การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2550
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3004 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามฟ้องโดยได้รับการยกให้จากบิดาโจทก์ จำเลยนำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินส่วนที่โจทก์มีสิทธิครอบครอง โจทก์คัดค้านการรังวัดแต่เจ้าพนักงานที่ดินเห็นว่าที่ดินเป็นของจำเลย จึงออกโฉนดให้จำเลย ขอให้ศาลจังหวัดพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าว
จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยซื้อที่ดินพิพาทในราคาสองแสนห้าหมื่นบาทจากผู้มีชื่อ และได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวตลอดมา โจทก์ไม่ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวตามฟ้อง ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
ศาลจังหวัดพิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลยเสร็จแล้ว คดีอยู่ระหว่างทำคำพิพากษา ศาลจังหวัดเห็นว่าเป็นคดีมีทุนทรัพย์ไม่เกินสามแสนบาทอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแขวง จึงสั่งโอนคดีไปยังศาลแขวง ศาลแขวงพิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลจังหวัดรับฟ้องคดีนี้แล้ว แม้ต่อมาจะปรากฏว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแขวง ศาลจังหวัดดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาต่อไปได้ และศาลจังหวัดได้สืบพยานโจทก์จำเลยเสร็จสิ้นและนัดฟังคำพิพากษาแล้ว ศาลแขวงจึงไม่มีอำนาจทำคำพิพากษาคดีนี้ได้ จึงมีคำสั่งไม่รับโอนคดีจากศาลจังหวัด
ให้ท่านวินิจฉัยว่า ความเห็นของศาลทั้งสองนั้น ศาลใดวินิจฉัยถูกต้องตามกฎหมาย
ธงคำตอบ
มาตรา 16 วรรคสาม ในกรณีที่มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัด และคดีนั้นเกิดขึ้นในเขตของศาลแขวงและอยู่ในอำนาจของศาลแขวง ให้ศาลจังหวัดนั้นมีคำสั่งโอนคดีไปยังศาลแขวงที่มีเขตอำนาจ
มาตรา 17 ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอำนาจทำการไต่สวน หรือมีคำสั่งใดๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง
มาตรา 18 ศาลจังหวัดมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญาทั้งปวงที่มิได้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมอื่น
วินิจฉัย
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า คำสั่งของศาลแขวงที่ไม่รับโอนคดีนี้จากศาลจังหวัดชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ เห็นว่า คำฟ้องของโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยนำเจ้าพนักงานที่ดินรุกล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทซึ่งโจทก์มีสิทธิครอบครองโดยไม่มีสิทธิ จำเลยให้การโต้แย้งสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทว่าเป็นของจำเลย จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ เมื่อศาลจังหวัดเห็นว่าราคาที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทุนทรัพย์ของคดีไม่เกิน 3 แสนบาท คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษา แม้ศาลจังหวัดจะได้ดำเนินการสืบพยานโจทก์และจำเลยจนเสร็จและนัดฟังคำพิพากษาแล้ว แต่ตราบใดที่ศาลจังหวัดยังมิได้มีคำพิพากษา ศาลจังหวัดชอบที่จะมีคำสั่งโอนคดีไปยังศาลแขวงตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคท้าย
การที่ศาลแขวงมีความเห็นว่า ศาลจังหวัดรับฟ้องคดีนี้ไว้พิจารณาแล้ว แม้ต่อมาจะปรากฏว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแขวง ศาลจังหวัดก็ยังมีอำนาจดำเนินกระบวนการพิจารณาพิพากษาคดีต่อไปได้ ทั้งศาลจังหวัดได้สืบพยานโจทก์จำเลยจนเสร็จสิ้นและนัดฟังคำพิพากษาแล้ว ศาลแขวงจึงไม่มีอำนาจทำคำพิพากษาคดีนี้ได้นั้น เห็นว่า แม้ศาลจังหวัดจะได้รับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาและดำเนินการสืบพยานโจทก์จำเลยจนเสร็จและอยู่ระหว่างนัดฟังคำพิพากษาก็ตาม แต่เมื่อปรากฏภายหลังว่าเป้นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 วรรคแรก (4) ไม่ใช่คดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดเสียแล้ว ศาลจังหวัดย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเรื่องนี้ได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 18 ทั้งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดให้อำนาจศาลจังหวัดที่จะใช้ดุลพินิจรับคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษาต่อไปดังที่ศาลแขวงมีความเห็น ดังนั้นการที่ศาลจังหวัดมีอำนาจโอนคดีเรื่องนี้ไปยังศาลแขวงซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้นั้น เป็นการชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคท้ายแล้ว และเมื่อศาลแขวงจะเป็นผู้พิจารณาคดีนี้ต่อไป ผู้พิพากษาศาลแขวงจึงมีอำนาจทำคำพิพากษาคดีนี้ได้ ที่ศาลแขวงมีความเห็นว่าผู้พิพากษาศาลแขวงไม่มีอำนาจพิจารราพิพากษาคดีนี้และมีคำสั่งไม่รับโอนคดีนั้นเป็นการไม่ชอบ (ฎ.1966/2550)
สรุป ความเห็นของศาลจังหวัดถูกต้อง ศาลแขวงมีอำนาจทำคำพิพากษาคดีนี้ได้
ข้อ 2 ในศาลจังหวัดมีนายเอกเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาล นายโทผู้พิพากษาอาวุโส นายตรี นายจัตวา นายขาว นายเขียว เป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดและนายแดงเป็นผู้พิพากษาประจำศาล นายเอกได้จ่ายสำนวนคดีอาญาให้นายจัตวาและนายแดงเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษา องค์คณะทั้งสองได้เริ่มสืบพยานโจทก์ไปได้สองปาก นายจัตวาได้ย้ายไปรับราชการยังศาลจังหวัดอื่น นายเอกเห็นว่า เมื่อนายจัตวาได้ย้ายไปแล้วเกรงจะเป็นการกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรม จึงได้โอนสำนวนคดีดังกล่าวไปให้นายเขียวและนายขาวเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาต่อไป
ท่านเห็นว่า กากระทำของนายเอกชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 33 วรรคแรก วรรคสองและวรรคสาม การเรียกคืนสำนวนคดีหรือการโอนสำนวนคดี ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบขององค์คณะผู้พิพากษาใด ประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล จะกระทำได้ต่อเมื่อเป็นกรณีที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาหรือพิพากษาอรรถคดีของศาลนั้น และรองประธานศาลฎีกา รองประธานศาลอุทธรณ์รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาในศาลจังหวัดหรือศาลแขวงที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้น แล้วแต่กรณีที่มิได้เป็นองค์คณะในสำนวนคดีดังกล่าวได้เสนอความเห็นให้กระทำได้
วินิจฉัย
เมื่อหัวหน้าผู้รับผิดชอบของศาล จ่ายสำนวนคดีให้แก่องค์คณะผู้พิพากษาในศาลไปแล้ว ก็ต้องให้องค์คณะดังกล่าวนั้นพิจารณาไปจนเสร็จสำนวน จะเรียกคืนสำนวนคดีหรือโอนสำนวนจากองค์คณะผู้พิพากษาผู้รับผิดชอบสำนวนคดีนั้นไปให้องค์คณะผู้พิพากษาอื่นไม่ได้ เว้นแต่
1 เป็นกรณีที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรม ในการพิจารณาหรือพิพากษาอรรถคดีของศาลนั้น และ
2 รองประธานศาลฎีกา รองประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลจังหวัด ซึ่งมิได้เป็นองค์คณะในคดีนั้นเสนอความเห็นให้เรียกคืนสำนวนคดีนั้น หรือให้โอนสำนวนคดีนั้นไปให้องค์คณะผู้พิพากษาอื่น
นายเอกเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดซึ่งเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบของศาลได้จ่ายสำนวนคดีให้แก่นายจัตวาและนายแดงเป็นองค์คณะผู้พิพากษา เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่านายจัตวาได้ย้ายไปรับราชการที่ศาลจังหวัดอื่น ทำให้องค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษามีจำนวนไม่ครบ 2 คน ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 เมื่อได้เริ่มสืบพยานโจทก์ไปได้ 2 ปากแล้ว จึงถือว่าเป็นกรณีที่อาจจะเป็นการกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรม ในกรณีนี้เป็นศาลจังหวัด จึงต้องให้ผู้พิพากษาศาลจังหวัดที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้น ที่มิได้เป็นองค์คณะในสำนวนคดีดังกล่าวได้เสนอความเห็นให้กระทำได้
ดังนี้เมื่อนายมนตรีเป็นผู้พิพากษาศาลจังหวัดที่มีอาวุโสสูงสุด ซึ่งมิได้เป็นองค์คณะในสำนวนคดีดังกล่าว มิได้เสนอความเห็นให้โอนสำนวนคดี การที่นายเอกโอนสำนวนคดีดังกล่าวไปให้นายเขียวและนายขาวเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาต่อไป จึงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ตามมาตรา 33 วรรคแรก (นายโทผู้พิพากษาอาวุโส ไม่มีอำนาจเสนอความเห็น ตามมาตรา 33 วรรคสาม)
สรุป การกระทำของนายเอกผู้พิพากษาหัวหน้าศาลไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
ข้อ 3 นายเก่งเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษนายโกงเป็นจำเลยต่อศาลอาญาในข้อหาออกเช็คไม่มีเงิน ศาลอาญาไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งว่าคดีมีมูลให้ประทับฟ้อง มีหมายเรียกจำเลยมาพิจารณาและสืบพยานโจทก์จำเลยเสร็จแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่าจำเลยออกเช็คที่จังหวัดราชบุรี ธนาคารที่ปฏิเสธการจ่ายเงินก็ตั้งอยู่ที่จังหวัดราชบุรี ความผิดเกิดขึ้นในเขตจังหวัดราชบุรี โจทก์ชอบที่จะฟ้องต่อศาลนั้น จึงยกฟ้อง ดังนี้คำพิพากษาศาลอาญาชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 16 วรรคสาม ในกรณีที่มีการยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งหรือศาลอาญา และคดีนั้นเกิดขึ้นนอกเขตของศาลแพ่งหรือศาลอาญาแล้วแต่กรณี อาจใช้ดุลพินิจยอมรับไว้พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโอนคดีไปยังศาลยุติธรรมอื่นที่มีเขตอำนาจ
วินิจฉัย
หลักเกณฑ์ในการใช้ดุลพินิจรับหรือไม่รับคดีที่เกิดขึ้นนอกเขตศาลแพ่งและศาลอาญาตามมาตรา 16 วรรคสาม ประกอบด้วย
1 ได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งหรือศาลอาญา
2 คดีนั้นเกิดขึ้นนอกเขตของศาลแพ่งหรือศาลอาญา (ไม่หมายความรวมถึงคดีที่เกิดนอกราชอาณาจักรไทย)
3 ศาลแพ่งหรือศาลอาญาอาจใช้ดุลพินิจยอมรับไว้พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโอนคดีไปยังศาลยุติธรรมอื่นที่มีเขตอำนาจ
นายเก่งยื่นฟ้องนายโกงในข้อหาออกเช็คไม่มีเงินต่อศาลอาญา ซึ่งความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ นั้นเกิดขึ้นเมื่อธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค สถานที่ตั้งของธนาคารที่ปฏิเสธการจ่ายเงิน จึงเป็นสถานที่ที่ความผิดเกิดขึ้น คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลจังหวัดราชบุรี (ฎ.1229/2519 (ประชุมใหญ่)) เป็นกรณีที่คดีเกิดขึ้นนอกเขตของศาลแพ่งหรือศาลอาญา
แต่เมื่อศาลอาญาได้ประทับฟ้องในคดี ถือเป็นการใช้ดุลพินิจยอมรับคดีที่เกิดนอกเขตศาลไว้พิจารณาพิพากษาแล้ว ศาลอาญาจะพิพากษายกฟ้อง โดยอ้างว่าเกิดนอกเขตอำนาจศาล หรือสั่งจำหน่ายคดีหรือสั่งเพิกถอนคำสั่งที่รับฟ้องเป็นไม่รับฟ้อง หรือจะสั่งหรือพิพากษาให้โจทก์นำคดีไปยื่นฟ้องต่อศาลอื่นที่มีเขตอำนาจไม่ได้ (ฎ.2019/2528) คำพิพากษาศาลอาญาจึงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคสาม
สรุป คำพิพากษาศาลอาญาไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม