การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2547
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3004 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 นายสมคิดได้กู้เงินนายเศรษฐีจำนวนห้าแสนบาทตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 และไม่ยอมชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยคืนให้แก่นายเศรษฐี ต่อมาวันที่ 15 มกราคม 2548 นายเศรษฐีจึงได้ยื่นฟ้องนายสมคิดต่อศาลแพ่งขอให้ชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยที่ค้างชำระจำนวนหกแสนบาท
วันที่ 30 มกราคม 2548 นายสมคิดได้ทำนิติกรรมยกที่ดินแปลงหนึ่งจำนวนสามสิบตารางวาให้แก่นายโชคดี ที่ดินแปลงนี้ราคาสามแสนบาท (ตามราคาประเมินของกรมที่ดิน)
นายเศรษฐีซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้ทราบการทำนิติกรรมดังกล่าว จึงมาฟ้องต่อศาลแพ่งขอให้ศาลเพิกถอนการให้ที่ดินของนายสมคิด เพราะนายสมคิดไม่มีทรัพย์อื่นใด เมื่อยกที่ดินให้แก่นายโชคดีแล้วหากศาลแพ่งพิพากษาให้ตนชนะคดีข้างต้น ตนย่อมเสียเปรียบเพราะไม่อาจบังคับคดีให้ได้เงินที่นายสมคิดเป็นหนี้คืน ศาลแพ่งสั่งไม่รับฟ้องเพราะเห็นว่าที่ดินดังกล่าวมีราคาเพียงสามแสนบาทต้องไปยื่นฟ้องต่อศาลแขวงจึงจะถูกต้อง
ท่านเห็นว่า การสั่งไม่รับฟ้องของศาลแพ่งชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 17 ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอำนาจทำการไต่สวน หรือมีคำสั่งใดๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง
มาตรา 18 ศาลจังหวัดมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญาทั้งปวงที่มิได้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมอื่น
มาตรา 25 ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น ดังต่อไปนี้
(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพากษาหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
วินิจฉัย
เป็นเรื่องที่นายสมคิดลูกหนี้ได้ทำนิติกรรมยกที่ดินแปลงหนึ่งให้แก่นายโชคดี ซึ่งนายสมคิดไม่มีทรัพย์สินใดอีก ถือได้ว่าเป็นนิติกรรมอันเป็นการฉ้อฉลเจ้าหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237
การที่นายเศรษฐีได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินของนายสมคิดเป็นเพียงคดีที่ฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลเท่านั้น มิได้เป็นการเรียกร้องเอาทรัพย์มาเป็นของนายเศรษฐี หรือนายเศรษฐีได้รับประโยชน์แต่อย่างใด เป็นการเรียกร้องเอาทรัพย์พิพาทกลับมาเป็นของลูกหนี้ ฟ้องเช่นนี้เป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ (ฎ.919/2508 (ประชุมใหญ่))
เมื่อเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ศาลแขวงจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25(4) ประกอบมาตรา 17 คดีจึงอยู่ในอำนาจของศาลจังหวัด ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 18 คำสั่งของศาลแพ่งที่ไม่รับคดีนี้ไว้พิจารณาจึงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
สรุป การสั่งไม่รับฟ้องของศาลแพ่งไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
ข้อ 2 ก และ ข ไปทัศนาจรที่ประเทศสิงคโปร์ ในขณะที่อยู่ในประเทศสิงคโปร์ ก เกิดทะเลาะกับ ข ข ทำร้ายร่างกาย ก บาดเจ็บสาหัสเมื่อ ก และ ข กลับเข้ามาในประเทศไทย ก ได้นำคดีไปฟ้อง ข ต่อศาลจังหวัดสงขลา ศาลจังหวัดสงขลารับประทับฟ้องไว้แล้ว ก และ ข ได้เดินทางกลับกรุงเทพมหานคร ต่อมา ก เห็นว่าการเดินทางไปดำเนินคดีกับ ข ที่ศาลจังหวัดสงขลาเป็นการยุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายมาก จึงนำคดีมาฟ้องที่ศาลอาญาอีก ศาลอาญารับประทับฟ้อง ข ให้การปฏิเสธและต่อสู้ว่าฟ้องของ ก เป็นฟ้องซ้ำ เพราะ ก ฟ้อง ข ไว้ที่ศาลจังหวัดสงขลาและศาลจังหวัดสงขลารับประทับฟ้องไว้แล้ว ขอให้ศาลยกฟ้อง
ให้วินิจฉัยว่า การฟ้องคดีของ ก และการต่อสู้คดีของ ข ถูกต้องหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 15 ห้ามมิให้ศาลยุติธรรมศาลใดศาลหนึ่งรับคดี ซึ่งศาลยุติธรรมอื่นได้สั่งรับประทับฟ้องโดยชอบแล้วไว้พิจารณาพิพากษา เว้นแต่คดีนั้นจะได้โอนมาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 22 เมื่อความผิดเกิดขึ้น อ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลใด ให้ชำระที่ศาลนั้น แต่ถ้า
(2) เมื่อความผิดเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรไทย ให้ชำระคดีนั้นที่ศาลอาญา ถ้าการสอบสวนได้กระทำลงในท้องที่หนึ่งซึ่งอยู่ในเขตของศาลใด ให้ชำระที่ศาลนั้นได้ด้วย
วินิจฉัย
การฟ้องคดีอาญาซึ่งมูลคดีเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรไทย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 22(2) บังคับให้นำคดีไปฟ้องที่ศาลอาญา เว้นแต่โจทก์หรือผู้เสียหายจะได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในท้องที่ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลใด ให้ศาลนั้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ด้วยเมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ก ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในท้องที่ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลจังหวัดสงขลาและไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้กระทำการสอบสวนแต่อย่างใด การรับประทับฟ้องคดีของศาลจังหวัดสงขลาจึงเป็นการมิชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 22(2)
สำหรับข้อต่อสู้ของ ข ที่ว่าฟ้องของ ก เป็นฟ้องซ้ำนั้นฟังขึ้นหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาบทบัญญัติของพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 15 ที่ว่า ห้ามมิให้ศาลใดศาลหนึ่งรับคดีซึ่งศาลอื่นรับประทับฟ้องโดยชอบแล้วไว้พิจารณาพิพากษา จะเห็นว่าเป็นการห้ามเฉพาะเมื่อศาลอื่นประทับฟ้องคดีไว้โดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น การฟ้องคดีเรื่องเดียวกันอีกจะเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตามกฎหมาย แต่หากศาลรับประทับฟ้องไว้โดยไม่ชอบ โจทก์ก็อาจนำคดีไปฟ้องใหม่ยังศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้นได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 15 นี้
ดังนั้นเมื่อศาลจังหวัดสงขลารับประทับฟ้องคดีไว้โดยไม่ชอบ การที่ ก นำคดีเรื่องเดียวกันมาฟ้องต่อศาลอาญาอีก จึงสามารถกระทำได้ศาลอาญามีอำนาจรับประทับฟ้องได้ ไม่ต้องห้ามตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 15 และไม่เป็นฟ้องซ้อน (เทียบ ฎ.122/2547)
ส่วนจะเป็นฟ้องซ้ำหรือไม่ เห็นว่า การจะเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามกฎหมาย หมายถึง คดีเรื่องเดียวกันนั้นศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว แต่กรณีนี้ศาลจังหวัดสงขลายังมิได้พิจารณาพิพากษาคดี การฟ้องของ ก จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
สรุป การฟ้องคดีของ ก ต่อศาลจังหวัดสงขลาไม่ถูกต้อง และการต่อสู้คดีของ ข ก็ไม่ถูกต้องเช่นกัน
ข้อ 3 นายดีประธานศาลฎีกา ได้จ่ายสำนวนคดีอาญาเรื่องหนึ่งให้นายหมื่นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา นายแสนและนายล้านผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดี
ในตอนบ่ายวันนั้นเอง นายหมื่นประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย นายแสนและนายล้านจึงนำเรื่องไปแจ้งต่อนายดีประธานศาลฎีกา ปรากฏว่านายดีได้ลาพักผ่อนไปต่างประเทศพอดี นายเก่งรองประธานศาลฎีกาคนที่หนึ่งจึงสั่งให้นายสิบ ผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็นองค์คณะแทนนายหมื่นร่วมกับนายแสนและนายล้านทำการพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป
การกระทำของนายเก่งรองประธานศาลฎีกาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเหตุใด
ธงคำตอบ
มาตรา 8 วรรคสอง เมื่อตำแหน่งประธานศาลอุทธรณ์ภาค ว่างลงหรือเมื่อผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค เป็นผู้ทำการแทน ถ้ามีรองประธานศาลอุทธรณ์ภาคหลายคน ให้รองประธานศาลอุทธรณ์ภาคที่มีอาวุโสสูงสุดเป็นผู้ทำการแทน ถ้าผู้ที่มีอาวุโสสูงสุดไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้ผู้ที่มีอาวุโสถัดลงมาตามลำดับเป็นผู้ทำการแทน
มาตรา 28 ในระหว่างการพิจารณาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้น ไม่อาจจะนั่งพิจารณาคดีต่อไป ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้นั่งพิจารณาคดีนั้นแทนต่อไปได้
(1) ในศาลฎีกา ได้แก่ ประธานศาลฎีกา หรือรองประธานศาลฎีกา หรือผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งประธานศาลฎีกามอบหมาย
ให้ผู้ทำการแทนในตำแหน่งต่างๆ ตามมาตรา 8 มาตรา 9 และมาตรา 13 มีอำนาจตาม (1)(2)และ (3) ด้วย
มาตรา 30 เหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 หมายถึง กรณีที่ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีนั้นพ้นจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่ หรือถูกคัดค้านและถอนตัวไป หรือไม่อาจปฏิบัติราชการจนไม่สามารถนั่งพิจารณา หรือคำพิพากษาในคดีนั้นได้
วินิจฉัย
นายดี ประธานศาลฎีกาจ่ายสำนวนคดีให้นายหมื่น นายแสนและนายล้าน เป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีอาญาเรื่องหนึ่ง ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 27 วรรคแรก ที่บังคับว่าในการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกา ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย 3 คน จึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า การที่นายเก่ง รองประธานศาลฎีกาคนที่หนึ่งสั่งให้นายสิบเป็นองค์คณะแทนนายหมื่น ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ เห็นว่า ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 28 หมายถึงในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้เกิดขึ้นแก่ผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะพิจารณาคดี เช่น เจ็บ ป่วย ตาย หรือโอนย้ายไปรับราชการในตำแหน่งอื่น เป็นต้น ทำให้ขาดองค์คณะพิจารณาคดี บทบัญญัติมาตรา 28(1) จึงกำหนดให้ผู้พิพากษาเหล่านั้นมีอำนาจนั่งพิจารณาคดีแทนต่อไปได้
การที่นายหมื่นประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย ถือเป็นเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ตามมาตรา 30 ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างการพิจารณาคดี กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 28(1) ที่ให้ประธานศาลฎีกาเป็นองค์คณะแทน หรือมอบหมายให้รองประธานศาลฎีกาหรือผู้พิพากษาในศาลฎีกาเป็นองค์คณะแทนก็ได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายดี ประธานศาลฎีกาลาพักผ่อนไปต่างประเทศ ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ต้องให้รองประธานศาลฎีกาที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลฎีกาเป็นผู้ทำการแทน ตามมาตรา 8 วรรคสอง นายเก่งซึ่งเป็นรองประธานศาลฎีกาคนที่หนึ่ง เป็นรองประธานศาลฎีกาที่มีอาวุโสสูงสุด จึงต้องเป็นผู้ทำการแทนประธานศาลฎีกา
ดังนั้นการที่นายเก่ง ผู้ทำการแทนประธานศาลฎีกาสั่งให้นายสิบ ผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็นองค์คณะแทนนายหมื่น ย่อมสามารถกระทำได้ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 28 ซึ่งกำหนดให้ผู้ทำการแทนมีอำนาจตามมาตรา 28(1) ในการมอบหมายให้ผู้พิพากษาในศาลฎีกาเป็นองค์คณะแทนได้
สรุป การกระทำของนายเก่ง รองประธานศาลฎีกาชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม