การสอบไล่ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2547
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3004 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายดำต่อศาลจังหวัดข้อหากระทำความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 338 ซึ่งระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท นายเสริมศักดิ์ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลได้จ่ายสำนวนคดีให้แก่นายยิ่งยศผู้พิพากษาศาลจังหวัด (ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น) และนางสาวสมฤดีผู้พิพากษาประจำศาลเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษา หลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว นายยิ่งยศได้ถูกฝ่ายจำเลยคัดค้านจึงถอนตัวไม่เป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีนั้นต่อไป นายเสริมศักดิ์จึงนำสำนวนคดีดังกล่าวมอบให้นายเก่งกล้า ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลจังหวัดนั้น เป็นองค์คณะแทนนายยิ่งยศร่วมกันพิจารณาพิพากษาคดีกับนางสาวสมฤดีต่อไป
ท่านว่าการกระทำของนายเสริมศักดิ์ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 26 ภายใต้บังคับมาตรา 25 ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น นอกจากศาลแขวงและศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนและต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจำศาลเกินหนึ่งคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งหรือคดีอาญาทั้งปวง
มาตรา 28 ในระหว่างการพิจารณาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้น ไม่อาจจะนั่งพิจารณาคดีต่อไป ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้นั่งพิจารณาคดีนั้นแทนต่อไปได้
(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลหรือรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นของศาลนั้นซึ่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นอธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแล้วแต่กรณีมอบหมาย
มาตรา 30 เหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 หมายถึง กรณีที่ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีนั้นพ้นจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่ หรือถูกคัดค้านและถอนตัวไป หรือไม่อาจปฏิบัติราชการจนไม่สามารถนั่งพิจารณา หรือคำพิพากษาในคดีนั้นได้
วินิจฉัย
นายเสริมศักดิ์ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลได้จ่ายสำนวนคดีให้แก่นายยิ่งยศและนางสาวสมฤดีเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษา ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 ที่บังคับว่าต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย 2 คน และต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจำศาลเกิน 1 คน
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า การที่นายเสริมศักดิ์นำสำนวนคดีมอบให้นายเก่งกล้าผู้พิพากษาอาวุโสในศาลจังหวัดนั้น เป็นองค์คณะแทนนายยิ่งยศชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ เห็นว่า ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 28 หมายถึงในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้เกิดขึ้นแก่ผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะในระหว่างการพิจารณาคดี เช่น เจ็บป่วย ตาย หรือโอนย้ายไปรับราชการในตำแหน่งอื่น หรือถูกคัดค้านและถอนตัวไป เป็นต้น ทำให้ขาดองค์คณะพิจารณาคดี บทบัญญัติมาตรา 28(3) จึงกำหนดให้ผู้พิพากษาเหล่านั้นมีอำนาจนั่งพิจารณาคดีแทนต่อไปได้
การที่นายยิ่งยศองค์คณะถูกฝ่ายจำเลยคัดค้านจึงถอนตัวไป ถือเป็นเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ตามมาตรา 30 ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างการพิจารณาคดี กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 28(3) ที่ให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเป็นองค์คณะแทน หรือมอบหมายให้ผู้พิพากษาในศาลนั้นเป็นองค์คณะแทนก็ได้ ดังนั้นเมื่อนายเสริมศักดิ์ไม่เป็นองค์คณะเอง แต่มอบให้นายเก่งกล้าเป็นองค์คณะแทนนั้น ย่อมกระทำได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 28(3) การกระทำของนายเสริมศักดิ์จึงชอบแล้ว
สรุป การกระทำของนายเสริมศักดิ์ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
ข้อ 2 จังหวัดชลบุรีเป็นสถานที่ตั้งสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 มีศาลจังหวัดชลบุรี ศาลจังหวัดพัทยา ศาลแขวงชลบุรี โดยมีนายเอก นายโท และนายตรี เป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลดังกล่าวเรียงตามลำดับอาวุโส
พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายดำต่อศาลแขวงชลบุรีในความผิดฐานปลอมแปลงเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นายตรีผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงชลบุรีได้พิจารณาคดีดังกล่าวแล้วเห็นว่า นายดำกระทำความผิดจริงตามที่พนักงานอัยการฟ้องต้องการลงโทษจำคุกนายดำสองปี จึงนำสำนวนไปปรึกษาอธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 แต่ปรากฏว่าอธิบดีผู้พิพากษาภาค 2 ไปราชการยังสำนักศาลยุติธรรมกรุงเทพมหานคร นายตรีจึงนำสำนวนคดีไปปรึกษานายเอก ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดชลบุรี เมื่อนายเอกได้ตรวจสำนวนคดีแล้วมีความเห็นเช่นเดียวกับนายตรี จึงร่วมกันทำคำพิพากษาลงโทษจำคุกนายดำสองปี
ท่านเห็นว่านายเอกผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดชลบุรีลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาร่วมกับนายตรี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงชลบุรีดังกล่าวข้างต้น ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 13 วรรคสอง เมื่อตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาภาคว่างลงหรือเมื่ออธิบดีผู้พิพากษาภาคไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ประธานศาลฎีกาสั่งให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งเป็นผู้ทำการแทน
มาตรา 29 ในระหว่างการทำคำพิพากษาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทำคำพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้ ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอำนาจลงลายมือชื่อทำคำพิพากษา และเฉพาะในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และศาลชั้นต้นมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้ด้วย ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสำนวนคดีนั้นแล้ว
(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี
ให้ผู้ทำการแทนในตำแหน่งต่างๆ ตามมาตรา 8 มาตรา 9 และมาตรา 13 มีอำนาจตาม (1) (2) และ (3) ด้วย
มาตรา 31 เหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้างล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 นอกจากที่กำหนดไว้ในมาตรา 30 แล้วให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย
(2) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวพิจารณาคดีอาญาตามมาตรา 25(5) แล้ว เห็นว่าควรพิพากษาลงโทษจำคุกเกินกว่าหกเดือนหรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างเกินอัตราดังกล่าว
คำสั่งสำนักงานศาลยุติธรรมที่ 861/2544 เมื่อตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาภาคว่างลง หรือเมื่ออธิบดี ผู้พิพากษาไม่อาจปฏิบัติราชการได้ให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลที่มีอาวุโสสูงสุดของศาลในจังหวัดที่อธิบดีผู้พิพากษามีสถานที่ตั้งเป็นผู้ทำการแทนอธิบดีผู้พิพากษา ถ้าผู้พิพากษาหัวหน้าศาลที่มีอาวุโสสูงสุดไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลที่มีอาวุโสถัดลงมาตามลำดับของศาลในจังหวัดที่อธิบดี ผู้พิพากษาภาคมีสถานที่ตั้งเป็นผู้ทำการแทน เว้นแต่จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
วินิจฉัย
ศาลแขวงโดยผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาในความผิดฐานปลอมแปลงเอกสาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25(5) ประกอบมาตรา 17 แต่ทั้งนี้ศาลแขวงจะพิพากษาลงโทษจำคุกเกิน 6 เดือนหรือปรับเกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับไม่ได้ ถ้าเห็นว่าควรพิพากษาลงโทษจำคุกเกินกว่า 6 เดือน หรือปรับเกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ให้ถือเป็นเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ดังนั้นการที่นายตรีพิจารณาคดีแล้วเห็นว่า นายดำกระทำผิดจริงตามที่พนักงานอัยการฟ้อง ต้องการลงโทษจำคุกนายดำ 2 ปี ถือว่าเป็นเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ในระหว่างการทำคำพิพากษา ตามมาตรา 31(2) ผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาได้จะต้องเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลหรืออธิบดีผู้พิพากษาภาค ตามมาตรา 29(3) หรือผู้ทำการแทนผู้พิพากษาหัวหน้าศาล หรืออธิบดีผู้พิพากษาภาค ตามมาตรา 29 วรรคท้าย เมื่อนายตรีเป็นผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีและเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาล จึงไม่อาจลงลายมือชื่อเพียงคนเดียวในสองฐานะได้ จึงต้องให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคลงลายมือชื่อทำคำพิพากษา ตามมาตรา 29(3)
เมื่ออธิบดีผู้พิพากษาภาคไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ประธานศาลฎีกาสั่งให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งเป็นผู้ทำการแทน ตามมาตรา 13 วรรคสอง ซึ่งประธานศาลฎีกาได้มีคำสั่งสำนักงานศาลยุติธรรมที่ 861/2544 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2544 ว่าเมื่ออธิบดีผู้พิพากษาภาคไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลที่มีอาวุโสสูงสุดของศาลในจังหวัดที่อธิบดีผู้พิพากษาภาคมีสถานที่ตั้งเป็นผู้ทำการแทน นายเอกผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลที่มีอาวุโสสูงสุดของศาลในจังหวัดที่อธิบดีผู้พิพากษาภาคมีสถานที่ตั้ง จึงเป็นผู้ทำการแทนอธิบดีผู้พิพากษาภาค นายเอกจึงมีอำนาจลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาร่วมกับนายตรี เพื่อพิพากษาลงโทษจำคุกนายดำ 2 ปี ได้ตามมาตรา 29 วรรคท้าย
สรุป การที่นายเอกผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดชลบุรีลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาร่วมกับนายตรีผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงชลบุรีชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
ข้อ 3 นายดีเป็นโจทก์ฟ้องนายโกงในคดีแพ่งซึ่งมีจำนวนทุนทรัพย์สามแสนบาทต่อศาลจังหวัดอ่างทอง (จังหวัดอ่างทองไม่มีศาลแขวง) นายยิ่งศักดิ์ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดอ่างทองได้เป็นองค์คณะพิจารณาคดีดังกล่าว ต่อมาในทางพิจารณาปรากฏว่าทุนทรัพย์ที่ฟ้องมีราคาถึงห้าแสนบาท นายยิ่งศักดิ์จึงได้ให้นายตรีผู้พิพากษาประจำศาลจังหวัดอ่างทองเป็นองค์คณะร่วมพิจารณาคดีดังกล่าวด้วยจนเสร็จและได้ร่วมกันทำคำพิพากษาให้นายโกงชดใช้เงินให้กับนายดีจำนวนห้าแสนบาท
คำพิพากษาดังกล่าวชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 25 ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น ดังต่อไปนี้
(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพากษาหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
มาตรา 26 ภายใต้บังคับมาตรา 25 ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น นอกจากศาลแขวงและศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนและต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจำศาลเกินหนึ่งคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งหรือคดีอาญาทั้งปวง
มาตรา 28 ในระหว่างการพิจารณาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้น ไม่อาจจะนั่งพิจารณาคดีต่อไป ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้นั่งพิจารณาคดีนั้นแทนต่อไปได้
(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลหรือรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นของศาลนั้นซึ่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นอธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแล้วแต่กรณีมอบหมาย
มาตรา 31 เหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้างล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 นอกจากที่กำหนดไว้ในมาตรา 30 แล้วให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย
(4) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวพิจารณาคดีแพ่งตามมาตรา 25(4) ไปแล้ว ต่อมาปรากฏว่าราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องเกินกว่าอำนาจพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียว
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว ในการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น จะต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย 2 คน และต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจำศาลเกินหนึ่งคนเป็นองค์คณะ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 แต่การพิจารณาคดีแพ่งซึ่งมีทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 แสนบาท ผู้พิพากษาคนเดียวย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ ตามมาตรา 25(4)
การที่ผู้พิพากษาพิจารณาคดีแพ่ง ตามมาตรา 25(4) ไปแล้ว ต่อมาในทางพิจารณาปรากฏว่าทุนทรัพย์ที่ฟ้องมีราคาถึง 5 แสนบาท ซึ่งเกินกว่าอำนาจพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียว ต้องถือว่าเป็นเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ตามมาตรา 31(4) ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างการพิจารณาคดี ต้องให้ผู้พิพากษาตามมาตรา 28(3) นั่งพิจารณาคดีนั้นแทนต่อไป ซึ่งได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาภาคหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลหรือผู้พิพากษาในศาลนั้นซึ่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลมอบหมายก็ได้ ดังนั้นการที่นายยิ่งศักดิ์ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลมอบหมายให้นายตรีผู้พิพากษาประจำศาลจังหวัดอ่างทอง เป็นองค์คณะร่วมพิจารณาคดีจนเสร็จ และได้ร่วมกันทำคำพิพากษาให้นายโกงชดใช้เงินให้กับนายดีจำนวน 5 แสนบาท คำพิพากษาดังกล่าวจึงชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมแล้ว
สรุป คำพิพากษาดังกล่าวชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม