การสอบซ่อมภาค  2  และภาคฤดูร้อน  ปีการศึกษา  2547

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3004 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายเก่งกาจอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา  ได้จ่ายสำนวนคดีอาญาเรื่องหนึ่งให้นายมานะผู้พิพากษาอาวุโสและนายรองฤทธิ์ผู้พิพากษาประจำศาลเป็นองค์คณะ  เมื่อองค์คณะทั้งสองได้พิจารณาคดีเสร็จแล้ว  จึงนำสำนวนคดีไปปรึกษานายเก่งกาจอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา  เมื่อนายเก่งกาจได้ตรวจสำนวนคดีแล้ว  มีความเห็นเช่นเดียวกันกับองค์คณะทั้งสองว่า  จำเลยกระทำความผิดจริง  สมควรลงโทษจำคุกจำเลยสิบปี  นายมานะซึ่งป่วยเป็นโรคหัวใจอยู่แล้วได้เสียชีวิตลงอย่างกะทันหันโดยที่ยังไม่ทันได้ทำคำพิพากษา  นายรองฤทธิ์ซึ่งเป็นองค์คณะที่เหลืออยู่ได้เรียบเรียงคำพิพากษาแล้วนำไปให้นายสมเดชรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาซึ่งมีอาวุโสน้อยที่สุดในจำนวนรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาทั้งหมด  นายสมเดชได้ตรวจสำนวนคดีแล้วมีความเห็นเช่นเดียวกับองค์คณะเดิมและอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาซึ่งได้เคยปรึกษาคดีกันมาก่อนจึงลงลายมือชื่อในคำพิพากษาเป็นองค์คณะร่วมกับนายรองฤทธิ์  (ในขณะนั้นอธิบดีผู้พิพากษาและรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาอีกสองคนยังคงมาปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ)

ท่านเห็นว่าการให้คำปรึกษาของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาและการลงลายมือชื่อของนายสมเดชชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  11  ประธานศาลฎีกา  ประธานศาลอุทธรณ์  ประธานศาลอุทธรณ์ภาค  อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น  และผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ต้องรับผิดชอบในราชการของศาลให้เป็นไปโดยเรียบร้อย  และให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วย

(4) ให้คำแนะนำแก่ผู้พิพากษาในศาลนั้นในข้อขัดข้องเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา

มาตรา  29  ในระหว่างการทำคำพิพากษาคดีใด  หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้  ทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทำคำพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้  ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอำนาจลงลายมือชื่อทำคำพิพากษา  และเฉพาะในศาลอุทธรณ์  ศาลอุทธรณ์ภาค  และศาลชั้นต้นมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้ด้วย  ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสำนวนคดีนั้นแล้ว

(3) ในศาลชั้นต้น  ได้แก่  อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น  อธิบดีผู้พิพากษาภาค  รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น  หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล  แล้วแต่กรณี

มาตรา  30  เหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา  28  และมาตรา  29  หมายถึง  กรณีที่ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีนั้นพ้นจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่  หรือถูกคัดค้านและถอนตัวไป  หรือไม่อาจปฏิบัติราชการจนไม่สามารถนั่งพิจารณา  หรือคำพิพากษาในคดีนั้นได้

วินิจฉัย

อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญามีอำนาจให้คำปรึกษาได้  ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา  11(4)  ที่ให้อำนาจอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นให้คำแนะนำแก่ผู้พิพากษาในศาลนั้นในข้อขัดข้องเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษา  หรือการพิจารณาพิพากษาคดี  ทั้งนี้จะบังคับหรือสั่งให้กระทำตามความเห็นของตนมิได้  เพราะกฎหมายให้อำนาจเพียงแค่การให้คำแนะนำเท่านั้น  ผู้พิพากษาจะเห็นด้วยหรือไม่เป็นดุลพินิจ

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า  นายมานะและนายรองฤทธิ์เป็นองค์คณะพิจารณาคดีเสร็จแล้ว  คดีจึงอยู่ระหว่างการทำคำพิพากษา  การที่นายมานะซึ่งป่วยเป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว  ได้เสียชีวิตลงอย่างกะทันหันโดยที่ยังไม่ทันได้ทำคำพิพากษา  จึงถือเป็นเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้  ตามมาตรา  30  ต้องให้ผู้พิพากษาตามมาตรา  29(3)  มีอำนาจลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาเป็นองค์คณะร่วม  ซึ่งได้แก่  อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา  หรือรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา  หรือผู้ทำการแทน  ดังนั้นการที่นายสมเดชตรวจสำนวนคดีและร่วมลงลายมือชื่อในคำพิพากษาเป็นองค์คณะร่วมกับนายรองฤทธิ์  จึงชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมแล้ว  แม้ขณะนั้นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาและรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาที่มีอาวุโสมากกว่ายังคงมาปฏิบัติหน้าที่ตามปกติก็ตาม

สรุป  การให้คำปรึกษาของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา  ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม 

การลงลายมือชื่อของนายสมเดชชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

 

ข้อ  2  ประธานศาลอุทธรณ์ได้จ่ายสำนวนคดีให้นายบันลือ  นายก้องเกียรติ  และนายมีศักดิ์เป็นองค์คณะพิจารณาคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง  ต่อมาคดีนี้ได้นำเข้าพิจารณาในที่ประชุมใหญ่ของศาลอุทธรณ์  ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ทุกคนได้เข้าประชุมใหญ่  พิจารณาคดีแพ่งเรื่องดังกล่าวจนเสร็จสิ้น  นายบันลือ  นายก้องเกียรติ  และนายมีศักดิ์ได้ร่วมกันทำคำพิพากษาตามมติที่ประชุมใหญ่  นายเก่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์  ซึ่งได้เข้าประชุมใหญ่ด้วย  แต่มีความเห็นไม่ตรงกับที่ประชุมใหญ่  ได้ลงลายมือชื่อในคำพิพากษาและทำความเห็นแย้งหลังจากได้ตรวจสำนวนคดีที่ประชุมใหญ่แล้ว

ท่านเห็นว่า  คำพิพากษาดังกล่าวชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  27  ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอุทธรณ์  ศาลอุทธรณ์ภาค  หรือศาลฎีกา  ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสามคนจึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้

ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์  ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค  และผู้พิพากษาศาลฎีกาที่เข้าประชุมใหญ่ในศาลนั้นหรือในแผนกคดีของศาลดังกล่าว  เมื่อได้ตรวจสำนวนคดีที่ประชุมใหญ่หรือที่ประชุมแผนกคดีแล้ว  มีอำนาจพิพากษาหรือทำคำสั่งคดีนั้นได้  และเฉพาะในศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้ด้วย

วินิจฉัย

การที่ประธานศาลอุทธรณ์จ่ายสำนวนคดีให้นายบันลือ  นางก้องเกียรติและนายมีศักดิ์เป็นองค์คณะพิจารณาคดีแพ่งเรื่องหนึ่งนั้น  ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  27  วรรคแรกที่บังคับว่าต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย  3  คนเป็นองค์คณะ

เมื่อคดีเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ของศาลอุทธรณ์  ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ที่เข้าประชุมใหญ่ในศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิพากษาคดีนั้นได้  เมื่อได้ตรวจสำนวนคดีที่ประชุมใหญ่แล้ว  ดังนั้นการที่นายบันลือ  นายก้องเกียรติ  และนายมีศักดิ์ได้ร่วมกันทำคำพิพากษาตามมติที่ประชุมใหญ่  และนายเก่งได้ลงลายมือชื่อในคำพิพากษาด้วยนั้น  คำพิพากษาดังกล่าวก็ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  27  วรรคสอง  เพระนายเก่งเป็นผู้พิพากษาที่เข้าประชุมใหญ่นั้น  แม้จะทำให้มีองค์คณะเกินกว่า  3  คน  ก็ไม่ต้องห้ามตามมาตรา  27  วรรคแรกแต่อย่างใด

ส่วนการที่นายเก่งมีความเห็นไม่ตรงกับที่ประชุมใหญ่  และได้ทำความเห็นแย้งหลังจากได้ตรวจสำนวนคดีที่ประชุมใหญ่แล้วนั้น  นายเก่งมีอำนาจกระทำได้  ตามมาตรา  27  วรรคสองตอนท้าย

สรุป  คำพิพากษาดังกล่าวชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

 

ข้อ  3  ศาลอาญากรุงเทพใต้มีนายดำเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้  มีนายเอก  นายโท  นายตรี  เป็นรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้เรียงลำดับความอาวุโส  มีนายเก่งเป็นผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ที่มีอาวุโสรองจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้

นายหนึ่งฟ้องนายสองข้อหาชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  339  ระวางโทษจำคุกตั้งแต่  5  ปี  ถึง  10  ปี  และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสองหมื่นบาทต่อศาลอาญากรุงเทพใต้  โดยมีนายดำอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้เป็นผู้ไต่สวนมูลฟ้อง  นายดำเห็นว่าคำฟ้องของนายหนึ่งไม่มีมูล  จึงพิพากษายกฟ้องของนายหนึ่ง  โดยนายดำให้นายเก่งผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ที่มีอาวุโสรองจากนายดำอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้เข้าร่วมตรวจสำนวนและลงลายมือชื่อทำคำพิพากษายกฟ้องของนายหนึ่ง

การไต่สวนมูลฟ้องดังกล่าว  และการพิพากษายกฟ้องที่นายดำทำร่วมกับนายเก่งชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่  อย่างไร 

ธงคำตอบ

มาตรา  25  ในศาลชั้นต้น  ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น  ดังต่อไปนี้

(3) ไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งในคดีอาญา

มาตรา  29  ในระหว่างการทำคำพิพากษาคดีใด  หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้  ทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทำคำพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้  ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอำนาจลงลายมือชื่อทำคำพิพากษา  และเฉพาะในศาลอุทธรณ์  ศาลอุทธรณ์ภาค  และศาลชั้นต้นมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้ด้วย  ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสำนวนคดีนั้นแล้ว

(3) ในศาลชั้นต้น  ได้แก่  อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น  อธิบดีผู้พิพากษาภาค  รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น  หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล  แล้วแต่กรณี

มาตรา  31  เหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้างล่วงได้ตามมาตรา  28  และมาตรา  29  นอกจากที่กำหนดไว้ในมาตรา  30  แล้วให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย

(1) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาแล้วเห็นว่าควรพิพากษายกฟ้อง  แต่คดีนั้นมีอัตราโทษตามที่กฎหมายกำหนดเกินกว่าอัตราโทษตามมาตรา  25(5)

วินิจฉัย

นายดำ  อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้  ซึ่งเป็นผู้พิพากษาคนเดียวทำการไต่สวนมูลฟ้องในคดีอาญาความผิดฐานชิงทรัพย์  ย่อมมีอำนาจกระทำได้  ตามมาตรา  25(3)

เมื่อนายดำผู้พิพากษาคนเดียวไต่สวนมูลฟ้องคดีดังกล่าวแล้ว  เห็นว่าคดีไม่มีมูล  ควรพิพากษายกฟ้อง  แต่ความผิดฐานชิงทรัพย์นั้นมีอัตราโทษตามที่กฎหมายกำหนด  คือ  จำคุกตั้งแต่  5  ปี  ถึง  10  ปี  และปรับตั้งแต่  10,000  ถึง  20,000  บาท  ซึ่งถือว่าเกินอัตราโทษตามมาตรา  25(5)  คือ  อัตราโทษจำคุกเกินกว่า  3  ปี  ไม่อยู่ในอำนาจของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นคนเดียว  นายดำผู้พิพากษาที่ทำการไต่สวนมูลฟ้องจะพิพากษายกฟ้องไม่ได้  กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา  31(1)  ถือได้ว่ามีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ในระหว่างการทำคำพิพากษาคดี  ทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจทำคำพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้  ดังนั้นจึงต้องมีผู้พิพากษาสองคนเป็นองค์คณะ  และผู้พิพากษาที่จะเป็นองค์คณะมีอำนาจลงลายมือชื่อทำคำพิพากษานั้นได้แก่  ผู้พิพากษาที่บัญญัติไว้ในมาตรา  29(3)  คือ  อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาหรือรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา

เมื่อนายดำเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้และเป็นผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีนี้จึงไม่อาจลงลายมือชื่อเดียวในสองฐานะได้  ผู้ที่จะเข้ามาร่วมทำคำพิพากษายกฟ้องกับนายดำต้องเป็นรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้  ซึ่งก็คือ  นายเอก  นายโท  หรือนายตรี ดังนั้นการที่นายดำให้นายเก่งผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้เข้าร่วมตรวจสำนวนและลงลายมือชื่อทำคำพิพากษายกฟ้องนายหนึ่ง  จึงมิชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  31(1)  ประกอบมาตรา  29(3)

สรุป 

การไต่สวนมูลฟ้องของนายดำชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

การพิพากษายกฟ้องของนายดำและนายเก่งมิชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

Advertisement