การสอบซ่อมภาค 1 ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3004 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 นายเศรษฐีเป็นโจทก์ฟ้องนายจนต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ว่านายจนได้กู้เงินไปจากตนจำนวนห้าล้านบาทแล้วผิดนัดชำระหนี้มาโดยตลอด ตนได้ทวงถามหลายครั้งแต่นายจนเพิกเฉยและอ้างว่าไม่มีเงินชำระหนี้ จึงฟ้องขอให้ศาลบังคับให้นายจนใช้เงินต้นจำนวนห้าล้านบาท และดอกเบี้ยที่ค้างชำระอีกจำนวนหนึ่งแสนบาท อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้จ่ายสำนวนคดีให้นายมีเกียรติผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลแพ่งกรุงเทพใต้ และนายสมสกุลผู้พิพากษาประจำศาลเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษา หลังจากโจทก์อื่นฟ้องแล้วได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลให้อายัดเงินในธนาคารของจำเลยจำนวนสามล้านบาทและบ้านพร้อมที่ดิน (ราคาประมาณสองล้านบาท) ของจำเลยไว้เป็นการชั่วคราวก่อนศาลมีคำพิพากษา นายสมสกุลได้ไต่สวนคำร้องของโจทก์ดังกล่าวแล้วมีคำสั่งให้อายัดไว้ตามที่โจทก์ร้องขอ
ท่านเห็นว่า การไต่สวนและมีคำสั่งของนายสมสกุลผู้พิพากษาประจำศาล ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 25 ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น ดังต่อไปนี้
(1) ไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องหรือคำขอที่ยื่นต่อศาลในคดีทั้งปวง
ผู้พิพากษาประจำศาลไม่มีอำนาจตาม (3) (4) หรือ (5)
วินิจฉัย
ศาลชั้นต้นโดยผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจทำการไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องหรือคำขอที่ยื่นต่อศาลและมีคำสั่งได้ในคดีทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นแพ่งหรือคดีอาญา ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 25(1) ทั้งนี้อำนาจดังกล่าว ผู้พิพากษาประจำศาลก็สามารถกระทำได้ ตามมาตรา 25 วรรคท้าย
อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้จำหน่ายคดีให้นายมีเกียรติผู้พิพากษาหัวหน้าคณะ และนายสมสกุลผู้พิพากษาประจำศาลเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษา ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 ที่บังคับว่าต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย 2 คน และต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจำศาลเกิน 1 คน
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า การที่นายสมสกุล ผู้พิพากษาประจำศาลแต่เพียงผู้เดียวมีคำสั่งให้อายัดเงินในธนาคารของจำเลยตามที่โจทก์ร้องขอนั้นชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ เห็นว่า ศาลชั้นต้นโดยผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจไต่สวนคำร้องขอให้อายัดเงินและมีคำสั่งให้อายัดเงินในธนาคารตามคำร้องที่ยื่นต่อศาลได้ ตามมาตรา 25(1) แม้นายสมสกุลจะเป็นผู้พิพากษาประจำศาล ก็ย่อมมีอำนาจกระทำได้และไม่ถูกห้ามแต่อย่างใดตามมาตรา 25 วรรคท้าย
สรุป การไต่สวนและมีคำสั่งของนายสมสกุลผู้พิพากษาประจำศาลชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
ข้อ 2 เจ้ามรดกมีเงินฝากอยู่ในธนาคารจำนวนหนึ่งล้านห้าแสนบาท มีทายาทโดยธรรมในลำดับเดียวกันห้าคน คือ นายหนึ่ง นายสอง นายสาม นายสี่ และนายห้า แต่นายหนึ่งอ้างว่าตนเองและบิดาซึ่งเป็นเจ้ามรดกที่เสียชีวิตไปนี้ ได้ร่วมกันดำเนินกิจการจนมีเงินฝากในธนาคารจำนวนดังกล่าว ตนซึ่งเป็นพี่ชายคนโตควรได้รับส่วนแบ่งจำนวนครึ่งหนึ่งทายาทที่เหลืออีกสี่คนเห็นว่าการแบ่งเช่นนี้ไม่เป็นธรรมเพราะเป็นทายาทลำดับเดียวกันควรแบ่งเท่าๆกัน นายสอง นายสาม นายสี่ และนายห้า จึงเป็นโจทก์ฟ้องต่อศาลแขวงขอบังคับนายหนึ่งแบ่งเงินมรดกให้กับพวกตน คนละสามแสนบาท ศาลแขวงได้ตรวจคำฟ้องแล้วเห็นว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจศาลจังหวัด จึงมีคำสั่งไม่รับฟ้อง
คำสั่งไม่รับฟ้องของศาลแขวงชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 17 ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอำนาจทำการไต่สวน หรือมีคำสั่งใดๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง
มาตรา 25 ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น ดังต่อไปนี้
(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพากษาหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
วินิจฉัย
ศาลแขวงโดยผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งมีราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน 3 แสนบาท ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25(4) ประกอบมาตรา 17
สำหรับการพิจารณาทุนทรัพย์ในกรณีที่โจทก์หลายคนฟ้องรวมกันมาเป็นคดีเดียวกัน การคำนวณทุนทรัพย์ให้คำนวณจากทุนทรัพย์พิพาทของโจทก์แต่ละคนแยกจากกัน
นายสอง นายสาม นายสี่และนายห้าเป็นโจทก์ฟ้องต่อศาลแขวงขอให้บังคับนายหนึ่งแบ่งมรดกให้กับพวกตนคนละ 3 แสนบาท ดังนั้นการคำนวณทุนทรัพย์พิพาทจึงต้องแยกจากกันเมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทของโจทก์แต่ละคนไม่เกิน 3 แสนบาทจึงอยู่ในอำนาจของศาลแขวง ตามมาตรา 25(4) ประกอบมาตรา 17 การที่ศาลแขวงตรวจคำฟ้องแล้วเห็นว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจศาลจังหวัด แล้วมีคำสั่งไม่รับฟ้องจึงไม่ชอบ (ฎ.5971/2544)
สรุป คำสั่งไม่รับฟ้องของศาลแขวงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
ข้อ 3 ประธานศาลอุทธรณ์ได้จ่ายสำนวนคดีให้นายบันลือ นายก้องเกียรติ และนายมีศักดิ์เป็นองคณะพิจารณาคดีแพ่งเรื่องหนึ่ง ต่อมาคดีนี้ได้นำเข้าพิจารณาในที่ประชุมใหญ่ของศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ทุกคนได้เข้าร่วมประชุมใหญ่ พิจารณาคดีแพ่งเรื่องดังกล่าวจนเสร็จสิ้น นายบันลือนายก้องเกียรติ และนายมีศักดิ์ได้ร่วมกันทำคำพิพากษาตามมติที่ประชุมใหญ่ นายเก่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ซึ่งได้เข้าประชุมใหญ่ด้วย แต่มีความเห็นไม่ตรงกับที่ประชุมใหญ่ ได้ลงลายมือชื่อในคำพิพากษาและทำความเห็นแย้งหลังจากได้ตรวจสำนวนคดีที่ประชุมใหญ่แล้ว
ท่านเห็นว่าคำพิพากษาดังกล่าวชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 27 ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค หรือศาลฎีกา ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสามคนจึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้
ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค และผู้พิพากษาศาลฎีกาที่เข้าประชุมใหญ่ในศาลนั้นหรือในแผนกคดีของศาลดังกล่าว เมื่อได้ตรวจสำนวนคดีที่ประชุมใหญ่หรือที่ประชุมแผนกคดีแล้ว มีอำนาจพิพากษาหรือทำคำสั่งคดีนั้นได้ และเฉพาะในศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้ด้วย
วินิจฉัย
การที่ประธานศาลอุทธรณ์จ่ายสำนวนคดีให้นายบันลือ นางก้องเกียรติและนายมีศักดิ์เป็นองค์คณะพิจารณาคดีแพ่งเรื่องหนึ่งนั้น ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 27 วรรคแรกที่บังคับว่าต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย 3 คนเป็นองค์คณะ
เมื่อคดีเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ของศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ที่เข้าประชุมใหญ่ในศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิพากษาคดีนั้นได้ เมื่อได้ตรวจสำนวนคดีที่ประชุมใหญ่แล้ว ดังนั้นการที่นายบันลือ นายก้องเกียรติ และนายมีศักดิ์ได้ร่วมกันทำคำพิพากษาตามมติที่ประชุมใหญ่ และนายเก่งได้ลงลายมือชื่อในคำพิพากษาด้วยนั้น คำพิพากษาดังกล่าวก็ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 27 วรรคสอง เพระนายเก่งเป็นผู้พิพากษาที่เข้าประชุมใหญ่นั้น แม้จะทำให้มีองค์คณะเกินกว่า 3 คน ก็ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 27 วรรคแรกแต่อย่างใด
ส่วนการที่นายเก่งมีความเห็นไม่ตรงกับที่ประชุมใหญ่ และได้ทำความเห็นแย้งหลังจากได้ตรวจสำนวนคดีที่ประชุมใหญ่แล้วนั้น นายเก่งมีอำนาจกระทำได้ ตามมาตรา 27 วรรคสองตอนท้าย
สรุป คำพิพากษาดังกล่าวชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม