การสอบซ่อมภาค 2 และภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3004 (LA 304),(LW 305) พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 นายเศรษฐีเป็นโจทก์ฟ้องนายจนต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ว่านายจนได้กู้เงินไปจากตนจำนวนห้าล้านบาทแล้วผิดนัดชำระหนี้มาโดยตลอด ตนได้ทวงถามหลายครั้งแต่นายจนเพิกเฉยและอ้างว่าไม่มีเงินชำระหนี้ จึงฟ้องขอให้ศาลบังคับให้นายจนใช้เงินต้นจำนวนห้าล้านบาท และดอกเบี้ยที่ค้างชำระอีกจำนวนหนึ่งแสนบาท อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้จ่ายสำนวนคดีให้นายมีเกียรติผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลแพ่งกรุงเทพใต้ และนายสมสกุลผู้พิพากษาประจำศาลเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษา หลังจากโจทก์อื่นฟ้องแล้วได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลให้อายัดเงินในธนาคารของจำเลยจำนวนสามล้านบาทและบ้านพร้อมที่ดิน (ราคาประมาณสองล้านบาท) ของจำเลยไว้เป็นการชั่วคราวก่อนศาลมีคำพิพากษา นายสมสกุลได้ไต่สวนคำร้องของโจทก์ดังกล่าวแล้วมีคำสั่งให้อายัดไว้ตามที่โจทก์ร้องขอ
ท่านเห็นว่า การไต่สวนและมีคำสั่งของนายสมสกุลผู้พิพากษาประจำศาล ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 25 ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น ดังต่อไปนี้
(1) ไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องหรือคำขอที่ยื่นต่อศาลในคดีทั้งปวง
ผู้พิพากษาประจำศาลไม่มีอำนาจตาม (3) (4) หรือ (5)
วินิจฉัย
ศาลชั้นต้นโดยผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจทำการไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องหรือคำขอที่ยื่นต่อศาลและมีคำสั่งได้ในคดีทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นแพ่งหรือคดีอาญา ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 25(1) ทั้งนี้อำนาจดังกล่าว ผู้พิพากษาประจำศาลก็สามารถกระทำได้ ตามมาตรา 25 วรรคท้าย
อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้จำหน่ายคดีให้นายมีเกียรติผู้พิพากษาหัวหน้าคณะ และนายสมสกุลผู้พิพากษาประจำศาลเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษา ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 ที่บังคับว่าต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย 2 คน และต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจำศาลเกิน 1 คน
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า การที่นายสมสกุล ผู้พิพากษาประจำศาลแต่เพียงผู้เดียวมีคำสั่งให้อายัดเงินในธนาคารของจำเลยตามที่โจทก์ร้องขอนั้นชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ เห็นว่า ศาลชั้นต้นโดยผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจไต่สวนคำร้องขอให้อายัดเงินและมีคำสั่งให้อายัดเงินในธนาคารตามคำร้องที่ยื่นต่อศาลได้ ตามมาตรา 25(1) แม้นายสมสกุลจะเป็นผู้พิพากษาประจำศาล ก็ย่อมมีอำนาจกระทำได้และไม่ถูกห้ามแต่อย่างใดตามมาตรา 25 วรรคท้าย
สรุป การไต่สวนและมีคำสั่งของนายสมสกุลผู้พิพากษาประจำศาลชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
ข้อ 2 นางน้อยได้ไปทำสัญญากู้ยืมเงินจากนายใหญ่เป็นจำนวนเงินสามแสนบาท โดยนำโฉนดที่ดินของตนจำนวนหนึ่งร้อยตารางวา ซึ่งราคาประเมินของกรมที่ดินในขณะนั้นประเมินราคาที่ดินดังกล่าวไว้สามแสนบาทไปไว้ให้นายใหญ่ยึดถือไว้เป็นการประกันเงินกู้ดังกล่าว ต่อมาเมื่อถึงกำหนดชำระหนี้กู้ยืมเงินตามสัญญา นางน้อยได้นำเงินไปชำระให้แก่นายใหญ่พร้อมดอกเบี้ยจนครบถ้วน แต่นายใหญ่กลับไม่ยอมคืนโฉนดที่ดินดังกล่าวของนายน้อยและบ่ายเบี่ยงตลอดมา
นางน้อยจะต้องนำคดีไปฟ้องขอให้ศาลบังคับให้นายใหญ่คืนโฉนดที่ดินดังกล่าวแก่ตนที่ศาลใด (ถ้าในท้องที่นั้นมีทั้งศาลจังหวัดและศาลแขวง)
ธงคำตอบ
มาตรา 17 ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอำนาจทำการไต่สวน หรือมีคำสั่งใดๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง
มาตรา 18 ศาลจังหวัดมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญาทั้งปวงที่มิได้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมอื่น
มาตรา 25 ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น ดังต่อไปนี้
(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพากษาหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
วินิจฉัย
เป็นเรื่องที่นางน้อยจะนำคดีไปฟ้องต่อศาลขอให้บังคับให้นายใหญ่คืนโฉนดที่ดินให้แก่ตน มิใช่คำฟ้องโต้แย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท อันจะทำให้เป็นคดีมีทุนทรัพย์ ดังนั้นกรณีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่ไม่มีทุนทรัพย์ ศาลแขวงจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 25(4) ประกอบมาตรา 17 ทั้งนี้เพราะศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งที่มีทุนทรัพย์ของคดีไม่เกิน 3 แสนบาทเท่านั้น (ฎ.1593/2521)
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในท้องที่นั้นมีทั้งศาลจังหวัดและศาลแขวง กรณีนี้นางน้อยจึงต้องนำคดีไปฟ้องยังศาลจังหวัด เพราะศาลจังหวัดมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งทั้งปวงที่มิได้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมอื่น ไม่ว่าจะเป็นคดีมีทุนทรัพย์หรือไม่มีทุนทรัพย์ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 18
สรุป นางน้อยต้องนำคดีไปฟ้องต่อศาลจังหวัด
ข้อ 3 นายหนึ่งประธานศาลอุทธรณ์ได้จ่ายสำนวนคดีอาญาเรื่องหนึ่งให้นายสอง นายสาม และนายสี่ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดี ขณะปรึกษากันเพื่อทำคำพิพากษาคดีนายสองหัวใจวายถึงแก่ความตาย นายสามและนายสี่จึงนำคดีไปปรึกษานายหนึ่ง แต่นายหนึ่งได้ลาพักผ่อนไปต่างประเทศพอดี นายยอดรองประธานศาลอุทธรณ์จึงสั่งให้นายห้าผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เข้าเป็นองค์คณะแทนนายสอง ร่วมกับนายสามและนายสี่ทำคำพิพากษาคดีต่อไป
การกระทำของนายยอดรองประธานศาลอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 8 วรรคสอง เมื่อตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ภาค ว่างลงหรือเมื่อผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค เป็นผู้ทำการแทน ถ้ามีรองประธานศาลอุทธรณ์ภาคหลายคน ให้รองประธานศาลอุทธรณ์ภาคที่มีอาวุโสสูงสุดเป็นผู้ทำการแทน ถ้าผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้ที่มีอาวุโสถัดลงมาตามลำดับเป็นผู้ทำการแทน
มาตรา 27 ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค หรือศาลฎีกา ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสามคนจึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้
มาตรา 29 ในระหว่างการทำคำพิพากษาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทำคำพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้ ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอำนาจลงลายมือชื่อทำคำพิพากษา และเฉพาะในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และศาลชั้นต้นมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้ด้วย ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสำนวนคดีนั้นแล้ว
(2) ในศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค ได้แก่ ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค รองประธานศาลอุทธรณ์ หรือรองประธานศาลอุทธรณ์ภาคแล้วแต่กรณี
ให้ผู้ทำการแทนในตำแหน่งต่างๆตามมาตรา 8 มาตรา 9 และมาตรา 13 มีอำนาจตาม (1) (2) และ (3) ด้วย
มาตรา 30 เหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 หมายถึง กรณีที่ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีนั้นพ้นจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่ หรือถูกคัดค้านและถอนตัวไป หรือไม่อาจปฏิบัติราชการจนไม่สามารถนั่งพิจารณา หรือคำพิพากษาในคดีนั้นได้
วินิจฉัย
การที่นายหนึ่ง ประธานศาลอุทธรณ์ภาคจ่ายสำนวนคดีให้นายสอง นายสาม และนายสี่ เป็นองค์คณะพิจารณาคดีอาญาเรื่องหนึ่งนั้น ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 27 วรรคแรกที่บังคับว่าในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอุทธรณ์ ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย 3 คน จึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า การกระทำของนายยอดรองประธานศาลอุทธรณ์ที่สั่งให้นายห้าผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เข้าเป็นองค์คณะแทนนายสอง ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ เห็นว่า ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 29 หมายถึงในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้เกิดขึ้นแก่ผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะในระหว่างการทำคำพิพากษาคดี เช่น เจ็บป่วย ตาย หรือโอนย้ายไปรับราชการในตำแหน่งอื่น เป็นต้น ทำให้ไม่อาจทำคำพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้ บทบัญญัติมาตรา 29(2) จึงกำหนดให้ผู้พิพากษาเหล่านั้นมีอำนาจลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาและมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้ด้วย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสอง หัวใจวายกะทันหันในระหว่างการทำคำพิพากษา ถือเป็นเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ตามมาตรา 30 กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 29(2) ที่ต้องให้ประธานศาลอุทธรณ์เป็นผู้ลงลายมือชื่อทำคำพิพากษา เพื่อให้ครบองค์คณะ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่านายหนึ่งประธานศาลอุทธรณ์ได้ลาพักผ่อนไปต่างประเทศ จึงไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ดังนั้นรองประธานศาลอุทธรณ์จึงต้องเป็นผู้ทำการแทนและมีอำนาจเข้าเป็นองค์คณะแทนได้ ตามมาตรา 29(2) และวรรคท้าย ประกอบมาตรา 8 วรรคสอง นายยอดรองประธานศาลอุทธรณ์จึงต้องลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาด้วยตนเองเท่านั้น จะมอบหมายให้นายห้าผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เข้าเป็นองค์คณะแทนนายสองไม่ได้ เพราะมาตรา 29(2) ไม่ได้ให้อำนาจในการมอบหมายเอาไว้ การกระทำของนายยอดรองประธานศาลอุทธรณ์จึงมิชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
สรุป การกระทำของนายยอดไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม