การสอบซ่อมภาค  1  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3004 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  ในศาลจังหวัดแห่งหนึ่งมีนายยิ่งยศ  ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาล  และมีนายเก่งผู้พิพากษาอาวุโส  นายซื่อ  นายสัตย์  และนางสาวสุดสวย  ผู้พิพากษาศาลจังหวัดตามลำดับ  นายยิ่งยศได้จ่ายสำนวนคดีแพ่งให้นายสัตย์  และนางสาวสุดสวยเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษา  เมื่อองค์คณะทั้งสองได้พิจารณาคดีจนเสร็จสิ้นแล้วจึงประชุมปรึกษาคดีกัน  ปรากฏว่าทั้งสองมีความเห็นไม่ตรงกัน  จึงนำสำนวนคดีไปปรึกษานายเก่งผู้พิพากษาอาวุโส  (ในขณะนั้นนายยิ่งยศได้เดินทางไปราชการต่างประเทศ)  เมื่อนายเก่งได้ตรวจสำนวนคดีดังกล่าวแล้วปรากฏว่านายเก่งมีความเห็นเช่นเดียวกับนางสาวสุดสวยจึงร่วมกันลงลายมือชื่อทำคำพิพากษากับองค์คณะทั้งสอง  (แม้นายสัตย์จะไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษานายสัตย์ก็ยอมลงลายมือชื่อในคำพิพากษาเพราะเห็นว่าตนเป็นองค์คณะเดิม)

ท่านเห็นว่า  คำพิพากษาของศาลจังหวัดดังกล่าวชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  9  วรรคสองและวรรคท้าย  เมื่อตำแหน่งผู้พิพากษาศาลจังหวัดหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงว่างลง  หรือเมื่อผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวไม่อาจปฏิบัติราชการได้  ให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้นเป็นผู้ทำการแทน  ถ้าผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้นไม่อาจปฏิบัติราชการได้  ให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสถัดลงมาตามลำดับในศาลนั้นเป็นผู้ทำการแทน

ผู้พิพากษาอาวุโสหรือผู้พิพากษาประจำศาลจะเป็นผู้ทำการแทนในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลไม่ได้

มาตรา  29  ในระหว่างการทำคำพิพากษาคดีใด  หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้  ทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทำคำพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้  ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอำนาจลงลายมือชื่อทำคำพิพากษา  และเฉพาะในศาลอุทธรณ์  ศาลอุทธรณ์ภาค  และศาลชั้นต้นมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้ด้วย  ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสำนวนคดีนั้นแล้ว

(3) ในศาลชั้นต้น  ได้แก่  อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น  อธิบดีผู้พิพากษาภาค  รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น  หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล  แล้วแต่กรณี

มาตรา  31  เหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้างล่วงได้ตามมาตรา  28  และมาตรา  29  นอกจากที่กำหนดไว้ในมาตรา  30  แล้วให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย

(3) กรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งคดีแพ่งเรื่องใดของศาลนั้น  จะต้องกระทำโดยองค์คณะซึ่งประกอบด้วย  ผู้พิพากษาหลายคน  และผู้พิพากษาในองค์คณะนั้นมีความเห็นแย้งกันจนหาเสียงข้างมากมิได้

วินิจฉัย

เมื่อผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีแพ่ง  มีความเห็นแย้งกันในการทำคำพิพากษาจนหาเสียงข้างมากมิได้  ถือว่าเป็นเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา  31(4)  ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างการทำคำพิพากษา  พระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  29(3)  จึงกำหนดให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค  หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล  หรือผู้ทำการแทนลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาเป็นองค์คณะด้วย  กรณีนี้นายยิ่งยศ  ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจึงต้องเป็นองค์คณะร่วมลงลายมือชื่อทำคำพิพากษา

แต่เมื่อในขณะนั้นนายยิ่งยศได้เดินทางไปราชการต่างประเทศไม่อาจปฏิบัติราชการได้  ดังนั้นตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  29  วรรคท้าย  ประกอบมาตรา  9  วรรคสอง  จึงให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้นเป็นผู้ทำการแทน  ซึ่งในที่นี้ก็คือ  นายซื่อ

การที่นายเก่งได้ตรวจสำนวนคดีดังกล่าวแล้ว  มีความเห็นเช่นเดียวกับนางสาวสุดสวย  จึงร่วมลงลายมือชื่อทำคำพิพากษา  คำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  9  วรรคท้าย  ประกอบมาตรา  29  เพราะผู้พิพากษาอาวุโสไม่อาจเป็นผู้ทำการแทนผู้พิพากษาหัวหน้าศาลได้

สรุป  คำพิพากษาของศาลจังหวัดดังกล่าวไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

 

ข้อ  2  นายเขียวบุตรชายคนเดียวของนายดำผู้ตาย  ได้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายดำต่อศาลแขวงธนบุรี  เนื่องจากนายดำมีที่ดินจำนวนสิบตารางวา  ซึ่งมีราคาสามแสนบาทถ้วน  ตามราคาประเมินของกรมที่ดิน  ศาลแขวงธนบุรีสั่งไม่รับคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายเขียว  ท่านเห็นว่าคำสั่งของศาลแขวงดังกล่าวชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  17  ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี  และมีอำนาจทำการไต่สวน  หรือมีคำสั่งใดๆ  ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจตามที่กำหนดไว้ในมาตรา  24  และมาตรา  25  วรรคหนึ่ง

มาตรา  25  ในศาลชั้นต้น  ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น  ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง  ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพากษาหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท  ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

วินิจฉัย

กรณีตามอุทาหรณ์คำร้องขอแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกดังกล่าว  ถือเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทและไม่มีทุนทรัพย์  จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลแขวง  ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  25(4)  ประกอบมาตรา  17  ดังนั้นคำสั่งของศาลแขวงธนบุรีที่ไม่รับคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายเขียว  จึงชอบแล้ว

สรุป

คำสั่งของศาลแขวงธนบุรีชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

 

ข้อ  3  นายหนึ่งฟ้องนายสองข้อหาชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  339  ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี  และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสองหมื่นบาทต่อศาลอาญา  มีนายเอกอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเป็นผู้ไต่สวนมูลฟ้อง  นายเอกเห็นว่าคำฟ้องของนายหนึ่งไม่มีมูลจึงพิพากษายกฟ้องของนายหนึ่ง  โดยนายเอกได้ให้นายโทรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา  ซึ่งมีอาวุโสน้อยที่สุดเข้าร่วมตรวจสำนวนและลงลายมือชื่อทำคำพิพากษายกฟ้องนายหนึ่ง

การไต่สวนมูลฟ้องของนายเอกและการพิพากษายกฟ้องของนายเอกและนายโท  ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด 

ธงคำตอบ

มาตรา  25  ในศาลชั้นต้น  ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น  ดังต่อไปนี้

(3) ไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งในคดีอาญา

(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา  ซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ  แต่จะลงโทษจำคุกเกินหกเดือน  หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ  ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้

มาตรา  29  ในระหว่างการทำคำพิพากษาคดีใด  หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้  ทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทำคำพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้  ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอำนาจลงลายมือชื่อทำคำพิพากษา  และเฉพาะในศาลอุทธรณ์  ศาลอุทธรณ์ภาค  และศาลชั้นต้นมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้ด้วย  ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสำนวนคดีนั้นแล้ว

(3) ในศาลชั้นต้น  ได้แก่  อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น  อธิบดีผู้พิพากษาภาค  รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น  หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล  แล้วแต่กรณี

มาตรา  31  เหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้างล่วงได้ตามมาตรา  28  และมาตรา  29  นอกจากที่กำหนดไว้ในมาตรา  30  แล้วให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย

(1) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาแล้วเห็นว่าควรพิพากษายกฟ้อง  แต่คดีนั้นมีอัตราโทษตามที่กฎหมายกำหนดเกินกว่าอัตราโทษตามมาตรา  25(5)

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ผู้พิพากษาคนเดียวไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาฐานชิงทรัพย์ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  25(5)  เพราะความผิดฐานชิงทรัพย์  มีกำหนดอัตราโทษตามกฎหมายให้จำคุกเกิน  3  ปี  ต้องให้ผู้พิพากษาอย่างน้อย  2  คนเป็นองค์คณะ

แต่สำหรับการไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญา  ไม่ว่าคดีนั้นกฎหมายจะกำหนดอัตราโทษจำคุกกี่ปีก็ตาม  ผู้พิพากษาคนเดียวก็ย่อมมีอำนาจกระทำได้  ตามมาตรา  25(3)  เมื่อนายเอกไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูลควรพิพากษายกฟ้อง  แต่คดีนั้นมีอัตราโทษตามที่กฎหมายกำหนดเกินกว่าอัตราโทษ  ตามมาตรา  25(5)  ถือได้ว่าเป็นเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้  ตามมาตรา  31(1)  ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างการทำคำพิพากษา  จึงต้องให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา  หรือรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเข้าร่วมตรวจสำนวนและลงลายมือชื่อทำคำพิพากษายกฟ้องด้วย  ตามมาตรา  29(3)  แต่เมื่อนายเอกเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา  จึงไม่อาจลงลายมือชื่อในอีกฐานะหนึ่งได้ เพราะตนเป็นผู้พิพากษาผู้ไต่สวนมูลฟ้องแล้ว  กรณีนี้จึงต้องให้รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเป็นผู้ลงลายมือชื่อทำคำพิพากษา  จึงจะชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

สรุป

การไต่สวนมูลฟ้องของนายเอก  และการพิพากษายกฟ้องของนายเอกและนายโทชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

Advertisement