การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2552

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3004 (LA 304),(LW 305) พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  โจทก์ฟ้องนาย  ก  ว่ากระทำความผิดฐานลักทรัพย์ต่อศาลจังหวัดราชบุรี  ระหว่างพิจารณาคดีนาย  ก  ไปกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ขึ้นอีกในเขตอำนาจของศาลแขวงราชบุรี  ศาลแขวงราชบุรีพิจารณาแล้วพิพากษาลงโทษจำคุกนาย  ก  มีกำหนด  6  เดือน  แต่ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด  2  ปี  ในระหว่างที่ยังไม่พ้นกำหนดการรอการลงโทษ  ศาลจังหวัดราชบุรีพิพากษาให้จำคุกนาย  ก  มีกำหนด  1  ปี  และให้นำโทษจำคุกที่ศาลแขวงราชบุรีรอการลงโทษไว้มาบวกเข้าเป็นลงโทษจำคุกนาย  ก  1  ปี  6  เดือน

คำพิพากษาของศาลจังหวัดราชบุรีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  58  วรรคแรก  เมื่อความปรากฏแก่ศาลเอง  หรือความปรากฏตามคำแถลงของโจทก์หรือเจ้าพนักงานว่า  ภายในเวลาที่ศาลกำหนดตามมาตรา  56  ผู้ที่ถูกศาลพิพากษาได้กระทำความผิดอันมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ  และศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุกสำหรับความผิดนั้น  ให้ศาลที่พิพากษาคดีหลังกำหนดโทษที่รอการกำหนดไว้ในคดีก่อนบวกเข้ากับโทษในคดีหลัง  หรือบวกโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีหลัง  แล้วแต่กรณี

วินิจฉัย

การบวกโทษที่รอการลงโทษไว้  เป็นการนำเอาโทษที่ศาลในคดีก่อนพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดและกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยไว้  แต่ให้รอการลงโทษที่กำหนดไว้นั้นภายในเวลาที่ศาลกำหนด  เมื่อจำเลยมากระทำผิดขึ้นอีกภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดไว้  และคดีนั้นอยู่ในอำนาจศาลจังหวัด  ศาลจังหวัดก็จะต้องนำเอาโทษที่ศาลในคดีก่อนกำหนดและให้รอการลงโทษจำเลยไว้มาบวกกับโทษในคดีหลังตาม  ป.อ.มาตรา  58

คำพิพากษาศาลจังหวัดราชบุรีไม่ชอบ  เพราะนาย  ก  กระทำความผิดในคดีก่อนคดีที่ศาลแขวงราชบุรีจะพิจารณาพิพากษาให้รอการลงโทษ  ไม่ได้กระทำผิดในระหว่างที่ศาลแขวงพิพากษาให้รอการลงโทษ  ทั้งนี้แม้ศาลจังหวัดจะพิพากษาให้จำคุกนาย  ก  ศาลจังหวัดก็ไม่มีอำนาจที่จะนำโทษจำคุกในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษในคดีของศาลจังหวัดราชบุรีได้  เพราะมิใช่เป็นการกระทำความผิดภายในระยะเวลาที่ศาลรอการลงโทษ  (ฎ.3523/2545)

สรุป  คำพิพากษาของศาลจังหวัดราชบุรีไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  2  พันตำรวจเอกขาวออกตรวจราชการในเวลากลางคืนพบนายแดงขับรถในขณะเมาสุรา  จึงเรียกให้หยุดและทำการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์  แต่นายแดงไม่ยอมอ้างว่าไม่ได้เมาสุรา  นายดำเพื่อนนายแดงซึ่งนั่งอยู่ในรถด้วย  จึงออกมาโต้เถียงแทนนายแดง  เมื่อเห็นว่าพันตำรวจเอกขาวไม่ยอมปล่อยนายแดงแน่แล้วจึงด่าทอพันตำรวจเอกขาวด้วยถ้อยคำหยาบคายต่อหน้าตำรวจผู้ใต้บังคับบัญชาหลายคน ต่อมาพนักงานอัยการโจทก์ยื่นฟ้องนายดำต่อศาลแขวงขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  326  ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน  1  ปี  และปรับไม่เกิน  20,000  บาท  และขอให้ศาลแขวงบังคับให้นายดำจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงิน  300,000  บาทด้วย  เมื่อเสร็จการพิจารณาศาลแขวงได้พิพากษาลงโทษจำคุกนายดำมีกำหนด  6  เดือน  และให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน  100,000  บาท  คำพิพากษาของศาลแขวงชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  17  ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี  และมีอำนาจทำการไต่สวน  หรือมีคำสั่งใดๆ  ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจตามที่กำหนดไว้ในมาตรา  24  และมาตรา  25  วรรคหนึ่ง

มาตรา  25  ในศาลชั้นต้น  ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น  ดังต่อไปนี้

(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา  ซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ  แต่จะลงโทษจำคุกเกินหกเดือน  หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ  ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  44/1  วรรคแรก  ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์  ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต  ร่างกาย  จิตใจ  หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย  ชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากกากระทำความผิดของจำเลย  ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้

วินิจฉัย

ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาในความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  326  ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน  1  ปี  และปรับไม่เกิน  20,000  บาท  ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา  25(5)  ประกอบมาตรา  17

แม้ศาลแขวงจะพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย  6  เดือน  ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลแขวงตามมาตรา  25(5)  ก็ตาม  แต่กรณีเรียกค่าสินไหมทดแทนนั้น  พนักงานอัยการไม่มีอำนาจเรียกแทนผู้เสียหายตาม  ป.วิ.อ.  มาตรา  44/1  ดังนั้น  คำพิพากษาของศาลแขวงจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

สรุป  คำพิพากษาของศาลแขวงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  3  ศาลจังหวัดมีนบุรีได้พิจารณาคดีอาญาความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา  ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  288  ซึ่งมีระวางโทษประหารชีวิต  จำคุกตลอดชีวิต  หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี  แล้วพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิต  พ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้วคู่ความมิได้อุทธรณ์  ศาลจังหวัดมีนบุรีจึงส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์  ศาลอุทธรณ์ได้รับสำนวนคดีดังกล่าวแล้วจึงนำมาดำเนินการพิจารณาพิพากษาองค์คณะของศาลอุทธรณ์เห็นว่าการกระทำของจำเลยมีพฤติการณ์ทารุณโหดร้าย  จึงร่วมกันแก้ไขคำพิพากษาของศาลจังหวัดมีนบุรีเป็นประหารชีวิต

ท่านเห็นว่าการรับคดีซึ่งคู่ความมิได้อุทธรณ์  และพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว  ตลอดจนการแก้ไขคำพิพากษาศาลจังหวัดมีนบุรีของศาลอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  เพราะเหตุใด 

ธงคำตอบ

มาตรา  22  ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจพิจารณาพิพากษาบรรดาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น  ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการอุทธรณ์  และว่าด้วยเขตอำนาจศาลและมีอำนาจดังต่อไปนี้

(1) พิพากษายืนตาม  แก้ไข  กลับ  หรอยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพาทลงโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต  ในเมื่อคดีนั้นได้ส่งขึ้นมายังศาลอุทธรณ์  และศาลอุทธรณ์ภาคตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  212  คดีที่จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาที่ให้ลงโทษ  ห้ามมิให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย  เว้นแต่โจทก์จะได้อุทธรณ์ในทำนองนั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  245  วรรคสอง  ศาลชั้นต้นมีหน้าที่ต้องส่งสำนวนคดีที่พิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิต  หรือจำคุกตลอดชีวิต  ไปยังศาลอุทธรณ์ในเมื่อไม่มีการอุทธรณ์คำพิพากษานั้น  และคำพิพากษาเช่นว่านี้จะยังไม่ถึงที่สุด  เว้นแต่ศาลอุทธรณ์จะได้พิพากษายืน

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  22  ของพระธรรมนูญศาลยุติธรรมดังกล่าวจะเห็นว่าโดยหลักการแล้ว  ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่คู่ความอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นมาเท่านั้น  ดังนั้นหากคู่ความมิได้อุทธรณ์  คดีย่อมยุติเสร็จเด็ดขาดไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น  แต่ความในมาตรา  22(1)  ได้บัญญัติเป็นข้อยกเว้นกำหนดให้ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจพิพากษายืนตาม  แก้ไข  กลับ  หรือยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาลงโทษประหารชีวิต  หรือจำคุกตลอดชีวิต  ในเมื่อคดีได้ส่งมายังศาลอุทธรณ์  หรือศาลอุทธรณ์ภาคตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา  245  วรรคสอง  คือ  เมื่อโจทก์และจำเลยไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษานั้น  และพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว  ในกรณีนี้หากศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น  คดีเป็นอันยุติ  คู่ความจะฎีกาต่อไปอีกไม่ได้

ดังนั้น  เมื่อศาลจังหวัดมีนบุรีพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิต  พ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว  โจทก์จำเลยไม่อุทธรณ์  ศาลจังหวัดมีนบุรีจึงต้องส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา  245  วรรคสอง  การที่ศาลอุทธรณ์ได้รับสำนวนดังกล่าวมาเพื่อพิจารณาพิพากษาจึงชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา  22(1)

แต่อย่างไรก็ตาม  ศาลอุทธรณ์จะแก้ไขคำพิพากษาของศาลจังหวัดมีนบุรีเพื่อลงโทษจำเลยให้หนักขึ้นไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา  212  ทั้งนี้เพราะคดีดังกล่าวโจทก์และจำเลยมิได้อุทธรณ์คำพิพากษา  ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาลงโทษจำเลยให้หนักขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคดีนั้นโจทก์อุทธรณ์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยเท่านั้น

สรุป

การรับคดีของศาลอุทธรณ์ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

การแก้ไขคำพิพากษาโดยศาลอุทธรณ์  ไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

Advertisement