การสอบไล่ภาค 2 ปีการศึกษา 2546
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3004 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 ศาลจังหวัดมีนบุรีได้พิจารณาคดีอาญาความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 แล้วพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิต พ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้วคู่ความมิได้อุทธรณ์ ศาลจังหวัดมีนบุรีจึงส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ได้รับสำนวนคดีดังกล่าวแล้วจึงนำมาดำเนินการพิจารณาพิพากษา องค์คณะของศาลอุทธรณ์เห็นว่าการกระทำของจำเลยมีพฤติการณ์ทารุณโหดร้าย จึงร่วมกันพิพากษาแก้ไขคำพิพากษาของศาลจังหวัดมีนบุรีเป็นประหารชีวิต
ท่านเห็นว่าการรับคดีซึ่งคู่ความมิได้อุทธรณ์ และพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว ตลอดจนการแก้ไขคำพิพากษาศาลจังหวัดมีนบุรีของศาลอุทธรณ์ ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 22 ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจพิจารณาพิพากษาบรรดาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการอุทธรณ์ และว่าด้วยเขตอำนาจศาลและมีอำนาจดังต่อไปนี้
(1) พิพากษายืนตาม แก้ไข กลับ หรอยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพาทลงโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ในเมื่อคดีนั้นได้ส่งขึ้นมายังศาลอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาคตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 คดีที่จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาที่ให้ลงโทษ ห้ามมิให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย เว้นแต่โจทก์จะได้อุทธรณ์ในทำนองนั้น
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง ศาลชั้นต้นมีหน้าที่ต้องส่งสำนวนคดีที่พิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต ไปยังศาลอุทธรณ์ในเมื่อไม่มีการอุทธรณ์คำพิพากษานั้น และคำพิพากษาเช่นว่านี้จะยังไม่ถึงที่สุด เว้นแต่ศาลอุทธรณ์จะได้พิพากษายืน
วินิจฉัย
ตามบทบัญญัติมาตรา 22 ของพระธรรมนูญศาลยุติธรรมดังกล่าว จะเห็นว่าโดยหลักการแล้ว ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่คู่ความอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นมาเท่านั้น ดังนั้นหากคู่ความมิได้อุทธรณ์ คดีย่อมยุติเสร็จเด็ดขาดไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น แต่ความในมาตรา 22(1) ได้บัญญัติเป็นข้อยกเว้นกำหนดให้ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจพิพากษายืนตาม แก้ไข กลับ หรือยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาลงโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต ในเมื่อคดีได้ส่งขึ้นมายังศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง คือ เมื่อโจทก์และจำเลยไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษานั้น และพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว ในกรณีนี้ถ้าศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คดีก็เป็นอันยุติ จะฎีกาอีกต่อไปมิได้
ดังนั้นเมื่อศาลจังหวัดมีนบุรีพิพากษาลงโทษจำคุกตลอดชีวิต พ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว โจทก์จำเลยไม่อุทธรณ์ ศาลจังหวัดมีนบุรีจึงต้องส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารราความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง การที่ศาลอุทธรณ์ได้รับสำนวนดังกล่าวมาเพื่อพิจารณาพิพากษาจึงชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 22(1)
แต่อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์จะแก้ไขคำพิพากษาของศาลจังหวัดมีนบุรีเพื่อลงโทษจำเลยให้หนักขึ้นไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ทั้งนี้เพราะคดีดังกล่าวโจทก์และจำเลยมิได้อุทธรณ์คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาลงโทษจำเลยให้หนักขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคดีนั้นโจทก์อุทธรณ์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยเท่านั้น
สรุป
การรับคดีของศาลอุทธรณ์ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
การแก้ไขคำพิพากษาโดยศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ข้อ 2 โจทก์ฟ้องเรียกค่าเช่าที่จำเลยค้างชำระจำนวนสองแสนบาท พร้อมทั้งขับไล่จำเลยออกจากอาคารพาณิชย์ที่เช่าต่อศาลจังหวัดสมุทรสงคราม นายนิติผู้พิพากษาหัวหน้าศาลได้จ่ายสำนวนคดีให้แก่ตนเองและนายเริงฤทธิ์ผู้พิพากษาประจำศาลเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษา ในวันสืบพยานโจทก์นัดแรกทนายโจทก์ประสบอุบัติเหตุต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล จึงยื่นคำร้องต่อศาลขอเลื่อนคดีนายเริงฤทธิ์ผู้พิพากษามีคำสั่งอนุญาตให้เลื่อนคดีไป ต่อมาวันนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยครั้งต่อๆไป นายนิติและนายเริงฤทธิ์ได้ออกนั่งพิจารณาคดีจนเสร็จ ในวันที่ 15 มกราคม 2547 และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2547 นายเริงฤทธิ์ประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตายในวันที่ 31 มกราคม 2547 นายนิติจึงให้นายมีเกียรติ ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสรองลงมาจากตนเป็นองค์คณะแทนนายเริงฤทธิ์ นายนิติและนายมีเกียรติจึงร่วมกันทำคำพิพากษาหลังจากนายมีเกียรติได้ตรวจสำนวนคดีแล้วท่านเห็นว่าคำสั่งของนายเริงฤทธิ์ที่อนุญาตเลื่อนคดี การทำคำพิพากษาของนายนิติและนายมีเกียรติชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 25 ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น ดังต่อไปนี้
(1) ไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องหรือคำขอที่ยื่นต่อศาลในคดีทั้งปวง
ผู้พิพากษาประจำศาลไม่มีอำนาจตาม (3) (4) หรือ (5)
มาตรา 29 ในระหว่างการทำคำพิพากษาคดีใด หากมีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ทำให้ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีนั้นไม่อาจจะทำคำพิพากษาในคดีนั้นต่อไปได้ ให้ผู้พิพากษาดังต่อไปนี้มีอำนาจลงลายมือชื่อทำคำพิพากษา และเฉพาะในศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และศาลชั้นต้นมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้ด้วย ทั้งนี้หลังจากได้ตรวจสำนวนคดีนั้นแล้ว
(3) ในศาลชั้นต้น ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น อธิบดีผู้พิพากษาภาค รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล แล้วแต่กรณี
มาตรา 30 เหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ตามมาตรา 28 และมาตรา 29 หมายถึง กรณีที่ผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีนั้นพ้นจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่ หรือถูกคัดค้านและถอนตัวไป หรือไม่อาจปฏิบัติราชการจนไม่สามารถนั่งพิจารณา หรือคำพิพากษาในคดีนั้นได้
วินิจฉัย
ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี หรือมีคำสั่งใดๆหรือทำการไต่สวน ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 วรรคแรก (1) – (5) และสำหรับผู้พิพากษาประจำศาลมีอำนาจตามมาตรา 25 วรรคแรก (1)(2) เท่านั้น ทั้งนี้ตามมาตรา 25 วรรคท้าย
คำร้องขอเลื่อนคดีเป็นคำร้องหรือคำขอที่ยื่นต่อศาล ผู้พิพากษาประจำศาลจึงมีอำนาจไต่สวนและมีคำสั่งให้เลื่อนคดีได้ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 วรรคแรก (1) คำสั่งอนุญาตให้เลื่อนคดีของนายเริงฤทธิ์จึงชอบแล้ว
เมื่อองค์คณะทั้งสองได้นั่งพิจารณาคดีจนเสร็จและนัดฟังคำพิพากษาแล้ว แต่ก่อนจะได้อ่านคำพิพากษา นายเริงฤทธิ์ ผู้พิพากษาประจำศาลซึ่งเป็นองค์คณะประสบอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย จึงถือว่าเป็นเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 30 ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างการทำคำพิพากษาตามมาตรา 29(3) จึงกำหนดให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลมีอำนาจลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาแทน แต่อย่างไรก็ดีเมื่อนายนิติเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาล และเป็นองค์คณะในคดีด้วย จึงไม่อาจลงลายมือชื่อเดียวในสองฐานะได้ กรณีจึงต้องให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคเป็นผู้มีอำนาจทำคำพิพากษา
การที่นายนิติให้นายมีเกียรติ ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสรองลงมาจากตนเป็นองค์คณะแทนนายเริงฤทธิ์จึงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 29(3)
สรุป
คำสั่งของนายเริงฤทธิ์ที่อนุญาตเลื่อนคดี ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
การทำคำพิพากษาของนายนิติและนายมีเกียรติไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
ข้อ 3 ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีค้ายาเสพติดแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยค้ายาเสพติด จึงพิพากษาจำคุกจำเลยตลอดชีวิต อัยการโจทก์และจำเลยไม่อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นจึงส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น พนักงานอัยการโจทก์เห็นว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยเบาไป ควรลงโทษประหารชีวิต ส่วนจำเลยเห็นว่าศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยหนักเกินไป พนักงานอัยการโจทก์และจำเลยจึงฎีกาขึ้นไปยังศาลฎีกา โดยพนักงานอัยการโจทก์ฎีกาขอให้ศาลฎีกาลงโทษประหารชีวิตจำเลย ส่วนจำเลยฎีกาขอให้ศาลลงโทษจำเลยเบากว่าที่ศาลล่างลงโทษ ถ้าท่านเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกา ท่านจะพิจารณาพิพากษาคดีนี้ว่าอย่างไร
ธงคำตอบ
มาตรา 22 ศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคมีอำนาจพิจารณาพิพากษาบรรดาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการอุทธรณ์ และว่าด้วยเขตอำนาจศาลและมีอำนาจดังต่อไปนี้
(1) พิพากษายืนตาม แก้ไข กลับ หรอยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพาทลงโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ในเมื่อคดีนั้นได้ส่งขึ้นมายังศาลอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาคตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 วรรคสอง ศาลชั้นต้นมีหน้าที่ต้องส่งสำนวนคดีที่พิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต ไปยังศาลอุทธรณ์ในเมื่อไม่มีการอุทธรณ์คำพิพากษานั้น และคำพิพากษาเช่นว่านี้จะยังไม่ถึงที่สุด เว้นแต่ศาลอุทธรณ์จะได้พิพากษายืน
วินิจฉัย
ศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิพากษาคดีที่ศาลชั้นต้นส่งขึ้นมาโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 และตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 22(1) เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีเป็นอันยุติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 245 วรรคสอง พนักงานอัยการโจทก์และจำเลยจะฎีกาต่อไปไม่ได้
สรุป ถ้าข้าพเจ้าเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาจะพิพากษายกฎีกาทั้งของโจทก์และจำเลย