การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2551
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3004 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 นายดีเป็นโจทก์ฟ้องนายเกเรต่อศาลแขวง (ในท้องที่นั้นมีทั้งศาลจังหวัดและศาลแขวง) ในข้อหากระทำความผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี ปรับไม่เกินหกพันบาท นายนิติผู้พิพากษาประจำศาลจังหวัดแห่งนั้นได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูล จึงพิพากษายกฟ้อง คำพิพากษาดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 17 ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอำนาจทำการไต่สวน หรือมีคำสั่งใดๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง
มาตรา 25 ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น ดังต่อไปนี้
(3) ไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งในคดีอาญา
(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่จะลงโทษจำคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้
ผู้พิพากษาประจำศาลไม่มีอำนาจตาม (3) (4) หรือ (5)
วินิจฉัย
ศาลแขวงโดยผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาในความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25(5) ประกอบมาตรา 17
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า คำพิพากษายกฟ้องของนายนิติผู้พิพากษาประจำศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า อำนาจของผู้พิพากษาประจำศาลนั้นถูกจำกัดโดยบทบัญญัติมาตรา 25 วรรคท้าย กล่าวคือ ไม่มีอำนาจตามมาตรา 25(3) (4) และ (5) เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายนิติเป็นผู้พิพากษาประจำศาล นายนิติจึงไม่มีอำนาจไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งในคดีอาญา การที่นายนิติผู้พิพากษาประจำศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูล จึงพิพากษายกฟ้อง คำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 25(3) ประกอบวรรคท้าย
สรุป คำพิพากษาดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 2 นายดำผู้พิพากษาศาลแขวงได้นั่งพิจารณาคดีอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสี่พันบาท เมื่อพิจารณาคดีเสร็จแล้วเห็นว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงจึงพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยสิบเดือนและปรับสองพันบาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุกห้าเดือนและปรับหนึ่งพันบาท แต่เนื่องจากจำเลยเป็นนักศึกษาและเป็นความผิดครั้งแรกสมควรให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอไว้มีกำหนดหนึ่งปี
คำพิพากษาของนายดำชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ธงคำตอบมาตรา 17 ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอำนาจทำการไต่สวน หรือมีคำสั่งใดๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง
มาตรา 25 ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น ดังต่อไปนี้
(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่จะลงโทษจำคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้
วินิจฉัย
ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25(5) ประกอบมาตรา 17
แต่ในการพิพากษาคดีอาญา ศาลแขวงโดยผู้พิพากษาคนเดียวถูกจำกัดอำนาจในการพิพากษาตามมาตรา 25(5) กล่าวคือ จะพิพากษาลงโทษจำคุกเกิน 6 เดือนหรือปรับเกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับซึ่งโทษจำคุกหรือปรับนั้นอย่างหนึ่งอย่างใดหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้ ทั้งนี้พิจารณาจากอัตราโทษที่ศาลลงแก่จำเลยในขั้นสุดท้ายหลังจากมีการลดมาตราส่วนโทษ เพิ่มโทษ หรือลดโทษตามกฎหมายแล้ว ดังนั้นการที่ศาลแขวงโดยนายดำ ผู้พิพากษาคนเดียวพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 10 เดือน ปรับ 2,000 บาทแต่จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงเหลือให้จำคุก 5 เดือน และปรับ 1,000 บาท ย่อมกระทำได้ เพราะไม่เกินอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียว ตามมาตรา 25(5) (ฎ.1125/2481)
ส่วนประเด็นที่ศาลรอการลงโทษจำคุกกำหนด 1 ปีนั้นชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ เห็นว่า แม้ศาลจะรอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนดเกินกว่า 6 เดือน ศาลแขวงโดยผู้พิพากษาคนเดียวก็มีอำนาจทำได้ ไม่ถือว่าเกินอำนาจของศาลแขวง ทั้งนี้เนื่องจากการรอการลงโทษมิใช่การลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18
สรุป คำพิพากษาของนายดำชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 3 นายหนึ่งประธานศาลอุทธรณ์ได้จ่ายสำนวนคดีอาญาเรื่องหนึ่งให้นายสอง นายสามและนายสี่ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดี ขณะทำคำพิพากษาคดีนั้น นายสองหัวใจวายถึงแก่ความตาย นายสามและนายสี่จึงนำคดีไปปรึกษานายหนึ่ง แต่นายหนึ่งได้ลาพักผ่อนไปต่างประเทศพอดี นายยอดรองประธานศาลอุทธรณ์ที่มีอาวุโสสูงสุดจึงสั่งให้นายห้าผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เข้าเป็นองค์คณะแทนนายสอง ร่วมกับนายสามและนายสี่ ทำคำพิพากษาคดีต่อไป
การกระทำของนายยอดรองประธานศาลอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 8 วรรคสอง เมื่อตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ภาค ว่างลงหรือเมื่อผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค เป็นผู้ทำการแทน ถ้ามีรองประธานศาลอุทธรณ์ภาคหลายคน ให้รองประธานศาลอุทธรณ์ภาคที่มีอาวุโสสูงสุดเป็นผู้ทำการแทน ถ้าผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้ที่มีอาวุโสถัดลงมาตามลำดับเป็นผู้ทำการแทน
มาตรา 27 ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค หรือศาลฎีกา ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสามคนจึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้
มาตรา 29 ในระหว่างการทำคำพิพากษาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทำคำพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้ ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอำนาจลงลายมือชื่อทำคำพิพากษา และเฉพาะในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และศาลชั้นต้นมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้ด้วย ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสำนวนคดีนั้นแล้ว
(2) ในศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค ได้แก่ ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค รองประธานศาลอุทธรณ์ หรือรองประธานศาลอุทธรณ์ภาคแล้วแต่กรณี
ให้ผู้ทำการแทนในตำแหน่งต่างๆตามมาตรา 8 มาตรา 9 และมาตรา 13 มีอำนาจตาม (1) (2) และ (3) ด้วย
มาตรา 30 เหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 หมายถึง กรณีที่ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีนั้นพ้นจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่ หรือถูกคัดค้านและถอนตัวไป หรือไม่อาจปฏิบัติราชการจนไม่สามารถนั่งพิจารณา หรือคำพิพากษาในคดีนั้นได้
วินิจฉัย
การที่นายหนึ่ง ประธานศาลอุทธรณ์ภาคจ่ายสำนวนคดีให้นายสอง นายสาม และนายสี่ เป็นองค์คณะพิจารณาคดีอาญาเรื่องหนึ่งนั้น ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 27 วรรคแรกที่บังคับว่าในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอุทธรณ์ ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย 3 คน จึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า การกระทำของนายยอดรองประธานศาลอุทธรณ์ที่สั่งให้นายห้าผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เข้าเป็นองค์คณะแทนนายสอง ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ เห็นว่า ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 29 หมายถึงในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้เกิดขึ้นแก่ผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะในระหว่างการทำคำพิพากษาคดี เช่น เจ็บป่วย ตาย หรือโอนย้ายไปรับราชการในตำแหน่งอื่น เป็นต้น ทำให้ไม่อาจทำคำพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้ บทบัญญัติมาตรา 29(2) จึงกำหนดให้ผู้พิพากษาเหล่านั้นมีอำนาจลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาและมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้ด้วย
กรณีตามอุทาหรณ์ การที่นายสอง หัวใจวายกะทันหันในระหว่างการทำคำพิพากษา ถือเป็นเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ตามมาตรา 30 กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 29(2) ที่ต้องให้ประธานศาลอุทธรณ์เป็นผู้ลงลายมือชื่อทำคำพิพากษา เพื่อให้ครบองค์คณะ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่านายหนึ่งประธานศาลอุทธรณ์ได้ลาพักผ่อนไปต่างประเทศ จึงไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ดังนั้นรองประธานศาลอุทธรณ์จึงต้องเป็นผู้ทำการแทนและมีอำนาจเข้าเป็นองค์คณะแทนได้ ตามมาตรา 29(2) และวรรคท้าย ประกอบมาตรา 8 วรรคสอง นายยอดรองประธานศาลอุทธรณ์จึงต้องลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาด้วยตนเองเท่านั้น จะมอบหมายให้นายห้าผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เข้าเป็นองค์คณะแทนนายสองไม่ได้ เพราะมาตรา 29(2) ไม่ได้ให้อำนาจในการมอบหมายเอาไว้ การกระทำของนายยอดรองประธานศาลอุทธรณ์จึงมิชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
สรุป การกระทำของนายยอดไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม