การสอบไล่ภาค  2  ปีการศึกษา  2549

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW3004 (LA 304),(LW 305) พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายสมเกียรติผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดมีนบุรี  ได้จ่ายสำนวนคดีให้นายทรงศักดิ์ผู้พิพากษาศาลจังหวัดมีนบุรี  ซึ่งสำนวนคดีดังกล่าวโจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้ยืมสร้อยทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองฝังเพชรของโจทก์ไป  แล้วไม่ยอมคืน  โจทก์ได้ทวงถามหลายครั้งแต่จำเลยบ่ายเบี่ยง  จึงฟ้องขอให้ศาลบังคับให้โจทก์คืนทรัพย์ดังกล่าว  หรือชดใช้ราคาสามแสนบาทแก่โจทก์  ระหว่างการพิจารณาคดีข้อเท็จจริงได้ความว่า  สร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองฝังเพชรมีราคาสี่แสนบาท  นายสมเกียรติจึงให้นายยิ่งยศผู้พิพากษาประจำศาลเป็นองค์คณะร่วมกับนายทรงศักดิ์  นายทรงศักดิ์และนายยิ่งยศได้ร่วมกันพิจารณาและทำคำพิพากษาให้จำเลยคืนสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองฝังเพชร  หรือชดใช้ราคาสี่แสนบาทแก่โจทก์

ท่านเห็นว่า  การกระทำข้างต้นชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่  (ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดมีนบุรี  ไม่มีศาลแขวง)

ธงคำตอบ

มาตรา  25  ในศาลชั้นต้น  ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น  ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง  ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพากษาหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท  ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

มาตรา  26  ภายใต้บังคับมาตรา  25  ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น  นอกจากศาลแขวงและศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น  ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนและต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจำศาลเกินหนึ่งคน  จึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งหรือคดีอาญาทั้งปวง

มาตรา  28  ในระหว่างการพิจารณาคดีใด  หากมีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้น  ไม่อาจจะนั่งพิจารณาคดีต่อไป  ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้นั่งพิจารณาคดีนั้นแทนต่อไปได้

(3)  ในศาลชั้นต้น  ได้แก่  อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น  อธิบดีผู้พิพากษาภาค  ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลหรือรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นของศาลนั้นซึ่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นอธิบดีผู้พิพากษาภาค  หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแล้วแต่กรณีมอบหมาย

มาตรา  31  เหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้างล่วงได้ตามมาตรา  28  และมาตรา  29  นอกจากที่กำหนดไว้ในมาตรา  30  แล้วให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย

(4) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวพิจารณาคดีแพ่งตามมาตรา  25(4)  ไปแล้ว  ต่อมาปรากฏว่าราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องเกินกว่าอำนาจพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียว

วินิจฉัย

โดยหลักแล้ว  ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น  นอกจากศาลแขวงตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  กำหนดว่า  ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย  2  คน  และต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจำศาลเกิน  1  คน  เป็นองค์คณะ  เว้นแต่กรณีจะต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา  25  ที่ผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้เอง

กรณีตามอุทาหรณ์  ศาลจังหวัดมีนบุรี  โดยนายทรงศักดิ์ผู้พิพากษาคนเดียว  มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งที่ฟ้องขอให้บังคับให้โจทก์คืนสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองฝังเพชรได้  ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  25(4)  เพราะราคาทรัพย์สินที่พิพาทไม่เกิน  3  แสนบาทอยู่ในอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียว

เมื่อนายทรงศักดิ์ผู้พิพากษาคนเดียวพิจารณาคดีแพ่ง  ตามมาตรา  25(4)  ไปแล้ว  ต่อมาปรากฏว่าราคาสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองที่ฟ้องเกินกว่า  3  แสนบาท  อันเกินกว่าอำนาจพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียว  กรณีจึงเป็นเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา  31(4)  ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างการพิจารณาคดีตามบทบัญญัติมาตรา  28(3)  จึงกำหนดให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเป็นองค์คณะร่วมพิจารณาพิพากษา  หรือจะมอบหมายให้ผู้พิพากษาในศาลนั้นนั่งพิจารณาคดีนั้นแทนต่อไปได้  ดังนั้นการที่นายสมเกียรติผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดมีนบุรีให้นายยิ่งยศ  ผู้พิพากษาประจำศาลเป็นองค์คณะร่วมกับนายทรงศักดิ์  และทั้งสองได้ร่วมกันพิจารณาและทำคำพิพากษาให้จำเลยคืนสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองฝังเพชร  หรือชดใช้ราคา  4  แสนบาทแก่โจทก์  จึงชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

สรุป  การกระทำของนายสมเกียรติผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

 

ข้อ  2   โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งให้ใช้ราคาทรัพย์สินเป็นจำนวนเงินสองแสนห้าหมื่นบาท  จำเลยต่อสู้ว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง  ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง  ระหว่างพิจารณาคดีปรากฏว่าทรัพย์สินที่พิพาทมีราคาที่แท้จริงหนึ่งล้านบาท  ซึ่งคู่ความและศาลไม่ทราบมาก่อน  ศาลที่พิจารณาคดีจะต้องดำเนินคดีอย่างไรต่อไปถ้า

(ก)  คดีนี้โจทก์นำไปฟ้องยังศาลจังหวัดโดยคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดและผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเห็นว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้น  จึงจ่ายสำนวนให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งพิจารณาพิพากษา

(ข)  โจทก์เห็นว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวง  จึงนำคดีไปฟ้องยังศาลแขวง  ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงจ่ายสำนวนให้ผู้พิพากษาศาลแขวงคนหนึ่งพิจารณาพิพากษา

ธงคำตอบ

มาตรา  25  ในศาลชั้นต้น  ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น  ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง  ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพากษาหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท  ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

มาตรา  26  ภายใต้บังคับมาตรา  25  ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น  นอกจากศาลแขวงและศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น  ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนและต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจำศาลเกินหนึ่งคน  จึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งหรือคดีอาญาทั้งปวง

มาตรา  28  ในระหว่างการพิจารณาคดีใด  หากมีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้น  ไม่อาจจะนั่งพิจารณาคดีต่อไป  ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้นั่งพิจารณาคดีนั้นแทนต่อไปได้

(3)  ในศาลชั้นต้น  ได้แก่  อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น  อธิบดีผู้พิพากษาภาค  ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลหรือรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นของศาลนั้นซึ่งอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นอธิบดีผู้พิพากษาภาค  หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแล้วแต่กรณีมอบหมาย

มาตรา  31  เหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้างล่วงได้ตามมาตรา  28  และมาตรา  29  นอกจากที่กำหนดไว้ในมาตรา  30  แล้วให้หมายความรวมถึงกรณีดังต่อไปนี้ด้วย

(4) กรณีที่ผู้พิพากษาคนเดียวพิจารณาคดีแพ่งตามมาตรา  25(4)  ไปแล้ว  ต่อมาปรากฏว่าราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องเกินกว่าอำนาจพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียว

วินิจฉัย

ศาลจังหวัดโดยผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจพิจารณาคดีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  25  วรรคแรก  และมีอำนาจพิจารณาคดีได้ทุกตัวบทกฎหมายโดยมีผู้พิพากษาสองคนเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  26  ส่วนศาลแขวงมีผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งซึ่งมีทุนทรัพย์ไม่เกิน  3  แสนบาท  ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา  25  วรรคแรก  (4)

กรณีตามอุทาหรณ์  เป็นกรณีที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นคนเดียวพิจารณาคดีแพ่งตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  25  วรรคแรก  (4)  ในระหว่างพิจารณาปรากฏว่าราคาทรัพย์สินที่พิพาทเกินกว่าอำนาจพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียว  ถือว่าเป็นเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา  31(4)  ดังนี้

(ก)  ถ้าเป็นศาลจังหวัด  ต้องให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค  หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล  หรือผู้ทำการแทนนั่งร่วมเป็นองค์คณะสองคนพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป  หรือจะมอบหมายให้ผู้พิพากษาในศาลนั้นนั่งร่วมเป็นองค์คณะก็ได้  ตามมาตรา  28(3)

(ข)  ถ้าเป็นศาลแขวง  ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนจะต้องสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ  จะให้ผู้พิพากษาคนอื่นมานั่งร่วมเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีต่อไปไม่ได้  เพราะจะเป็นการเพิ่มอำนาจให้ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกินอำนาจตามที่พระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  25  วรรคแรก  (4)  กำหนดไว้

 

ข้อ  3  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายยอดแย่ต่อศาลจังหวัด  ในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  288  ซึ่งบัญญัติไว้ว่า  ผู้ใดฆ่าผู้อื่น  ต้องระวางโทษประหารชีวิต  จำคุกตลอดชีวิต  หรือจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว  พิพากษาลงโทษนายยอดแย่ฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา  ให้จำคุกตลอดชีวิต  โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษประหารชีวิต  นายยอดแย่ไม่อุทธรณ์  ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น  โจทก์ฎีกาขอให้ศาลฎีกาลงโทษประหารชีวิต  นายยอดแย่แก้ฎีกาว่าคดีนี้ยุติแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  245  โจทก์จะฎีกาอีกมิได้  ดังนี้  คำแก้ฎีกาของนายยอดแย่ฟังขึ้นหรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  22  ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจพิจารณาพิพากษาบรรดาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น  ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการอุทธรณ์  และว่าด้วยเขตอำนาจศาลและมีอำนาจดังต่อไปนี้

(1) พิพากษายืนตาม  แก้ไข  กลับ  หรอยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพาทลงโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต  ในเมื่อคดีนั้นได้ส่งขึ้นมายังศาลอุทธรณ์  และศาลอุทธรณ์ภาคตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  245  วรรคสอง  ศาลชั้นต้นมีหน้าที่ต้องส่งสำนวนคดีที่พิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิต  หรือจำคุกตลอดชีวิต  ไปยังศาลอุทธรณ์ในเมื่อไม่มีการอุทธรณ์คำพิพากษานั้น  และคำพิพากษาเช่นว่านี้จะยังไม่ถึงที่สุด  เว้นแต่ศาลอุทธรณ์จะได้พิพากษายืน

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติมาตรา  22  ของพระธรรมนูญศาลยุติธรรมดังกล่าว  จะเห็นว่าโดยหลักการแล้ว  ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่คู่ความอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นมาเท่านั้น  ดังนั้นหากคู่ความมิได้อุทธรณ์  คดีย่อมยุติเสร็จเด็ดขาดไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น  แต่ความในมาตรา  22(1)  ได้บัญญัติเป็นข้อยกเว้นกำหนดให้ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจพิพากษายืนตาม  แก้ไข  กลับ  หรือยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาลงโทษประหารชีวิต  หรือจำคุกตลอดชีวิต  ในเมื่อคดีได้ส่งขึ้นมายังศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  245  วรรคสอง  คือ  เมื่อโจทก์และจำเลยไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษานั้น  และพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว  ในกรณีนี้ถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น  คดีก็เป็นอันยุติ  จะฎีกาอีกต่อไปมิได้

กรณีตามอุทาหรณ์  ไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  245  เพราะโจทก์อุทธรณ์ขอให้เพิ่มโทษจำเลย  กรณีจึงต้องเป็นไปตามหลักทั่วไป  เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น  โจทก์จึงสามารถที่จะฎีกาขอให้ศาลฎีกาเพิ่มโทษจำเลยให้หนักขึ้นได้  (เทียบ  ฎ.1591/2529)

สรุป  คำแก้ฎีกาของนายยอดแย่จึงฟังไม่ขึ้น

Advertisement