การสอบไล่ภาค 1 ปีการศึกษา 2552
ข้อสอบกระบวนวิชา LAW 3004 พระธรรมนูญศาลยุติธรรม
คำแนะนำ ข้อสอบเป็นอัตนัยล้วน มี 3 ข้อ
ข้อ 1 ศาลจังหวัดราชบุรีและศาลแขวงราชบุรีมีอาณาเขตตลอดจังหวัดราชบุรี โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดราชบุรีขอให้พิพากษาขับไล่จำเลยออกจากที่ดินซึ่งอ้างว่าเป้นของโจทก์ จำเลยให้การต่อสู้ว่าที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ศาลสั่งไต่สวนราคาที่ดินและให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมศาลตามราคาที่ดินที่พิพาท ปรากฏว่าเมื่อไต่สวนแล้วที่ดินพิพาทมีราคาสองแสนเจ็ดหมื่นบาท ศาลจังหวัดราชบุรีเห็นว่าราคาที่ดินพิพาทไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลจังหวัดราชบุรี จึงมีคำสั่งไม่รับฟ้องและสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ให้โจทก์นำคดีไปฟ้องยังศาลที่มีอำนาจ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ว่าศาลจังหวัดราชบุรีสั่งไม่ชอบ ท่านเห็นด้วยกับโจทก์หรือไม่ ให้อธิบาย
ธงคำตอบ
มาตรา 16 วรรคท้าย ในกรณีที่มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัด และคดีนั้นเกิดขึ้นในเขตของศาลแขวงและอยู่ในอำนาจของศาลแขวง ให้ศาลจังหวัดนั้นมีคำสั่งโอนคดีไปยังศาลแขวงที่มีเขตอำนาจ
มาตรา 17 ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอำนาจทำการไต่สวน หรือมีคำสั่งใดๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 วรรคหนึ่ง
มาตรา 25 ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น ดังต่อไปนี้
(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพากษาหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
วินิจฉัย
ศาลแขวงโดยผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งมีราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน 3 แสนบาท ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25(4) ประกอบมาตรา 17
เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องต่อศาลจังหวัดขอให้พิพากษาขับไล่จำเลยออกจากที่ดิน โดยหลักแล้วคำฟ้องเช่นนี้ไม่ถือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อจำเลยให้การต่อสู้ว่าที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย คดีจึงเป็นการโต้เถียงเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทว่าเป็นของโจทก์หรือจำเลย ส่งผลให้คดีนี้เป็นคดีมีทุนทรัพย์
เมื่อกลายเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ก็ต้องมีการตีราคาที่ดินพิพาท ปรากฏว่าเมื่อไต่สวนแล้วที่ดินพิพาทมีราคาสองแสนเจ็ดหมื่นบาท ถือว่าทุนทรัพย์ไม่เกินสามแสนบาท คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25(4) ประกอบมาตรา 17
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยจึงมีว่า การที่ศาลจังหวัดมีคำสั่งไม่รับฟ้องและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ให้โจทก์นำคดีไปฟ้องยังศาลที่มีเขตอำนาจนั้นชอบด้วยกฎหมายได้หรือไม่ เห็นว่า ในกรณีที่มีการยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัด แต่ปรากฏภายหลังว่าคดีนั้นเกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลแขวงและอยู่ในอำนาจของศาลแขวง บทบัญญัติแห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 16 วรรคท้ายได้กำหนดบังคับให้ศาลจังหวัดนั้นมีคำสั่งโอนคดีไปยังศาลแขวงที่มีเขตอำนาจเท่านั้น ดังนั้นการที่ศาลจังหวัดราชบุรีมีคำสั่งไม่รับฟ้องและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ และให้โจทก์นำคดีไปฟ้องยังศาลแขวงนั้นย่อมไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม โจทก์ย่อมอุทธรณ์คำสั่งของศาลจังหวัดราชบุรีดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ได้
สรุป ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับโจทก์ เนื่องจากคำสั่งของศาลจังหวัดราชบุรีไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 2 นายเอกผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนครพนม จ่ายสำนวนคดีอาญาเรื่องหนึ่งให้แก่นายดำผู้พิพากษาศาลจังหวัดและนางสาวสวยผู้พิพากษาประจำศาลจังหวัดนครพนมมาเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษา องค์คณะดังกล่าวได้สืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว ยังไม่ได้สืบพยานจำเลย นายเอกได้โอนสำนวนคดีไปให้นายเขียวและนายขาวผู้พิพากษาศาลจังหวัดนครพนมเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษาแทน โดยให้ความเห็นว่าเพื่อมิให้กระทบกระเทือนต่อความยุติธรรม นายดำจึงโต้แย้งว่านายเอกไม่มีอำนาจทำความเห็นในการโอนสำนวนคดี ผู้มีอำนาจทำความเห็นจะต้องเป็นตน ซึ่งเป็นผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุด
ท่านเห็นว่า การโต้แย้งของนายดำฟังขึ้นหรือไม่ (ในศาลจังหวัดนครพนมมีนายเอกผู้พิพากษาหัวหน้าศาล นายแดงผู้พิพากษาอาวุโส นายดำ นายเขียว นายขาวและนางสาวสวย ผู้พิพากษาจังหวัดและผู้พิพากษาประจำศาลจังหวัดตามลำดับ)
ธงคำตอบ
มาตรา 33 วรรคแรก วรรคสองและวรรคสาม การเรียกคืนสำนวนคดีหรือการโอนสำนวนคดี ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบขององค์คณะผู้พิพากษาใด ประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล จะกระทำได้ต่อเมื่อเป็นกรณีที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาหรือพิพากษาอรรถคดีของศาลนั้น และรองประธานศาลฎีกา รองประธานศาลอุทธรณ์รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาในศาลจังหวัดหรือศาลแขวงที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้น แล้วแต่กรณีที่มิได้เป็นองค์คณะในสำนวนคดีดังกล่าวได้เสนอความเห็นให้กระทำได้
ในกรณีที่รองประธานศาลฎีกา รองประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค รองอธิบดี ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาในศาลจังหวัดหรือศาลแขวง ที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลนั้น แล้วแต่กรณี ไม่อาจปฏิบัติราชการได้หรือได้เข้าเป็นองค์คณะในสำนวนคดีที่เรียกคืนหรือโอนนั้น ให้รองประธานศาลฎีกา รองประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรือผู้พิพากษาที่มีอาวุโสถัดลงมาตามลำดับในศาลนั้น เป็นผู้มีอำนาจในการเสนอความเห็นแทน ในกรณีที่รองประธานศาลฎีกา รองประธานศาลอุทธรณ์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น มีหนึ่งคนหรอมีหลายคนแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ หรือได้เข้าเป็นองค์คณะในสำนวนคดีที่เรียกคืนหรือโอนนั้นทั้งหมด ให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดของศาลนั้นเป็นผู้มีอำนาจในการเสนอความเห็น
ผู้พิพากษาอาวุโสหรือผู้พิพากษาประจำศาลไม่มีอำนาจในการเสนอความเห็นตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง
วินิจฉัย
เมื่อหัวหน้าผู้รับผิดชอบของศาล จ่ายสำนวนคดีให้แก่องค์คณะผู้พิพากษาในศาลไปแล้ว ก็ต้องให้องค์คณะดังกล่าวนั้นพิจารณาไปจนเสร็จสำนวน จะเรียกคืนสำนวนคดีหรือโอนสำนวนจากองค์คณะผู้พิพากษาผู้รับผิดชอบสำนวนคดีนั้นไปให้องค์คณะผู้พิพากษาอื่นไม่ได้ เว้นแต่
1 เป็นกรณีที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรม ในการพิจารณาหรือพิพากษาอรรถคดีของศาลนั้น และ
2 ในกรณีของศาลจังหวัด ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลจังหวัด ซึ่งมิได้เป็นองค์คณะในคดีนั้นเสนอความเห็นให้เรียกคืนสำนวนคดีนั้น หรือให้โอนสำนวนคดีนั้นไปให้องค์คณะผู้พิพากษาอื่น
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการแรกมีว่า นายเอกมีอำนาจในการทำความเห็นให้โอนสำนวนคดีหรือไม่ เห็นว่า เมื่อนายเอกผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดซึ่งเป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบของศาลได้จ่ายสำนวนคดีให้แก่องค์คณะผู้พิพากษาในศาลไปแล้ว แม้นายเอกจะเห็นว่าเป็นกรณีที่จะกระทบกระเทือนต่อความยุติธรรมในการพิจารณาคดี นายเอกก็ไม่มีอำนาจทำความเห็นให้โอนสำนวนคดีดังกล่าวไปให้นายเขียวและนายขาวผู้พิพากษาอื่นในศาลจังหวัดเป็นองค์คณะแทนได้ เนื่องจากพระธรรมนูญศาลยุติธรรมกำหนดไว้โดยเฉพาะตัวแล้วว่าผู้มีอำนาจเสนอความเห็นให้โอนสำนวนคดีไปให้องค์คณะผู้พิพากษาอื่นได้นั้น ต้องเป็นผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดในศาลจังหวัดซึ่งมิได้เป็นองค์คณะในคดีนั้นเท่านั้น ซึ่งในที่นี้ก็คือ นายเขียว (ส่วนนายแดงแม้จะเป็นผู้พิพากษาอาวุโส ก็ไม่มีอำนาจในการเสนอความเห็นให้โอนสำนวนคดีได้ตามมาตรา 33 วรรคสาม) ดังนั้นที่นายดำโต้แย้งว่านายเอกไม่มีอำนาจทำความเห็นในการโอนสำนวนคดีจึงฟังขึ้น
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า ที่นายดำโต้แย้งว่า ผู้มีอำนาจทำความเห็นจะต้องเป็นตน ซึ่งเป็นผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุดนั้นฟังขึ้นหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาถึงลำดับอาวุโสในศาลจังหวัดนครพนมแล้ว ถือว่านายดำเป็นผู้พิพากษาที่มีอาวุโสสูงสุด แต่อย่างไรก็ตามเมื่อนายดำเป็นองค์คณะในคดีดังกล่าว นายดำจึงไม่อาจเสนอความเห็นให้โอนสำนวนคดีดังกล่าวได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 33 วรรคแรก ในกรณีนี้บทบัญญัติมาตรา 33 วรรคสองจึงให้ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสถัดลงมาตามลำดับในศาลนั้น เป็นผู้มีอำนาจในการเสนอความเห็นแทน ซึ่งก็คือ นายเขียว ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั่นเอง การโต้แย้งของนายดำในประเด็นจึงฟังไม่ขึ้น
สรุป ที่นายดำโต้แย้งว่านายเอกไม่มีอำนาจทำความเห็นในการโอนสำนวนคดีนั้นฟังขึ้น ส่วนที่โต้แย้งว่าผู้มีอำนาจทำความเห็นในการโอนสำนวนคดีจะต้องเป็นตนเพราะเป็นผู้พิพากษาที่มอาวุโสสูงสุดนั้นฟังไม่ขึ้น
ข้อ 3 โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินให้เช่า และเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระเป็นจำนวนเงินสองแสนบาทต่อศาลจังหวัด จำเลยให้การต่อสู้ว่า สัญญาเช่ายังไม่ครบกำหนดเวลา และไม่เคยค้างค่าเช่า โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยโดยมีนายจันทร์ผู้พิพากษาอาวุโส และนายอังคารผู้พิพากษาศาลจังหวัดเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษา นายจันทร์เห็นว่าคดีนี้มีประเด็นข้อพิพาทไม่ยุ่งยาก และจำนวนที่พิพาทก็ไม่เกินสามแสน จึงทำการสืบพยานโจทก์จำเลยจนเสร็จแล้วให้นายอังคารทำการตรวจสำนวน ก่อนที่ทั้งสองจะลงลายมือชื่อร่วมกันในคำพิพากษา คำพิพากษานี้ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่
ธงคำตอบ
มาตรา 18 ศาลจังหวัดมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญาทั้งปวงที่มิได้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมอื่น
มาตรา 25 ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น ดังต่อไปนี้
(4) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพากษาหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกา
มาตรา 26 ภายใต้บังคับมาตรา 25 ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น นอกจากศาลแขวงและศาลยุติธรรมอื่นซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนและต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจำศาลเกินหนึ่งคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งหรือคดีอาญาทั้งปวง
วินิจฉัย
โดยหลักแล้ว ศาลจังหวัดมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญาที่มิได้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมอื่น และในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลจังหวัดซึ่งเป็นศาลชั้นต้นนั้น ต้องมีผู้พิพากษาเป็นองค์คณะอย่างน้อย 2 คนโดยต้องไม่เป็นผู้พิพากษาประจำศาลเกิน 1 คนตามมาตรา 18 และมาตรา 26
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยมีว่า คำพิพากษาของศาลชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินที่เช่าและเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระเป็นเงินสองแสนบาท โดยจำเลยมิได้โต้แย้งว่าที่ดินที่เช่าเป็นของจำเลยแต่อย่างใด จึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัดตามมาตรา 18
สำหรับการพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งของศาลจังหวัดนั้น ถ้าเป็นคดีมีทุนทรัพย์และราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาได้ตามมาตรา 25(4) แต่สำหรับคดีไม่มีทุนทรัพย์นั้น ผู้พิพากษาคนเดียวในศาลจังหวัดซึ่งเป็นศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีไม่มีทุนทรัพย์ทุกประเภท ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อย 2 คน เป็นองค์คณะ ดังนั้น การที่นายจันทร์ผู้พิพากษาอาวุโสแต่เพียงผู้เดียวได้ทำการสืบพยานโจทก์จำเลยจนเสร็จโดยมิได้ร่วมพิจารณาคดีกับนายอังคารด้วย จึงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 25(4) ประกอบมาตรา 26 นายอังคารจึงไม่สามารถทำคำพิพากษาในคดีนี้ได้
ดังนั้น การที่นายอังคารทำการตรวจสำนวนก่อนที่จะร่วมลงลายมือชื่อในคำพิพากษา คำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
สรุป คำพิพากษาดังกล่าวไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม