การสอบไล่ภาค  1  ปีการศึกษา  2553

ข้อสอบกระบวนวิชา  LAW 3004 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม

Advertisement

คำแนะนำ  ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน  มี  3  ข้อ

ข้อ  1  นายอรรถเป็นโจทย์ฟ้องนายนิติเป็นจำเลยต่อศาลแขวงสงขลา  ขอให้ศาลบังคับจำเลยให้ชำระหนี้เงินกู้ที่จำเลยกู้ยืมไปจากโจทย์  พร้อมทั้งดอกเบี้ยเป็นจำนวนสามแสนบาท  จำเลยให้การปฏิเสธว่ามิได้กู้ยืมเงินไปจากโจทย์  แต่เป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยร่วมกันทำธุรกิจการค้ากัน  ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์  และจำเลยฟ้องแย้งว่าในการทำธุรกิจการค้ากับโจทก์  โจทก์เป็นหนี้จำเลยเป็นเงินสี่แสนบาท  ขอให้ศาลพิพากษาบังคับให้โจทก์ชำระหนี้จำนวนสี่แสนบาทแก่จำเลยประการหนึ่ง

นายดำเป็นโจทก์ฟ้องนายแดงเป็นจำเลยต่อศาลแขวงสงขลาว่า  จำเลยยืมรถตัดฟ่อนข้าวของโจทก์ไปเพื่อตัดฟ่อนข้าวในนาของจำเลย เมื่อตัดฟ่อนข้าวเสร็จแล้วโจทก์ขอคืนรถตัดฟ่อนข้าวของโจทก์จำเลยก็ไม่ยอมคืน  ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยคืนรถตัดฟ่อนข้าวให้แก่โจทก์  หากจำเลยคืนรถตัดฟ่อนข้าวให้แก่โจทก์ไม่ได้  ให้จำเลยใช้ค่ารถตัดฟ่อนข้าวแก่โจทก์เป็นเงินสองแสนเก้าหมื่นบาท  ศาลแขวงพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยคืนรถตัดฟ่อนข้าวให้แก่โจทก์  หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงินสองแสนเก้าหมื่นบาท  หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล  โจทก์ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดรถยนต์คันหนึ่งราคาแปดแสนบาทจากบ้านจำเลย  ปรากฏว่ารถยนต์เป็นของนายเขียวเพื่อนบ้านจำเลย  นายเขียวจึงมายื่นคำร้องขัดทรัพย์ต่อศาลแขวงสงขลาว่ารถยนต์เป็นของตน  ขอให้ศาลปล่อยการยึด  อีกประการหนึ่ง

ศาลแขวงสงขลาจะรับฟ้องแย้งของจำเลยในประการแรก  และจะรับคำร้องขัดทรัพย์ของนายเขียวในประการหลังได้หรือไม่  เพราะเหตุใด

ธงคำตอบ

มาตรา  17  ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี  และมีอำนาจทำการไต่สวน  หรือมีคำสั่งใดๆ  ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจตามที่กำหนดไว้ในมาตรา  24  และมาตรา  25  วรรคหนึ่ง

มาตรา  25  ในศาลชั้นต้น  ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น  ดังต่อไปนี้

(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง  ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพากษาหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท  ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  288  ถ้าบุคคลใดกล่าวอ้างว่าจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้  บุคคลนั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้ปล่อยทรัพย์สินเช่นว่านั้น

วินิจฉัย

ศาลแขวงโดยผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง  ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา  25  วรรคแรก  (4)  ประกอบมาตรา  17  คือ  คดีมีทุนทรัพย์ไม่เกิน  3  แสนบาท

มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยคือ  ประการแรก  ศาลแขวงสงขลาจะรับฟ้องแย้งของจำเลยได้หรือไม่  และประการที่สอง  ศาลแขวงสงขลาจะรับคำร้องขัดทรัพย์ของนายเขียวได้หรือไม่

ประการแรก  กรณีเกี่ยวกับ  การฟ้องแย้ง  นั้น  มีหลักว่า  ถ้าจำเลยได้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีเดิม  (ฟ้องแย้ง)  และจำเลยได้ฟ้องมาในคำให้การของจำเลยตาม  ป.วิ.แพ่ง  มาตรา  177  นั้น  ถือว่าเป็นการฟ้องคดีใหม่  ดังนั้นการคำนวณทุนทรัพย์จึงต้องคำนวณแยกต่างหากจากฟ้องเดิม  และถ้าฟ้องแย้งเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์  หรือมีทุนทรัพย์เกินกว่า  300,000  บาท  ศาลแขวงจะรับฟ้องแย้งไว้พิจารณาไม่ได้

และข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์  การที่นายอรรถเป็นโจทก์ฟ้องนายนิติเป็นจำเลยต่อศาลแขวงสงขลา  ขอให้ศาลบังคับจำเลยให้ชำระหนี้เงินกู้ที่จำเลยกู้ยืมไปจากโจทก์พร้อมดอกเบี้ยเป็นจำนวน  300,000  บาท  นั้นถือว่าเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์หรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน  300,000  บาท  จึงอยู่ในอำนาจของศาลแขวงสงขลาที่จะรับฟ้องคดีดังกล่าวไว้พิจารณาพิพากษาได้  ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  25  วรรคแรก  (4)  ประกอบมาตรา  17

แต่เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธว่ามิได้กู้ยืมเงินจากโจทก์  แต่เป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยร่วมกันทำธุรกิจการค้ากัน  และจำเลยได้ฟ้องแย้งว่าในการทำธุรกิจการค้ากับโจทก์  โจทก์เป็นหนี้จำเลยเป็นเงิน  400,000  บาท  จึงขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์  และให้ศาลพิพากษาบังคับให้โจทก์ชำระหนี้จำนวน  400,000  บาท  แก่จำเลยนั้น  การฟ้องแย้งของจำเลยถือว่าเป็นการฟ้องคดีใหม่  เมื่อคดีฟ้องแย้งเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์เกิน  300,000  บาท  จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลแขวง  ดังนั้นศาลแขวงสงขลาจะรับฟ้องแย้งของจำเลยไว้เพื่อพิจารณาพิพากษาไม่ได้

ประการที่สอง  เกี่ยวกับ  การร้องขัดทรัพย์  นั้น  ตาม  ป.วิ.แพ่ง  มาตรา  288  ได้วางหลักไว้ว่า  ในการฟ้องขัดทรัพย์ต้องร้องยังศาลที่ออกหมายบังคับคดี  ถ้าคดีฟ้องร้องที่ศาลแขวง  ศาลแขวงออกหมายบังคับคดีการร้องขัดทรัพย์ต้องร้องที่ศาลแขวง  โดยไม่ต้องคำนึงถึงราคาของทรัพย์ที่ถูกยึด  แม้ว่าราคาของทรัพย์ที่ถูกยึดจะเกิน  300,000  บาท  ผู้พิพากษาศาลแขวงก็มีอำนาจสั่งยกเลิกการยึดทรัพย์ได้

และกรณีตามอุทาหรณ์  เมื่อศาลแขวงสงขลาได้ออกหมายบังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดรถยนต์คันหนึ่งราคา  800,000  [ท  จากบ้านจำเลย  แต่ปรากฏว่ารถยนต์เป็นของนายเขียว  และนายเขียวได้มายื่นคำร้องขัดทรัพย์ต่อศาลแขวงสงขลาว่ารถยนต์เป็นของตน  ขอให้ศาลปล่อยการยึดนั้น  ดังนี้แม้ทรัพย์ที่ถูกยึดจะมีราคาเกิน  300,000  บาท  ศาลแขวงสงขลาก็มีอำนาจสั่งคำร้องขัดทรัพย์ของนายเขียวได้ตาม  ป.วิ.แพ่ง  มาตรา  288  โดยไม่ถูกจำกัดราคาของทรัพย์  ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  25(4)  ประกอบมาตรา  17

สรุป  ศาลแขวงสงขลาจะรับฟ้องแย้งของจำเลยในประการแรกไม่ได้  แต่จะรับคำร้องขัดทรัพย์ของนายเขียวประการหลังได้

 

ข้อ  2  ในศาลจังหวัดมีนายเอกเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาล  นายโทผู้พิพากษาอาวุโส  นายดำ  นายแดง  นายเขียว  ผู้พิพากษาศาลจังหวัดตามลำดับ  และนายกล้าผู้พิพากษาประจำศาล นายเอกได้จ่ายสำนวนคดีให้นายดำและนายแดงเป็นองค์คณะพิจารณาคดีอาญาเรื่องหนึ่ง ต่อมานายเขียวทราบว่านายแดงเป็นญาติกับฝ่ายจำเลยจึงนำความไปบอกนายเอก  นายเอกเห็นว่าอาจจะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดีนั้น  นายเอกจึงให้นายเขียวทำความเห็นเสนอต่อตนและนายเอกได้เรียกคืนสำนวนคดีดังกล่าว

ท่านเห็นว่าการกระทำของนายเอกชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  33  วรรคแรก  วรรคสองและวรรคสาม  การเรียกคืนสำนวนคดีหรือการโอนสำนวนคดี  ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบขององค์คณะผู้พิพากษาใด  ประธานศาลฎีกา  ประธานศาลอุทธรณ์  ประธานศาลอุทธรณ์ภาค  อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น  หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล จะกระทำได้ต่อเมื่อเป็นกรณีที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาหรือพิพากษาอรรถคดีของศาลนั้น  และรองประธานศาลฎีกา  รองประธานศาลอุทธรณ์รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค  รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น  หรือผู้พิพากษาในศาลจังหวัดหรือศาลแขวงที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้น  แล้วแต่กรณีที่มิได้เป็นองค์คณะในสำนวนคดีดังกล่าวได้เสนอความเห็นให้กระทำได้

ในกรณีที่รองประธานศาลฎีกา  รองประธานศาลอุทธรณ์  รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค  รองอธิบดี  ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น  หรือผู้พิพากษาในศาลจังหวัดหรือศาลแขวง  ที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้น  แล้วแต่กรณี  ไม่อาจปฏิบัติราชการได้หรือได้เข้าเป็นองค์คณะในสำนวนคดีที่เรียกคืนหรือโอนนั้น  ให้รองประธานศาลฎีกา  รองประธานศาลอุทธรณ์  รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค  รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาที่มีอาวุโสถัดลงมาตามลำดับในศาลนั้น  เป็นผู้มีอำนาจในการเสนอความเห็นแทน  ในกรณีที่รองประธานศาลฎีกา  รองประธานศาลอุทธรณ์  รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค  รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น  มีหนึ่งคนหรอมีหลายคนแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ หรือได้เข้าเป็นองค์คณะในสำนวนคดีที่เรียกคืนหรือโอนนั้นทั้งหมด  ให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดของศาลนั้นเป็นผู้มีอำนาจในการเสนอความเห็น

ผู้พิพากษาอาวุโสหรือผู้พิพากษาประจำศาลไม่มีอำนาจในการเสนอความเห็นตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง

วินิจฉัย

ตามบทบัญญัติดังกล่าว  โดยหลักแล้วเมื่อหัวหน้าผู้รับผิดชอบของศาล  จ่ายสำนวนคดีให้แก่องค์คณะผู้พิพากษาในศาลไปแล้ว  ก็ต้องให้องค์คณะดังกล่าวนั้นพิจารณาไปจนเสร็จสำนวน  จะเรียกคืนสำนวนคดีหรือโอนสำนวนจากองค์คณะผู้พิพากษาผู้รับผิดชอบสำนวนคดีนั้นไปให้องค์คณะผู้พิพากษาอื่นไม่ได้  เว้นแต่

1       เป็นกรณีที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรม  ในการพิจารณาหรือพิพากษาอรรถคดีของศาลนั้น  และ

2       ในกรณีของศาลจังหวัด  ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลจังหวัด  ซึ่งมิได้เป็นองค์คณะในคดีนั้นเสนอความเห็นให้เรียกคืนสำนวนคดีนั้น  หรือโอนสำนวนคดีนั้นไปให้องค์คณะผู้พิพากษาอื่น

การที่นายเอกผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัด  ได้จ่ายสำนวนคดีให้นายดำและนายแดงเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีอาญาเรื่องหนึ่ง ดังนี้ถ้านายเอกเห็นว่าในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีขององค์คณะผู้พิพากษาในคดีดังกล่าวอาจกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดีนั้น  จึงให้นายเขียวผู้พิพากษาศาลจังหวัดทำความเห็นเสนอต่อตน  และนายเอกได้เรียกคืนสำนวนคดีดังกล่าว  ดังนั้นประเด็นที่ต้องวินิจฉัยอยู่ที่ว่า  นายเขียวมีอำนาจในการทำความเห็นให้เรียกคืนสำนวนคดีได้หรือไม่

กรณีดังกล่าว  เมื่อพิจารณาจากพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  33  ประกอบกับข้อเท็จจริงตามอุทาหรณ์  เห็นว่า  นายเขียวมีอำนาจในการทำความเห็นให้เรียกคืนสำนวนคดีได้  ทั้งนี้เพราะเมื่อนายดำและนายแดง  ซึ่งเป็นผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลจังหวัดตามลำดับได้เป็นองค์คณะในสำนวนคดีดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้ทำการเสนอความเห็นตามมาตรา  33  วรรคแรกและวรรคสอง  ดังนั้นนายเขียวซึ่งเป็นผู้พิพากษาที่มีอาวุโสถัดลงมาตามลำดับในศาลนั้นจึงมีอำนาจในการเสนอความเห็นแทนตามมาตรา  33  วรรคสอง  ส่วนนายโทซึ่งเป็นผู้พิพากษาอาวุโสและนายกล้าผู้พิพากษาประจำศาลไม่มีอำนาจเสนอความเห็นดังกล่าวตามมาตรา  33  วรรคสาม  ดังนั้นการที่นายเอกได้ให้นายเขียวทำความเห็นเสนอต่อตน  และได้เรียกคืนสำนวนคดีดังกล่าว  จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

สรุป  การกระทำของนายเอกชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

 

 

ข้อ  3  โจทก์ฟ้องจำเลยเรียกค่าเช่าบ้านที่ค้างชำระ  6  เดือนๆละ  50,000  บาท  ต่อศาลแขวงนนทบุรี  ซึ่งมีนายธรรมผู้พิพากษาศาลแขวงเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษา  ต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง  เป็นค้างชำระค่าเช่า  7  เดือนๆละ  50,000  บาท  นายธรรมอนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง  จากนั้นนายธรรมจึงได้ไปปรึกษาผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงนนทบุรี  ซึ่งต่อมาผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงได้มอบหมายให้นายจักรผู้พิพากษาศาลแขวงนนทบุรีอีกคนหนึ่ง  เป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาร่วมกับนายธรรม  เมื่อการพิจารณาคดีเสร็จสิ้นแล้ว  นายธรรมและนายจักรจึงร่วมกันพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้าง  7  เดือน  ตามที่โจทก์ขอ

คำพิพากษาของนายธรรมและนายจักรชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่

ธงคำตอบ

มาตรา  17  ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี  และมีอำนาจทำการไต่สวน  หรือมีคำสั่งใดๆ  ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจตามที่กำหนดไว้ในมาตรา  24  และมาตรา  25  วรรคหนึ่ง

มาตรา  25  ในศาลชั้นต้น  ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น  ดังต่อไปนี้

(4)  พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง  ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพากษาหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท  ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

วินิจฉัย

ตามหลักของพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  ศาลแขวงซึ่งมีผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งซึ่งมีทุนทรัพย์ (ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้อง)  ไม่เกิน  3  แสนบาท  (มาตรา  25(4)  ประกอบมาตรา  17

การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเช่าบ้านที่ค้างชำระ  6  เดือนๆละ  50,000  บาท  รวมเป็นเงิน  300,000  บาท  ต่อศาลแขวงนนทบุรีนั้น  นายธรรมผู้พิพากษาศาลแขวงย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้  เพราะเป็นคดีที่มีทุนทรัพย์หรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน  300,000  บาท  ตามพระธรรมนูญมาตรา  25(4)  ประกอบมาตรา  17

แต่อย่างไรก็ดี  เมื่อโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเป็นค้างค่าเช่า  7  เดือนๆละ  50,000  บาท  รวมเป็นเงิน  350,000  บาท  ซึ่งนายธรรมนูญอนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง  ดังนั้นกรณีดังกล่าวจึงเห็นได้ว่า  คดีนี้เป็นคดีที่มีทุนทรัพย์หรือจำนวนเงินที่ฟ้องเกิน  300,000  บาท  จึงเป็นคดีที่เกินอำนาจของศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้  นายธรรมผู้พิพากษาศาลแขวงนนทบุรีจะต้องมีคำสั่งจำหน่ายคดีโจทก์ออกจากสารบบความและคืนฟ้องให้โจทก์เพื่อให้โจทก์นำคดีไปฟ้องยังศาลที่มีอำนาจต่อไป  การที่นายธรรมได้นำคดีไปปรึกษาผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงนนทบุรี  และผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงนนทบุรีได้มอบหมายให้นายจักรผู้พิพากษาศาลแขวงนนทบุรีอีกคนหนึ่งเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาร่วมกับนายธรรม  และเมื่อการพิจารณาคดีเสร็จสิ้นแล้ว  นายธรรมและนายจักรจึงร่วมกันพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้าง  7  เดือนแก่โจทก์นั้น  คำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรร

สรุป  คำพิพากษาของนายธรรมและนายจักรไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม   

Advertisement