การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2554

ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3004 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

Advertisement

คําแนะนํา ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ

ข้อ 1. นายดีเป็นโจทก์ฟ้องนายเกเรต่อศาลแขวง (ในท้องที่นั้นมีทั้งศาลจังหวัดและศาลแขวง) ในข้อหากระทําความผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งมีอัตราโทษจําคุกไม่เกินสามปี ปรับไม่เกินหกพันบาท นายนิติ ผู้พิพากษาประจําศาลในศาลแขวงแห่งนั้นได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูล จึงพิพากษายกฟ้อง คําพิพากษาดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมี คําสั่งใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(3) ไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งในคดีอาญา

(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ แต่จะลงโทษจําคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งโทษจําคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้

ผู้พิพากษาประจําศาลไม่มีอํานาจตาม (3)(4) หรือ (5)”

วินิจฉัย

ตามกฎหมาย ศาลแขวงโดยผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาในความผิด ฐานลักทรัพย์ (ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334) ซึ่งมีอัตราโทษจําคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25(5) ประกอบมาตรา 17

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า คําพิพากษายกฟ้องของนายนิติผู้พิพากษาประจําศาล ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า อํานาจของผู้พิพากษาประจําศาลนั้นถูกจํากัดโดยบทบัญญัติมาตรา 25 วรรคท้าย กล่าวคือ ไม่มีอํานาจตามมาตรา 25(3)(4) และ (5) เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายนิติเป็นผู้พิพากษาประจําศาล นายนิติจึงไม่มีอํานาจไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งในคดีอาญา การที่นายนิติผู้พิพากษาประจําศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล จึงพิพากษายกฟ้อง คําพิพากษาดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25(3) ประกอบวรรคท้าย

สรุป คําพิพากษาดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ 2. นายใหญ่ฟ้องนายเล็กข้อหาชิงทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 ระวางโทษจําคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสองหมื่นบาทต่อศาลอาญา มีนายหนึ่ง อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเป็นผู้ไต่สวนมูลฟ้อง นายหนึ่งเห็นว่าคําฟ้องของนายใหญ่ไม่มีมูล จึงพิพากษายกฟ้องของนายใหญ่โดยได้ให้นายสองรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ซึ่งมีอาวุโส น้อยที่สุดเข้าตรวจสํานวนและลงลายมือชื่อทําคําพิพากษายกฟ้อง การไต่สวนมูลฟ้องของนายหนึ่ง และการพิพากษายกฟ้องของนายหนึ่งและนายสองชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่

เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(3) ไต่สวนมูลฟ้องและมีคําสั่งในคดีอาญา

(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกําหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จําคุกไม่เกิน สามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ แต่จะลงโทษจําคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ซึ่งโทษจําคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้”

มาตรา 29 “ในระหว่างการทําคําพิพากษาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจ ก้าวล่วงได้ ทําให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทําคําพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้ ให้ ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอํานาจลงลายมือชื่อทําคําพิพากษา และเฉพาะในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และศาลชั้นต้น มีอํานาจทําความเห็นแย้งได้ด้วย ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสํานวนคดีนั้นแล้ว

(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค รองอธิบดี ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี

มาตรา 31 “เหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 นอกจากที่ กําหนดไว้ในมาตรา 30 แล้วให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย

(1) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาแล้วเห็นว่าควรพิพากษายกฟ้อง แต่ คดีนั้นมีอัตราโทษตามที่กฎหมายกําหนดเกินกว่าอัตราโทษตามมาตรา 2545)”

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์ ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า การไต่สวนมูลฟ้องของนายหนึ่ง ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ เห็นว่า โดยหลักแล้วในศาลชั้นต้นผู้พิพากษาคนเดียวไม่มีอํานาจ พิจารณาพิพากษาคดีอาญาฐานชิงทรัพย์ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25(5) เพราะความผิดฐานชิงทรัพย์ มีกําหนดอัตราโทษตามกฎหมายให้จําคุกเกิน 3 ปี จึงต้องให้ผู้พิพากษาอย่างน้อย 2 คน เป็นองค์คณะ

แต่สําหรับการไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญา ไม่ว่าคดีนั้นกฎหมายจะกําหนดอัตราโทษจําคุกกี่ปีก็ตาม ผู้พิพากษาคนเดียวก็ย่อมมีอํานาจกระทําได้ตามมาตรา 25(3) ดังนั้น การไต่สวนมูลฟ้องของนายหนึ่งจึงชอบด้วย พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

และประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า การพิพากษายกฟ้องของนายหนึ่งและนายสอง ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ เห็นว่า การที่นายหนึ่งเห็นว่าคําฟ้องของนายใหญ่ไม่มีมูล จึงพิพากษา ยกฟ้องของนายใหญ่นั้น เมื่อคดีข้อหาชิงทรัพย์มีอัตราโทษตามที่กฎหมายกําหนดเกินกว่าอัตราโทษตามมาตรา 2545) จึงถือได้ว่ามีเหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 31(1) ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างทําคําพิพากษา กรณีนี้ จึงต้องให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา หรือรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเข้าร่วมตรวจสํานวนและลงลายมือชื่อ ทําคําพิพากษายกฟ้องด้วยตามมาตรา 29(3) แต่เมื่อนายหนึ่งเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา จึงไม่อาจลงลายมือชื่อ ในอีกฐานหนึ่งได้ เพราะนายหนึ่งเป็นผู้พิพากษาผู้ไต่สวนมูลฟ้องแล้ว กรณีนี้จึงต้องให้รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เป็นผู้ลงลายมือชื่อทําคําพิพากษา และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่านายหนึ่งได้ให้นายสองรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เข้าตรวจสํานวนและลงลายมือชื่อทําคําพิพากษายกฟ้องนายใหญ่ด้วย ดังนั้น การพิพากษายกฟ้องของ นายหนึ่งและนายสองจึงชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

สรุป การไต่สวนมูลฟ้องของนายหนึ่ง และการพิพากษายกฟ้องของนายหนึ่งและนายสอง ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

 

ข้อ 3. นายเอกผู้พิพากษาศาลแขวงได้พิจารณาคดีแพ่งซึ่งโจทก์ฟ้องจําเลยมีทุนทรัพย์สามแสนบาท ขณะที่ทําคําพิพากษาอยู่นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ทรัพย์ที่พิพาทนั้นมีราคาเกินกว่าสามแสนบาท นายเอก จึงนําคดีไปให้นายโทผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงตรวจสํานวนลงลายมือชื่อเป็นองค์คณะ ทําคําพิพากษา และพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี คําพิพากษาดังกล่าวของนายเอกและนายโทชอบด้วย กฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด

ธงคําตอบ

หลักกฎหมาย ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

มาตรา 17 “ศาลแขวงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอํานาจทําการไต่สวน หรือมีคําสั่ง ใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอํานาจตามที่กําหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง”

มาตรา 25 “ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอํานาจ ของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน สามแสนบาท ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา”

มาตรา 26 “ภายใต้บังคับมาตรา 25 ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น นอกจาก ศาลแขวงและศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกําหนดไว้เป็นอย่างอื่น ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย สองคนและต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจําศาลเกินหนึ่งคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง หรือคดีอาญาทั้งปวง”

มาตรา 31 “เหตุจําเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 นอกจากที่ กําหนดไว้ในมาตรา 30 แล้วให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย

(4) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวพิจารณาคดีแพ่งตามมาตรา 25(4) ไปแล้ว ต่อมาปรากฏว่า ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้องเกินกว่าอํานาจพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียว”

วินิจฉัย

ตามหลักของพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ศาลแขวงซึ่งมีผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอํานาจ พิจารณาพิพากษาคดีแพ่งซึ่งมีทุนทรัพย์ (ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจํานวนเงินที่ฟ้อง) ไม่เกิน 3 แสนบาท (มาตรา 25(4) ประกอบกับมาตรา 17)

กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายเอกผู้พิพากษาศาลแขวงได้พิจารณาคดีแพ่งซึ่งโจทก์ฟ้องจําเลย มีทุนทรัพย์ 3 แสนบาทนั้น นายเอกย่อมมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวได้ตามมาตรา 25(4) ประกอบ มาตรา 17 แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏในขณะที่ทําคําพิพากษาว่าทรัพย์สินที่พิพาทนั้นมีราคาเกินกว่า 3 แสนบาท คดีจึงเกินอํานาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษา ดังนั้น นายเอกผู้พิพากษาศาลแขวงจะต้องมีคําสั่งจําหน่าย คดีโจทก์ออกจากสารบบความ และคืนฟ้องให้โจทก์เพื่อให้โจทก์นําไปฟ้องยังศาลที่มีเขตอํานาจ นายเอกจะนําคดี ไปให้นายโทผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงตรวจสํานวนลงลายมือชื่อเป็นองค์คณะทําคําพิพากษา และพิพากษา ให้โจทก์ชนะคดีมิได้ เพราะกรณีดังกล่าวไม่ถือเป็นเหตุจําเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 31(4) เนื่องจาก ตามมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 31(4) นั้น เป็นการให้อํานาจแก่ผู้พิพากษาในการพิจารณาพิพากษาคดีใน ศาลชั้นต้นเท่านั้น มิได้ให้อํานาจแก่ผู้พิพากษาในการพิจารณาคดีในศาลแขวงแต่อย่างใด อีกทั้งถ้าให้อํานาจ ผู้พิพากษาคนเดียวในศาลแขวงดําเนินการดังกล่าวได้ ก็จะเป็นการขยายอํานาจของศาลแขวงให้มีอํานาจเหมือน ศาลจังหวัดหรือศาลชั้นต้นอื่น

ดังนั้น การที่นายเอกไม่สั่งจําหน่ายคดีออกจากสารบบความ แต่นําคดีดังกล่าวไปให้นายโท ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงตรวจสํานวนและลงลายมือชื่อร่วมกับนายเอก พิพากษาให้โจทก์ชนะคดีนั้น คําพิพากษา ดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป คําพิพากษาดังกล่าวของนายเอกและนายโทไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

Advertisement