว”

วินิจฉัย

ตามหลักของพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ศาลแขวงซึ่งมีผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจ พิจารณาพิพากษาคดีแพ่งซึ่งมีทุนทรัพย์ (ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้อง) ไม่เกิน 3 แสนบาท (มาตรา 25(4) ประกอบกับมาตรา 17)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายจันทร์ผู้พิพากษาศาลแขวงสุพรรณบุรีได้พิจารณาคดีแพ่งซึ่งโจทก์ ฟ้องจําเลยมีทุนทรัพย์ 3 แสนบาทนั้น นายจันทร์ย่อมมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวได้ตามมาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 17 แต่เมื่อต่อมาปรากฏว่าทรัพย์ที่พิพาทมีราคาเกิน 3 แสนบาท คดีจึงเกินอํานาจศาลแขวงที่จะ พิจารณาพิพากษา ดังนั้น นายจันทร์ผู้พิพากษาศาลแขวงจะต้องมีคําสั่งจําหน่ายคดีโจทก์ออกจากสารบบความ และคืนฟ้องให้โจทก์เพื่อให้โจทก์นําคดีไปฟ้องยังศาลที่มีอํานาจ นายจันทร์จะนําคดีไปให้ผู้พิพากษาหัวหน้า ศาลแขวงสุพรรณบุรีตรวจสํานวนลงชื่อทําคําพิพากษาเป็นองค์คณะ แล้วพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีไม่ได้ เพราะ กรณีดังกล่าวไม่ถือเป็นเหตุจําเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 31 (4) เนื่องจากตามมาตรา 26 ประกอบกับ มาตรา 31 (4) นั้น เป็นการให้อํานาจแก่ผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาคดีในศาลชั้นต้นเท่านั้น มิได้ให้อํานาจ แก่ผู้พิพากษาในการพิจารณาคดีในศาลแขวงแต่อย่างใด อีกทั้งถ้าให้อํานาจผู้พิพากษาคนเดียวในศาลแขวง ดําเนินการดังกล่าวได้ ก็จะเป็นการขยายอํานาจของศาลแขวงให้มีอํานาจเหมือนศาลจังหวัดหรือศาลชั้นต้นอื่น

ดังนั้น การที่นายจันทร์ไม่สั่งจําหน่ายคดีออกจากสารบบความ แต่นําคดีไปให้ผู้พิพากษา หัวหน้าศาลแขวงสุพรรณบุรีตรวจสํานวนลงชื่อทําคําพิพากษาเป็นองค์คณะ แล้วพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีนั้น คําพิพากษาศาลแขวงสุพรรณบุรีดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป คําพิพากษาศาลแขวงสุพรรณบุรีไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 3. ในศาลจังหวัดมีนายเอกเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาล นายโทผู้พิพากษาอาวุโส นายดํา นายแดง นายเขียว ผู้พิพากษาศาลจังหวัดเรียงตามลําดับอาวุโส และนายกล้าผู้พิพากษาประจําศาล นายเอกได้ จ่ายสํานวนคดีให้นายดําและนายแดงเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีอาญาเรื่องหนึ่ง ปรากฏต่อมาว่า นายเขียวทราบว่านายแดงเป็นญาติกับฝ่ายจําเลย จึงนําความไปบอกนายดํา นายดําเห็นว่าอาจจะ กระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดีนั้น นายดําจึงเสนอความเห็นให้ นายเอกเรียกคืนสํานวนคดี นายเอกจึงเรียกคืนสํานวนคดีดังกล่าว และโอนสํานวนคดีให้นายกล้า เป็นองค์คณะแทนนายแดง ท่านเห็นว่า การกระทําดังกล่าวชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 33 “การเรียกคืนสํานวนคดีหรือการโอนสํานวนคดีซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ องค์คณะผู้พิพากษาใด ประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล จะกระทําได้ต่อเมื่อเป็นกรณีที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณา หรือพิพากษาอรรถคดีของศาลนั้น และรองประธานศาลฎีกา รองประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาในศาลจังหวัดหรือศาลแขวงที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้น แล้วแต่กรณี ที่มิได้เป็นองค์คณะในสํานวนคดีดังกล่าวได้เสนอความเห็นให้กระทําได้

ในกรณีที่รองประธานศาลฎีกา รองประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค รองอธิบดี ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาในศาลจังหวัดหรือศาลแขวง ที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้น แล้วแต่กรณี ไม่อาจปฏิบัติราชการได้หรือได้เข้าเป็นองค์คณะในสํานวนคดีที่เรียกคืนหรือโอนนั้น ให้รองประธานศาลฎีกา รองประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาที่มี อาวุโสถัดลงมาตามลําดับในศาลนั้น เป็นผู้มีอํานาจในการเสนอความเห็นแทน ในกรณีที่รองประธานศาลฎีกา รองประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น มีหนึ่งคนหรือมีหลายคน แต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้หรือได้เข้าเป็นองค์คณะในสํานวนคดีที่เรียกคืนหรือโอนนั้นทั้งหมด ให้ผู้พิพากษาที่มี อาวุโสสูงสุดของศาลนั้นเป็นผู้มีอํานาจในการเสนอความเห็น

ผู้พิพากษาอาวุโสหรือผู้พิพากษาประจําศาลไม่มีอํานาจในการเสนอความเห็นตามวรรคหนึ่ง หรือวรรคสอง…”

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติดังกล่าว โดยหลักแล้วเมื่อหัวหน้าผู้รับผิดชอบของศาล จ่ายสํานวนคดีให้แก่ องค์คณะผู้พิพากษาในศาลไปแล้ว ก็ต้องให้องค์คณะดังกล่าวนั้นพิจารณาคดีไปจนเสร็จสํานวน จะเรียกคืนสํานวนคดี หรือโอนสํานวนจากองค์คณะผู้พิพากษาผู้รับผิดชอบสํานวนคดีนั้นไปให้องค์คณะผู้พิพากษาอื่นไม่ได้ เว้นแต่

1 เป็นกรณีที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรม ในการพิจารณาหรือพิพากษาอรรถคดีของศาลนั้น และ

2 ในกรณีของศาลจังหวัด ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลจังหวัด ซึ่งมิได้เป็นองค์คณะในสํานวนคดีนั้น เสนอความเห็นให้เรียกคืนสํานวนคดีนั้น หรือให้โอนสํานวนคดีนั้น ไปให้องค์คณะผู้พิพากษาอื่น

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกซึ่งเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลได้จ่ายสํานวนคดีให้นายดํา และนายแดงเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีอาญาเรื่องหนึ่ง และต่อมานายเอกได้เรียกคืนสํานวนคดีดังกล่าว และโอนสํานวนคดีให้นายกล้าเป็นองค์คณะแทนนายแดง เนื่องจากนายดําได้เสนอความเห็นให้นายเอกเรียกคืน สํานวนคดีเพราะนายดําได้ทราบจากนายเขียวว่านายแดงเป็นญาติกับจําเลยนั้น การกระทําดังกล่าวของนายเอก ย่อมไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ทั้งนี้เพราะ เมื่อปรากฏว่านายแดงซึ่งเป็นองค์คณะพิจารณา พิพากษาคดีดังกล่าวเป็นญาติกับจําเลยและจะทําให้กระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาหรือ พิพากษาคดีนั้นของศาล นายเอกซึ่งเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลสามารถเรียกคืนสํานวนคดีหรือโอนสํานวนคดีจาก องค์คณะผู้พิพากษาผู้รับผิดชอบสํานวนคดีนั้นไปให้องค์คณะผู้พิพากษาอื่นได้ก็ต่อเมื่อ ผู้พิพากษาที่มีอาวุโส สูงสุดในศาลนั้นซึ่งมิได้เป็นองค์คณะในสํานวนคดีนั้นได้เสนอความเห็นให้เรียกคืนสํานวนคดี หรือให้โอน สํานวนคดีนั้นไปให้องค์คณะผู้พิพากษาอื่น

แต่ข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์ปรากฏว่าในศาลนั้นมีนายดํา นายแดง และนายเขียวเป็น ผู้พิพากษาศาลจังหวัดเรียงตามลําดับอาวุโส และเมื่อนายดํากับนายแดงได้เป็นองค์คณะในสํานวนคดีนั้น ดังนั้น ผู้ที่จะเสนอความเห็นให้เรียกคืนสํานวนคดีจึงต้องเป็นนายเขียวซึ่งเป็นผู้พิพากษาที่มีอาวุโสถัดลงไปมิใช่ นายดํา การที่นายเอกได้เรียกคืนสํานวนคดีและโอนสํานวนคดีเนื่องจากการที่นายดําเป็นผู้เสนอความเห็นนั้น การกระทําดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

สรุป การที่นายเอกได้เรียกคืนสํานวนคดีและโอนสํานวนคดีดังกล่าวนั้นเป็นการกระทําที่ ไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

Advertisement