การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2548
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW3004 (LA 304),(LW 305) พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 ในศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีนายเอกดำรงตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 นายโทดำรงตำแหน่งรองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 นางสาวสวย ดำรงตำแหน่งประธานแผนกคดีเด็กและเยาวชนในศาลอุทธรณ์ภาค 1 และมีนายหนึ่ง นายสอง นายสาม นายสี่จนถึงนายยี่สิบ เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ภาค 1 กับผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ทั้งนี้ โดยผู้พิพากษาทั้งหมดมีอาวุโสเรียงตามลำดับ นายเอกได้จ่ายสำนวนคดีแพ่งทุนทรัพย์สี่สิบล้านให้แก่นายสาม นายเจ็ด และนายเก้าเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษา เมื่อผู้พิพากษาทั้งสามได้รับสำนวนคดีแล้ว ต่อมาในวันรุ่งขึ้น นายเก้าหัวใจวายถึงแก่ความตายอย่างกะทันหัน ในระหว่างนั้นนายเอกได้เดินทางไปราชการต่างประเทศ นายโทจึงมอบหมายให้นายห้าเป็นองค์คณะแทนนายเก้าซึ่งถึงแก่ความตาย
ให้วินิจฉัยว่า การกระทำของนายโทชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 8 วรรคสอง เมื่อตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ภาค ว่างลงหรือเมื่อผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค เป็นผู้ทำการแทน ถ้ามีรองประธานศาลอุทธรณ์ภาคหลายคน ให้รองประธานศาลอุทธรณ์ภาคที่มีอาวุโสสูงสุดเป็นผู้ทำการแทน ถ้าผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้ที่มีอาวุโสถัดลงมาตามลำดับเป็นผู้ทำการแทน
มาตรา 28 ในระหว่างการพิจารณาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้น ไม่อาจจะนั่งพิจารณาคดีต่อไป ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้นั่งพิจารณาคดีนั้นแทนต่อไปได้
(2) ในศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค ได้แก่ ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค หรือรองประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค หรือผู้พิพากษาในศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค ซึ่งประธานศาลอุทธรณ์หรือประธานศาลอุทธรณ์ภาค แล้วแต่กรณีมอบหมาย
มาตรา 30 เหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 หมายถึง กรณีที่ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีนั้นพ้นจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่ หรือถูกคัดค้านและถอนตัวไป หรือไม่อาจปฏิบัติราชการจนไม่สามารถนั่งพิจารณา หรือคำพิพากษาในคดีนั้นได้
วินิจฉัย
นายเอก ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 จ่ายสำนวนคดีให้แก่นายสาม นายเจ็ด และนายเก้าเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งเรื่องหนึ่งซึ่งมีทุนทรัพย์ 40 ล้านบาท ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 27 วรรคแรก ที่บังคับว่าในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย 3 คน จึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า การที่นายโท รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 มอบหมายให้นายห้า เป็นองค์คณะแทนนายเก้า ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม หรือไม่ เห็นว่า ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 28 หมายถึงในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้เกิดขึ้นแก่ผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะในระหว่างการพิจารณาคดี เช่น เจ็บป่วย ตาย หรือโอนย้ายไปรับราชการในตำแหน่งอื่น เป็นต้น ทำให้ขาดองค์คณะพิจารณาคดี บทบัญญัติมาตรา 28(2) จึงกำหนดให้ผู้พิพากษาเหล่านั้นมีอำนาจนั่งพิจารณาคดีแทนต่อไปได้
การที่นายเก้าหัวใจวายถึงแก่ความตายอย่างกะทันหัน ถือเป็นเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ตามมาตรา 30 ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างพิจารณาคดี กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 28(2) ที่ให้ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นองค์คณะแทน หรือมอบหมายให้รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือผู้พิพากษาในศาลอุทธรณ์ภาค 1 คนใดคนหนึ่งเป็นองค์คณะแทนก็ได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายเอก ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 เดินทางไปราชการต่างประเทศ ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ต้องให้รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นผู้ทำการแทนตามมาตรา 8 วรรคสอง นายโทซึ่งเป็นรองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงต้องเป็นผู้ทำการแทนประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1
ดังนั้นการที่นายโท ผู้ทำการแทนประธานศาลอุทธรณ์มอบหมายให้นายห้า ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นองค์คณะแทนนายเก้าซึ่งถึงแก่ความตาย ย่อมสามารถกระทำได้ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 28 วรรคท้าย ที่ได้กำหนดให้ผู้ทำการแทนมีอำนาจตามมาตรา 28(2) ในการมอบหมายให้ผู้พิพากษาในศาลอุทธรณ์ภาคเป็นองค์คณะแทนได้
สรุป การกระทำของนายโท รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
ข้อ 2 เขียวเป็นโจทก์ฟ้องนายเหลืองต่อศาลจังหวัดข้อหาฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 290 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี นายใหญ่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลได้จ่ายสำนวนคดีดังกล่าวให้นายเอกผู้พิพากษาศาลจังหวัดไต่สวนมูลฟ้อง นายเอกได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีดังกล่าวไม่มีมูลควรพิพากษายกฟ้องจึงนำสำนวนคดีไปปรึกษากับนายใหญ่ นายใหญ่จึงให้นายเด่นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลนั้นตรวจสำนวนการไต่สวนมูลฟ้อง และลงลายมือชื่อทำคำพิพากษายกฟ้องร่วมกับนายเอก
ท่านเห็นว่า การกระทำดังกล่าวชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 25 ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น ดังต่อไปนี้
(3) ไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งในคดีอาญา
มาตรา 29 ในระหว่างการทำคำพิพากษาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทำคำพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้ ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอำนาจลงลายมือชื่อทำคำพิพากษา และเฉพาะในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และศาลชั้นต้นมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้ด้วย ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสำนวนคดีนั้นแล้ว
(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี
มาตรา 31 เหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้างล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 นอกจากที่กำหนดไว้ในมาตรา 30 แล้วให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย
(1) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาแล้วเห็นว่าควรพิพากษายกฟ้อง แต่คดีนั้นมีอัตราโทษตามที่กฎหมายกำหนดเกินกว่าอัตราโทษตามมาตรา 25(5)
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว ผู้พิพากษาคนเดียวไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25(5) เพราะความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา มีกำหนดอัตราโทษตามกฎหมายให้จำคุกเกิน 3 ปี ต้องให้ผู้พิพากษาอย่างน้อย 2 คนเป็นองค์คณะ
แต่การไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญา ไม่ว่าคดีนั้นกฎหมายจะกำหนดอัตราโทษจำคุกกี่ปีก็ตาม ผู้พิพากษาคนเดียวก็ย่อมมีอำนาจกระทำได้ ตามมาตรา 25(3) เมื่อนายเอกไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูลควรพิพากษายกฟ้อง แต่คดีนั้นมีอัตราโทษตามที่กฎหมายกำหนดเกินกว่าอัตราโทษ ตามมาตรา 25(5) ถือได้ว่าเป็นเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ตามมาตรา 31(1) ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างการทำคำพิพากษา จึงต้องให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลหรือผู้ทำการแทนในตำแหน่งดังกล่าวเข้าร่วมตรวจสำนวนและลงลายมือชื่อทำคำพิพากษายกฟ้องด้วย ตามมาตรา 29(3) กรณีนี้นายเอกต้องให้นายใหญ่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลร่วมลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาเท่านั้น และนายใหญ่จะมอบหมายหรือสั่งให้ผู้พิพากษาคนอื่นตรวจสำนวนการไต่สวนมูลฟ้องและลงลายมือชื่อทำคำพิพากษายกฟ้องไม่ได้ ดังนั้นการที่นายใหญ่ให้นายเด่นผู้พิพากษาอาวุโสตรวจสำนวนและลงลายมือชื่อทำคำพิพากษายกฟ้องจึงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 29(3)
สรุป นายเอกไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาได้ ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
การทำคำพิพากษายกฟ้องไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
ข้อ 3 ในศาลแขวงพระนครเหนือ นายสมภพผู้พิพากษาศาลแขวงและนายเกียรติศักดิ์ผู้พิพากษาประจำศาลได้เป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีอาญาฐานฉ้อฉลอันเป้นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท เมื่อองค์คณะทั้งสองได้พิจารณาคดีเสร็จแล้วจึงร่วมกันพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยหนึ่งปี
ท่านเห็นว่าคำพิพากษาดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 25 ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น ดังต่อไปนี้
(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่จะลงโทษจำคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้
ผู้พิพากษาประจำศาลไม่มีอำนาจตาม (3) (4) หรือ (5)
มาตรา 29 ในระหว่างการทำคำพิพากษาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทำคำพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้ ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอำนาจลงลายมือชื่อทำคำพิพากษา และเฉพาะในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และศาลชั้นต้นมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้ด้วย ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสำนวนคดีนั้นแล้ว
(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี
มาตรา 31 เหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้างล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 นอกจากที่กำหนดไว้ในมาตรา 30 แล้วให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย
(2) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวพิจารณาคดีอาญาตามมาตรา 25(5) แล้ว เห็นว่าควรพิพากษาลงโทษจำคุกเกินกว่าหกเดือนหรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างเกินอัตราดังกล่าว
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว ศาลแขวง โดยผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจพิจารราพิพากษาคดี และมีอำนาจทำการไต่สวนหรือมีคำสั่งใดๆซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจตามที่กำหนดไว้ตามมาตรา 25 วรรคแรก ประกอบมาตรา 17
นายสมภพ ผู้พิพากษาศาลแขวงพระนครเหนือมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาฐานฉ้อโกง ได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25(5) ประกอบมาตรา 17 เพราะคดีนี้มีอัตราโทษตามที่กฎหมายกำหนดไม่เกิน 3 ปี ส่วนนายเกียรติศักดิ์ผู้พิพากษาประจำศาลไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาตามมาตรา 25(5) ทั้งนี้ตามมาตรา 25 วรรคท้าย กรณีนี้จึงต้องถือว่านายสมภพเท่านั้นเป็นองค์คณะ
เมื่อนายสมภพผู้พิพากษาคนเดียวพิจารณาคดีอาญาตามมาตรา 25(5) แล้วเห็นว่าควรพิพากษาลงโทษจำคุกเกินกว่า 6 เดือน กรณีถือว่าเป็นเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ตามมาตรา 31(2) ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างการทำคำพิพากษา ดังนี้ต้องให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงพระนครเหนือลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาตามมาตรา 29(3) การที่นายสมภพและนายมีเกียรติร่วมกันพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี จึงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25(5) เพราะเป็นการที่ผู้พิพากษาคนเดียวพิพากษาลงโทษจำคุกเกิน 6 เดือน (ฎ.1082/2481)
สรุป คำพิพากษาดังกล่าวไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม