การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2551

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3004 (LA 304),(LW 305) พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นาย  ก  ฟ้องนาย  ข  ฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาโดยไตร่ตรองไว้ก่อนต่อศาลจังหวัด  ขอให้ศาลจังหวัดพิพากษาลงโทษประหารชีวิต  ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดจ่ายสำนวนให้นายยุติธรรมผู้พิพากษาศาลจังหวัดทำการไต่สวนมูลฟ้อง  นายยุติธรรมไต่สวนมูลฟ้องแล้ว  เห็นว่า

(ก)  คดีมีมูล  จึงสั่งประทับฟ้อง

(ข)  คดีไม่มีมูล  จึงพิพากษายกฟ้อง

คำสั่ง  หรือคำพิพากษาของนายยุติธรรมทั้งสองกรณีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  ให้อธิบายและยกเหตุผลประกอบคำตอบ

ธงคำตอบ

มาตรา  25  ในศาลชั้นต้น  ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น  ดังต่อไปนี้

(3) ไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งในคดีอาญา

(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา  ซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ  แต่จะลงโทษจำคุกเกินหกเดือน  หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ  ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้

มาตรา  29  ในระหว่างการทำคำพิพากษาคดีใด  หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้  ทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทำคำพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้  ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอำนาจลงลายมือชื่อทำคำพิพากษา  และเฉพาะในศาลอุทธรณ์  ศาลอุทธรณ์ภาค  และศาลชั้นต้นมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้ด้วย  ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสำนวนคดีนั้นแล้ว

(3) ในศาลชั้นต้น  ได้แก่  อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น  อธิบดีผู้พิพากษาภาค  รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น  หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล  แล้วแต่กรณี

มาตรา  31  เหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้างล่วงได้ตามมาตรา  28  และมาตรา  29  นอกจากที่กำหนดไว้ในมาตรา  30  แล้วให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย

(1) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาแล้วเห็นว่าควรพิพากษายกฟ้อง  แต่คดีนั้นมีอัตราโทษตามที่กฎหมายกำหนดเกินกว่าอัตราโทษตามมาตรา  25(5)

วินิจฉัย

(ก)  การที่นายยุติธรรมผู้พิพากษาศาลจังหวัด  ซึ่งเป็นผู้พิพากษาคนเดียวทำการไต่สวนมูลฟ้องในคดีอาญาความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาโดยไตร่ตรองไว้ก่อนแล้วเห็นว่าคดีมีมูล  จึงมีคำสั่งประทับฟ้อง  นายยุติธรรมย่อมมีอำนาจทำได้  คำสั่งของนายยุติธรรมกรณีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย  เพราะคำสั่งประทับฟ้องเป็นคำสั่งตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  25(3)  ไม่ทำให้คดีที่ผู้พิพากษาคนเดียวไต่สวนมูลฟ้องเสร็จเด็ดขาด  จะต้องมีการดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป

(ข)  เมื่อนายยุติธรรมผู้พิพากษาคนเดียวไต่สวนมูลฟ้องคดีดังกล่าวแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูล  ควรพิพากษายกฟ้อง  แต่คดีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาโดยไตร่ตรองไว้ก่อนนั้นมีอัตราโทษตามที่กฎหมายกำหนด  คือมีอัตราโทษประหารชีวิต  ซึ่งถือว่าเกินอัตราโทษตามมาตรา  25(5)  ไม่อยู่ในอำนาจของผู้พิพากษาศาลชั้นต้นคนเดียว  นายยุติธรรมผู้พิพากษาที่ทำการไต่สวนมูลฟ้องจะพิพากษายกฟ้อง  กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา  31(1)  ถือได้ว่ามีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ระหว่างการทำพิพากษาคดี  ทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจทำคำพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้  ดังนั้นจึงต้องมีผู้พิพากษาสองคนเป็นองค์คณะ  ตามมาตรา  26  และผู้พิพากษาที่จะเป็นองค์คณะมีอำนาจลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาดังกล่าวนั้นได้แก่  ผู้พิพากษาที่บัญญัติไว้ในมาตรา  29(3)  คือ  ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล  หรือผู้ทำการแทนผู้พิพากษาหัวหน้าศาล

ดังนั้นการที่นายยุติธรรมโดยลำพังไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูล  พิพากษายกฟ้อง  คำพิพากษาของนายยุติธรรมจึงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

สรุป

(ก)  คำสั่งประทับฟ้องของนายยุติธรรมชอบด้วยกฎหมาย

(ข)  คำพิพากษายกฟ้องของนายยุติธรรมไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ข้อ  2  นายขาวฟ้องนายดำฐานยักยอก  ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน  3  ปี  หรือปรับไม่เกิน  60,000  บาท  ต่อศาลแขวง  โดยมีนายธรรมผู้พิพากษาประจำศาลแขวง  เป็นผู้พิจารณาคดี  ต่อมานายธรรมพิพากษาลงโทษจำคุกนายดำ  1  ปี  นายธรรมจึงนำสำนวนไปปรึกษานายจักร  ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวง  แต่เนื่องจากนายจักรติดราชการที่อื่น  จึงมอบหมายให้นายดุล  ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลแขวงนั้นเป็นผู้ทำการแทน  เมื่อนายดุลตรวจสำนวนแล้ว  จึงลงลายมือชื่อร่วมกับนายธรรม  คำพิพากษานี้ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  25  ในศาลชั้นต้น  ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น  ดังต่อไปนี้

(3) ไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งในคดีอาญา

(5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา  ซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ  แต่จะลงโทษจำคุกเกินหกเดือน  หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ  ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้

ผู้พิพากษาประจำศาลไม่มีอำนาจตาม  (3)  (4)  หรือ  (5)

มาตรา  29  ในระหว่างการทำคำพิพากษาคดีใด  หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้  ทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทำคำพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้  ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอำนาจลงลายมือชื่อทำคำพิพากษา  และเฉพาะในศาลอุทธรณ์  ศาลอุทธรณ์ภาค  และศาลชั้นต้นมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้ด้วย  ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสำนวนคดีนั้นแล้ว

(3) ในศาลชั้นต้น  ได้แก่  อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น  อธิบดีผู้พิพากษาภาค  รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น  หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล  แล้วแต่กรณี

มาตรา  31  เหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้างล่วงได้ตามมาตรา  28  และมาตรา  29  นอกจากที่กำหนดไว้ในมาตรา  30  แล้วให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย

(2) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวพิจารณาคดีอาญาตามมาตรา  25(5)  แล้ว  เห็นว่าควรพิพากษาลงโทษจำคุกเกินกว่าหกเดือนหรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ  ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง  หรือทั้งสองอย่างเกินอัตราดังกล่าว

วินิจฉัย

ผู้พิพากษาประจำศาลไม่มีอำนาจในคดีอาญาตามมาตรา  25(3)  และ  (5)  กล่าวคือ  ไม่มีอำนาจไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งในคดีอาญา  และไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญา  ซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จำคุกไม่เกิน  3  ปี  หรือปรับไม่เกิน  60,000 บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ  แต่จะลงโทษจำคุกเกิน  6  เดือน  หรือปรับเกิน  10,000  บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ  ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้

เมื่อนายธรรมผู้พิพากษาประจำศาลแขวงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี  การที่นายธรรมพิพากษาลงโทษจำคุกนายดำเกิน  1  ปี  คำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  25  วรรคท้าย

ดังนั้น  เมื่อนายธรรมไม่มีอำนาจมาตั้งแต่ต้นแล้ว  แม้จะพิพากษาลงโทษจำคุกเกิน  6  เดือน  ก็ไม่จำต้องพิเคราะห์บทบัญญัติตามมาตรา 29(3)  และมาตรา  31(2)  แต่อย่างใด

สรุป  คำพิพากษาไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

 

ข้อ  3  ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา  (ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  288)  แล้วเห็นว่า  ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยฆ่าผู้อื่นตามที่โจทก์ฟ้องจริง  จึงพิพากษาจำคุกจำเลยตลอดชีวิต  พนักงานอัยการโจทก์และจำเลยไม่อุทธรณ์ภายในระยะเวลาอุทธรณ์  ศาลชั้นต้นจึงส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์  ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น  พนักงานอัยการโจทก์เห็นว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยเบาไป  ควรลงโทษประหารชีวิต  ส่วนจำเลย  เห็นว่าศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยหนักเกินไป  พนักงานอัยการโจทก์และจำเลยจึงฎีกาขึ้นไปยังศาลฎีกา  โดยพนักงานอัยการโจทก์ฎีกาขอให้ศาลฎีกาลงโทษประหารชีวิตจำเลย  ส่วนจำเลยฎีกาขอให้ศาลฎีกาลงโทษจำเลยเบากว่าที่ศาลล่างลงโทษ

ถ้าท่านเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา  ท่านจะพิจารณาพิพากษาคดีนี้ว่าอย่างไร

ธงคำตอบ

มาตรา  22  ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจพิจารณาพิพากษาบรรดาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น  ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการอุทธรณ์  และว่าด้วยเขตอำนาจศาลและมีอำนาจดังต่อไปนี้

(1) พิพากษายืนตาม  แก้ไข  กลับ  หรอยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพาทลงโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต  ในเมื่อคดีนั้นได้ส่งขึ้นมายังศาลอุทธรณ์  และศาลอุทธรณ์ภาคตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  245  วรรคสอง  ศาลชั้นต้นมีหน้าที่ต้องส่งสำนวนคดีที่พิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิต  หรือจำคุกตลอดชีวิต  ไปยังศาลอุทธรณ์ในเมื่อไม่มีการอุทธรณ์คำพิพากษานั้น  และคำพิพากษาเช่นว่านี้จะยังไม่ถึงที่สุด  เว้นแต่ศาลอุทธรณ์จะได้พิพากษายืน

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  22  ของพระธรรมนูญศาลยุติธรรมดังกล่าว  จะเห็นว่าโดยหลักการแล้ว  ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่คู่ความอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นมาเท่านั้น  ดังนั้นหากคู่ความมิได้อุทธรณ์  คดีย่อมยุติเสร็จเด็ดขาดไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น  แต่ความในมาตรา  22(1)  ได้บัญญัติเป็นข้อยกเว้นกำหนดให้ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจพิพากษายืนตาม  แก้ไข  กลับ  หรือยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาลงโทษประหารชีวิต  หรือจำคุกตลอดชีวิต  ในเมื่อคดีได้ส่งขึ้นมายังศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  245  วรรคสอง  คือ  เมื่อโจทก์และจำเลยไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษานั้น  และพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว  ในกรณีนี้ถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น  คดีก็เป็นอันยุติ  จะฎีกาอีกต่อไปมิได้

ดังนั้นเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิต  พ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว  โจทก์และจำเลยไม่อุทธรณ์  ศาลชั้นต้นจึงต้องส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  245  วรรคสอง  การที่ศาลอุทธรณ์ได้รับสำนวนไว้พิจารณาและพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น  คดีจึงเป็นอันยุติ  ตามมาตรา  245  วรรคสองตอนท้าย  โจทก์และจำเลยจะฎีกาต่อไปไม่ได้  ดังนั้นถ้าข้าพเจ้าเป็นศาลจะยกฎีกาของทั้งโจทก์และจำเลย

สรุป  ข้าพเจ้าฯจะยกฎีกาของทั้งโจทก์และจำเลย

Advertisement